คณิตศาสตร์การเงิน: "มูลค่า" ของ "วิถีชีวิต"


ดูรายการทีวีไทย เรื่องปัญหาที่ดินทำกิน แล้วนึกขึ้นได้ว่า เรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจ คือ วิถีชีวิต มี "มูลค่า" เท่าไหร่

พูดถึง "มูลค่า" อย่าไปปนกับ "คุณค่า" สองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน อยู่คนละมิติกัน

ยี่สิบปีก่อน ตอนเช้าตรู่ รุ่นน้องผมนั่งรถไฟลงมาจากกรุงเทพ ทำสร้อยทองตกในห้องน้ำรถไฟ หล่นไปที่พื้นรางข้างล่าง ก่อนถึงหาดใหญ่ "เดี๋ยวเดียว"

ลงมาถึงก็เดือดร้อน เพราะอยากได้คืน คุณเธอจะเดินไปตามรางกลับไปหา ไม่กล้าไปคนเดียว ก็ลากผมไปเป็นเพื่อน ผมบอกว่า ช่างมันเถอะ โอกาสได้คืน ไม่ต่างจากงมเข็มในมหาสมุทร มันจะมี "มูลค่า "เท่าไหร่เชียว

คำตอบสั้น ๆ คือ - นี่เป็นของขวัญที่คนสำคัญให้มา "มูลค่า" ไม่สูง แต่ "คุณค่า" ไม่อาจประเมิน

ผลคือ เราเดินย้อนไปตามรางรถไฟ "เดี๋ยวเดียว"ที่ว่า เทียบเท่าสิบกิโลเมตร  "เดี๋ยวเดียว"บนรถไฟ เทียบเท่าเดินกลางแดดแบบเท้าติดรางตาดูดินเต็มสามชั่วโมง ระยะจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ถึงสถานีรถไฟบ้านดินลาน

ไม่เจอ ! เฮ้ย ! ได้ไง ! กลับไปดูอีกรอบละแวกที่คิดว่า ใกล้บริเวณเกิดเหตุ ก้ม ๆ เงย ๆ อีกเป็นชั่วโมง คนสัญจรไปมาก็มองว่า สองคนนี่บ้าอ๊ะเปล่า มาเที่ยวก้ม ๆ เงย ๆ ดูรางรถไฟ ดีว่าสมัยนั้น ไม่มีก่อการร้าย ไม่งั้นอาจโดน

ขากลับก็บ่ายคล้อย นั่งรถไฟกลับมาเงียบ ๆ คนหนึ่งนั่งอาลัยสิ่งมีคุณค่าสูงมูลค่าต่ำ อีกคนหนึ่งนั่งเข้าใจความแตกต่างของมูลค่ากับคุณค่า 

นอกเรื่องไปซะไกล กลับมาดู "มูลค่า" ของวิถีชีวิตกันดีกว่า ว่าเป็นเท่าไหร่

สมมติคนที่บ้านอยู่ริมป่า จะกินสะตอ ก็ไปโตงเอา สามฝักยี่สิบบาท มีกินปีละร้อยวัน มูลค่าของวิถีชีวิตนี้ เป็นเท่าไหร่

ข้อเท็จจริงคือ ถ้าอยู่เมือง ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วย ตีว่าห้าบาท (ซื้ออย่างอื่นด้วย แบ่งหารไปรายการอื่นด้วย)

รวมแล้ววันละยี่สิบห้าบาท แต่เนื่องจากสดมาก อร่อยพิเศษ ตีว่าถ้าซื้อคุณภาพแบบนี้ บวกอีกสิบบาท ก็เป็นวันละสามสิบห้าบาท ทั้งปีมีกินร้อยวัน ก็เป็น สามพันห้าร้อยบาท

ปัญหาคือ จะคิดมูลค่าแบบนี้ไปกี่ปี ถ้าบอกว่า เอ้า จะอยู่ร้อยปี คูณร้อยเลย จะได้มั้ย หรือจะให้คิดปีเดียว หรือเดือนเดียว หรือวันเดียว เอ๊ะ แบบนี้ เถียงกันตายเลย

ทฤษฎีประเมินมูลค่าธุรกิจ เข้ามามีประโยชน์ตรงนี้

ทฤษฎีที่ว่า คือ การประเมิน intrinsic value

สมมติกิจการสามารถสร้างรายรับให้เราได้ x หน่วยต่อปี ไปเรื่อย ๆ ทุกปี กิจการนี้ ถ้าแลกเป็นพันธบัตรระยะยาวที่ปลอดภัยมากที่มีราคา y หน่วย แล้วได้ผลตอบแทนจากพันธบัตร x หน่วยต่อปี เราประเมินมูลค่ากิจการนี้ได้ว่า มี intrinsic value เท่ากับ y หน่วย

สมการในการประเมิน ไม่ยุ่งยาก (แต่ที่มาจะซับซ้อน) จะเขียนว่า

y = x หาร (100 % หาร ผลตอบแทนร้อยละของพันธบัตรระยะยาวเกรดดีที่สุด)

ผลตอบแทนร้อยละของพันธบัตรระยะยาวเกรดดีที่สุด ผมประมาณว่า เฉลี่ยระยะยาว เท่ากับเงินเฟ้อ คือ 5 % ต่อปี

ผลคือ y = 20 คูณกับ x

ดังนั้น มูลค่าของวิถีชีวิตที่อยากกินสะตอ ก็โตงเอาเองได้ ก็จะมีค่าเท่ากับ 20 เท่า คูณ สามพันห้าร้อยบาท หรือเท่ากับ 7 หมื่นบาท

เพราะถ้าเรามี 7 หมื่นบาท เอาไปลงทุนซื้อพันธบัตรระยะยาวคุณภาพสูงที่มีผลตอบแทนเท่ากับ 5% เท่าเงินเฟ้อ ก็จะทำให้เรามีสะตอสดกินได้ตลอดปีที่สะตอออกฝัก

หากมองไปรอบตัว วิถีชีวิต ไม่ได้มีแค่ สะตอ (=7 หมื่นบาท) แต่มี พริกขี้หนู ด้วย

พริกขี้หนู ต้องกินทุกวัน กินทั้งปี ตีว่า ถ้าซื้อ ก็คือ วันละห้าบาท แต่เป็นพริกขี้หนูที่กินแล้ว อาจมีโรคถามหา เพราะเดี๋ยวนี้ พริกขี้หนู อาบยาฆ่าแมลงมีดาษดื่น ล้างไม่หมดก็ได้โรคหรือมะเร็งแถม

ผลคือ พริกขี้หนูคุณภาพดีปลอดสารพิษริมรั้วบ้าน มูลค่าพริกแม้ห้าบาทต่อวัน แต่มูลค่าปลอดสารพิษ อาจเป็นวันละสิบบาท

โห มากไปมั้ย

ไม่มากครับ ลองสมมติว่าคุณเป็นมะเร็งในอีกสิบปีข้างหน้าดู แลกกับสิบบาทต่อวันแล้วทำให้พริกขี้หนูที่เคยกินในอดีตไม่เคยมีสารพิษปน คุณจะเอามั้ย ถ้าเอา ก็บวกสิบบาท ถ้าไม่เอา ก็บวกค่าประกันชีวิตหรือค่ารักษาวันละสิบบาทเข้าไป

สรุปแล้ว วันละ 15 บาทจนได้น่ะ พริกอย่างเดียวเลย (หักคอคิดราคานะเนี่ย ฮึ่ม !)

15 บาทต่อวัน x 365 วันต่อปี x ค่าคงที่ 20 แปลงเป็น "มูลค่า" ได้ 109,500 บาท

หรือไม่งั้น ก็แลกกับการที่ชีวิตนี้ไม่มีพริกกิน

นั่นคือ ผมเริ่มเอา คุณค่า มาตีประเมินเป็น มูลค่า

ถ้าแลกแบบนั้น ให้ผมล้านนึง ชีวิตนี้ไม่มีพริกกิน ผมก็ไม่เอา สิบล้านด้วยเอ้า !

แต่ถ้าแลกกับกระเทียมนี่ ตกลงทันที ! ขอเป็นเงินสดนะ เช็คไม่รับ ^ ^

ลองรวมตัวเลขดูสิครับ

สะตอเจ็ดหมื่นบาท

พริกแสนบาท

....

โอ้ สวรรค์โปรด นี่ยังไม่ได้คิดเรื่องข้าวปลาอาหารอื่นเต็มโต๊ะในแต่ละวันเลยนะนี่

แถมยังไม่ได้ดูเรื่องอื่น เช่น ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม โอกาสในการทำสิ่งที่ชอบ ฯลฯ เลยด้วยซ้ำ

...

ลองหันไปมองในชีวิตประจำวันรอบตัวดูสิครับ แล้วคุณอาจตระหนักว่า จริง ๆ แล้ว คุณก็อาจจะรวยอย่างที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน

เพียงแต่เป็นการรวยแบบไม่ใช่รวยเงินเท่านั้นเอง

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 384067เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2010 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท