มุมมองใหม่ต่อการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคม (ต่อ)


สังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์
  1. การประชาสัมพันธ์ตนเอง

      จุดอ่อนประการหนึ่งของนักสังคมสงเคราะห์ทุกยุคทุกสมัย คือ การประชาสัมพันธ์ตนเอง  นักสังคมสงเคราะห์ มักจะถนัดทำงานอยู่เบื้องหลัง เหมือนการปิดทองหลังพระ และไม่ชอบแสดงตัวเหนือความสำเร็จใดๆ ที่เกิดขึ้น  ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นเพราะว่า ปรัชญาของการสังคมสงเคราะห์ คือ การช่วยเหลือผู้ใช้บริการให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ (Help them to help themselves) จากปรัชญาในการทำงานนี้ ทำให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเองในการแก้ไขปัญหา และสามารถยืนหยัดท่ามกลางสภาพความยากลำบากได้ด้วยตนเอง บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ จึงมิได้ถูกบอกเล่ากล่าวขานถึงในฐานะ “ผู้มีพระคุณ”  แต่มักจะอยู่ในฐานะ “เพื่อน” หรือ “พี่น้อง”  มากกว่า ดังนั้น  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนักสังคมสงเคราะห์กับผู้ใช้บริการจึงไม่เกิดขึ้น  เมื่อเทียบกับบุคลากรทางสาธารณสุข  เช่น  แพทย์  หรือ พยาบาล  ที่มักจะมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ ให้บริการ ทำให้เกิดความสุขสบายทางกายภาพ หรือ ทำให้รอดชีวิต ด้วยเหตุนี้ การโจษขานถึงในความสามารถ และความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ  จึงเกิดขึ้นกับบุคลากรทางสาธารณสุขมากกว่า  ดังนั้น การดำเนินโครงการในระบบสุขภาพสังคม ซึ่งมุ่งสร้างความสมดุลย์ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนในสังคม  อันเป็นงานถนัดของนักสังคมสงเคราะห์อยู่แล้ว  อาจต้องมีการเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ทั่วถึง ทั้งนี้  นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องมีศิลป์ในการประชาสัมพันธ์ตนเองด้วย คือ เมื่อจะทำการประชาสัมพันธ์ผลงาน  จะต้องประกาศถึงการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นทีมสหวิชาชีพและภาคประชาชน  เพื่อรักษาความราบรื่นในการทำงานให้คงอยู่ต่อไป 

  1. การตั้งมั่นในความเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ

      นักสังคมสงเคราะห์  พึงตั้งมั่นอยู่ในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ  ไม่ว่านโยบายขององค์กรจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากแม้มีการสั่งการเชิงนโยบายหรือเชิงบริหาร ที่ทำให้นักสังคมสงเคราะห์จะต้องทำสิ่งที่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์จะต้องหลีกเลี่ยง แต่หากงานใดที่สามารถทำได้ นักสังคมสงเคราะห์ ควรรับมาปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในองค์กร นอกจากนี้                  นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องตระหนักในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ควรติดตามข่าวสารข้อมูล และความเป็นไปในสังคมอยู่เสมอ  เพื่อนำมาปรับใช้กับผู้ใช้บริการ เพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อสุขภาวะของประชาชน และสุขภาพสังคมทั้งในทางตรงและทางอ้อม

  1. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการกำหนดอัตรากำลังที่เหมาะสม

      นักสังคมสงเคราะห์ ก็เป็นเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ที่เมื่อเรียนจบออกมาจากสถาบันการศึกษา ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ก็ควรจะต้องมีการเข้าร่วมประชุม  อบรม สัมมนา                      เพื่อเพิ่มพูนทักษะ  ความรู้ ให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น นอกจากการฝึกอบรมทางวิชาชีพแล้ว การเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ เทคโนโลยี  ข่าวสาร  ระเบียบปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับการทำงาน  รวมถึงการจัดการความรู้ (Knowledge Management)  ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้  อัตรากำลังในหน่วยงาน ควรมีปริมาณและคุณภาพการทำงานที่เหมาะสม  สามารถรองรับและให้บริการแก่ประชาชน ได้ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ  อีกทั้งยังควรถูกฝึกฝนด้วยวิธี “การจัดการความรู้” เพื่อให้สามารถทำงานแทนกันได้ เมื่อบุคลากรหลักมีความจำเป็นต้องออกพื้นที่ เพื่อทำงานเชิงสังคมหรือดำเนินโครงการเชิงรุก

 

  1. การทำงานระดับบริหาร

      นักสังคมสงเคราะห์ ควรตอบรับและให้ความร่วมมือ เมื่อได้รับการเชื้อเชิญจากผู้บริหารองค์กร ให้เป็นกรรมการในคณะทำงานที่องค์กรจัดตั้งขึ้น เพราะจะทำให้นักสังคมสงเคราะห์                                 ได้เปิดโลกทัศน์  เรียนรู้วิธีการทำงานของสหวิชชีพ และมีสิทธิ มีเสียง ในการบริหารงานองค์กร สามารถที่จะนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานพัฒนาสุขภาพสังคมได้  เช่น  การเป็นคณะกรรมการ Patient  Care Team หรือ คณะกรรมการบริหารงานหอผู้ป่วยใน เป็นต้น

  1. การจัดทำงบประมาณในการพัฒนางาน

      นักสังคมสงเคราะห์  จะต้องพัฒนาทักษะในการจัดทำงบประมาณในการพัฒนางาน การบริหารงาน หรือจัดทำโครงการให้พอเพียงกับการปฏิบัติงานในแต่ละปี ในการจัดทำงบประมาณ จะต้องสอดคล้องกับนโยบาย และ แผนงานขององค์กร  เพื่อให้การอนุมัติงบประมาณมีความเป็นไปได้อย่างราบรื่น

  1. การสร้างสัมพันธภาพกับสหวิชาชีพและเครือข่ายทางสังคมสงเคราะห์

      หลักการสร้างสัมพันธภาพ เป็นหลักการสำคัญในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ทุกสาขาอยู่แล้ว  การพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคม  จะต้องอาศัยความร่วมมือหลายด้าน ทั้งจากสหวิชาชีพ ภาคประชาชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ภาคีเครือข่ายต่างๆ เป็นต้น  ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์จะต้องรู้จักปรับเปลี่ยน จากการใช้เทคนิคการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ใช้บริการ มาเป็นการสร้างสัมพันธภาพกับสหวิชาชีพและเครือข่าย เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการทำงานเป็นทีม

สรุปแล้ว  มุมมองใหม่ในการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคม ที่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ทุกระดับ ควรนำไปพิจารณา คือ การนำวิชาชีพเข้าสู่การปฏิบัติงานเชิงสังคม บูรณาการนโยบายด้านสาธารณสุขกับการสร้างสุขภาพสังคม  สร้างเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยดีของคนในสังคมอย่างมีดุลยภาพ ระหว่างคน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ  เพื่อให้เกิดความสงบสุข และ มีสันติภาพ ส่งผลให้ผู้คนเกิดความมั่นคงทางจิตใจ มีความเอื้ออารีต่อกัน                            ไม่เบียดเบียนกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม  ไม่มีการแบ่งแยก ตัวอย่างของการนำวิชาชีพเข้าสู่กระบวนการสร้างสุขภาพสังคม ได้แก่  “โครงการจิตอาสาฟื้นฟูสภาพจิตใจ”   ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้น   โดย นายชานนท์  โกมลมาลย์  อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  กลุ่มชำนาญการด้านสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รีดเดอร์ ไดเจสท์ สรรสาระ, 2553, น.127-128)  ซึ่งสาระสำคัญของโครงการดังกล่าว คือ การให้ความช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม  2553  โดยให้ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ  ผ่านการปฏิบัติงานของอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมและกลุ่มนักวิชาชีพ เช่น นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ร่วมด้วยเครือข่ายพันธมิตรจากที่ต่างๆ  โครงการดังกล่าว เป็นโครงการระยะยาว ที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นเท่านั้น  แต่มุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือคนในสังคม เมื่อมีเหตุการณ์ที่รบกวนสุขภาพสังคมเกิดขึ้น

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

                        การพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทาการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคม ตามมุมมองใหม่ที่ได้นำเสนอมาในข้างต้นนั้น  เปรียบเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยาก เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ มักจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านนโยบาย และระบบการบริหารงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร                                 จากหน่วยงานต้นสังกัด  ดังนั้น การพัฒนาระบบสุขภาพสังคมอาจต้องอาศัยปัจจัยด้านความร่วมมือระหว่าง สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย  สมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช และสมาคม                 นักสังคมสงเคราะห์การแพทย์ไทย รวมถึง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ในการสร้างเสริมศักยภาพ การแสวงหาความร่วมมือในการทำงานระหว่างนักสังคมสงเคราะห์สาขาอื่นๆ                        กับนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ทั้งในระดับปฏิบัติ และระดับนโยบาย โดยการดึงนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการทางสวัสดิการสังคม  การช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์                  ถึงบทบาทหน้าที่ตามหลักการทางวิชาชีพของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ การส่งเสริมให้มี                             ใบประกอบวิชาชีพของนักสังคมสงเคราะห์ หรือใบประกอบโรคศิลป์ของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการและยังก่อให้เกิดความเคารพในอัตลักษณ์แห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์  อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดี ในสายตาของสหวิชาชีพอีกด้วย

                        นอกจากนี้  นักสังคมสงเคราะห์  ยังควรทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาระงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง และยังเป็นการเผยแพร่บทบาทหน้าที่ของวิชาชีพ อันถือเป็นการประชาสัมพันธ์ตนเองทางอ้อม ทั้งนี้งานวิจัยที่จัดทำขึ้น ควรเชื่อมโยงปัญหาด้านสุขภาพเข้ากับปัญหาสังคม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของปัญหาทั้งสองประการที่มีความเลื่อมซ้อนกัน  อันเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน เพื่อเป็นการสนับสนับสนุนให้ระบบสุขภาพสังคมยังคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

 

บทสรุป

                        มุมมองใหม่ต่อการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในระบบสุขภาพสังคมนั้น  อยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จากงานเชิงรับในสถานพยาบาล มาเป็นการทำงานเชิงรุก  โดยการประสานความร่วมมือกันระหว่างสหวิชาชีพ องค์กรภาคประชาชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหุ้นส่วนภาคีเครือข่ายต่างๆ  ในการดำเนินกิจกรรม / โครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือ พัฒนาศักยภาพ เสริมพลังชุมชน / สังคม นำไปสู่ความร่วมมือ   ร่วมใจ ในการพัฒนาและพิทักษ์สิทธิของตนเอง รวมถึงการริเริ่มนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันของทุกส่วนในสังคมอย่างเท่าเทียมและมีดุลยภาพ  ทั้งสิ่งมีชีวิต  ผู้คน  ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การสร้างสุขภาพสังคม มิได้เป็นเพียงการเสริมพลังเพื่อให้ประชาชนสามารถสร้างสุขภาพชุมชนของตนเองได้เท่านั้น  การพัฒนาเพื่อให้เกิดดุลยภาพในระบบสุขภาพสังคม  จะต้องก้าวไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน และ/หรือ ระหว่างสังคม  เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการล่มสลายของชุมชนอื่น เพราะทุกส่วนในโลกล้วนเชื่อมโยงกัน เมื่อสังคมหนึ่งล้มเหลว ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมที่อยู่ใกล้เคียงกันได้  ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  ในฐานะนักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านงานสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม จึงควรมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดัน ส่งเสริม  สนับสนุน ให้เกิด                    สุขภาวะและคงไว้ซึ่งความยั่งยืนในระบบสุขภาพสังคม  ผ่านความชำนาญและอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ นั่นเอง

 

                       

 

 

                       

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ

กุลนิษฐ์  ดำรงค์สกุล. (2552). เอกสารบรรยายลักษณะงานสังคมสงเคราะห์  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์. เอกสารโรเนียว.

ฉลวย  จุติกุล. (2544). แนวคิดการปฏิรูป  การจัดบริหารและการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จิตเวช สำหรับุคคลปัญญาอ่อนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เดชา  เวชพิพัฒน์. รีดเดอร์ ไดเจสท์ สรรสาระ. 2553.Singapore. Times Printers Pte Ltd

นงลักษณ์  เอมประดิษฐ์. (2530). สังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์. กรุงเทพฯ.                                                          โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ประเวศ  วะสี. (2545). สุขภาพสังคม  สู่สังคมสันติภาพ. กรุงเทพฯ. สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพและสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

มาลี  ธรรมลิขิตกุล. (2543). สวัสดิการสังคมมิติหนึ่งในงานสาธารณสุข. กรุงทพฯ.                                                                 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ระพีพรรณ  คำหอม. (2551). หลักและกระบวนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จุลภาค. กรุงเทพฯ.                      โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์.

วรรณวดี  พูลพอกสิน. (2551). รายงานการวิจัยเสริมหลักสูตร เรื่อง นโยบาย  30  บาท  รักษาทุกโรค  กับกลยุทธ์ การปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของนักสังคมสงเคราะห์. กรุงทพฯ.   โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล. (2553). เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี “การพัฒนาที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน” ครั้งที่ 11. นนทบุรี. บริษัท  หนังสือดีวัน  จำกัด. 

เสาวณีย์  ลีลานุช. (2541). รายงานการวิจัยเรื่อง “ความคาดหวังของแพทย์และพยาบาลต่อบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข  สำนักอนามัย  กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ. กองส่งเสริมสาธารณสุข  สำนักอนามัย  กรุงเทพมหานคร.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 385558เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พี่อยู่ราชบุรีไม่ทราบว่าเป็นญาติหรือป่าวจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท