เรื่องของเม็ดยา


เม็ดยาแข็งใช้มือหักก็ไม่ได้ ต้องใช้กรรไกรตัด แล้วยาก็เละไปหมด แบ่งได้ไม่เท่ากัน เอามีดตัดก็กระเด็นตกพื้น ลำบากจริงๆเลย

   วันนี้เป็นวันให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ  มีคนหนึ่งมาฟ้องว่า ยาลดความดันที่หมอให้คราวที่แล้วที่ให้กินครั้งละครึ่งเม็ด หักยากมาก เม็ดยาแข็งใช้มือหักก็ไม่ได้ ต้องใช้กรรไกรตัด แล้วยาก็เละไปหมด แบ่งได้ไม่เท่ากัน เอามีดตัดก็กระเด็นตกพื้น ลำบากจริงๆเลย กินทั้งเม็ดเลยได้ไหม....  เอาล่ะ ทำยังไงให้คนไข้ได้รับยาที่ถูกขนาดล่ะ

    ปกติทั่วไปการหักแบ่งเม็ดยา ซึ่งบางครั้งแบ่งครึ่ง บางทีแบ่งกินครั้งละ 1/4 เม็ด ถ้าหักด้วยมือหากยามีเส้นแบ่งตรงกลางให้หงายเม็ดยาด้านที่มีเส้นแบ่งขึ้นด้านบน จับปลายทั้งสองข้างของเม็ดยาโดยให้เส้นแบ่งอยู่ตรงกลางระหว่างนิ้วทั้งสองแล้วออกแรงหักโดยดันขึ้นด้านบน หรืออาจใช้ที่ตัดแบ่งเม็ดยา และไม่ควรตัดแบ่งไว้เยอะๆ  เพราะยาบางชนิดไม่คงตัวเมื่อสัมผัสความชื้น  จึงควรแบ่งครึ่งทีละเม็ด แล้วส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ต้องเก็บไว้ในฟอยด์ที่ห่อหุ้มให้มิดชิดเหมือนเดิม เพื่อป้องกันมิให้ยาสัมผัสกับความชื้น 

 

    งานนี้เลยลองนำเม็ดยามาแบ่งดู อือ.. จริงๆ อย่างที่คนไข้ว่านะ ทำไมนะ จ่ายยาตัวนี้ไปตั้งเยอะไม่เคยลองแบ่งดูเองสักที วันนี้ได้ที ลองแบ่งเม็ดยาทุกตัวที่มักจะต้องมีขนาดการใช้ที่ต้องแบ่งเม็ดยาเลยค่ะ ว่าชนิดไหนแบ่งยากแบ่งง่าย พบว่าบางชนิดนั้นแม้แบ่งไม่ยากนัก แต่กลับทำให้การแบ่งด้วยมือนั้น แต่ละส่วนมีขนาดไม่เท่ากัน งั้นคนไข้จะได้รับยาในปริมาณไม่เท่ากันในแต่ละวันสิ ยิ่งบางชนิดแบ่งเป็นสี่ส่วน ยิ่งไม่เท่ากันใหญ่ บางชนิดเป็นลักษณะเม็ดฟิล์มเคลือบ ทั้งลื่นจับยากทั้งแข็ง ต้องหาอุปกรณ์ช่วยถึงจะตัดได้ แล้วอุปกรณ์ช่วยที่ว่าในบ้านของคนไข้เป็นอะไรล่ะ 

 ยาที่ลองหักแบ่งเอง

     สอบถามส่วนใหญ่ เป็นกรรไกร มีด ค้อน (มาตอกบนมีดอีกที) ถามไปถามมา ได้ยินเสียงบ่นอีกตรึม ถึงความลำบากในการตัดเม็ดยา คิดดูสิ คนแก่บางคนแค่หยิบจับเม็ดยาแต่ละเม็ดก็ยากแล้ว ปลายนิ้วก็มีความรู้สึกน้อย หักก็ยาก จับมีดมือก็สั่น จะวานลูกหลานหักให้ก็ต้องให้ทำเกือบทุกวัน จะแบ่งไว้ หมอก็ไม่ให้แบ่ง ลำบากจริงๆ

     ปัญหานี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เภสัชกรอาจต้องเสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบขนาดความแรงของยาเม็ดให้พอดีกับผู้ป่วย โดยไม่ต้องแบ่งเม็ดยาอีก (อาจมียาหลายความแรง โดยเฉพาะยาที่มีความแข็งมากๆ แบ่งครึ่งยาก) หรืออาจหาวิธีดีๆ ??? ที่แบ่งเม็ดยาได้โดยคนแก่ๆ แถวนี้ไม่ลำบากนัก เพื่อให้ประสิทธิภาพของการรักษาเป็นไปตามที่ต้องการได้

คำสำคัญ (Tags): #ตัดแบ่ง#เม็ดยา
หมายเลขบันทึก: 386474เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2010 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 เรียนท่านเภสัชกรดอกบักบุ้ง

   เรื่องนี้ได้ยินคนไข้บ่นเยอะมากๆค่ะ ไม่เฉพาะคนแก่เท่านั้นนะคะ พวกเราเองยังบ่นค่ะ บางครังถ้ามียาต้องหักครึ่ง ดิฉันจะเรียนถามคุณหมอว่า ถ้ารับประทานทั้งเม็ดเนี่ย อันตรายจาก Drug over dose มากแค่ไหน? ถัาไม่รุนแรงดิฉันกินทั้งเม็ดโลดค่ะ

สวัสดีค่ะ

เข้ามาอ่านบันทึกจากคุณดอกผักบุ้งแล้วได้ความรู้ดีๆค่ะ

Krudla เป็นครูประจำห้องพยาบาล บางวันนักเรียนชั้นเล็กๆเป็นไข้ และไม่กินยาน้ำ ก็ต้องแบ่งเม็ดยาพาราเซตามอลให้เด็ก

ก็จะได้นำความรู้จากการอ่านบันทึกนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆค่ะ

-สวัสดีครับคุณ "ดอกผักบุ้ง"

-ตามมาอ่านเรื่องของ"เม็ดยา" ครับ

-เห็นด้วยกับ... "การสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบขนาดความแรงของยาเม็ดให้พอดีกับผู้ป่วย โดยไม่ต้องแบ่งเม็ดยาอีก (อาจมียาหลายความแรง โดยเฉพาะยาที่มีความแข็งมากๆ แบ่งครึ่งยาก) หรืออาจหาวิธีดีๆ ??? ที่แบ่งเม็ดยาได้โดยคนแก่ๆ แถวนี้ไม่ลำบากนัก เพื่อให้ประสิทธิภาพของการรักษาเป็นไปตามที่ต้องการได้ ครับ...

-มี"ผักบุ้ง" มาฝากครับ...

สวัสดีค่ะ ทุกท่าน

ขอบคุณทุกความเห็นค่ะ

กำลังพยายามหาสิ่งที่ดีกับคนไข้ เสนอให้กับคุณหมอพิจารณาอยู่ค่ะ..

คุณ เพชรน้ำหนึ่ง ..ขอบคุณสำหรับผักบุ้ง เห็นแล้ว อยากกินผัดผักบุ้งจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท