เรื่องที่ 1 กรอบแนวคิดในการศึกษาภาวะผู้นำ


กรอบแนวคิดในการศึกษาภาวะผู้นำ

กรอบแนวคิดในการศึกษาภาวะผู้นำ

 

          จากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับภาวะผู้นำพบว่า  นักวิชาการได้ทำการศึกษาวิจัยภาวะผู้นำตามแนวคิดดังต่อไปนี้

  1. แนวคิดเชิงอำนาจ – อิทธิพล
  2. แนวคิดเชิงคุณลักษณะ
  3. แนวคิดเชิงพฤติกรรม
  4. แนวคิดเชิงสถานการณ์
  5. แนวคิดเชิงบูรณาการ (รังสรรค์  ประเสริฐศรี,2544 :21-24)

1.  แนวคิดเชิงอำนาจ – อิทธิพล (Power – Influence approach)  เป็นแนวคิดการวิจัยที่มุ่งเน้นลักษณะอำนาจของผู้นำ  รูปแบบของอำนาจลักษณะการอำนาจ  ตามกรอบแนวคิด  ทฤษฎีฐานอำนาจทางสังคม (The Base of Social Power)  ซึ่งนำเสนอโดย เฟรนช์ และราเวน (Frence and Raven,1959,1989:441-444)  ที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ของอำนาจและอิทธิพลในความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมผู้ใช้อำนาจกับปฏิกิริยาของผู้รับอำนาจ  จะสามารถอธิบายอำนาจและอิทธิพลที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้  3  ประการ  กล่าวคือ  1)การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยา  เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเรื่องของความคิดเห็น  ทัศนคติ  เป้าหมาย  ค่านิยม  และความต้องการที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาบุคคล 2)อิทธิพลทางสังคมเป็นอิทธิพลของผู้บังคับบัญชาที่สามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา 3)อำนาจทางสังคม  เป็นความสามารถของผู้บังคับบัญชาที่มีอิทธิพลเหนือผู้ใต้บังคับบัญชา  จากแนวคิดดังกล่าวนี้  เฟรนช์และราเวน  จึงได้กำหนดอำนาจทางสังคมออกเป็น  5  ฐาน  คือ

1.  อำนาจการให้รางวัล  (Reward Power)  เป็นอำนาจที่ผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้ว่าผู้บังคับบัญชามีความสามารถที่จะให้รางวัลตอบแทนการยินยอมปฏิบัติตาม  ที่การแสดงพฤติกรรมที่พึงปรารถนาอย่างเหมาะสมและยุติธรรม

2.  อำนาจการบังคับ (Coercive Power)  เป็นอำนาจที่ผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้ว่าผู้บังคับบัญชามีความสามารถที่จะบังคับให้ปฏิบัติตาม หรือลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม  เพื่อรักษามาตรฐานหรือกำกับดูแลให้มีแนวทางปฏิบัติตามที่ได้กำหนดไว้

3.  อำนาจตามกฎหมาย (Legitimate Power)  เป็นอำนาจที่ผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้ว่าผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่มาจากตำแหน่งที่มีพื้นฐานมาจากกฎระเบียบ  ข้อบังคับ  คำสั่งขององค์การที่ทำให้การใช้อำนาจมีความชอบธรรม  ภายใต้ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

4.  อำนาจการอ้างอิง (Referent Power)  เป็นอำนาจที่ผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้ว่าผู้บังคับบัญชาบนพื้นฐานของความศรัทธาเลื่อมใส  การยอมรับ  และความนิยมชมชอบในบุคลิกภาพความเฉลียวฉลาด  ความประพฤติ  และการปฏิบัติตนในด้านคุณธรรม  จริยธรรม  และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ  อันเป็นแบบอย่างที่ดี

5.  อำนาจความเชี่ยวชาญ(Expert  Power)  เป็นอำนาจที่เกิดจากองค์ความรู้ในสาขาวิชาชีพ  ความสามารถในทางวิชาการ ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ  เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศ  เกิดประสิทธิผลต่อองค์การตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

2.  แนวคิดเชิงคุณลักษณะ (Trait Approach)  เป็นแนวคิดการวิจัยที่มุ่งเน้นศึกษาคุณลักษณะภาวะผู้นำตามทฤษฎีเชิงคุณลักษณะ (Traits  Theory)  ที่นักวิชาการได้ศึกษาคุณลักษณะภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพไว้  ดังเช่น  แบสและสตอกดิลล์ (Bass  and Stogdill:1990)ได้เสนอคุณลักษณะภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ  ประกอบด้วย  1)คุณลักษณะด้านสติปัญญา  ได้แก่ การมีไหวพริบ  มีปฏิญาณ  มีความรอบคอบ  มีเหตุผล  มีการตัดสินใจ  2)  คุณลักด้านบุคลิกภาพ  ได้แก่ความสามารถในการปรับตัวตามสภาพสิ่งแวดล้อม  มีคุณธรรม  จริยธรรม  3)  คุณลักษณะด้านความสามารถ  ได้แก่ความรู้ความสามารถในด้านวิชาการ  ทักษะการนำเทคนิคในการบริหารจัดการองค์การ  นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งสอดคล้องกัน  คือ  คุณลักษณะทางกายภาพ (Physical Traits)  คุณลักษณะทางสังคม (Social Traits)  คุณลักษณะทางบุคลิกภาพ (Personality Traits)  ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะผู้นำที่มีต่อการพัฒนาองค์การได้

3.  แนวคิดเชิงพฤติกรรม (Bahavior approach)  เป็นแนวคิดการวิจัยที่มุ่งเน้นศึกษาแบบภาวะผู้นำ (Leadership Style)  ตามผลการศึกษา  ทฤษฎีภาวะผู้นำของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio State Leadership Studies)  ที่คำนึงถึงผู้อื่นเป็นหลัก  (Consideration Structure)  และที่คำนึงถึงตนเองเป็นหลัก(Initiating Struetivire)  นอกจากนี้ผลการศึกษาภาวะผู้นำของมหาวิทยาลัยมิติแกน (The Michigan Leadership Studies)  ที่มุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมการมุ่งความสำคัญที่งาน (Task-oreinted behavior)และมุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมความสำคัญที่คน (Relationship-oreinted behavior)นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอื่น ๆ ที่ศึกษาในเชิงพฤติกรรม  ดังเช่น  แนวคิดทฤษฎสามมิติของเชดดิน (Tri-Dimension Thory) ที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมผู้นำเป็นสามมิติ คือ มิติด้านกิจสัมพันธ์ (Task Oriented)  มิติด้านสัมพันธภาพ (Relationship orientation)  และมิติด้านประสิทธิภาพ (Effective orientation)  ตลอดจนแนวคิดของเมคเกรเกอร์( Mc.Gregor)  ที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อแรงจูงใจในการทำงาน คือ ทฤฎีเอกซ์ (Theory X)  ที่ผู้บริหารใช้แรงจูงใจที่เหมาะสมในการกำกับดูแลสมาชิก  นอกจากนี้เบรกและมูตัน (Blake and Mouton:1964)  ยังได้นำเสนอแนวคิดในตาข่ายภาวะผู้นำ (Leadership Grid)  เพื่อใช้เป็นมุมมองของผู้นำที่มีการมุ่งงาน (Concern for Peple)  ซึ่งอธิบายให้เห็นถึงตำแหน่งผู้นำที่มีอยู่ 5  แบบ คือ 1)แบบภาวะผู้นำที่ด้อยคุณภาพ (Impoverished)  2)แบบภาวะผู้นำที่มุ่งเผด็จการ (Authority complance Managerment)  3)แบบภาวะผู้นำที่มุ่งแบบสโมสร (Country club management) 4)แบบภาวะผู้นำที่มุ่งทีม (Team management)  และ 5) แบบภาวะผู้นำที่มุ่งสายกลาง (Middle of the road management)  ที่ผู้นำองค์การควรจะได้ตระหนักในการบริหารจัดการองค์การ  ซึ่งผู้นำเสนอแนวคิดตาข่ายภาวะผู้นำมีความเชื่อว่าการบริหารแบบเป็นทีม  จะมีคุณค่ามากที่สุดในการบริหารจัดการองค์การ

4.  แนวคิดเชิงสถานการณ์  (Situational approach)  เป็นแนวคิดการวิจัยที่มุ่งเน้นค้นหารูปแบบและลักษณะผู้นำที่ได้จากการบริหารในสถานการณ์จริง  ซึ่งทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์จะต้องสร้างรูแบบผู้นำด้วยการมีแนวทางเฉพาะเจาะจง  ตามแนวคิดของนักทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์  ดังเช่น ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ที่มีประสิทธิผลของฟีดเลอร์ (Fiedler’x Contingency Theory of Leadership effectiveness)  ทฤษฎีภาวะผู้นำวิถีทางสู่เป้าหมายของเฮาส์และมิทเชลล์ (Path Goal Contingency Theory of Leadership)ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ของเฮอร์เซย์  และบลันชาร์ด (Hersey-Blanchard’s Situational Theory)  ซึ่งอธิบายถึงลักษณะของผู้ตามอันเป็นปัจจัยสำคัญของสถานการณ์ที่จะมีความพร้อมในสองลักษณะคือ  ความสามารถ (Ability)  และความมุ่งมั่น (Willingness)  เป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้บทบาทการนำตามสถานการณ์ขององค์กร

5.  แนวคิดเชิงบูรณาการ (Integrative approach)  เป็นแนวคิดการวิจัยที่มุ่งเน้นการบูรณาการกรอบแนวคิดทฤษฎีภาวะผู้นำที่มีการประสมประสานคุณลักษณะต่าง ๆ เข้าด้วยกัน  เพื่อให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  การวิจัยภาวะผู้นำตามแนวคิดเชิงบูรณาการ  จึงประกอบด้วย  กรอบแนวคิด  (Conceptual framework)  ในลักษณะการบูรณาการด้านคุณลักษณะ(Traits)พฤติกรรม (Behavior)อำนาจและอิทธิพล (Power and Influent)  และสถานการณ์ (Situational)

 ที่มา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์  จินดาพล,เอกสารประกอบการบรรยายภาวะผู้นำ การสร้างทีมงาน และการนำทีม.

หมายเลขบันทึก: 382933เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ

ท่านมีรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎีภาวะผู้นำแบบบูรณาการหรือไม่ถ้ามีขอความอนุเคราะห์ส่งให้ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท