นักเรียนตีกัน แก้อย่างไรให้สร้างสรรค์???


นักเรียนตีกัน แก้อย่างไรให้สร้างสรรค์

นักเรียนตีกัน  แก้อย่างไรให้สร้างสรรค์???

เมื่อประมาณ สองสัปดาห์ก่อน ตอนเช้าระหว่างขับรถมาทำงาน รถติดมาก (เป็นปกติ)

แต่วันน้ัน ดิฉันสังเกตเห็นว่า ช่องทางเดินรถด้านซ้ายโล่งมากอย่างอัศจรรย์ใจ จึงเบนหัวรถเข้าไปอย่างลิงโลด คิดว่ารอดแล้วเรา  วันนี้ต้องไปทำงานได้แต่เช้าแน่นอน แถมยังนึกเย้ยในใจว่ารถคันอื่นไม่ว่องเท่าเรา ชะช้า...

ขับไปได้ไม่ถึงสองเมตร พลันสายตาเหลือบไปเห็น นักเรียนตีกันค่ะท่านผู้ชม!!! โอวแม่เจ้า!! เหมือนดูหนังบางระจันไม่มีผิด เคยได้ยินแต่ในข่าว ไม่เคยเจอกับตัวเอง ไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นอะไรที่จริงจังมาก ดูจากสีหน้าจะเห็นว่ามีการแสดงออกของความเคียดแค้นออกทางแววตาและท่าที่เหี้ยนหือ ..!!! เด็กๆพยายามที่จะไล่ฟันอริราชศัตรูอย่างแข็งขันมั่นคง!!! อิชั้นไม่เอาด้วยแล้วค่ะ!!! เบนหัวรถกลับลำเข้าช่องทางขวาสุดทันที  แต่ไม่ทันซะแล้วววว...อนิจจา  ....  มันขว้างก้อนหินใส่กัน  แต่ดันกระดอนมาลงที่ลูกวีอสสุดรักของอิชั้น...ซะได้

วันนี้เลยนึกได้ว่าเคยเขียนบทความ(น้อยๆ)ไว้ในบล๊อกหนึ่ง แต่คงไม่เป็นที่สะดุดตาเท่าไหร่ จึงไม่ค่อยมีคนอ่านมากนัก อย่างไรก็ตาม อิฉันได้copy งานของตัวเองมาใส่ไว้ ณ ที่นี้ เผื่อท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นทางการ จะเกิดแนวคิดต่อยอด นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมก็จะดีใจมาก แต่ถ้าไม่ได้เรื่องก็อภัยให้อิฉันด้วยละกันค่ะ (สติปัญญาต่ำ ความพยายามสูง)

นักเรียนตีกัน  แก้อย่างไรให้สร้างสรรค์???

ทุกๆปี  ประมาณปลายเดือนมกราคม -ต้นเดือนกุมภาพันธ์  เราจะพบว่าสื่อมวลชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ  โทรทัศน์  หรือ  หนังสือพิมพ์ จะต้องประโคมข่าวนักศึกษาสถาบันอาชีวะอันดับหนึ่ง ของประเทศไทย  2 สถาบัน  ตีกัน ยิงกัน  ฆ่ากัน  ซึ่งในระยะหลัง มีการพัฒนารูปแบบเป็นขบวนการ มีการวางแผนซุ่มโจมตีอย่างเป็นระบบ ทำกันมีลักษณะเป็นองค์การ  มีการบริหาร จัดการ วางแผน ....

แรกเริ่มเดิมทีแล้ว  ...  สถาบันเหล่านี้เปิดหลักสูตรตั้งแต่ชั้นปวช.-ปวส. ต่อมาเมื่อมีปัญหาตีกันมากขึ้น  ภาครัฐจึงแก้ปัญหาด้วยการปรับหลักสูตร ให้เป็นปวส.-ปริญญาตรี จนกระทั่งปัจจุบัน มีการยกเลิกปวช.-ปวส. เหลือแต่ปริญญาตรี เพราะหวังว่า นศ.ปริญญาตรี จะมีความคิด  มีความสุขุมลุ่มลึก รู้จักตัดสินปัญหาในทางที่ถูกต้องเหมือนนศ.ปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยทั่วๆไป...

แต่การณ์กลับไม่เป็นดังที่คิดไว้  แม้ว่าจะโตกันจนเป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้แล้ว  แต่นศ. ระดับปริญญาตรีในสถาบันอาชีวะดังกล่าว  กลับมิได้มีความคิดความอ่าน สติปัญญา ความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นแต่อย่างใด หากยังคงตั้งหน้าตั้งตาวางแผนห้ำหั่นกันอย่างเป็นระบบ ...

แม้ว่า ผู้บริหารสถาบัน และกระทรวงศึกษาฯ รวมถึงภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องจะใช้วิธีการทั้งในทางตรงและทางอ้อมเข้ามาจัดการ เช่น วางแผนย้ายสถาบัน โดยอ้างว่าถูกไล่ที่จากเจ้าของเก่า การเพิ่มความยากของข้อสอบคัดเลือกเพื่อตัดตอนการรับนักศึกษาเพิ่ม หรือการนำนักศึกษาไปทำกิจกรรมร่วมกัน ก็มิได้ทำให้ปัญหาหมดไป

นอกจากปัญหาไม่หมดแล้ว  ยังเกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ..คือ  นักเรียนอาชีวะอื่นๆ ก็พากันตบตีเข่นฆ่ากันมากขึ้น (โดยเฉพาะในช่วงดังกล่าวตอนต้นเรื่อง) ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ที่ว่า พฤติกรรมเบี่ยงเบนใดก็ตามไม่ได้รับการแก้ไข  จะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมเบี่ยงเบนนั้นมากขึ้นในวงกว้าง

ส่วนแนวคิดการย้ายสถานศึกษาไปตั้งอยู่ในต่างจังหวัดนั้น..ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแต่เป็นการย้ายที่ของปัญหาต่างหาก

และการนำเด็กไปทำกิจกรรมร่วมกัน..ก็เป็นการสมานฉันท์เพียงชั่วคราวเท่านั้น...เพราะทำกันแบบไฟไหม้ฟาง

ดังนั้น...ปัญหาจึงยังอยู่ต่อไป...

ทำไม..

ก่อนที่เราจะมาหาทางแก้...เราควรจะมาวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหากันเสียก่อนว่า...

รากของปัญหาอยู่ที่ไหน...เหง้าของปัญหาคืออะไร

สถาบันอาชีวะทั้งสองแห่ง ใช้ระบบการดูแลกันและกันแบบ พี่ดูแลน้อง จึงมีการนำระบบอาวุโส หรือ SOTUS เข้ามาใช้  (แต่น่าเศร้า ที่พวกเขาเหล่านั้นตีความระบบ SOTUS  บิดเบือนไป) การทำงานของโซตัสนั้น  อธิบายได้ด้วยทฤษฎีโครงสร้างการหน้าที่นิยม(Socisl Structure and Functionalism Theory) ว่าด้วยการขัดเกลาทางสังคม (SocialiZation) กล่าวคือ  สังคม มีหน้าที่ขัดเกลาสมาชิกทางสังคมทั้งในทางตรงและทางอ้อม  สถาบันเหล่านี้ มีรุ่นพี่ ทำหน้าที่ ขัดเกลารุ่นน้อง ผ่านระบบ SOTUS ใส่แนวคิด  ทัศนคติ ค่านิยม  วัฒนธรรมประจำกลุ่มเข้าไป  เพื่อให้สืบทอดบุคลิก ประเพณี พฤติกรรม และการปรับตัวเข้าเป็นพวกเดียวกัน เกิดเป็นการยึดเหนี่ยวทางสังคม (Social Solidarity:Emile Derkheim) การยึดเหนี่ยวทางสังคมในจุดนี้เป็นการยึดเหนี่ยวในสังคมระดับเล็ก (Machanism Solidarity) ที่ใช้ทัศนคติ ประเพณี จารีต ค่านิยม เป็นเครื่องมือ  นี่คือคำตอบว่า ทำไม  พวกเขาจึงสืบทอดพฤติกรรมการตีกัน ไม่รู้จบรู้สิ้น  ก็เพราะพวกเขาต้องการที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่พวกเขาเกาะเกี่ยว และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตลอดจนจบการศึกษา

นอกจากนี้  ตามทฤษฎี Psychosocial Stage 8 ขั้น ของ Eric Ericson ยังกล่าวถึงขั้นที่ 5 ของพัฒนาการแห่งวัย (Identity & Identity Diffusion) ว่า ช่วงวัยรุ่นอายุ 13-20 ปี เป็นช่วงแห่งการปรับตัวเข้าหาสังคม และการค้นพบความเป็นตัวของตัวเอง  จุดสนใจของคนวัยนี้คือเพื่อน และบุคคลที่เห็นว่าเป็น hero  ดังนั้น การปรับตัว เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน รุ่นพี่ ในสถาบัน จึงเป็นสิ่งสำคัญของวัยรุ่นกลุ่มนี้ "...ในเมื่อเพื่อเค้าตีกัน  พี่เค้าสั่ง  เราจะไม่ทำได้อย่างไร..."  "..ไม่ทำก็เข้ากับเค้าไม่ได้.."

แล้วพวกเรา ที่ไม่ได้เป็นนศ.อาชีวะเหล่านี้..จะทำอย่างไร..ในเมื่อเราอยู่สังคมเดียวกัน..ลูกหลานเราเดินถนนเดียวกันกับนศ.เหล่านี้...

ทางแก้

 ครู อาจารย์  ต้องเข้าไปแทรกแซงกระบวนการขัดเกลาของรุ่นพี่

         จากการสอบถามศิษย์เก่าสถาบันคู่กรณี(ที่ตั้งอยู่ข้างร.ร.เตรียมอุดมศึกษา) ทำให้ได้ข้อมูลว่าเหล่ารุ่นพี่  จะนัดกันพบปะรุ่นน้อง ห้องเดียวกัน เช่น รุ่นพี่ปี 2/1 นัดเจอรุ่นน้องปี 1/1 เพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจ อบรมจารีตประเพณี ฯลฯ  ครูต้องช่วงชิงเวลาทองนี้ โดยการสังเกตว่าเด็กนัดพบกันเวลาใด อย่าปล่อยให้เด็กว่างหรือมีเวลาอยู่ด้วยกัน ครูอาจใช้วิธีประกาศเรียกเด็กปี1 เข้าหอประชุม ทำกิจกรรมกับครู  และรุ่นพี่ (คือให้อยู่ในสายตา ด้วยวิธีแยบยล) ตกเย็นครูนัดให้เด็กปี 1 อยู่ประชุม จนพี่กลับแล้วจึงปล่อยน้องกลับ เพื่อปิดโอกาสเด็ก  ไม่ให้เด็กได้อยู่กันตามลำพัง

         พร้อมกันนั้น  ครูต้องทำตัวเป็นเพื่อน  เป็นพี่ของเด็กปี 1 ให้เด็กรู้สึกศรัทธา รักเคารพ  ครูต้องศึกษาพัฒนาการของคนวัยนี้ให้ดี เพื่อตอบสนองพฤติกรรมตามวัย เสริมพฤติกรรมเชิงบวกของเด็กให้ได้  เมื่อเด็กรักและศรัทธาครู เด็กจะเห็นว่าครูเป็นพวกเดียวกัน ครูหวังดี ตามมาด้วยเราต้องเชื่อครู  จำไว้ว่า  "รักแท้แพ้ใกล้ชิด"

ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง/ภาคสังคม/ภาคประชาชน สร้างพฤติกรรมใหม่ทดแทนพฤติกรรมเก่า

        นอกจากนี้  ให้จัดรุ่นพี่กลุ่มเสี่ยง ไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ช่วงเทอมแรกของทุกปี เพื่อไม่ให้มีเวลาอยู่กับรุ่นน้องหน้าใหม่ โดยจัดให้ทำกิจกรรมทุกเย็น และวันเสาร์-อาทิตย์ ในละแวกใกล้บ้านเด็กเอง  เพื่อไม่ให้เป็นการเพื่มความเสี่ยงของการมีเรื่องตีกันหลังทำกิจกรรมแล้ว สถานที่ในการบำเพ็ญประโยชน์ เช่น วัด โรงเรียน สถานสงเคราะห์  ชุมชนแออัด  ตลาด  ฯลฯ  สถานที่เหล่านี้  หากทางสถาบันคิดไม่ออก  ให้ติดต่อที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ที่จะสามารรถให้คำแนะนำได้อย่างดี  เนื่องจาก มีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร    

       จัดผู้ดูแล ควบคุมการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่เด็ก โดยที่เด็กไม่รู้ตัว  เช่น  ผู้นำชุมชน  ตำรวจ  นักสังคมสงเคราะห์  หรืออาสาสมัครที่อยู่ในชุมชนหรือสถานที่นั้นๆ โดยไม่รบกวนเวลางาน คือ ถ้าเป็นตำรวจก็คือตำรวจที่เข้าเวรอยู่แล้ว  ก็ให้สอดส่องเด็กไปด้วย

      มีการประเมิน และให้รางวัลแก่เด็กที่เข้าทำกิจกรรม  โดยไม่ต้องให้เป็นวัตถุก็ได้  เนื่องจากอาจเป็นการเปลืองงบประมาณ  หันมาให้แรงเสริมอื่น  เช่น  ประกาศหน้าแถว  ติดบอร์ด  ประกาศนียบัตรบำเพ็ญประโยชน์  หรือทุนการศึกษา  ทุนอุปกรณ์การเรียน เล็กๆน้อยๆ  เป็นการสร้างแรงจูงใจหรือไม่ก็ให้เป็นคะแนน หรือจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งในหลักสูตร ใครไม่ทำ ไม่จบ (เหมือนเมืองนอกที่จะต้องมีวิชาหนึ่ง เป็นวิชาบำเพ็ญประโยชน์ หรือมีประวัติ/ชั่วโมงการบำเพ็ญประโยชน์มากพอจึงจะเข้าทำงานบางประเภทได้)

      แรงจูงในที่ดีอีกประการหนึ่ง คือ  คำชม  แค่คำว่า "ครูภูมิใจในตัวเธอ"  เท่านี้ ขี้คร้านจะดีใจกันอกจะแตก....

       (ข้อสำคัญคือกิจกรรมนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง  เพราะทำมั่งหยุดมั่ง มันก็เหมือนกับการลดความอ้วนนั่นแหละค่ะ   วิ่งวันนึง หยุดไปเดือนนึง...มันไม่ผอมหรอกค่ะ)

เหตุการณ์ก็จะกลายเป็นว่า

"พี่ก็เหนื่อย..น้องก็ไม่ได้เจอ..ก็ไม่ได้คุยกันเท่าไหร่นัก..ก็เลยไม่ได้สอนมันไปตีใคร"

"น้องไม่ได้เจอพี่..เจอแต่ครู...ครูเค้าก็ดีนะ...เข้าใจเราทุกอย่าง..ครูห้ามไม่ให้ตีกะใคร..เราก็ไม่ตี"

"พี่ต้องทำกิจกรรมครับ..ไม่งั้นไม่จบ..อืม..ทำไปก็ชักจะติด..ชอบบำเพ็ญประโยชน์ เห็นคนอื่นมีความสุขเราก็ดีใจ..."

"พี่เค้าดีเนอะ...ทำกิจกรรมด้วย..เราต้องทำมั่งล่ะ...ปีหน้าๆ..."

ฯลฯ

ลองดูกันดีมั๊ยคะ

 

หมายเลขบันทึก: 385625เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จริงค่ะๆ

ขอบคุณที่ชี้แนะค่ะ

แนวทางที่นำเสนอจะทำให้เด็กเกิด self-esteem ค่ะ

ดีมากครับ

มีแนวทางที่จะช่วยกันแก้ปัญหาสำคัญ
เยาวขนคือ อนาคตของประเทศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท