ผลของการใช้กระบวนการจัดการความรู้ในรายวิชาการพยาบาลครอบครัวและชุมชน 1


ผลของการใช้กระบวนการจัดการความรู้ในรายวิชาการพยาบาลครอบครัวและชุมชน 1

ชื่อเรื่อง       ผลของการใช้กระบวนการจัดการความรู้ในรายวิชาการพยาบาลครอบครัวและชุมชน 1

ชื่อผู้วิจัย  ชิตสุภางค์  ทิพย์เที่ยงแท้

ปี พ.ศ. ที่เสร็จ  2553

                                                          บทคัดย่อ

                 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้กระบวนการจัดการความรู้ในวิชาการพยาบาลครอบครัวและชุมชน 1  ครอบคลุมเนื้อหาบทที่ 1-3  จำนวน  24  ชั่วโมง ซึ่งการสอนโดยใช้การจัดการความรู้นี้ ได้ใช้วิธีสอนแบบบรรยาย แบบอภิปรายกลุ่ม การใช้กรณีศึกษา การใชเทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบ ร่วมกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และพฤติกรรมการใฝ่รู้ รวมทั้งความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนรายวิชา และความพึงพอใจต่อประสิทธิภาพการสอนของผู้สอน ตามความคิดเห็นของนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต รุ่น 26 ห้อง 1 โดยทดลองใช้วิธีการสอนแบบนี้ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2552 ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 รุ่นที่ 26/1 ทุกคนเป็นประชากรที่ใช้ในการศึกษา                  เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่การจัดการเรียนการสอนโดยการใช้กระบวนการจัดการความรู้เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่  แบบประเมินผลการจัดการเรียนการสอนรายวิชา แบบประเมินประสิทธิภาพการสอนของผู้สอน แบบประเมินพฤติกรรมการใฝ่รู้ แบบบันทึกคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2552 การวิเคราะห์ข้อมูล ความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน  วิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ประสิทธิภาพการสอนและประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนรายวิชา วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าเฉลี่ย และ ร้อยละ สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และพฤติกรรมการใฝ่รู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนประสิทธิภาพการสอนและประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนรายวิชา วิเคราะห์ด้วย ค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
  1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพบว่าจำนวนนักศึกษารุ่น 26/1 สอบผ่านครั้งแรกมากกว่ารุ่น 26/2
  2.  พฤติกรรมการใฝ่รู้ของนักศึกษา ผลการวิจัยพบว่าภายหลังจากจัดการเรียนการสอนแล้ว
นักศึกษามีพฤติกรรมการใฝ่รู้อยู่ในระดับดี และด้านความรู้สึก มีค่าเฉลี่ยการใฝ่รู้สูงกว่าด้านความคิดและด้านการปฏิบัติ
3.   ความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอน นักศึกษามีความคิดเห็นว่า  การเข้าร่วมกิจกรรม
กลุ่ม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกในกลุ่มและต่างกลุ่มรวมทั้งการได้ศึกษากรณีศึกษาครอบครัว  ทำให้เกิดประสบการณ์ตรง พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออก มีมนุษย์สัมพันธ์ มีทักษะการทำงานเป็นกลุ่มและมีภาวะผู้นำ ด้านความคิดเห็นต่อผู้สอนและวิธีสอน พบว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความรู้ ความเข้าใจและการเชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ การสอนเป็นทีมทำให้ผู้สอนแต่ละท่านมีได้มีโอกาสเต็มเติมส่วนที่ขาดของอีกท่านได้ นอกจากนี้ยังเป็นบรรยากาศที่สนุกสนาน ท้าทาย และเป็นบรรยากาศที่กระตุ้นให้อยากรู้ อยากหาคำตอบเพิ่มเติม ขณะเดียวกันการที่ผู้สอนได้ชี้แนะ ทำให้นักศึกษาทราบว่าจะต้องปรับแก้ไขประเด็นใดหรือจุดใดอีกบ้างเพื่อจะได้ให้การดูแลได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น และนักศึกษาสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนวิชานี้ว่าสิ่งที่นักศึกษาได้รับมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่  การสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ รองลงมาคือการได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  และได้ฝึกคิดวิเคราะห์วิจารณญาณ ร่วมกับได้เข้าใจบริบทและปัญหาของครอบครัวกรณีศึกษา 
4. ความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาทุกคนมีความพึงพอใจต่อการจัดการ
เรียนการสอน และพึงพอใจต่อทีมผู้สอน และประเด็นที่ส่งผลให้พึงพอใจมากคือเรื่อง บรรยากาศที่เป็นกันเองระหว่างผู้สอน กับนักศึกษา และระหว่างผู้สอนกับผู้สอน รวมทั้งวิธีการสอนที่ส่งเสริมให้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง การสอนและชี้แนะจากทีมผู้สอน
การออกแบบการจัดการเรียนการสอนโดยการใช้กระบวนการจัดการความรู้ร่วมกับการสอนโดยใช้วิธีการบรรยายร่วมกับการเชื่อมโยงถ่ายทอดจากประสบการณ์ของสอน การอภิปรายกลุ่ม การสอนแบบสืบเสาะแสวงหาความรู้ การใช้กรณีศึกษา รวมทั้งการจัดเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องคู่มือครู ครูมือนักศึกษา การเตรียมความพร้อมของทีมผู้สอนและการเตรียมกรณีศึกษา ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่สนับสนุนให้นักศึกษามีพฤติกรรมการใฝ่รู้ และมีความพึงพอใจต่อการเรียนมากขึ้น ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น
 
หมายเลขบันทึก: 385259เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2010 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท