ประมวลจริยธรรมของข้าราชการอบต.ท่าโพธิ์ศรี


ประมวลจริยธรรมของข้าราชการอบต.ท่าโพธิ์ศรี

ประมวลจริยธรรมของข้าราชการ

ของ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ. ๒๕๕๒

_______________

ประมวลจริยธรรมของข้าราชการนี้จัดทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช ๒๕๕๐  มาตรา  ๒๗๙   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑. เป็นเครื่องมือกำกับความประพฤติของข้าราชการ  ที่สร้างความโปร่งใส  มีมาตรฐาน ในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและเป็นสากล

๒. ยึดถือเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ  ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล  และเป็นเครื่องมือการตรวจสอบการทำงานด้านต่างๆขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี เพื่อให้ การดำเนินงานเป็นไปตามหลักคุณธรรม จริยธรรม  มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

๓. ทำให้เกิดรูปแบบองค์กรอันเป็นที่ยอมรับ  เพิ่มความน่าเชื่อถือ  เกิดความมั่นใจแก่ผู้รับบริการและประชาชนทั่วไป  ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย

๔.ให้เกิดพันธะผูกพันระหว่างองค์กรและข้าราชการในทุกระดับ  โดยให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจในขอบเขต  สร้างระบบความรับผิดชอบของข้าราชการต่อตนเอง ต่อองค์กร ต่อผู้บังคับบัญชา       ต่อประชาชน  และต่อสังคม ตามลำดับ

๕. ป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ  และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น  รวมทั้งเสริมสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้  รวมถึงเพื่อใช้เป็นค่านิยมร่วมสำหรับองค์กรและข้าราชการทุกคน  พึงยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติควบคู่ไปกับระเบียบและกฎข้อบังคับอื่นๆอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ  ดังนี้ 

 หมวด ๑

บททั่วไป
ข้อ ๑   ในประมวลจริยธรรมนี้                                    “ประมวลจริยธรรม”  หมายถึง  ประมวลจริยธรรมของข้าราชการของ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี “ข้าราชการ”  หมายถึง  ข้าราชการส่วนท้องถิ่น  ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญ  ข้าราชการครู  และบุคลากรทางการศึกษา  ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น  รวมถึงพนักงานจ้าง  และลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น                    “คณะกรรมการจริยธรรม”  หมายถึง  คณะกรรมการจริยธรรมประจำ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี
     ข้อ ๒      ให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  รักษาการตามประมวลจริยธรรมนี้

 หมวด ๒

มาตรฐานจริยธรรม

ส่วนที่ ๑

มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก

สำหรับข้าราชการ  ของ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี

       ข้อ ๓      ข้าราชการของ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีทุกคน  มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม  เป็นกลางทางการเมือง  อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล  โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก ๑๐ ประการ  ดังนี้

(๑) การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น

ประมุข

(๒) การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม

(๓) การมีจิตสำนึกที่ดี  ซื่อสัตย์  และรับผิดชอบ

(๔) การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน  และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

(๕) การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม  และถูกกฎหมาย

(๖) การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ

(๗) การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

(๘) การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

(๙) การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร

(๑๐) การสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในท้องถิ่นประพฤติตนเป็นพลเมืองที่ดี ร่วมกันพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่คู่คุณธรรมและดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

ส่วนที่ ๒

จรรยาวิชาชีพขององค์กร

      ข้อ ๔      ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา                                    และพระมหากษัตริย์

     ข้อ ๕      ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

     ข้อ ๖       ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

    ข้อ ๗      ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของตำแหน่งหน้าที่

     ข้อ ๘      ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความเสียสละ  ทุ่มเทสติปัญญา  ความรู้ความสามารถ  ให้บรรลุผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน

     ข้อ ๙       ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องมุ่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยความเป็นธรรม  รวดเร็ว  และมุ่งเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงานและประชาชน

     ข้อ ๑๐    ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุภาพ เรียบร้อยมีอัธยาศัย

    ข้อ ๑๑    ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องรักษาความลับที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่  การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับโดยข้าราชการ/พนักงานจะกระทำได้ต่อเมื่อมีอำนาจหน้าที่และได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา หรือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

     ข้อ ๑๒   ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องรักษา และเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างผู้ร่วมงาน พร้อมกับให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ

     ข้อ ๑๓   ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่น  ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม  ตลอดจนไม่รับของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ร้องเรียน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง    เพื่อประโยชน์ต่างๆอันอาจเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน  เว้นแต่เป็นการให้โดยธรรมจรรยาหรือการให้ตามประเพณี

      ข้อ ๑๔   ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรีต้องประพฤติตนให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยความสุภาพ   มีน้ำใจ  มีมนุษยสัมพันธ์อันดี  ต้องไม่ปิดบังข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของเพื่อนร่วมงาน  และไม่นำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน

ส่วนที่ ๒

จรรยาวิชาชีพ

ข้อ ๑๕  ข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพกำหนดมาตรฐานความประพฤติไว้เป็นการเฉพาะ  ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามมาตรฐานความประพฤติ  และวิจารญาณทางศีลธรรมและวิชาชีพนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด

หมวด ๓

กลไกและระบบบังคับใช้ประมวลจริยธรรม

 

ส่วนที่ ๑ 

กลไกการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม

       ข้อ ๑๖    ให้ สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี มีหน้าที่ควบคุมกำกับการให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้อย่างทั่วถึงและเคร่งครัด  โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

      (๑) ดำเนินการเผยแพร่  ปลูกฝัง  ส่งเสริม  ยกย่องข้าราชการที่เป็นแบบอย่างที่ดีและติดตามสอดส่องการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้อย่างสม่ำเสมอ

      (๒) สืบสวนหาข้อเท็จจริง  หรือสอบสวนการฝ่าฝืนจริยธรรมนี้  เพื่อรายงานผลให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  หรือกรรมการจริยธรรมพิจารณา  ทั้งนี้  โดยอาจมีผู้ร้องขอหรืออาจดำเนินการตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  หรือคณะกรรมการจริยธรรมมอบหมาย  หรือตามที่เห็นเองก็ได้

        (๓) ให้ความช่วยเหลือและดูแลข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้อย่างตรงไปตรงมา มิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม ในกรณีที่เห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  หรือคณะกรรมการจริยธรรมไม่ให้ความคุ้มครองต่อข้าราชการผู้นั้นตามควร  อาจยื่นเรื่องโดยไม่ต้องผ่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  หรือคณะกรรมการจริยธรรม  ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้

        (๔) คุ้มครองข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้อย่างตรงไปตรงมา      มิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม  การดำเนินการต่อข้าราชการที่อยู่ระหว่าง    ถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้  อันมีผลกระทบต่อการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้นเงินเดือน  ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือวินัย  หรือกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของข้าราชการผู้นั้น จะกระทำมิได้    เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว

         (๕) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจริยธรรมขององค์กรปกครอง

ส่วนท้องถิ่น

         (๖)ดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในประมวลจริยธรรมนี้  หรือตามที่คณะกรรมการจริยธรรมหรือปลัดมอบหมาย  ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อความเป็นอิสระของผู้ดำรงตำแหน่งในสำนักปลัด

         ข้อ ๑๗   ให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขึ้น    เพื่อควบคุม กำกับ ให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้

        คณะกรรมการจริยธรรม  ประกอบด้วย
(๑) ปลัดหรือรองปลัดที่ได้รับมอบหมาย  เป็นประธานกรรมการ 

(๒) กรรมการจากข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เลือกกันเองให้เหลือสองคน

(๓) กรรมการ  ซึ่งเป็นข้าราชการที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารในองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี  ที่ได้รับเลือกตั้งจากข้าราชการ พนักงานจ้าง และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น  จำนวนสองคน

(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ให้กรรมการตาม (๑) – (๓) ร่วมกันเสนอชื่อและคัดเลือกให้เหลือสองคน ให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน   เป็นเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรม  และอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมได้ตามความเหมาะสม                              กรรมการจริยธรรมต้องไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน 

    ข้อ ๑๘   คณะกรรมการจริยธรรมมีอำนาจหน้าที่  ดังนี้

    (๑)  ควบคุม  กำกับ  ส่งเสริมและให้คำแนะนำในการใช้บังคับประมวลจริยธรรมนี้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

   (๒)  สอดส่องดูแลให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ในกรณีที่มีข้อสงสัยหรือมีข้อร้องเรียนว่ามีการฝ่าฝืนจริยธรรมหรือจรรยา หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์  การลงโทษผู้ฝ่าฝืนตามประมวลจริยธรรมนี้ จะต้องไต่สวนข้อเท็จจริง และมีคำวินิจฉัยโดยเร็ว                                        

    (๓)  ให้คณะกรรมการจริยธรรมหรือผู้ที่คณะกรรมการจริยธรรมมอบหมาย       มีอำนาจหน้าที่  ขอให้กระทรวง  กรม  หน่วยงานราชการ  รัฐวิสาหกิจ  หน่วยงานอื่นของรัฐ  หรือห้างหุ้นส่วน บริษัท  ชี้แจงข้อเท็จจริง  ส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง             ส่งผู้แทนหรือบุคคลในสังกัด         มาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน

   (๔)  เรียกผู้ถูกกล่าวหา  หรือข้าราชการของหน่วยงานนี้มาชี้แจง  หรือให้ถ้อยคำ  หรือให้ส่งเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน

    (๕)  พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกิดจากการใช้บังคับประมวลจริยธรรมนี้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เมื่อได้วินิจฉัยแล้วให้ส่งคำวินิจฉัยให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคลระดับจังหวัดโดยพลัน  ถ้าคณะกรรมการบริหารงานบุคคลระดับจังหวัดมิได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลระดับจังหวัดรับเรื่อง  ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรมเป็นที่สุด

     (๖)  ส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญหรือมีผลกระทบในวงกว้างหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

    (๗)  คุ้มครองข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้  อย่างตรงไป

ตรงมา    มิให้ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจ  โดยไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการผู้นั้น

    (๘)  ดำเนินการอื่นตามประมวลจริยธรรมนี้  หรือตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มอบหมาย

การประชุมคณะกรรมการจริยธรรมให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติ

ราชการทางปกครองมาใช้บังคับ

                                               

ส่วนที่ ๒

ระบบบังคับใช้ประมวลจริยธรรม

       ข้อ ๑๙    กรณีมีการร้องเรียนหรือปรากฏเหตุว่ามีเจ้าหน้าที่ประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม  ให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ

     ข้อ ๒๐   การดำเนินการตามข้อ ๑๙  ให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรม

    ข้อ ๒๑   การประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมนี้  จะถือเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่  ให้พิจารณาจากพฤติกรรมของการฝ่าฝืน ความจงใจหรือเจตนา มูลเหตุจูงใจ ความสำคัญและระดับตำแหน่ง  ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ฝ่าฝืน อายุ ประวัติ และความประพฤติ           ในอดีต สภาพแวดล้อมแห่งกรณี ผลร้ายอันเกิดจากการฝ่าฝืน  และเหตุอื่นอันควรนำมาประกอบการพิจารณา

     ข้อ ๒๒  หากการดำเนินการสอบสวนตามข้อ ๒๐ แล้ว  ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม  ให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการตามข้อ ๑๙ สั่งยุติเรื่อง แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม  แต่ไม่ถึงกับเป็นความผิดทางวินัย  ให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการตามข้อ ๑๙  สั่งลงโทษผู้ฝ่าฝืนตามข้อ ๒๕  แต่หากปรากฏว่าเป็นความผิดทางวินัยให้ดำเนินการทางวินัย 

    ข้อ ๒๓ การดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมและการลงโทษผู้ฝ่าฝืนตามข้อ ๑๙          ข้อ ๒๐ และข้อ ๒๒  ให้นำแนวทางและวิธีการสอบสวนตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัย  และการรักษาวินัย  และการดำเนินการทางวินัย  ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  มาบังคับใช้โดยอนุโลม

    ข้อ ๒๔ การสั่งการของผู้รับผิดชอบดำเนินการตามข้อ ๒๒ ให้ดำเนินการตามนั้น               เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังที่อาจทำให้ผลของการสั่งการนั้นเปลี่ยนแปลงไป 

หมวด ๔

ขั้นตอนการลงโทษ

 

     ข้อ ๒๕  การประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมนี้  ในกรณีอันมิใช่เป็นความผิดทางวินัยหรือความผิดทางอาญา  ให้ดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อให้มีการแก้ไขหรือดำเนินการที่ถูกต้อง  หรือตักเตือน  หรือนำไปประกอบการพิจารณาการแต่งตั้ง  การเข้าสู่ตำแหน่ง  การพ้นจากตำแหน่ง               การเลื่อนขั้นเงินเดือน  หรือการพิจารณาความดีความชอบ  หรือการสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนนั้นปรับปรุงตนเองหรือได้รับการพัฒนาแล้วแต่กรณี

      ข้อ ๒๖   เมื่อมีการดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรม  และมีการสั่งลงโทษตามข้อ ๒๒  แล้ว  ให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี   ดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

      ข้อ ๒๗  ผู้ถูกลงโทษตามข้อ ๒๕  สามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการจริยธรรมของ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี ภายในสามสิบวัน  นับแต่วันได้ทราบการลงโทษผู้ถูกลงโทษตามข้อ ๑๘ (๒) สามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการบริหารงานบุคคลระดับจังหวัด  ภายในสามสิบวัน  นับแต่วันได้ทราบการลงโทษ

        ข้อ ๒๘  เมื่อผลการพิจารณาเป็นที่สุดแล้ว  ให้รายงานผลต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยเร็ว

                                                               

บทเฉพาะกาล

 

        ข้อ ๒๙   จัดให้มีการประเมินการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้  พร้อมดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประมวลจริยธรรมให้มีความเหมาะสม (ถ้ามี)  และแจ้งให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคลระดับจังหวัด  คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นองค์กรกลางการบริหารงานบุคคล    ส่วนท้องถิ่น  และผู้ตรวจการแผ่นดินทราบต่อไป

                               

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 384548เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2010 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท