แม่ฉัน เลี้ยงฉันบนห้าง*


ห้างฉัน**อยู่กลางนา กลางทุ่ง กลางโลกกว้าง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สายลม แสงแดด สายฝน อากาศบริสุทธิ์ ห้างนามักปลูกสร้างในบริเวณที่เป็นจุดตรงกลางพื้นที่นา ที่ต้องปลูกตรงกลางก็เพื่อให้ระยะการเดินไปห้างจากหัวนา ปลายนามีระยะทางเท่าๆ กัน

ห้างนา
เป็นที่พักชั่วคราวระหว่างไปนา ขนาดของห้างขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณคนในครอบครัว ถ้าครอบครัวใหญ่มีหลายคนทั้งลูกเขยยังไม่แยกครัว ก็จะปลูกห้างใหญ่หน่อย ครอบครัวเล็กๆ พ่อแม่ลูกสามสี่คนก็เป็นห้างเล็ก

ประโยชน์ใช้สอยของห้างหลักๆ เลยก็คือเป็นเหมือนตะครัวของบ้าน เป็นร้านอาหารย่อมๆ ของครอบครัวประมาณนั้นก็ได้ เป็นที่หลับนอนเอาแรงสักงีบ เมื่อต้องทำงานอย่างหนักในท้องนา

                             อธิบายภาพ ๑-๒ : ทุ่งนาข้าวและห้างนาของชาวนาบ้านชุมแสง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ 
                             ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สิงหาคม ๒๕๕๓

                              อธิบายภาพ ๓ : ทุ่งนาข้าวและห้างนาของชาวนาบ้านหนองบัวอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  
                              ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สิงหาคม ๒๕๕๓

หน้าน้ำนองเมื่อไปหาปลา ปักเบ็ด ดักข่าย ดักรอบ ดักไซ ดักโต่ง ห้างนานี่แหละเป็นที่นอนค้างคืนอันแสนสบายอบอุ่นจริงๆ

ในท้องนามีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติล้วนๆให้ดูชมมากมาย ทั้งพืชผักและสัตว์ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นมาเทียมๆ ไร้ชีวิตชีวา

สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งและกัน เคารพความมีอยู่ อยู่อย่างไม่คิดทำลาย หรืออยากจะกอบโดยเอามาเป็นของตัวแต่เพียงผู้เดียว

ทุกคนร่วมกันใช้ร่วมกันรักษาปกป้องดูแล ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เป็นพิษ เน่าเสีย หรือปล่อยปละละเลยทอดทิ้งอย่างไม่รู้คุณค่า

ครอบครัวเล็กๆที่มีลูกคนแรกคนที่สองมักจะไม่มีคนเลี้ยงเด็ก พ่อแม่ต้องทำงานทำนา เลยต้องนำลูกน้อยไปนาด้วย เพราะถ้าแม่หยุดเลี้ยงลูกน้อยอยู่บ้าน งานนาก็จะขาดแรงงานไปหนึ่งแรง ฉะนั้นเพื่อให้การทำนาให้แล้วเสร็จเร็ว จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนในครอบครัวทั้งหมดช่วยกัน แม้ครอบครัวนั้นจะมีลูกอ่อนก็ตาม

แม่ไม่มีโอกาสลาคลอด ลาหยุดงานนาเลย เท่าที่เห็นแม่เลี้ยงลูกมาสามสี่คน ทุกคนเติบโตในท้องนา นอนอู่บนห้างนาบ้าง บางครั้งก็ได้นอนอู่ใต้ต้นไม้ก็มี นอนอู่ใต้ถุนเกวียน-หรือท้ายเกวียนก็มี

เด็กบ้านทุ่งนั้นสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยเป็นโรคไข้เจ็บอะไรมากนัก ไม่อ่อนแอ การเลี้ยงดูเป็นไปตามธรรมชาติให้ต่อสู้กับสิ่งรอบตัวด้วยความเป็นจริง ไม่ค่อยได้พะเน้าพะนออะไรมาก อะไรที่เป็นไปตามธรรมชาติมักเข้มแข็งเอาตัวรอดได้ ตรงข้ามกับการเป็นอยู่ที่หลีกเลี่ยงธรรมชาติ อาศัยสิ่งที่ปรุงแต่งมากๆ กลับมักอ่อนแอ

ฉันนอนอู่ที่ผูกไว้บนห้าง ฉันยังเห็นนกเอี้ยงมาเลี้ยงควายของแม่อยู่ทุกวัน ข้างๆห้างก็เป็นอันนามีน้ำขัง ฉันอยากเห็นปลา ฉันก็จะนำข้าวสุกซักหยิบมือน้อยๆ มาโปรยลงน้ำ สักครู่ก็จะมีปลาว่ายมากิน บางทีก็มีปู มีกุ้ง

ห้างของฉันไม่ได้ติดแอร์ ไม่มีห้องใต้ดิน ไม่มีลานจอดรถ มีแต่เกวียนของแม่จอดอยู่ แต่ฉันก็รู้สึกว่าห้างนาของแม่ฉันนี้เย็นสบายมากๆ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบทิศทาง มองเห็นได้ระยะไกลๆ และในท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ที่มองเห็นจนสุดลูกหูลูกตานั้น จะมีห้างนาอยู่เรียงรายตามท้องทุ่งทั้งใกล้ไกล

แม้ห้างของฉันจะหลังเล็กๆแคบๆ แต่ก็เป็นห้างของเรา แม่ฉันทำขึ้นมาใช้เอง ชำรุดผุพังเสียหายก็ซ่อมแซมเองได้ ทรัพย์สินที่มีอยู่ในห้างทั้งหมดก็เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของ 

แม่ฉันทำงานหนัก ทำนาที่ต้องใช้แรงงานอย่างผู้ชายได้ทุกอย่างเหมือนอย่างพ่อ เป็นแม่บ้านต้องตื่นแต่เช้ามืด ตื่นก่อนคนในบ้าน ลุกมาหุงข้าว ทำอาหาร อาหารที่แม่ทำตอนเช้ามืดนั้น ต้องแบ่งเป็นหลายส่วนด้วยกัน สำหรับให้พ่อเฒ่า แม่เฒ่าได้ใส่บาตรตอนเช้า ใสปิ่นโตให้ลูกๆนำไปกินที่โรงเรียน ให้พ่อนำไปกินที่นา ทำให้ผู้อื่นได้กินก่อนแล้วตนเองจึงจะได้กิน

ตอนเย็นกลับจากนาแม่ก็ต้องเข้าครัวอีก กว่าจะเสร็จภาระงานครัว งานบ้าน ก็ตกดึก แม่จึงนอนทีหลัง ตลอดชีวิตของแม่ฉันนั้น แม่มีห้างหลายห้าง(นาแต่ละแปลงก็จะมีห้างนาอยู่หนึ่งหลัง-สองแปลงก็สองหลัง)

แม่ฉันไม่เคยเข้าห้าง ไม่เคยเดินห้าง ไม่รู้จักห้าง
แต่แม่ของฉันก็มีห้าง และเป็นเจ้าของห้างอีกด้วย
.

...............................................................................................................................................................................

* บทความนี้เขียนและบันทึกถ่ายทอดไว้ในเวทีคนหนองบัว โดย ท่านพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ในชื่อหัวข้อเดียวกันนี้ที่ dialogue box 751 ของเวทีคนหนองบัว เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและค้นหาอ่านได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพการเขียนสะสมความรู้ สร้างวัฒนธรรมการอ่านและใช้ความรู้ในวิถีชีวิต ส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเข้าถึงความรู้ของท้องถิ่นที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของคนจากชุมชน ผ่านระบบค้นหาความรู้และข้อมูลทางเทคโนโลยี IT บูรณาการมิติชุมชนเข้ากับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมความรู้ผสมผสาน ต่อยอดขึ้นจากพื้นฐานชนบท ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิปัญญาปฏิบัติในชีวิตและเป็นองค์ประกอบการก่อเกิดสุขภาวะและสังคมเข้มแข็งในชุมชน ผมจึงขอนำมารวบรวมไว้เป็นหัวข้อเฉพาะนี้อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้ความเคารพในความสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมเขียนข้อมูลความรู้จากเรื่องราวในวิถีชีวิตสะสมเป็นภูมิปัญญาสาธารณะ ผมจึงขอรักษาความเป็นต้นฉบับไว้โดยจัดย่อหน้าให้ง่ายต่อการอ่านและปรับแต่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

** หมายถึงผู้เขียน พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

หมายเลขบันทึก: 385674เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

ชอบบรรยากาศ จังเลยครับ ได้ไปเดินริมทุ่งคงจะสบายตัว สบายใจ

ภาพสวยมากครับ สาระดีมีประโยชน์ ขอบคุณที่ได้อ่านเรื่องดีดีแบบนี้

สวัสดีครับ  คนเมืองก็อาจสงสัยประโยคคำว่า"

แม่ฉันไม่เคยเข้าห้าง ไม่เคยเดินห้าง ไม่รู้จักห้าง
แต่แม่ของฉันก็มีห้าง และเป็นเจ้าของห้างอีกด้วย
."

แต่ถ้าอ่านตั้งแต่ต้นจนจบถึงจะหายสงสัยครับ

สวัสดีครับคุณสุริยาครับ

  • ได้ออกไปสัมผัสกับท้องนาและทุ่งกว้างเป็นระยะๆนี่ จัดว่าเป็นการหาความรื่นรมย์ให้กับชีวิตได้อย่างหนึ่งเลยนะครับ
  • ได้เห็นความเป็นชีวิต ได้เห็นสีเขียวของข้าวในท้องนาและหมู่แมกไม้ ก็เหมือนได้เห็นพลังความเติบโตงอกงามของชีวิต
  • ทั้งสบายใจและเป็นพลังใจในการทำการงานและการดำเนินชีวิต

แม่ฉันไม่เคยเข้าห้าง ไม่เคยเดินห้าง ไม่รู้จักห้าง

แต่แม่ของฉันก็มีห้าง และเป็นเจ้าของห้างอีกด้วย.

ถ้อยคำข้างบนถูกใจจังครับ ผมก็เคยนอนห้าง หาปลูก หาปลา ตามที่บอกกล่าวไว้นั่นแหล่ะครับ

ชีวิตเด็กบ้านๆคนหนึ่ง..ฝนตกออกหากิน ไม่เคยได้เว้นว่าง

ปัจจุบันหายากแล้วครับที่จะนอนห้างกัน..

ส่วนมากก็กลับมานอนบ้านกันหมด

...วีถีสังคมงดงามแบบเก่าเริ่มจางหาย...

.........ภาพสวยดีครับ...........

...แม่ของยายธีเล่าให้ฟังตอนเด็กๆว่า...ยายธีเกิดในป่า..เพราะหนีภัยสงคราม...แม่ต้องอยู่ไฟที่หมอตำแยทำให้...ที่นอนอยู่ไฟคงจะเป็นห้างนี่เอง...ป่ากะนาเนียะคงจะเป็นพี่น้องกันได้ทางธรรมชาติเนอะ....สวัสดียายธีเจ้าค่ะ

เรียนท่านอ.

ชอบภาพท้องนาค่ะ ถ่ายได้สวยหมดจด สะกดตาคนมองเลยทีเดียว

สีเขียวของท้องทุ่งให้ความรู้สึกเป็นสุขใจไม่ต่างจากการอ่านเรื่องราวห้างของแม่

ที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เข้มแข็ง อบอุ่นทั้งกายและใจในครอบครัวเดียวกัน

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิรัตน์

เรื่องราวที่งดงาม วิถีที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ภาพสวยงามมากๆ ค่ะทำให้คิดถึงขนำที่บ้านปู่ย่าตายาย แถวบ้านเรียกว่า หนำ หรือ ขนำค่ะ ขอบพระคุณเรื่องราวดีๆ ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

สวัสดีครับครูหยุยครับ

  • เวทีคนหนองบัวรู้สึกเป็นกำลังใจมากเลยละครับที่มีคุณครูหยุยเป็นแขกมาเยือน
  • ได้ต้อนรับครูหยุยให้แวะมานอนไขว่ห้าง หยุดอยู่กับลมหายใจตัวเองบนห้างที่ปลายนาสักแป๊บหนึ่งเหมือนกับพอใด้ถอนหายใจ ก็นับว่าได้ทำสิ่งดีทางอ้อมให้กับคนที่ทำเพื่อคนอยู่เสมอนะครับ
  • นี่ผมมาสนทนาแทนท่านพระอาจารย์มหาแลเสียแล้วละครับ  
  • ฤดูนี้ไปทางไหนก็พอได้เห็นต้นข้าวและต้นไม้แตกยอดอ่อนรับฤดูฝน สวยและชุ่มชื่นใจดีครับ

สวัสดีครับคุณธนาครับ

  • ผมเองเห็นวรรคปิดท้ายนี้ก็เกิดอาการสดุ้งสะเทือนไปเหมือนกันครับ
  • เพราะก็ยังชอบไปห้าง พอๆกับชอบไปตลาดนัดและเดินละเลียดร้านค้าแบกะดินนั่นแหละครับ
  • วิธีหาแง่มุม ทำให้เรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตอันคุ้นเคยมีแง่มุมที่ให้วิธีคิด น่าอ่าน น่าสนใจ และให้ประสบการณ์ใหม่งอกงามขึ้นได้เสมออย่างบันทึกชิ้นนี้ของท่านพระมหาแล ต้องถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความมีศิลปะครับ

สวัสดีครับคุณเส้าหลงครับ นึกถึงนอนห้างนา แล้วรอยามเบ็ดหาปูปลานี่ มีความสุขมากเลยนะครับ

สวัสดีครับยายธีครับ
ยายธีเล่าประสบการณ์การเกิดกับหมอตำแยในป่า เลยทำให้นึกถึงพี่หมออนามัยท่านหนึ่งที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผมเพิ่งนั่งคุยกับแกมาเมื่อเดือนที่แล้ว และช่วงหนึ่งแกก็เล่าประสบการณ์ชีวิตให้ฟังว่าได้เคยทำคลอดให้ชาวบ้านกลางดึกในหมู่บ้านชนบทกลางดึก ไม่มีรถและไม่มีเวลาพอที่จะพาชาวบ้านเข้าไปโรงพยาบาลในตัวเมืองแล้ว เด็กกับแม่ของเด็กอาจจะเสียชีวิตแบบ ๕๐ : ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เลยนึกได้ครับว่าจะนำมาเขียนบันทึกไว้

เห็นด้วยกับยายธีอย่างยิ่งครับ อีกทั้งป่ากะนา ชนบทกับเมือง ภูผากับมหาสมุทร ท้องฟ้ากับผืนน้ำ นอกจากมีธรรมชาติเป็นพี่น้องกันแล้ว ก็เป็นพัฒนาการของสิ่งเดียวกันอีกด้วยครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกของอาจารย์ทำให้นึกถึงนักเรียนของครูคิมที่เขาหนีเรียนไปห้างเหมือนกันค่ะ  แต่เป็นห้างนา

เพราะพวกเขาไม่รู้จักห้างสรรพสินค้าเช่นเดียวกับคุณแม่ของอาจารย์ค่ะ

ทุ่งนาสมัยนี้มันเขียวน้อยกว่าทุ่งนาสมัยก่อนหรือเปล่าคะอาจารย์

สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ
ถ่ายจากทิวทัศน์สองข้างทางตอนกำลังขับรถให้แม่ไปร่วมกิจกรรมวันแม่ในตัวเมืองจังหวัดนครสวรรค์น่ะครับ น่านี้ทิวทัศน์ท้องนาในชนบทมีชีวิตชีวา สวยงามมากครับ ผมแวะถ่ายรูปเก็บไว้อยู่เรื่อยครับ

บรรยากาศ ห้าง นี้ สุดจะพรรณา เลยท่าน

สวัสดีครับคุณ poo ครับ

  • เรียกขนำนี่ต้องเป็นคนเหนือกระมังครับ
  • เมื่อเดือนที่แล้ว ผมกลับบ้านที่เชียงใหม่ ก็เพิ่งได้สังเกตว่า ทางเหนือนั้นมีแบบแผนการทำห้างที่ต่างจากที่เห็นในภาคกลางและแถวบ้านนอกของผมที่นครสวรรค์
  • ทางเหนือจะมีห้างหรือขนำเป็นระยะๆ เยอะมาก
  • กระจายอยู่หลายแห่งในอาณาบริเวณที่เป็นแปลงนาแปลงหนึ่งๆ เหมือนกับมีที่ให้นั่งพักเยอะ ไม่ไกลกันนัก
  • แถวบ้านผมนั้น ห้างนาจะใช้สำหรับพักหลบฝน เก็บข้าวของและเลี้ยงเด็กๆ แต่เวลาพักหลังจากเดินออกจากห้างลงไปทำนาแล้ว ดำนาและไถนาไปถึงไหน หากไกลจากห้างนามาก ก็จะหาร่มไม้นั่งพักและล้อมวงกินข้าวกันตรงนั้นเลย 

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ คุณครูคิมสบายดีนะครับ นาข้าวที่สีเขียวอ่อนจนเนียน เห็นริ้วเป็นปุยฝอยๆอย่างนี้ จะต่างจากเมื่อก่อนนี้เยอะครับ สีเขียวอ่อนอย่างนี้ หากเป็นเมื่อก่อนจะเห็นจำเพาะตรงแปลงที่เพาะกล้า ส่วนที่เป็นผืนใหญ่ๆนั้น ต้นข้าวจะสูงและเป็นกอ สูงใหญ่และสีเขียวเข้มกว่านี้ เมื่อลมพัด ก็จะเป็นระลอกคลื่นเป็นริ้วหนากว่าเดี๋ยวนี้

เดี๋ยวนี้การทำนาส่วนใหญ่ใช้ข้าวที่เบากว่าข้าวเบาในอดีตอีกครับ ใช้เวลาเพาะปลูกกระทั่งเก็บเกี่ยวสั้นกว่าเมื่อก่อน อีกทั้งใช้หว่านมากกว่าปักดำ นาหว่านและเป็นข้าวเบามากกว่าจะหนาแน่นและเล็กฝอยเหมือนหญ้าอ่อนๆ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ ยิ่งห้างมุงจากเล็กๆอยู่ระหว่างต้นไม้พุ่มใบเขียวในภาพล่างแล้วละก็ ก็ยิ่งน่าม่วนอกม่วนใจมากเลยนะครับ คนที่อยู่กับสภาพแวดล้อมอย่างนี้กระมังครับถึงได้ทำให้เกิดเพลงลูกทุ่ง มันช่างสวยงามและน่ารื่นรมย์ต่อชีวิตจนต้องไหลอารมณ์ออกมาเป็นเพลง

อาจารย์เลยต้องตอบแทนท่านมหาแลเลยผมคาดว่าจะมีโอกาสได้ไปหนองบัว อยากให้ท่านมหาแล เขียนบันทึกจัง ผมชอบนอนห้างในหน้านา เดือนสิบน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำคง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำรี่ไหลลง คิดถึงตอนปักเบ็ดสนุกมาก ตอนนี้ไม่มีเวลาแบบนั้นอีกแล้วครับ

อาจารย์จะไปประมาณเมื่อไหร่ กิจกรรมกับกลุ่มไหน แบบไหน เผื่อพอมีเวลาที่จะสมทบกันทำกิจกรรมที่ผสมผสานกันไปด้วยได้น่ะครับ

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

  • ต้องขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ที่ได้นำเรื่องนี้ ในกระทู้เวทีคนหนองบัว มาแยกไว้ต่างหาก ณ ที่ตรงนี้
  • ภาพถ่ายห้างนาสามภาพนี้สวยมาก เห็นแล้วนึกอยากจะลงไปปูเสื่อนั่งฉันเพลแกงพริกเกลือสักมื้อเลยนะนั่น
  • ได้จากห้างนา มาสู่ร่มอารามสถาน(วัด)ตั้งแต่ ๒๕๒๓ ปีนี้ ๒๕๕๓ สามทศวรรษพอดีเลย เป็นสามสิบปีที่ไม่ได้ไปนั่งบนห้างนาอีกเลย
  • ขอบคุณอาจารย์ที่ได้ช่วยตอบกระทู้ทั้งหมดแทนอาตมา ตอบได้ดีมากๆ

เจริญพรคุณโยมสุริยา

  • วันนี้อาจารย์วิรัตน์ไปนิมนต์อาตมา  ให้มาปฏิสันถารสนทนาพูดคุยกับญาติโยมที่เข้าเยี่ยมเวทีคนหนองบัว
  • อาตมาภาพขอขอบคุณคุณโยมสุริยาที่แวะมาให้กำลังใจชาวหนองบัว

เจริญพรคุณครูหยุย

  • ได้ติดตามคุณครุหยุยทำงานเพื่อสังคมมาอย่างยาวนาน และช่วงนี้เห็นเข้ามาเขียนบล๊อกเผยแพร่กิจกรรมเพื่อเด็กๆ ที่ขาดโอกาสด้อยโอกาสหลายเรื่อง
  • ก็รู้สึกยินดีมากที่คุณครูหยุยเข้ามาเยือนเวทีชาวหนองบัว

เจริญพรคุณโยมธนา

  • โยมแม่เสียไปสิบกว่าปีแล้ว เคยพาโยมแม่ไปกรุงเทพฯ พักที่วัด ไปไหว้พระวัดพระแก้ว
  • ส่วนห้างสรรพสินค้านั้น อาตมาก็ไม่กล้าพาไป
  • เมื่อสิบกว่าปีที่หนองบัวจะมีห้างฯแล้วหรือยังก็ไม่ทราบ แต่สอบถามจากน้องๆ ที่หนองบัวแล้วได้ความว่า แม่ไม่รู้จักห้าง ไม่เคยเข้าห้าง ไม่เคยเดินห้างจริง ๆ

เจริญพรคุณโยมเส้าหลง

  • ดีใจจังเลย ที่คุณเส้าหลงบอกว่า อ่านแล้วนึกถึงวิถีท้องทุ่งนา

เจริญพรคุณโยมยายธี

  • ขอบคุณคุณโยมยายธีที่ทำให้นึกถึงหมอตำแย การอยู่ไฟ การทำคลอด รุ่นอาตมายังทันได้เห็น

เจริญพรคุณครูต้อยติ่ง

  • อนุโมทนาขอบคุณคุณครูต้อยติ่งที่แวะเวียนเข้ามาแลกเปลี่ยนในเวทีคนหนองบัวบ่อยๆ

เจริญพรคุณ poo
อนุโมทนาขอบคุณคุณ poo

เจริญพรคุณครูคิม

  • อ่านเรื่องที่คุณครูคิมเล่ามานั้น เลยทำให้ได้ทราบว่าน่าจะยังมีคน อีกหลายคนที่เป็นเหมือนโยมแม่อาตมา

 เจริญพรคุณหมอ JJ
รู้สึกคล้ายคุณหมอ JJ เลย ภาพถ่ายนี้ได้บรรยากาศแห่งลมหายใจในท้องทุ่งจริง ๆ

เจริญพรอาจารย์ขจิต

  • สามทศวรรษแล้วที่ไม่ได้นอนห้างนา ไม่ได้กินแกงพริกเกลือที่ห้างนา

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

เมื่อวาน วันศุกร์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรให้กับการประชุมเพื่อเรียนรู้แนวทางถอดบทเรียน ค้นหานวัตกรรมจากการทำงานของตนเองของเครือข่ายสุขภาพชุมชนและเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล รพสต. จัดโดยศูนย์บริการสุขภาพภาคประชาชนภาคกลาง ได้ขอนำบทเรียนจากเวทีคนหนองบัว รวมทั้งบันทึกที่เขียนโดยพระคุณเจ้า ไปยกเป็นกรณีตัวอย่างให้กับที่ประชุมด้วยครับ

                       

                        ภาพที่ ๑ ให้ดูตัวอย่างจากบทเรียนของพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ลูกหลานคนหนองบัว ในการเขียนบันทึกข้อมูลและถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ชีวิต ซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นวิธีช่วยกันสะสมข้อมูลจากชุมชน เก็บไว้ในระบบที่ทั้งคนในชุมชนและจากสังคมสามารถเข้ามาท่องเรียรรู้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในและต่างประเทศ

                       

                        ภาพที่ ๒ เล่าให้ฟังและยกตัวอย่างการจำเป็นต้องพัฒนาวิธีทำงาน เพื่อเดินผสมผสานวิธีสร้างความรู้และจัดการความรู้ให้เชื่อมโยงกับวิธีที่ชาวบ้านทั่วไปในสังคมไทยถนัด ส่งเสริม และสามารถผสมผสานกันได้ของผมกับพระคุณเจ้าและคนในเวทีคนหนองบัว เช่น วิธีนำเอาการวาดรูป การเขียนบันทึกข้อมูล และการต่อเติมสานประสบการณ์ ทำให้มีวิธีสร้างความรู้และจัดการข้อมูลความรู้ชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกวิธีหนึ่ง

                       

                       

                        ภาพที่ ๓ และ ๔ สุภาพสตรีในภาพนี้และกลุ่มของท่าน เป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติครับ และที่ผมต้องประทับใจมากยิ่งขึ้นก็คือ เมื่อผมยกตัวอย่างงานเขียนของพระอาจารย์มหาแล และเรื่องต้นนุ่นกับวิธีทำเครื่องนอนจากนุ่น พร้อมกับเล่าถึงการเป็นเหตุให้ได้รู้จักกับสมาชิกครอบครัว วรัญญู ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการที่นอนจารุภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงมากของประเทศ พอเล่าให้ฟังแล้ว ก็ทำให้ท่านเดินเข้ามาแนะนำตัวว่าเรื่องต้นนุ่นของคนหนองบัวนี้ ทำให้ท่านมีความสุขมากที่ได้รำลึกถึงตนเองและรำลึกถึงกิจการของที่นอนจารุภัณฑ์เนื่องจากท่านเองนั้นคือผู้ที่เย็บที่นอนของบริษัทที่นอนจารุภัณฑ์เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนนั่นเอง ความรู้จากเวทีคนหนองบัว ทำให้เห็นความงดงามและความส้รางสรรค์ของสังคมได้ไกลกว่าความเป็นท้องถิ่นของชุมชนเล็กๆมากทีเดียวครับ  

ผมได้พยายามรวบรวมตัวอย่างของนวัตกรรมและการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมาใช้ ทั้งในชีวิตประจำวันของเราเองและในการทำงานส่วนรวม เพื่อหยิบยกข้อพิจาณาให้เห็นได้ว่าการมีความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา กับการใช้นวัตกรรมที่มีความสร้างสรรค์และก่อเกิดควบคู่ไปกับการพัฒนาตนเองที่พอเพียงและทัดเทียมกับสภาพแวดล้อมที่จำเป็นนั้น มีความแตกต่างกันมาก เพื่อให้ที่ประชุมได้แนวคิดที่ชัดเจนในการถอดบทเรียนด้านที่เป็นนวัตกรรมที่ดีจากการทำงานชุมชนของตนออกมาให้ได้ เพื่อที่ผมจะช่วยเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำให้

ตัวอย่างของเวทีคนหนองบัวนี้ ผมได้ยกเป็นตัวอย่างให้ได้ความคิดในหลายแง่ โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้วยตนเองของกลุ่มคนที่เดินออกมาจากการรักชุมชน สำนึกผูกพันกับถิ่นฐานและภูมิปัญญาในวิถีชุมชน แล้วเดินเข้าสู่เครื่องมือและความทันสมัย เพื่อใช้เป็นวิธีพึ่งตนเอง จัดการให้ตนเองได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีให้กับสังคม ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมเชิงระบบสร้างความรู้และจัดการความรู้อย่างมีส่วนร่วม อีกทั้งผสมผสานโลกเสมือนของสังคม IT กับความเป็นจริงของชุมชนในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ ชาวหนองบัว และกัลยาณมิตรเวทีหนองบัวทุกท่าน 

  • สื่อตัวอย่างที่อาจารย์ได้นำมาแสดงถือว่าเป็นสื่อตัวอย่างที่สร้างความตื่นเต้น และตื่นตัวให้กับเวทีอย่างมาก การสร้างความรู้จากประสบการณ์จากหลากหลายวิถีที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ทุกหัวข้อในบันทึก) ความหลากหลายรูปแบบในการเขียนบันทึกผ่านทั้งอักษร ภาพถ่าย และภาพวาด ทำให้ทั้ง อสม. นักวิชาการสาธารณสุข นักวิชาการศึกษา จากพื้นที่ หรือพี่ๆ จาก สช.เอง ..
  • ที่บอกว่าสร้างความตื่นตัวนั้นเพราะว่าบล๊อคของอาจารย์ทำให้หลายๆ ท่านในเวทีวันนั้นมองเห็นประเด็น และมีความต้องการที่จะบันทึกในลักษณะของการถอดบทเรียน ที่มิใช่การบันทึกในรูปแบบของการเขียนรายงานการประชุม หรือรายงานการวิจัยค่ะ ..
  • อีกสักพักคงได้เห็นความเคลื่อนไหวหล่ะคะ รอดูได้เลย ..
  • ขอบพระคุณที่อาจารย์พาเรียนรู้ในเวทีวันนั้นด้วยคะ

 

ในห้องประชุมมีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงและราชินีด้วยครับ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ที่เมื่อก่อนชาวบ้านจะมีอยู่ตามบ้าน บ้านผมก็มี เหมือนในรูปในเรื่อง การน้อมตนสู่ความเป็นญาติพี่น้องกัน ในชุด ดังลมหายใจ ที่ผมเขียนให้แม่ใน GotoKnow นี้เลยละครับ

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

  • แค่เห็นภาพถ่ายที่มีห้างนาและต้นนุ่นในจอโปรเจ็กเตอร์ที่อาจารย์นำเสนอนั้น โดยที่ไม่ต้องบรรยายก็ให้ความรู้สึกสุขใจมากแล้ว
  • แล้วยิ่งได้เห็นสีหน้าอาการยิ้มของคุณโยมที่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องราวประสบการณ์ตรงของท่าน จากที่ท่านได้เห็นสื่อภาพวาดของอาจารย์ ดูแล้วน่าชื่นใจ
  • ภาพวาดของอาจารย์ชุดนี้เข้าถึงคนอ่านและคนที่ได้ดูจากสื่อดีมากจริง ๆ
  • ขออนุโมทนา

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล ขำสุข(อาสโย)ครับ

  • เรื่องต้นนุ่นนี้ เป็นอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เวทีคนหนองบัวมีกรณีตัวอย่างที่จะสามารถนำประสบการณ์มานั่งทบทวน ถอดบทเรียน และสังเคราะห์ให้เห็นความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เพื่อเห็นแนวคิดและแนวทางในการทำเวทีคนหนองบัวให้ให้เป็นเวทีสานพลังการเรียนรู้ สร้างและสะสมสิ่งดีๆให้แก่สาธารณะ เพราะเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคมได้หลายมิติและหลายระดับ นับแต่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น กลุ่มคนทำงานวิชาการใภาครัฐและมหาวิทยาลัย สื่อทั้งท้องถิ่น สื่อมวลชน และสื่อในโลกไซเบอร์ กระทั่งไปถึงผู้ประกอบกิจการในระบบเศรษฐกิจของสังคม ถักทอให้สามารถเห็นภาพความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันตลอดสาย คนหนองบัวสามารถเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันกับโลกกว้าง คนที่อยู่ในเมืองและดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความทันสมัย ก็เห็นรูปธรรมในความเป็นมาของความสุขและความสะดวกสบายของตนว่าผู้คนที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น มีชีวิตจิตใจและอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตอย่างไร
  • จำได้ว่าที่มาของการคุยและสานความคิด เติมต่อข้อมูลและมิติต่างๆทางสังคมวัฒนธรรม จนผุดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวนั้น มาจากการที่คุณเสวก พระคุณเจ้า และผู้ที่เข้ามาสนทนาในเวทีคนหนองบัว ได้คุยกันเรื่องการเป็นดอง และการเตรียมตัวของคนหนุ่มสาวของชาวหนองบัว ซึ่งส่วนหนึ่งคือการเตรียมทำหมอนและเครื่องนอน รวมทั้งการทำเรือนหอและวัฒนธรรมการตบแต่งบ้านของชาวบ้านหนองบัว ซึ่งมักจะมีตู้โชว์หมอนและผ้าทอ ผมจึงดึงเอาข้อมูลและเนื้อหาส่วนนี้มาเรียบเรียงพร้อมกับเขียนรูปขึ้นเพื่อเชื่อมโยงไปให้ถึงวัตถุดิบและมิติสังคมวัฒนธรรมในหน่วยทางสังคมเล็กๆในครอบครัว
  • จากเรื่องเล็กๆ ก็ไม่น่าเชื่อว่าได้สานความรู้และข้อมูลปะติดปะต่อจนเห็นภาพรวมในบางมิติในะดับประเทศได้ กระเชื่อมโยงได้ถึงกิจการของที่นอนจารุภัณฑ์ และยังดำเนินต่อไปได้อีกโดยได้รู้จักคนต้นเรื่องอีกคน คือ คนที่เย็บที่นอนจารุภัณฑ์ ซึ่งเป็นเกียรติภูมิแและความภูมิใจในชีวิตของท่านเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน
  • เป็นวิถีความรู้ในอีกทางหนึ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญมากต่อสังคม ที่จะทำให้เห็นว่าความเป็นสังคมและประวัติศาสตร์พัฒนาการในรายละเอียด ที่ผู้คนได้อยู่ในสังคมอันมีสุขภาวะพอเพียงแก่อัตภาพพอสมควรอยู่เสมอนี้ ผู้คนจำนวนมากที่มักถูกมองข้ามหรือมองผ่านอย่างไร้ความหมายและเหมือนกับชีวิตมีแต่ความว่างเปล่านั้น แท้จริงอาจเปี่ยมด้วยจิตใจและแรงมือที่สร้างสาชุมชนและสังคมอยู่ในมรรควิถีของตน
  • แง่มุมอย่างนี้ คงจะเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าไปมีประสบการณ์และความซาบซึ้งต่อสังคมที่ดีของเวทีคนหนองบัว เหมือนกับเป็นวิธีเดินกลับบ้าน เพื่ออบอุ่น เข้มแข็ง เต็มด้วยพลังชีวิตและความสร้างสรรค์ทุกครั้งเมื่อกลับออกไปสู่โลกภายนอกนะครับ

ร่วมสะท้อนเพื่อเป็นกำลังใจแก่เวทีคนหนองบัวน่ะครับ โดยเฉพาะพระคุณเจ้า คุณเสวก กลุ่มพริกเกลือ คุณฉิก คุณสมบัติ(เอ..งวดนี้หายไปนานเลย) และทุกท่านนะครับ

  • นำภาพห้างนา (เถียงนาน้อย) มาแจมค่ะ ..

                       IMG_4699-3.jpg

  • ห้างนาของชาวนาอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ถ่ายภาพ : ณัฐพัชร์  ๒๘ ตุลาคม ๕๒

                       IMG_5722-1.jpg

  • ห้างนาของชาวนาตำบลหนองน้ำส้ม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ถ่ายภาพ : ณัฐพัชร์  ๒๘ ตุลาคม ๕๒

สวัสดีค่ะ

มาตามคำแนะนำค่ะ

"แม่ฉันไม่เคยเข้าห้าง ไม่เคยเดินห้าง ไม่รู้จักห้าง

แต่แม่ของฉันก็มีห้าง และเป็นเจ้าของห้างอีกด้วย"

ซึ้งกินใจดีค่ะ ที่บ้าน พ่อกับแม่ เป็นเจ้าของห้างร่วมกันค่ะ (ห้างนา) น่ะค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ทั้งเรื่องและภาพน่าประทับใจอย่างยิ่งค่ะ

โยมแม่ของท่าน เป็นเจ้าของห้างจริงๆค่ะ

ห้างนาที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและมีประโยชน์ใช้สอยอย่างให้คุณค่าแท้

คุณแม่ของดิฉันก็เกิดในครอบครัวชาวนาคุณตาเป็นครู คุณยายทำนา

ดิฉันได้ไปเที่ยวท้องนา(แถวหนองจอก กรุงเทพนี่เอง)บ่อยๆ สมัยเด็กๆ

จำไม่ได้ว่า มีห้างนามั้ย

ใจจดจ่ออยู่กับการวิ่งเล่น พายเรือ ปีนต้นไม้ค่ะ

......

ขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ที่นำเรื่องราวดีๆของพระคุณเจ้ามาลงเผยแพร่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท