กลัวจังเลย R&D


ลงไปทำงานตามโครงการที่เขียนไว้” ต้องทำตามนั้นนะครับ ถ้าไม่ทำล่ะมีปัญหาแน่,ทำเรื่องท่องเที่ยว ก็ต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ ทำเรื่องเครือข่าย อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นเครือข่ายให้ได้ ทำเรื่องผ้าทอ อย่างไงก็ต้องให้ชาวบ้านทอผ้าให้ได้

ในค่ำคืนของวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ผมเข้านอนก็ได้คิดอะไรเพลิน รวมถึงคิดเรื่องหัวข้อที่จะนำดุษฎีนิพนธ์ว่าเราจะทำเรื่องอะไรดีน๊อ

             ผมก็คิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดถึงงานวิจัยชิ้นก่อน ๆ ที่เคยทำมา คิดถึงงานวิจัยของเพื่อน ๆ พี่ ๆ และน้อง ๆ ที่เขาได้หัวข้อกันหมดแล้ว พอดีผมมาที่หลังเขาหนึ่งเดือน นอกเหนือจากที่คิดถึงหัวข้อแล้ว ผมยังคิดถึงคำพูดของ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ในวันนั้นที่ท่านได้ปฐมนิเทศผมแบบตัวต่อตัวว่า “ตอนนี้ประเทศเราผลิตคนเก่ง ๆ ออกมาเยอะ เอาคนเก่ง ๆ มาแก้ปัญหา แต่เป็นคนเก่งที่ไม่รู้ปัญหา ประเทศเราถึงได้ประสบกับปัญหาอย่างไม่จบไม่สิ้นอยู่แบบนี้”

              ประกอบกับผมก็คิดถึงคำสอนครั้งที่ทำงานวิจัยในโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งเป็นชุดโจทย์สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศที่รับผิดชอบทำกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในครั้งนี้นับว่าเป็นบุญของผมมาก ๆ ที่ได้ที่ปรึกษาโครงการที่เยี่ยมยอดจริง ๆ ทั้ง ดร.ปรีชา อุยตระกูล อ.ปรองชน พูลสวัสดิ์ อาจารย์ภีม ภคเมธาวี อ.สนั่น เพ็งเหมือน ผศ.ดร.สุนทรีย์ ดวงทิพย์ และที่สำคัญที่สุด รศ.ดร.มารุต ดำชะอม จาก มอ. (วิทยาเขตปัตตานี) ซึ่งท่านได้ให้โอกาสผมในการที่จะเรียนรู้การทำงานที่มหัศจรรย์มาก ๆ

             ทุกครั้งที่ผมจะเข้าไปทำงานกับชุมชน ผมจะนึกถึงนิทานเรื่องต่าง ๆ ที่ท่านได้เล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องลิงกับปลา (ขออนุญาตเล่าในบันทึกถัดไปครับ) นึกถึงเทคนิคการทำงานกับชุมชนที่ท่านใช้กุศโลบายอย่างแยบยลในการสอนพวกผม

              หลังจากนั้นเกือบ ๆ ชั่วโมงผมก็ต้องสะดุ้งสุดตัวและฉุกคิดถึงสาเหตุของปัญหาอันหนึ่งขึ้นมาได้ จึงต้องรีบลุกเปิดไฟแล้วมาเขียนบทความชิ้นนี้ เพราะผมกลัวว่า ผมและเพื่อน ๆ ที่เป็นความหวังของท่าน คณบดีคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ความหวังของท่านครูบาสุทธินันท์ และความหวังของพี่น้อง ๆ ทุก ๆ คนที่เราจะเข้าไปร่วมทำงานด้วยทั้งในระหว่างเรียนอยู่ ต้องเข้าไปทำวิทยานิพนธ์และดุษฎนิพนธ์กับชุมชนที่บุรีรัมย์ โดยเฉพาะเมื่อสำเร็จการศึกษาซึ่งจะต้องออกทำงานอีกหลายสิบปีว่าเราจะทำเหมือนกับสิ่งที่เคยผิดพลาดมาแล้วหรือเปล่า ผมเลยเขียนบทความนี้ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “กลัวจังเลย”

 

               ผมเคยเขียนข้อคิดเห็นและบันทึกในกระทู้ และพูดกับหลาย ๆ คนว่า ผมไม่อยากเป็นนักวิจัยแล้ว เพราะว่าผมกลัวและระอายกับสิ่งที่เคยทำผ่านมา ถึงแม้ว่าผมจะทำงานวิจัยมาไม่มากนัก แต่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถวัดเชิงปริมาณได้ว่าทำมากี่เล่ม กี่ชิ้น เพราะสิ่งที่เราลงไปทำนั้น เราทำอยู่บนชีวิตของคนจริง ๆ ของพี่น้อง ของพ่อแม่ ปู่ยาตายาย ของเด็กตาดำ ๆ หลากหลายโครงการที่มีชื่ออย่างหรูหรา งบประมาณหลักหมื่น จนถึงหลักล้าน “ผมกลัวบาปจังเลยครับ”

               เพราะถ้าพูดกันตามตรงแล้ว เรามีแต่ได้เป็นส่วนใหญ่ครับ ได้ผลงาน ได้ความรู้ ได้ค่าตอบแทน ได้ภาระงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สิ่งที่ผมได้มานั้น ผมทำตามยุทธศาสตร์ที่ข้างบนวางมาไว้ไม่ใช่เหรอ ที่ต้องทำงานกับชุมชน สัมผัสกับท้องถิ่น แต่ชุมชนล่ะ เขาได้มากเหมือนกับที่เราได้ไหม

              ได้สิ ได้งานวิจัยไปกอดไว้หนึ่งเล่ม ได้เป็นเครื่องทดลองทฤษฎีของเรา ได้เป็นประชากรและกลุ่มตัวอย่างในบทที่ 3 ที่ใส่ไว้ในเพื่อให้เราได้ปริญญาบัตร ได้เป็นส่วนหนึ่งของโบนัสที่เราได้ แต่ชีวิตของเขาล่ะ ดีขึ้นเหมือนชีวิตเราไหม ความก้าวหน้าของเรา ถ้าไม่มีเขาไม่มีพี่น้องในชุมชน ผมคงไม่มีโอกาสได้มาเรียนปริญญาเอกในวันนี้

              ดังนั้นผมก็เลยเกิดอาการกลัวขึ้นมา จากสาเหตุอีกอันหนึ่งก็คือ สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันที่เรากำลังพัฒนาคน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฉบับที่ 9 และ 10 เราได้ทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาคนเป็นจำนวนมากในการให้ทุนการศึกษาไปเรียนในระดับต่าง ๆ ออกวิสัยทัศน์ในการทำงานกับรากหญ้า ทำงานกับชุมชน วัดผลงานของคนจากงานทางวิชาการ หนังสือ ตำรา งานวิจัย ไม่ว่าจะเป็น Qualitative Research , R&D (Research and Development) โดยสิ่งที่น่ากลัวของงานพวกนี้ก็คือผลลัพธ์หรือผลสำเร็จของงาน เพราะระบบของเราในปัจจุบันนั้นบีบบังคับให้วัดผลงานตาม Action Plan จากโครงการที่ผ่านการอนุมัติให้ทำงานทั้งจากทางมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ

           หลาย ๆ ท่านอาจจะงงครับ ว่ามันจะน่ากลัวอย่างไงเหรอ เพราะการทำโครงการต่าง ๆของประเทศไทยนั้นก็ทำกันมาอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ว่าจะทำอะไร จากนั้นก็ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำโครงการเสนอขึ้นมาให้ตรงกับวิสัยทัศน์นั้น แล้วก็มีการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ เมื่อโครงการผ่านการอนุมัติ ก็ลงไปทำงานตามที่โครงการนั้นเขียนไว้

          สิ่งที่น่ากลัวก็คือ “ลงไปทำงานตามโครงการที่เขียนไว้” ต้องทำตามนั้นนะครับ ถ้าไม่ทำล่ะมีปัญหาแน่ แล้วมันจะน่ากลัวอย่างไรครับ ก็ผ่านการอนุมัติกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เขียนอะไรมาก็ทำไปตามนั้น อาทิเช่น

           โครงการวิจัยศึกษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในชุมชน วัตถุประสงค์และผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ หลัก ๆ ก็มีอยู่ 2 ประการ 1. ศึกษา 2. พัฒนา ก็แล้วแต่ว่าจะศึกษาและพัฒนาอะไร ต้องศึกษาไหมครับ แน่นอนต้องศึกษา ต้องพัฒนาไหมครับ แน่นอนต้องพัฒนา แล้วถ้าศึกษาแล้วมันไม่เหมาะไม่มีล่ะ ไม่พัฒนาได้ไหมครับ “ไม่ได้” เพราะ Action Plan เขียนไว้ อย่างไงก็ต้องพัฒนา

           ดังนั้นโครงการจะปิดตัวลงได้ อย่างไรก็ต้องมีการพัฒนา ทำเรื่องท่องเที่ยว ก็ต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ ทำเรื่องเครือข่าย อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นเครือข่ายให้ได้ ทำเรื่องผ้าทอ อย่างไงก็ต้องให้ชาวบ้านทอผ้าให้ได้ ไม่งั้นก็ไม่จบโครงการครับ

            ความน่ากลัวของ R&D ก็อยู่ที่จุดนี้แหละครับ ก่อนที่จะเขียนต่อไป เดี๋ยวใคร ๆ จะว่าผมว่าเมื่อก่อนเรา R กันอย่างเดียว ศึกษาวิจัยกันอย่างเดียว ขึ้นหิ้งก็ว่าไม่มี เราก็นำทฤษฎี R&D มาใช้แล้วก็ไม่ดีอีกเหรอ

             R&D เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ระบบของประเทศเราไม่เอื้อต่อการทำงานแบบ R&D เพราะระบบบังคับตายตัวว่า คุณเสนอโครงการมาอย่างไร คุณต้อง Develop ตามที่คุณเขียนไว้ ถ้าคุณไปศึกษาแล้วมันไม่ดี คุณแทบจะเปลี่ยนไม่ได้เลย ก็ต้องตามไปตามสิ่งที่คุณเขียน เพราะมิฉะนั้น ก็จะผิดจากโครงการที่คุณเสนอมา อาจมีความผิดทางวินัยถูกลงโทษได้ ฉะนั้น ชุมชน ชาวบ้าน จะเป็นอย่างไร เหมาะหรือไม่เหมาะ พัฒนาไว้ก่อน เสร็จแล้วค่อยว่ากัน

             ยิ่งตอนนี้นักศึกษาในระดับต่าง ๆ เน้นงานวิจัยชุมชนกันมากครับ หลาย ๆ สาขาวิชาก็หันมาเล่นงานวิจัยกับชุมชน ลงไปศึกษาและพัฒนาต่าง ๆ เยอะมาก ย้อนกลับมาคำถามเดิมว่า ศึกษาแล้วไม่พัฒนาได้ไหม ไม่ได้หรอกครับ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาคงไม่ยอม และคงจะเรียนไม่จบ อย่างไงก็ต้องทำให้ได้ออกมาเป็นเล่มสมบูรณ์ให้ได้ สิ่งนี้ว่าน่ากลัวแล้วแต่ก็ยังมีจุดสิ้นสุด ก็คือ เรียนจบแล้วก็จบกัน

             แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ องค์กรภาครัฐที่มีโครงการและทำงานกับชุมชนโดยตรง ที่น่ากลัวเพราะว่าหน่วยงานเหล่านี้มีความมั่นคงของหน่วยงานสูงมาก ความมั่นคงก็คือหน่วยงานและโครงการที่ทำลงไปแล้วจะต้องคงอยู่ตลอดไป นำงบประมาณลงไปแล้ว พัฒนาอาชีพแล้ว ต้องมีการติดตาม ประเมินผล รักษาสภาพให้ดำรงอยู่ จะให้ล่มไม่ได้ กลุ่มอาชีพที่ตั้งไว้ สิ่งที่ไปพัฒนาไว้อย่างไงก็ต้องบังคับให้อยู่เพราะนั่นหมายถึง สมรรถภาพของหน่วยงาน ถ้ากลุ่มล้มไป โครงการที่ทำไว้ล้มไป ก็จะเป็นกลายเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานที่เสนอโครงการของบประมาณฯ

             ดังนั้น R&D เป็นเสมือนดาบสองคม ถ้าเราใช้ให้ดีก็มีคุณอนันต์ถ้าใช้ในระบบที่ไม่ดีก็จะมีโทษมหันต์ครับ

            แล้วเราจะแก้อย่างไรดี ต้องแก้ที่ตัวระบบครับ ถ้าไม่แก้ที่ระบบการเสนอโครงการ โครงร่าง หรือจะเรียกอย่างไรก็ตาม ยืดหยุ่นที่อยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต โครงการแบบหลวม ๆ ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทที่แท้จริงของแต่ละชุมชน

             หรืออีกวิธีหนึ่ง ต้องนึกถึงโมเดลปลาทู ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เพราะการแก้ไขระบบนั้นจะเป็นส่วนของหัวปลา ขึ้นอยู่กับ Vision ของผู้บริหารว่า จะคิดอย่างไร จะเอาระบบมาเพื่อควบคุมให้ลูกน้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแต่ชาวบ้านแย่ หรือว่าจะใช้ระบบเพื่อให้ช่วยให้ชาวบ้านรอดอันนี้ต้องขบคิดกันหนักครับ อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ ในส่วนของหางปลาของโมเดลปลาทู ที่จะต้องมีคลังข้อมูลเบื้องต้นของปัญหา ความต้องการ ที่ถูกต้องและที่สำคัญ “เข้าถึงได้” ต้องเน้นนะครับ “เข้าถึงได้” อย่างสะดวก รวดเร็ว เหมาะกับการใช้งาน

              ไม่ใช่ปัจจุบันไม่มีนะครับ มีเยอะมากครับ ซึ่งถ้าจะวัดจากงบประมาณของประเทศที่ลงทุนไปกับการพัฒนาระบบ MIS (Management Information System) ของหน่วยงานราชการที่มีระบบ Internet และ Intranet กับเกือบครบทุกหน่วยงานแล้ว เป็นแหล่งที่ให้พนักงานเล่น Internet ได้อย่างสะดวกสบายมากเลยครับ

             ถ้าเพิ่มเติม Job Description (คำพรรณาลักษณะงาน) ของพนักงานแต่ละท่านลงไปหน่อยว่า สิ่งที่ท่านทำอยู่ทุก ๆ วัน ก็ควรที่จะมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดเก็บ ง่าย ๆ ที่สุด ที่หลาย ๆ หน่วยงานตรวจกันอยู่ก็คือ 5ส เอาแค่ 5ส ก็จะแย่กันอยู่แล้วครับ ไม่ต้องถึงมาตรฐานต่าง ๆ ที่เข้ามาใช้เข้ามาตรวจกันล้นหลาม ทำ 5ส ได้ก็เยี่ยมแล้วครับ

             ใช้ทุนเทคโนโลยีสารสนเทศของแต่ละหน่วยงาน แต่ละกรม กอง กระทรวง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดอีกต่างหากครับ เพราะตอนที่ผมเรียนหนังสือมา อาจารย์บอกว่า “การบริหารหรือจัดการ” หมายถึง การทำการใช้สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หน่วยงานราชการเรา มีอะไรดี ๆ เยอะครับ คอมพิวเตอร์ทันสมัยราคาแพง ๆ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ใช้สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดกันเถอะครับ อย่างน้อยก็เก็บข้อมูลต่าง ๆ ของประชาชน เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ กับโครงการต่าง ๆ ในอนาคต และที่สำคัญครับ ข้อมูลที่เรามีนั้นน่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมให้มากที่สุดครับ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หน่วยงานและองค์กรซึ่งอยู่ในประเทศเดียวกันบ้าง เพราะทุกคนรับเงินเดือนจากภาษีของพี่น้องประเทศไทยด้วยกัน ข้อมูลต่าง ๆ ก็มีไว้เพื่อบริการประชาชนชาวไทยเหมือนกัน มาร่วมกันบูรณาการข้อมูลกันเถอะครับ ร่วมกันคิดตั้งแต่ระบบการจัดเก็บ คนที่จะใช้หรือหน่วยงานที่จะใช้ข้อมูลก็ต้องแจ้งให้คนเก็บเขารู้ด้วยนะครับว่า เราต้องใช้ข้อมูลประเภทไหน อย่างไร เดี๋ยวจะหาว่าเขาเก็บไม่ตรงกับที่เราใช้ไม่ได้นะครับ หรือเราจะใช้ไม่ตรงกับที่เขาเก็บก็จะลำบากกันในตอนหลังครับ

เรามาร่วมกันทำงานปรับปรุงและพัฒนา “พัฒนา” คำนี้คงไม่น่ากลัวอีกแล้วครับ แต่เราคนไทยร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแท้จริงครับ

หมายเลขบันทึก: 38470เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2006 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • อาจารย์บันทึกความคิดได้ละเอียดมากครับ
  • R&D  ตามวัฒนธรรมเดิม เปรียบเหมือนการทำ KM แล้วใช้ KM เป็นเป้า (ทุกอย่างต้องเป็นไปตามโครงการ)
  • การทำ R&D น่าจะเหมือนการทำ KM แต่เก็บดอกไม้รายทางไปด้วยเช่นบันทึกของคุณธวัชKMI (การทำงานที่มีการปรับวิธีการอยู่ตลอดเวลาตามบริบท) ลิงค์อ่าน
  • การทำงานน่าจะมีความยืดหยุ่น  ใช้รูปแบบผสมผสานของ NGO ด้วยน่าจะดีนะครับ
  • เพราะไม่มีสิ่งใดดีที่สุด/ถูกต้องที่สุด (ยกเว้นแป็บซี่ครับ)

R&D ทำวิจัยและพัฒนาเหมือนเป็น 2 งานในวิจัยเดียวกัน ???

แต่ส่วนใหญ่นักวิจัยมักทำการ research ศึกษาอย่างเดียว และเมื่อได้ผลมาแล้ว ก็หยุดนิ่ง !! ไม่ได้มีการนำผลไปพัฒนาต่อ....แต่การทำ R&D  จะเพิ่มประสิทธิภาพ เหมือนอย่างที่ อ.ปภังกร กล่าวไว้..ยกตัวอย่างเช่น...

โครงการวิจัยศึกษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในชุมชน วัตถุประสงค์และผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ หลัก ๆ ก็มีอยู่ 2 ประการ 1. ศึกษา 2. พัฒนา ก็แล้วแต่ว่าจะศึกษาและพัฒนาอะไร ต้องศึกษาไหมครับ แน่นอนต้องศึกษา ต้องพัฒนาไหมครับ แน่นอนต้องพัฒนา แล้วถ้าศึกษาแล้วมันไม่เหมาะไม่มีล่ะ ไม่พัฒนาได้ไหมครับ “ไม่ได้” เพราะ Action Plan เขียนไว้ อย่างไงก็ต้องพัฒนา

           ดังนั้นโครงการจะปิดตัวลงได้ อย่างไรก็ต้องมีการพัฒนา ทำเรื่องท่องเที่ยว ก็ต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ ทำเรื่องเครือข่าย อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นเครือข่ายให้ได้ ทำเรื่องผ้าทอ อย่างไงก็ต้องให้ชาวบ้านทอผ้าให้ได้

แบบนี้ถึงจะเรียกว่า R&D 

ขอบพระคุณความคิดเห็นของทุก ๆ ท่านเลยครับ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและต่อยอดความรู้ได้อย่างดีเยี่ยมเลยครับ

เข้าใจว่าเรื่อง R&D ข้อมูลเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับผลลัพท์และการนำไปใช้นะคะ เพราะถ้าไปกำหนดสิ่งใดแน่นอนตั้งแต่ยังไม่ทำ มันคงต้องเป็นการทดลองที่มีการควบคุมตัวแปรอย่างเข้มงวดไปแล้วกระมังคะ

ส่วนที่อาจารย์กลัวบาปนั้นค่อนข้างจะเห็นด้วยค่ะ เพราะงานวิจัย(ที่ทุกคนมักนึกว่าเป็นเรื่องของนักวิจัยและแหล่งทุน) ทำให้มองประโยชน์ของกลุ่มผู่ร่วมวิจัยเป็นแค่กลุ่มตัวอย่าง แต่ดิฉันคิดว่า R&D นั้นการเรียนรู้ของผู้ร่วมวิจัยกับนักวิจัยเป็นเนื้อเดียวกันค่ะ ต่างไม่มีอำนาจเหนือกัน ถ้างานวิจัยตั้งบนพื้นฐานความคิดนี้แล้ว การจะบอกว่าต้องทำโครงการ R&D เพื่อทำแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้นั้น อาจต้องทบทวนถึงข้อมูลในพื้นที่จริงๆว่าเจ้าของพื้นที่อยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวไหม ทำไมถึงอยากหรือไม่อยาก

R&D ไม่น่าจะจบลงที่โครงการทำแหล่งท่องเที่ยวให้มีคนไปเที่ยวเพียงแค่นั้นนะคะ มันต้องเป็นเกลียวที่ต่อเนื่อง เพียงแต่การเขียนรายงานผลอาจจะแบ่งเขียนตามวัตถุประสงค์เป็นช่วงๆมากกว่า และถ้าจะศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เกิดว่าไม่สามารถพัฒนาให้มีคนไปเที่ยวได้ ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ถ้านักวิจัยและผู้ร่วมวิจัยสามารถทำให้ผลออกมาประจักษ์ได้ว่า มีเหตุมีผลอะไร และทำไมเป้าหมายไปไม่ถึง ต้องพัฒนาหรือศึกษาอะไรเพิ่มไหม

ขออนุญาตออกความเห็นตามประสานักวิจัยที่อ่อนประสบการณ์ค่ะว่า ทำโครงการวิจัยถ้าเห็นว่าโครงการนั้นๆ เหมาะสมในช่วงเวลาที่คิดอย่างรอบคอบแล้ว ก็น่าจะอธิบายแหล่งทุนได้ ขออย่างเดียวอย่าเอาการเมืองมาแทรกงานวิจัยเท่านั้นค่ะ

ครับผมก็คนหนึ่งที่กำลังจะเสนอหัวข้อวิจัยในลักษณะ R&D ครับ แต่ก็อย่างที่ให้ความเห็นกันแหละครับทำใจลำบาก เพราะบางเล่มไปอ่านก็ได้แค่Rรูปแบบแล้วก็จบไปเฉยๆ ไม่เห็นD ตรงไหนเลยครับ และเห็นด้วยกับคุณจันทรรัตน์ที่ว่า ขออย่างเดียวอย่าเอาการเมืองมาแทรกงานวิจัยเลยครับ อยากขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ตรงๆจากการทำ R&D ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท