อากาศยาน


ประเภทของอากาศยาน อากาศยานหนักกว่าอากาศและเบากว่าอากาศ

โดยทั่วไปอากาศยาน หมายถึง ยานพาหนะที่สามารถบินผ่านชั้นบรรยากาศของโลกหรือบรรยากาศอื่นๆ ได้ จรวดไม่ถือว่าเป็นอากาศยานเนื่องจากจรวดไม่ได้ใช้แรงส่งจากอากาศ อากาศยานแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ อากาศยานประเภทเบากว่าอากาศ (aerostat) และ อากาศยานประเภทหนักกว่าอากาศ (aerodyne)

            1)  อากาศยานประเภทเบากว่าอากาศ (aerostat)

                        อากาศยานประเภทนี้ใช้แรงลอยตัวในการลอยขึ้นสู่อากาศ เช่นเดียวกับที่เรือลอยอยู่ในน้ำได้ ส่วนใหญ่จะใช้ถุงแก๊สหรือผ้าคลุมขนาดใหญ่แล้วเติมแก๊สที่มีความหนาแน่นสัมพัทธ์ต่ำเข้าไปเช่น ฮีเลียม, ไฮโดรเจน หรืออากาศร้อนที่จะเบากว่าอากาศที่อยู่รอบๆ น้ำหนักที่สามารถใส่เข้าไปได้บนอากาศยานประเภทนี้นั้นจะมีค่าเท่ากับน้ำหนักของอากาศที่มีปริมาตรเท่ากับที่อากาศยานประเภทนี้เข้าไปแทนที่ (คุณสมบัติของแรงลอยตัว) ย้อนกลับไปเมื่อ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช บอลลูนอากาศร้อนขนาดเล็กที่มีชื่อเรียกว่า โคมลอยฟ้า ถือว่าเป็นอากาศยานชนิดที่สองของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นที่สามารถลอยอยู่บนฟ้าได้ อากาศยานชนิดแรกคือ ว่าวนั่นเอง ต่อมามีการคิดค้นบอลลูนขึ้นมา และก็มีอากาศยานคล้ายๆกับบอลลูนตามมาอีกมายมาย เช่น เรือเหาะไฮเดนเบิร์กจึงมีการแบ่งประเภทของอากาศยานประเภทนี้ออกเป็น 2 ประเภทย่อยๆ ได้แก่ บอลลูน ซึ่งเป็นอากาศยานที่ไม่ติดตั้งเครื่องยนต์ และ เรือเหาะ (airship) ซึ่งเป็นอากาศยานที่ติดตั้งเครื่องยนต์เข้าไปด้วย

            2)  อากาศยานประเภทหนักกว่าอากาศ (aerodyne)

                        อากาศยานประเภทหนักกว่าอากาศนี้จะใช้วิธีการผลักอากาศหรือแก๊สลงไปข้างล่างเพื่อให้อากาศหรือแก๊สเหล่านั้นเกิดแรงปฏิกิริยาขึ้นมายกอากาศยานประเภทนี้ขึ้นมา (ตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน) การเคลื่อนที่ลักษณะไดนามิคผ่านอากาศนี้เป็นที่มาของชื่อ aerodyne ซึ่งเป็นชื่อในภาษาอังกฤษของอากาศยานประเภทนี้นั่นเอง ปัจจุบันมี 2 วิธีเท่านั้นที่จะสร้างแรกยกเหล่านี้ได้ ทางช่างยนต์เรียกว่า แรงยกอากาพลศาสตร์(aerodynamic lift) และแรงยกกำลัง (powered lift) แรงยกอากาศพลศาสตร์เป็นแรงยกที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น เครื่องบิน, เรือบิน เป็นต้น ส่วนแรงยกกำลัง เป็นแรงยกที่ใช้ในอากาศยานประเภทบินขึ้นทางดิ่ง สำหรับจรวดนั้นไม่จัดอยู่ในอากาศยานประเภทนี้เนื่องจากจรวดไม่ได้ใช้อากาศในการยกตัว (และยังสามารถเคลื่อนที่ได้ในอวกาศได้อีกด้วย)[1]

 


            [1] http://www.th.wikipedia.org (30 มีนาคม, 2552)

ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ได้ให้นิยามไว้ว่า “อากาศยาน” หมายถึง เครื่องทั้งสิ้นซึ่งทรงตัวอยู่ในบรรยากาศโดยปฏิกิริยาแห่งอากาศ เว้นแต่วัตถุ

ซึ่งระบุยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง[1] โดยอากาศยานตามพระราชบัญญัตินี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1)  อากาศยานขนส่ง

2)  อากาศยานส่วนบุคคล

3)  อากาศยานต่างประเทศ[2]

            ดังนั้นเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ บอลลูน หรือเรือเหาะต่างก็อยู่ในความหมายของอากาศยานทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีได้มีกฎกระทรวง (พ.ศ.2497) ซึ่งออกตามความในมาตรา 4 พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 ดังนี้

            “วัตถุต่อไปนี้ ไม่เป็นอากาศยานตามมาตรา 4

            (1)  ว่าวทุกชนิดซึ่งจัดเป็นเครื่องเล่น หรือเพื่อการกีฬา

            (2)  บัลลูน หรือลูกโป่งมีปริมาตรไม่เกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร

            (3)  เครื่องบินเล็กซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่น”

            เมื่อเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ บอลลูน หรือเรือเหาะต่างมีฐานะเป็นอากาศยานตามความหมายในพระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 การเดินอากาศจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 16 ดังนี้

            “ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานทำการบิน เว้นแต่มีสิ่งเหล่านี้อยู่กับอากาศยานนั้นคือ

(1) ใบสำคัญการจดทะเบียน

(2) เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียน และแผ่นแสดงเครื่องหมายอากาศยาน

(3) ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ

(4) สมุดปูมเดินทาง

(5) ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่แต่ละคน

(6) ใบอนุญาตเครื่องวิทยุสื่อสาร ถ้ามีเครื่องวิทยุสื่อสาร

(7) บัญชีแสดงรายชื่อผู้โดยสาร ในกรณีที่เป็นการบินระหว่างประเทศที่มี

การบรรทุกผู้โดยสาร

(8) บัญชีแสดงรายการสินค้า ในกรณีที่เป็นการบินระหว่างประเทศที่มีการบรรทุกสินค้า

(9) สิ่งอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

            ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่

             (1) อากาศยานที่ทำการบินทดลองภายใต้เงื่อนไข ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

             (2) อากาศยานทหารต่างประเทศ

             (3) อากาศยานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

            ซึ่งการขึ้นลงของอากาศยาน จะใช้ที่หนึ่งที่ใดเป็นที่ขึ้นลง นอกจากสนามบิน อนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจะต้องกระทำในสนามบินที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น[3] โดยบินตามเส้นทางที่กำหนด และเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน[4] นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่การบิน พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 ยังได้ทำการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ เช่น ห้ามมิให้อากาศยานบินเข้าหรือบินผ่านเขตห้ามหรือเขตกำกัด การบิน ซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา [5] หรือ การห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องถ่ายภาพในอากาศยานหรือจากอากาศยานไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบิน หรือทิ้งร่มอากาศ นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งการห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพายุทธภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม ยุทธภัณฑ์ไปกับอากาศยานเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด และ ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ซึ่งอาจเป็นอันตราย ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน หรือบุคคลในอากาศยานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไปกับ อากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด เป็นต้น [6]

           


            [1] พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 4

            [2] พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 4

               “อากาศยานขนส่ง” หมายความว่า อากาศยานซึ่งใช้หรือมุ่งหมายสำหรับใช้ขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้า

               “อากาศยานส่วนบุคคล” หมายความว่า อากาศยานซึ่งใช้หรือมุ่งหมายสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการอันมิใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้า

               “อากาศยานต่างประเทศ” หมายความว่า อากาศยานซึ่งจดทะเบียนและมีสัญชาติตามกฎหมายต่างประเทศ

            [3] พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 17

            [4] พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 18

              พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 19

            [5] พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 22

            [6] พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 23

               พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 24

               พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 25

               พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 26

 

หมายเลขบันทึก: 385999เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท