'วันอาสาฬหบูชา' และ 'วันเข้าพรรษา' ชาวพุทธควรปฏิบัติตนเช่นไร


วันอาสาฬหบูชา อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.49 ท่านทั้งหลาย เป็นชาวพุทธ แล้วท่านทราบหรือไม่ว่า วันอาสาฬหบูชา มีความสำคัญอย่างไร
เนื่องใน  วันอาสาฬหบูชา  อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.49 หลายท่านไม่ทราบว่า วันอาสาฬหบูชา มีความสำคัญอย่างไร ดังนั้น จึงขอสรุปเรื่องที่ควรรู้ 15 เรื่องเกี่ยวกับวันนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชนได้ทราบถึงความสำคัญ รวมถึงแนวทางที่ควรปฏิบัติ 8 ข้อ ดังต่อไปนี้
เรื่องที่ควรรู้ 
          1. วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 8 คือเดือนอาสาฬหะ หากปีใดตรงกับปีอธิกมาสคือ มีเดือน 8 สองหน วันอาสาฬหบูชาก็จะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 หลัง 
          2.หลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชาแล้ว พระพุทธเจ้าได้เดินทางไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (สวนกวาง) เมืองพาราณสีเพื่อโปรดปัจวัคคีย์ อันได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ 
          3.วันนี้เป็นวันสำคัญ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า ทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกในโลก 
          4.พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ที่มีชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร  อันหมายถึง พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม กล่าวคือ ธรรมะของพระพุทธองค์ ซึ่งเปรียบเสมือนวงล้อธรรมได้เคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้นเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติแล้วในวันนี้ 
          5.การแสดงธรรมของพระพุทธองค์ เป็นผลให้เกิด พระสาวกรูปแรกในพระศาสนา นั่นคือ พระโกณฑัญญะ ซึ่งเมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ ได้พิจารณาเห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนา สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงได้ทูลขอบวช 
          6.เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ทรงเปล่งอุทานว่า  อัญญาส วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะโภ โกณฑัญโญ แปลว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อันเป็นเหตุให้ท่านโกณฑัญญะ ได้นามว่า อัญญาโกณฑัญญะ  มาตั้งแต่บัดนั้น 
          7.อริยบุคคลหรือบุคคลผู้ประเสริฐ หรือผู้บรรลุธรรมวิเศษ มี 4 ชั้นคือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ พระอรหันต์ ซึ่งท่านโกณฑัญญะเมื่อได้ฟังธรรมก็บรรลุขั้นแรกเป็นพระโสดาบัน 
          8.พระพุทธเจ้าได้ทรงบวชให้พระโกณฑัญญะด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยการเปล่งวาจาให้เข้ามาเป็นพระภิกษุได้ 
          9.การบวชในพุทธศาสนามี 3 แบบคือ 1.เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง  2.ติสรณคมนูปสัมปทา คือ การบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้เหล่าพระสาวกบวชให้แก่ผู้ที่มีศรัทธาต้องการจะบวชได้ โดยไม่ต้องพามาให้พระองค์บวชให้ และ 3.ญัตติจตุตถกรรมวาจา คือ การบวชโดยคณะสงฆ์ ซึ่งก็คือวิธีที่ใช้ในปัจจุบันนั่นเอง 
          10.เมื่อพระโกณฑัญญะขอบวชเป็นปฐมสาวกในพุทธศาสนา จึงทำให้วันนี้เป็นวันที่มี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย เป็นครั้งแรกในโลก
          11.พระโกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์ผู้ทำนายว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะออกบวชและได้เป็นศาสดาเอกของโลก ตอนบวชในพระพุทธศาสนานี้ ท่านอายุเกิน 60 ปีแล้ว ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น รัตตัญญู แปลว่า รู้ราตรีนาน หมายความว่า เป็นพระผู้เฒ่าที่มีประสบการณ์มาก รู้เรื่องราวต่างๆ มาก 
          12.เนื้อหาใน  ธรรมจักกัปปวัตนสูตร  อันเป็นพระธรรมเทศนาครั้งแรก เป็นการสอนมิให้บรรพชิต (นักบวช) ประพฤติที่สุดโต่ง 2 ส่วน คือ 1.กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นมัวเมาในกามสุข และ 2.อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตัวให้ลำบาก แต่ให้เดินตามทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา 
          13.มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่สมควร ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เรียกว่า อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ 8  คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือ เห็นตามความเป็นจริงว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ คือคิดดี ไม่พยาบาทอาฆาตแค้น มีเมตตาต่อผู้อื่น สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ พูดดี จริงใจ พูดมีประโยชน์ สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบหรือประพฤติชอบ คือ ประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ คือ การทำมาหากินโดยสุจริต สัมมาวายะมะ ความเพียร พยายามในทางที่ชอบ คือเพียรละชั่วบำเพ็ญดี สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือการทำใจให้เป็นสมาธิ และสัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบหรือตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคง เป็นการเจริญภาวนาที่เป็นสมาธิขั้นสูงขึ้นไป ซึ่งคำว่า ชอบ  ที่ต่อท้ายนั้น หมายถึง ทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มิใช่ทำตามที่เราชอบหรือพึงพอใจ 
          14.มัชฌิมาปฏิปทา  ที่ประกอบด้วย มรรคมีองค์ 8  นี้ เป็นหนึ่งใน อริยสัจ 4 หรือหลักความจริงแห่งชีวิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันประกอบด้วย ทุกข์ คือปัญหาของชีวิต ความไม่พึงพอใจ เช่น การเกิด แก่ เจ็บ และตาย สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์หรือปัญหา เช่น ความอยากต่างๆ นิโรธ หมายถึงการดับทุกข์คือนิพพาน และ มรรค คือข้อปฏิบัติหรือหนทางดับทุกข์ ก็คือมรรคมีองค์ 8 ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นทางเดินหรือการดำเนินชีวิตที่ทุกคนไม่ว่าจะหวังความสำเร็จทางโลกหรือทางธรรมก็พึงถือเป็นแนวทางปฏิบัติได้ทั้งสิ้น เพราะ มัชฌิมาปฏิปทา  เป็น  วิถีของคนดี  ที่สร้างดุลยภาพในการดำรงชีวิต 
          15.วันอาสาฬหบูชา ได้เริ่มกำหนด เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา ได้เสนอต่อคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้นอีกวัน คือ วันธรรมจักรหรือวันอาสาฬหบูชา ซึ่งคณะสังฆมนตรีก็ได้ออกเป็นประกาศคณะสงฆ์เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2501 พร้อมกำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติโดยทั่วกัน ทำให้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชากันอย่างกว้างขวางนับแต่นั้นมา
สิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันนี้ ได้แก่
          1.ทำความสะอาดบ้านเรือน พร้อมประดับธงชาติและธงธรรมจักร 
          2..ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในช่วงเช้าหรือเพล 
          3.ให้ทาน หรือบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้/ผู้ด้อยโอกาส หรือจะบริจาคโลหิตก็ได้ 
          4.รักษาศีล สำรวมระวังกาย วาจา และใจ โดยอาจจะรักษาศีล 5 หรือศีล 8 เป็นกรณีพิเศษ 
          5.บำเพ็ญภาวนาด้วยการไหว้พระ สวดมนต์ หรือปฏิบัติสมาธิ/วิปัสสนา 
          6.พาครอบครัวไปทำบุญ บำเพ็ญกุศล เวียนเทียน หรือไปร่วมปฏิบัติธรรมที่วัด 
          7.ตั้งใจและอธิษฐานจิตที่จะน้อมนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการแก้ปัญหาครอบครัว 
          8.ตั้งใจทำความดีให้บริสุทธิ์อย่างน้อย 1 อย่าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคล ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 
          หลังวันอาสาฬหบูชาหนึ่งวัน ในวันรุ่งขึ้นคือวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถือกันว่าเป็น วันเข้าพรรษา  ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 11 ก.ค.49 
          วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานจิตที่จะอยู่ประจำวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง โดยไม่ไปค้างอ้างแรมที่อื่น ตลอดระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (วันออกพรรษา) ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ 11 ก.ค.- 7 ต.ค.49 
          การอยู่จำพรรษานี้ เป็นพุทธบัญญัติ ที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม คือ ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ในระหว่างฤดูฝน เป็นเวลา 3 เดือน ยกเว้นมีกิจจำเป็นจริงๆ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ประทานอนุญาตให้ไปค้างแรมที่อื่นได้ คราวละไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ถือว่าอาบัติ เรียกว่าเป็นเหตุพิเศษหรือ สัตตาหกรณียกิจ ซึ่งมีอยู่ 4  ประการ คือไปเพื่อยับยั้งเพื่อนสหธรรมิก เช่น ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีที่อยากสึก ไม่ให้สึกได้/ไปเพื่อพยาบาลบิดามารดา หรือเพื่อนสหธรรมิกที่ป่วยได้/ไปเพื่อกิจของสงฆ์ เช่น หาอุปกรณ์มาซ่อมวิหารที่ชำรุดได้ และไปเพื่อฉลองศรัทธาที่เขามานิมนต์ ไปร่วมบำเพ็ญบุญได้ 
          เหตุที่พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาในฤดูฝนนี้ สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พอถึงฤดูฝนพระภิกษุส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ประจำที่เช่นเดียวกับนักบวชนอกพุทธศาสนาขณะนั้น แต่ปรากฏว่าในครั้งนั้นมีพระภิกษุกลุ่มฉัพพัคคีย์และบริวารราว 1,500 รูป เที่ยวจาริกไปที่ต่างๆ ด้วยว่าตอนต้นพุทธกาลไม่มีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นเหตุให้ชาวบ้านพากันติเตียนถึงการจาริกของกลุ่มพระภิกษุดังกล่าว เพราะไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาและพืชผลเสียหาย เมื่อรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามข้อเท็จจริง แล้วทรงกำหนดเป็นพุทธบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝน 
          โดยปกติการจำพรรษา จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เรียกกันว่า  เข้าพรรษาแรก  หรือ  ปุริมพรรษา  แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาสหรือเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปจำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง ซึ่งพระภิกษุในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็จะจำพรรษาในช่วงปุริมพรรษานี้ อย่างไรก็ดี กรณีที่พระภิกษุบางรูปเกิดอาพาธ (ป่วย) หรือติดกิจธุระ ไม่สามารถจำพรรษาแรกได้ ก็สามารถอธิษฐาน  จำพรรษาหลัง  หรือ ปัจฉิมพรรษา ได้ โดยเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 แต่จะไม่ได้รับกฐิน เนื่องจากยังอยู่ไม่ครบพรรษาในช่วงเทศกาลกฐิน 
          ในหนังสือวันสำคัญฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวว่า สมัยก่อนประชาชนคนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จะเริ่มทำไร่ทำนาปักดำกล้าก่อนช่วงเข้าพรรษา ครั้นพอเข้าพรรษาซึ่งเป็นเวลาที่พระภิกษุอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ก็จะพอดีกับการเสร็จงานในไร่นา จึงมีเวลาว่างมาก ประกอบกับการคมนาคมในสมัยโน้นยังไม่สะดวก อีกทั้งฝนตกน้ำเจิ่งนองเต็มแม่น้ำลำคลองทั่วไป ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนาเพื่อเพิ่มพูนบุญกุศลกัน และโดยเหตุที่ในพุทธศาสนามีการฝึกฝนตนตามไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) โดยมีพระภิกษุเป็นแบบอย่าง ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษาที่มีพระภิกษุมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก พุทธศาสนิกชนจึงถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะไปศึกษาหาความรู้กับพระภิกษุ และเห็นสมควรที่จะส่งบุตรหลานไปอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งได้ฝึกฝนตนเองด้วย จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมบวช 3 เดือนเมื่อชายไทยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นมา 
          ขณะเดียวกัน พุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งก็นิยมถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นที่จะสำรวจพฤติกรรมของตนที่ผ่านมา และอธิษฐานจิตที่จะปรับปรุงตนให้ดีขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า ตั้งใจจะลด ละ ความชั่วทั้งหลาย และทำความดีเพิ่มขึ้น เพราะระยะเวลา 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาส (ไตร คือ 3 และ มาส หมายถึงเดือน) นับว่าเป็นช่วงเวลาที่นานพอควรในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินที่ไม่ดีไปสู่การสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นได้ 
          สำหรับการงดเว้นบาปและความชั่วต่างๆ ที่เรียกกันว่า วิรัติ อันจัดเป็นมงคลข้อหนึ่งที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสงบสุขปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองนั้น จำแนกได้ 3 ประการ คือ 
          1.สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่ว และอบายมุขต่างๆ เพราะมีหิริ และโอตตัปปะ (ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป) ขึ้นมาเอง บางแห่งก็ว่า หมายถึง เจตนาที่จะงดเว้น ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใด อาทิ เดิมไม่ได้ตั้งใจจะรักษาศีล เพราะไม่ได้สมาทานไว้ (สมาทาน หมายถึง รับเอามาปฏิบัติ) ครั้นพอเจอเหตุการณ์ที่จะทำให้เสียศีล ก็คิดงดเว้นได้ขณะนั้น เช่น เจอกระเป๋าเงิน เจ้าของวางไว้ คิดจะหยิบไป แต่แล้วช่วงเวลานั้น ก็เกิดละอายใจและกลัวบาป จึงไม่ทำ ไม่ขโมย เป็นต้น 
          2.สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่ว และอบายมุขต่างๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์ โดยเพียรพยายามไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้จะมีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง ถือว่าเป็นการงดเว้นด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติ จะต่างจากข้อแรกตรงที่ สัมปัตตวิรัติ เป็น การงดทำบาป เพราะมีศีลขึ้นในขณะนั้น แต่สมาทานวิรัติ เป็นความตั้งใจที่จะรักษาศีลอยู่ตลอดเวลา 
          3.สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่ว และอบายมุขต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด ส่วนมากจะเป็นพระอริยเจ้า แต่กระนั้นคนทั่วไปก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตนเองได้ เช่น ในระหว่างพรรษาตั้งใจว่าจะไม่เล่นการพนันทุกชนิด และเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็สามารถงดเล่นพนันได้อย่างเด็ดขาด เป็นต้น (สมุจเฉท แปลว่า ตัดขาด) 
          อบายมุข หรือ ช่องทางของความเสื่อม หรือเหตุแห่งความฉิบหายย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ มีด้วยกัน 6 ทาง คือ 1.ติดสุราและของมึนเมา 2.ชอบเที่ยวกลางคืน 3.ชอบเที่ยวดูการละเล่น  4.เล่นการพนัน 5.คบคนชั่วเป็นมิตร 6.เกียจคร้านการงาน 
          อันที่จริงการกระทำความดีนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามพึงปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในขณะใด แต่ก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังเป็น ปุถุชน  ที่ยังหลงมัวเมาอยู่ในกิเลส ตัณหาที่หลอกล่อให้เราติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งจนยากที่จะถอนตัวขึ้นมาง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงเกิดความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด 
          สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะดูเหมือนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เชื่อว่าหากใครปฏิบัติได้อย่างน้อยตลอดพรรษาหรือ 1 ไตรมาส จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน มีคนกล่าวว่า 
          อย่าทำความชั่ว เพราะคิดว่าผิดนิดเดียว และอย่าเว้นทำดี เพราะคิดว่าบุญกุศลน้อยนิด  
อมรรัตน์ เทพกำปนาท.......สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
(จากhttp://www.banmuang.co.th/education.asp)
หมายเลขบันทึก: 38643เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2006 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท