ความอดทน


بسم الله الرحمن الرحيم “ผลลัพธ์แห่งความอดทน”
(โดย. อาจารย์มู่ฮัมมัดอาดัม   พวงมณี)


قال تعالى : ((وَلَنَبْلُوَنَّكُمْ بِشَيْءٍ مِّنَ الْخَوفِ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِّنَ الأَمَوَالِ وَالأنفُسِ وَالثَّمَرَاتِ وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ ۞الَّذِينَ إِذَا أَصَابَتْهُم مُّصِيبَةٌ قَالُواْ إِنَّا لِلّهِ وَإِنَّـا إِلَيْهِ رَاجِعونَ ۞أُولَـئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِّن رَّبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَـئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ )) سورة البقرة الآيات 155 – 157


อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้มีใจความว่า “ขอยืนยัน เราจะทดสอบพวกเจ้าอย่างแน่นอน ด้วยบางประการจากความหวาดกลัว ความหิวโหย การขาดแคลนทรัพย์สิน ความขาดแคลนชีวิต และความขาดแคลนผลไม้ และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด۞บรรดาผู้ซึ่งเมื่อมีทุกข์ภัยมา ประสบ พวกเขากล่าวว่า แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺและแท้จริงเราต้องกลับคืนสู่พระองค์۞ พวกเขาเหล่านั้น۞ บุคคลอเหล่านั้นย่อมได้รับการอภัยโทษและพระเมตตาจากผู้ทรงอภิบาลของพวกเขา และพวกเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับทางนำโดยแท้จริง۞” ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ ๑๕๕ – ๑๕๗

Previewคำอธิบาย

       ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์คือ เมื่อใดก็ตามที่ได้รับความผาสุก ความสุขสบาย สุขภาพดีและปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อนั้นเขาจะดื่มด่ำอยู่กับความผาสุกเหล่านั้น เผลอไผลต่อการภักดีและขาดการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ตะอาลา ตลอดจนหน้าที่ที่เขาพึงถวายแด่พระองค์ บางทีความสุขสบายเหล่านั้นจะฉุดกระชากเขาให้จมปลักอยู่กับอารมณ์ใคร่และความ เอร็ดอร่อยแห่งชีวิต ท้ายที่สุดก็พินาศโดยอยู่ร่วมกับผู้พินาศทั้งหลาย
       เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนั้น ด้วยวิทยปัญญาแห่งอัลลอฮฺและพระเมตตาของพระองค์ที่มีต่อมนุษย์ พระองค์จึงทดสอบมนุษย์ด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะคอยเตือนเขาจากการเผลอไผลและดึงเขาออกมาจากความพินาศ โดยพระองค์จะทรงเลี้ยงดูอบรมเขาให้ยืนหยัดอยู่บนอุดมการณ์อันประเสริฐ ซึ่งมนุษย์จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีเกียรติ ทั้งนี้ หากเขาสามารถผ่านบททดสอบของพระองค์เหล่านี้ไปได้
       พระดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า “ขอยืนยัน เราจะทดสอบพวกเจ้าอย่างแน่นอน ด้วยบางประการจากความหวาดกลัว ...”  อธิบายได้ว่า บางครั้งอัลลอฮฺ ตะอาลา ทดสอบมนุษย์ให้มีความหวาดกลัวศัตรูในสงคราม เพื่อมนุษย์จะได้ตระเตรียมสรรพกำลัง ดั่งที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอันง์ฟาล อายะฮฺที่ ๖๐ ซึ่งมีใจความว่า “และเจ้าทั้งหลายจงตระเตรียมสรรพกำลังเพื่อรับมือกับข้าศึก...” และอัลลอฮฺ ตะอาลา จะทรงทดสอบมนุษย์ด้วยความหิวโหย ภาวะฝนแล้งหรือน้ำเหือดแห้งจากแม่น้ำลำคลอง เพื่อมนุษย์จะได้เพียรพยายาม มุมานะในการแสวงหาปัจจัยยังชีพและสร้างผลผลิตจากการทำงานรูปแบบต่าง ๆ   ประการต่อมา บางทีอัลลอฮฺก็ทดสอบมนุษย์ให้ต้องสูญเสียทรัพย์สิน ด้วยสาเหตุจากการถูกลักขโมย หรือไฟไหม้ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเขาจะได้รู้จักเก็บออมและระมัดระวังรักษาทรัพย์สิน ดั่งที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลฟุรฺกอน อายะฮฺที่ ๖๗ ซึ่งมีใจความว่า “และบรรดาผู้ซึ่งเมื่อใดที่พวกเขาใช้จ่าย พวกเขาไม่ฟุ่มเฟือยและไม่ตระหนี่ พวกเขาดำรงมั่นระหว่างทางสายกลาง”  และบางครั้งพระองค์ทดสอบมนุษย์ด้วยการสูญเสียชีวิตของคนรัก ญาติใกล้ชิดและมิตรสหาย เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ไม่หลงลืมตัวหมกมุ่นอยู่แต่ชีวิตทางโลกนี้เท่า นั้น  บางทีพระองค์จะทดสอบด้วยความเสียหายของผลไม้ ด้วยการให้มันผลิดอกออกผลน้อยลงหรือมีโรคระบาด เพื่อเราจะได้สำนึกในความโปดปรานของพระองค์ที่ทรงประทานแก่เราในยามที่เรา สุขสบาย เราจะได้จ่ายซ่ากาฮฺ และบริจาคทานแก่คนยากไร้ และเพื่อเราจะได้สำนึกบุญคุณและเชื่อฟังพระองค์ อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะฮฺอิบรอฮีม อายะฮฺที่ ๗ ซึ่งมีใจความว่า “... หากพวกเจ้ารู้จักขอบคุณ แน่นอนเราย่อมเพิ่มพูนแก่พวกเจ้า ...” และส่วนหนึ่งจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อมวลบ่าวของพระองค์คือ พระองค์จะทรงเพิ่มพูนรางวัลแก่บ่าวของพระองค์ที่อดทนในยามที่ประสบความทุกข์ ยากต่าง ๆ  ดั่งที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้มีใจความว่า “...และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ซึ่งเมื่อทุกข์ภัยประสบกับพวกเขา พวกเขากล่าวว่า แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงเราจะต้องกลับคืนสู่พระองค์” กล่าวคือ พวกเขาจะได้รับการแจ้งข่าว ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่
๑. อัลลอฮฺ ตะอาลา จะทรงประทานอภัยโทษบาปต่าง ๆ ของพวกเขา
๒. พวกเขาจะได้รับพระเมตตาจากอัลลอฮฺ ตะอาลา อย่างต่อเนื่องทั้งในโลกนี้ (ดุนยา) และโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ)
๓. อัลลอฮฺ ตะอาลาจะทรงชี้นำพวกเขา (ฮิดายะฮฺ) และให้พวกเขาพบกับความถูกต้อง (เตาฟีก) ทั้งคำพูดและการปฏิบัติ

บทเรียนจากอัลกุรฺอาน

๑. ความทุกข์ยากและภาวะไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่ประสบกับเรานั้นเป็นการทดสอบจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ต้องการอบรมสั่งสอนเราให้เรียนรู้คุณลักษณะต่าง ๆ อันประเสริฐ ซึ่งเราจะได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่ว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงพิโรธเรา ดั่งปรากฏในอัลหะดีษ ซึ่งมีใจความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลา จะประทานดุนยาแก่ผู้ที่พระองค์รักและผู้ที่พระองค์ไม่รัก และพระองค์จะไม่ประทานศาสนาแก่ผู้ใด นอกจากแก่ผู้ที่พระองค์รักเท่านั้น”
๒. จำเป็นที่มนุษย์จะต้องอดทนต่อภาวะไม่พึงประสงค์ที่มาประสบ อีกทั้งต้องพอใจต่อการบริหารจัดการของอัลลอฮฺ ตะอาลา มันเป็นความดีแก่เขาซึ่งเขาเองอาจไม่รู้ ดั่งที่อัลลอฮ ตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ ๒๑๖ ซึ่งมีใจความว่า “บางทีพวกเจ้ารังเกียจสิ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งดีงามสำหรับพวกเจ้าก็ได้”
๓. บรรดาผู้อดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ย่อมได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ในโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) ดั่งที่พระองค์ตรัสไว้มีใจความว่า “และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด” นอกจากนี้ พวกเขาจะได้รับการชี้นำ (ฮิดายะฮฺ) และพบ (เตาฟีก) กับสู่แนวทางอันถูกต้องในการดำเนินชีวิตในโลกนี้ ดั่งที่พระองค์ตรัสไว้มีใจความว่า “และพวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ได้รับทางนำ”

คำสำคัญ (Tags): #เผยแพร่
หมายเลขบันทึก: 384307เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2010 02:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท