การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R พระปกเกล้า: จากก้าวแรก สู่ก้าวต่อไป


R2R พระปกเกล้า

วันที่   20 สิงหาคม 53 บ่ายกว่าๆ

ที่ชาว R2R พระปกเกล้ากว่า 40  คน ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร  พยาบาล และงานอื่นๆ   ได้รวมตัวกัน ที่ห้องเรียน 6 อาคารวิทยบริการ ทำกิจกรรมดีๆ  ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R พระปกเกล้า จากก้าวแรก สู่ก้าวต่อไป เพื่อ บอกเล่าเรื่องราว พลังแห่งความสุข ความสำเร็จ  และถ่ายทอดพลังดังกล่าว ให้งาน R2R  กระจายไปทั้งโรงพยาบาล

โดยมีเริ่มที่พิธีกรเสียงหวาน คุณอุษณีย์  เปรมสุริยา ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าประชุม เขียนคำตอบ เกี่ยวกับ R2R  ติดบอร์ดแต่ละคำถาม 5 คำถาม  เพื่อชิงรางวัล มีผู้สนใจตอบคำถามเป็นจำนวนมาก

 

จากนั้น อาจาย์ทนง ประสานพานิช ประธานเครือข่าย R2R ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแกนนำหลักของชาว R2R พระปกเกล้า ได้ทบทวนความทรงจำให้กับชาว R2R พระปกเกล้า โดยเล่าเรื่องราว ความเป็นมาเป็นไป และ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งาน R2R จากก้าวแรก ที่ปูพรมให้ชาวพระปกเกล้า ได้รู้จัก R2R  เมื่อต้นปี 2552   ก้าวต่อมามีการให้ความรู้กับชาว R2R พระปกเกล้า อย่างต่อเนื่อง มี คลีนิคปรึกษาปัญหาหัวใจของ R2R ทุกวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน  สู่ก้าวต่อไป ที่แข็งแรง และยั่งยืน  มีโครงการสำหรับชาว R2R พระปกเกล้า อีก 3 โครงการเป็นอย่างน้อย โครงการแรกที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ คือ โครงการ ต้นกล้า R2R ที่ต้องการนักวิจัยหน้าใหม่เข้าร่วมโครงการ ไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้เรื่องงานวิจัย เพียงแต่มีใจที่อยากทำวิจัย เราจะก้าวต่อไปด้วยกัน   อีก 2 โครงการที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ โครงการคลื่นลูกใหม่ นักวิจัยรุ่นใหม่ สายพันธุ์ R2R และโครงการ R2R ขั้นเทพ เสริมพลังสร้างผลงาน อย่างมืออาชีพ  ทั้ง 3 โครงการ มีเป้าหมายเพื่อให้คนทำงานในพระปกเกล้ามีความสุข  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร) งานวิจัย ผ่านการเล่าเรื่องที่ประสบความสำเร็จ (Success story telling)

ส่วนในหัวข้อ เรื่องเล่าที่เราภูมิใจ  ได้รับฟังงานวิจัย จากเรื่องเล่า  2 เรื่อง  เรื่องแรก เป็นการเล่าผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลมากมายระดับประเทศ  ของ พญ. สุวรรณา ธรรมสุภาพรศ์  เรื่อง CVA care map and fast tract  หรือ ชื่อเล่น “งานรุงรัง ยังได้รางวัล”  เป็นเรื่องของการพัฒนางาน ของผู้ป่วย CVA    ตั้งแต่ปี 2546  ถึงปัจจุบัน โดยเริ่ม ทีมจากคนกลุ่มเล็กๆ ขยายไปเป็นสหสาขาวิชาชีพ ในกลุ่มงานอายุรกรรม นำไปสู่การลดภาวะแทรกซ้อนของความพิการ และการตายของผู้ป่วย  อย่างเป็นรูปธรรม  อีกทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย และส่งผลกระทบในวงกว้าง   ทำให้โรงพยาบาล เรียกเก็บเงินได้อย่างถูกต้อง นำเงินเข้าสู่โรงพยาบาลนับล้านบาททีเดียว พญ. สุวรรณา เล่าเรื่องให้ชาว R2R ฟังอย่างสนุกสนาน ด้วยท่าทีที่ไม่เหน็ดเหนื่อย  โดยบอกว่า “ต้องมีหนึ่งสมอง สองมือ และใจที่มุ่งมั่นตั้งใจ งานวิจัยที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่าย ทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุด และไม่ท้อ” ซึ่งอาจารย์มีโลแกนว่า

“ สมองไบรท์  drive ความคิด อุทิศเวลา มาด้วยใจ หาได้ที่นี่”

เรื่องเล่าที่สองเป็นเรื่องของธนาคารเลือด โดย คุณถวัลฉัตร  ลีนานันทวงศ์   ได้รับรางวัล เหรียญทอง  งานวิชาการ พระปกเกล้าปี 2553    เป็นการเล่าด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและมีพลัง ด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยม เรื่อง  เปรียบเทียบคุณภาพของเม็ดเลือดแดงเข้มข้นชนิดเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งเตรียมโดยวิธี Opti-system และ Inverted spin   ผลการศึกษา สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเตรียมถึงเกือบห้าแสนบาทต่อปี    และสรุปทิ้งท้ายว่า

 “R2R อยู่ที่ใจ คิดจะเริ่ม ให้ทำเลย ถ้าเอาชนะใจตนเองได้ ก็ทำได้”

จากนั้น คุณนภาพร เฉลิมพรพงศ์ หรือ พี่หมูของน้องๆ ได้เปิดวิดิทัศน์ เกี่ยวกับงาน R2R   เนื้อหาในวิดิทัศน์ ทำให้เห็นถึงการเริ่มต้นของการทำ R2R จาก 4 หน่วยงานหลักคือ สวรส (สถาบันวิจัยระบบสาธารสุข ) สปสช (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) โรงพยาบาลศิริราช  และกระทรวงสาธารณสุข    ต้องการขยายงานวิจัย R2Rให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในลักษณะเครือข่าย  ซึ่งโรงพยาบาลพระปกเกล้า ได้เข้าร่วมเครือข่าย R2R ภาคตะวันออกเมื่อปลายปี  2551  จากการเข้าร่วมงาน  R2R  ทำให้คนเกิดความสุข เกิดปัญญา และความก้าวหน้าในการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง   ซึ่งทั้ง 4  หน่วยงานหลัก ได้ร่วมกันจัดงานมหกรรม R2R ตั้งแต่ปี 2551  ถึงปัจจุบันรวม 3 ครั้ง โรงพยาบาลพระปกเกล้าส่งผู้ร่วมประชุมทุกปี  ซึ่งครั้งที่ 3  โรงพยาบาลพระปกเกล้าส่งผู้เข้าร่วมประชุม 8 คน  

คุณพัชรินทร์เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่เข้าร่วมประชุม ในฐานะตัวแทนของผู้บริหาร  ได้เล่าความรู้สึกของการได้เข้าร่วมการประชุมด้วยแววตา และความรู้สึกที่มีความสุข โดยบอกว่า

 “ ถ้าไม่ได้ไปประชุมครั้งนี้ จะเสียดายมาก เพราะไปครั้งนี้ มีแต่ได้กับได้เท่านั้น  และตั้งใจนำความรู้ที่ได้ มาทำ R2R ต่อที่งานเภสัชกรรมอีกหลายงาน 

ส่วนน้องก้อย มนัสชนก จาก MICU  เป็นตัวแทนของผู้ปฏิบัติงาน ได้เล่าถึงความรู้สึกที่ว่างานวิจัยเล็กๆ ที่ทำเพื่อแก้ปัญหาในหน่วยงาน ก็เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ได้ จากการเห็นผู้ทำวิจัย เดินขึ้นไปรับรางวัลบนเวที

สุดท้ายได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาว R2R พระปกเกล้าทราบว่า ในเดือนกันยายน  2553  R2R เครือข่ายภาคตะวันออก จะมีการจัดให้ความรู้กับพวกเราชาว   R2R  สองเรื่องคือ เรื่อง จริยธรรม กับการทำวิจัยในมนุษย์ วันที่ 20-21 กันยายน  ที่โรงแรมมณีจันทร์ และ  การให้ความรู้การวิจัยกับคุณอำนวย วันที่ 28-29 กันยายน ที่โรงพยาบาลสมเด็จราชเทวี ณ ศรีราชา   การให้ความรู้ทั้ง 2  เรื่อง  ไม่เสียค่าลงทะเบียน ผู้สนใจ รีบส่งรายชื่อมาที่สำนักวิจัย ภายในต้นเดือนกันยายน 2553

ช่วงท้ายการประชุมมีการตอบคำถามชิงรางวัล ผู้ได้รับรางวัลคือ คุณพรทิพย์ สุขอดิศัย หัวหน้าผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ และ คุณมนัสชนก พยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤตอายุกรรม

จะเห็นว่าการเข้าร่วม R2R  มีแต่ได้กับได้จริงๆ ค่ะ

 การประชุมจบลงด้วยรอยยิ้ม

รอยยิ้มของทุกๆคน

จากคุณ kleddao เมื่อวันที่ 23/08/2553 10:57:05
หมายเลขบันทึก: 387629เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเป็นกำลังใจสู่ก้าวต่อไปค่ะ อ่านแล้ว รู้สึกดีจัง บันทึกได้มีชีวิตชีวา เร้าพลังค่ะ พี่ดาวของเราไม่ธรรมดา....ขอบอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท