KM0009 : ประสบการณ์นำกระบวนการ EE ครั้งแรก ตอนที่ ๑


การรับฟังปัญหาเป็นโจทย์ที่ขึ้นต้นด้วยความคิดเชิงลบ ดังนั้นเมื่อเปิดเวที หากผู้เข้าร่วมไม่ได้ถูกกระตุ้นหรือสร้างแนวคิดเชิงบวกมาก่อน ก็จะกลายเป็นเวทีระบายความทุกข์ ผู้จัดก็พยายามแก้ตัวแต่ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ทำให้บางครั้งผู้จัดต้องคิดหรือยุ่งอยู่กับการบริหารความขัดแย้ง จนไม่มีสมาธิในเรื่องที่ตนต้องการ

ครั้งก่อนได้เล่าเรื่องการเข้าไปร่วมเป็นผู้นำทำกิจกรรมของกองทุนเอดส์ ซึ่งผมได้มีการนำเอากระบวนการ ประเมินผลแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaluation,EE) มาใช้ หรือจะว่าทดลองใช้ก็ได้ เพราะเป็นนำเอามาใช้จริงครั้งแรกหลังจากที่ผมได้รับการอบรมมา  และรู้แบบงูๆ ปลาๆ ทำให้ต้องหาอ่านและศึกษาเอาเองเพิ่มเติมจาก Internet รวมทั้งบางส่วนก็นำมาตีความเอาเอง ผิดถูกก็คิดว่าไม่เป็นไร ลองดูกันสักตั้ง

เหตุผลที่เลือกเอากระบวนการนี้มาใช้ก็เพราะเมื่อดูแล้วน่าจะถูกจริตกับองค์กรของผม เพราะเป็นองค์กรที่เนื้องานเต็มไปด้วยแผนงานโครงการมากมาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการประเมินผลแผนงานโครงการเหล่านี้ก็มักจะประเมินกันไปตามตัวชี้วัด เช่น จัดประชุมกี่ครั้ง ทำได้กี่แห่งเป็นต้น ดีขึ้นมาหน่อยก็ดูผลลัพธ์ (Outcome) เช่น ดูเรื่องอัตราการใช้บริการ เป็นต้น เมื่อขึ้นปีต่อไปก็จัดทำแผนแบบเดิมๆ กิจกรรมเดิมๆ อาจมีการรับฟังปัญหากันบ้างระหว่างปี หรือก่อนขึ้นปีงบประมาณใหม่ ซึ่งก็ได้เนื้อหากลับมาบ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะการรับฟังปัญหาเป็นโจทย์ที่ขึ้นต้นด้วยความคิดเชิงลบ ดังนั้นเมื่อเปิดเวที หากผู้เข้าร่วมไม่ได้ถูกกระตุ้นหรือสร้างแนวคิดเชิงบวกมาก่อน ก็จะกลายเป็นเวทีระบายความทุกข์ ผู้จัดก็พยายามแก้ตัวแต่ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ทำให้บางครั้งผู้จัดต้องคิดหรือยุ่งอยู่กับการบริหารความขัดแย้ง จนไม่มีสมาธิในเรื่องที่ตนต้องการ

การนำกระบวนการใหม่ๆ เข้ามา จึงเป็นสิ่งที่ผมพยายามคิดหาหนทางมาตลอด ผมเองไม่ใช่เป็นนักกิจกรรม หรือนักจัดกระบวนการ เป็นแค่ผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งเลยมีองค์ความรู้เรื่องเหล่านี้ไม่มาก จนได้มารู้จักกับ EE ก็เลยคิดว่าน่าจะพอนำมาประยุกต์ใช้ได้ ขั้นตอนก็ไม่มีอะไรมาก

ขั้นตอนก่อนเริ่มกระบวนการ ในความคิดของผมขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะต้องอธิบายให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเข้าใจถึง EE การทำให้ร่วมกันมองว่าเมื่อทำงานในโครงงานหรือแผนงานเดียวกัน ควรต้องคิดว่าทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่แค่ผู้จัดการโครงการ (Project Manager) ที่เป็นเจ้าของ การเตรียมคนให้คิดเชิงบวก ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น รวมทั้งเป้นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี ตรงนี้จึงต้องมีกระบวนการอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องก่อนพอสมควร กระบวนการที่สร้างความสัมพันธ์ กระบวนการสร้างทักษะการฟังและการพูด เป็นต้น ไม่น่าแปลกใจตอนที่อบรม KM อาจารย์จึงเอากระบวนการนี้ไว้ในการอบรมรอบสุดท้าย (หรืออันนี้ผมอาจคิดไปเองก็ได้)

ดังนั้น หากใครคิดจะนำเอากระบวนการนี้ไปใช้อาจต้องคำนึงอยู่ ๓ ประการ

๑) กระบวนการมันถูกกับจริตขององค์กรเราหรือไม่ ถ้านำไปใช้อาจต้องมีการประยุกต์บ้าง
๒) การเตรียมคน อย่างที่บอก กระบวนการขั้นเตรียมมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับคนไม่เคยทำ กลุ่มคนที่มามีความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีต่อกัน แบบนี้อาจไม่ประสบผลสำเร็จได้
๓) คนนำกระบวนการ อาจต้องมีการศึกษาเรื่องที่จะทำหรือได้ลองทำบ่อยๆ ก็จะควบคุมกระบวนการได้ค่อนข้างดี จุดแข็งของผมคือผมพอที่จะเข้าใจธุรกรรมขององค์กร จึงพอเดินไปได้บ้าง แต่หากให้ไปทำที่อื่นคงไม่ไหว

ตอนหน้าจะมาเล่าเรื่องขั้นตอนทำกระบวนการ EE ต่อครับ

คำสำคัญ (Tags): #ee#empowerment evaluation#km
หมายเลขบันทึก: 384706เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2010 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท