ตับลีฆ


بِسْمِ الله الرحمن الرحِيْمِ

"ด้วยพระนามของอัลลอฮ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ"

-----------------------------------------------------------------

ซูฟีย์ในญามาอะฮฺตับลีฆ ตอนที่ 1

กำเนิดญามาอะฮฺตับลีฆ โดยสังเขป

        หลังจากอาณาจักรโมกุล(Moghul) ล่มสลาย ใน ค.ศ. 1857 โลกอิสลามที่เคยรุ่งเรืองในอินเดียก็ตกต่ำลง ภายใต้การปกครองของอังกฤษมหาอำนาจจากตะวันตก อารยธรรมของชาวตะวันออกนั้นเอกลัษณ์อันโดดเด่นก็คือในเรื่องของจิตวิญญาณ เมื่ออังกฤษได้เข้ามาปกครองอินเดีย ได้นำเอาวัตนธรรมตะวันตก เทคโนโลยี วัตถุนิยม โลกียะ เข้ามาทำลายล้าง อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมอิสลาม นอกจากนั้น พวกมิชชันนารีคริสเตียนก็ได้เข้ามาชักชวนให้ชาวอินเดียเข้ารับศาสนา คริสต สภาพสังคมในยุคนั้นจึงเกิดการปั่นป่วนและขัดแย้งกันระหว่าง 2 วัตนธรรม มุสลิมในอินเดียจึงได้มีกลุ่มขบวนการทั้งที่ต่อต้านมหาอำนาจจากตะวันตก และก็มีกลุ่มที่สนับสนุนมหาอำนาจจากตะวันตกเหมือนกัน (กลุ่มที่สนับสนุนและรับใช้ตะวันตกเช่น ลัทธิก็อดยานีย์ ก่อตั้งโดย  มิรซา ฆุลาม อะฮฺมัด ที่อ้างว่าตนเป็นนบี และอีหม่ามมะฮฺดี คําสอนที่สําคัญคือการยกเลิกการญิฮาด เพี่อทําลายขบวนการที่ต่อต้านตะวันตก ) ความเสื่อมโทรมได้ครอบงำอินเดีย มุสลิมได้เหินห่างจากหลักการอิสลาม ขาดจริยธรรม นั่นคือสภาพสังคมในยุคนั้น

 ชาวเมวัต ในปัจจุบัน

 ทางตอนใต้ของเดลฮีเป็นถิ่นฐานที่ตั้งของชาวเมียว หรือเรียกว่า เมวัต (mewat) ในยุคนั้นชุมชนเมวัตเป็นชาวมุสลิมส่วนใหญ่ก็จริง แต่ความเป็นอยู่หรือการปฏิบัตตัวนั้นไม่ได้แตกต่างจากชาวฮินดูสักเท่าไหร่ มีความต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ชาวเมวัตนั้นห่างไกลจากหลักการอิสลาม รูปเคารพในหมู่บ้านของพวกเขาคือ รูปเคารพของชาวฮินดู มีเทพเจ้าประจำหมู่บ้านเช่นเดียวกับชาวฮินดู พวกเขาร่วมงานฉลองในวันรื่นเริงของชาวฮินดู เหมือนราวกับเป็นงานของพวกเขาเองและพวกเขาไม่รู้จักความหมายคําว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮฺ และกฎขอปฏิบัติในหลักการอิสลาม พวกเขาเชื่อเรื่องโชคลาง เวทย์มนต์คาถา พูดจาหยาบคาบทั้งชายและหญิง ไม่มีความแตกต่างใดๆกับชาวฮินดู ทั้งการแต่งกายและความเป็นอยู่   พวกเขาต่างยอมรับประเพณีซึ่งกันและกัน ชาวฮินดูเชือดสัตว์พลีแด่มหาเทวีเพื่อเคารพสักการะ ชาวมุสลิมเมวัตก็ทำการสักการะบวงสรวงต่อหลุมศพซัยยิดสะลาร มะซูดกาซ และไปเยี่ยมสุสานอื่นๆในอินเดียด้วย จะหาผู้ที่รู้ศาสนา ละหมาด หรือมัสยิด ก็มีน้อยเต็มที พวกเขายังมีกิตติศัพย์เลื่องลือในเรื่องปล้นวัว ปล้นควาย ปล้นคนเดินทางอีกด้วย จะเห็นได้ว่าสังคมในยุคนั้นของชาวเมวัตเป็นสังคมญาฮีลียะฮฺดีๆนี่เอง

 จุดเริ่มต้นญามาอะฮฺตับลีฆมาจาก เมาลานาอิสมาอีล ผู้เป็นพ่อของเมาลานา อิลยาส  พำนักอยู่ที่นีซอมุดดีนอย่างสันโดษ อยู่ในบ้านบนกำแพงแดงใกล้กับมัสยิดบังเลอวาลี (Banglewali) ได้ตั้งโรงเรียนสอนศาสนาแห่งมัสยิดบังเลอวาลีขึ้น ได้นำชาวเมวัตมาเรียนศาสนา แล้วส่งกลับไปเมวัตเพื่อให้คนเหล่านั้นกลับไปฟื้นฟูศาสนา เมาลานาอิลยาส ก็เห็นด้วยกับวิธีการของเมาลานาอิสมาอีล  จึงสืบทอดเจตนารมณ์เดินทางไปเมวัต   ได้สร้างโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นในเมวัตหลายแห่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมาลานาอิลยาสยังไม่พอใจเท่าที่ควร เพราะเป็นการยากที่จะให้ชาวชนบทมาเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนากันทุกคน และโรงเรียนสอนศาสนายังไม่เป็นอิสระต่อสภาพแวดล้อม หลังจากกลับจากฮัจย์ครั้งที่2 เมาลานาอิลยาสจึงเริ่มงานตับลีฆโดยการปลุกเร้าให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นญามาอะฮฺ และจัดญามาอะฮฺออกเดินทางสู่ชนบทในชุมชนชาวเมวัต เชิญชวนให้ผู้คนปฏิบัตตามคำสอนพื้นฐานของอิสลามคือ สอนกาลีมะฮฺและสอนการละหมาด และเชิญชวนผู้คนให้ให้ทำงานดะวะฮฺตับลีฆ นั่นคือจุดเริ่มต้นของญามาอะฮฺตับลีฆ

 สรุปแล้ว ญามาอะฮฺตับลีฆคือขบวนการปฏิรูปสังคม ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย เมาลานาอิลยาส เพื่อปรับปรุงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานอิสลาม    และความประพฤติของมุสลิมในชุมชนเมวัต เมาลานาอิลยาสไดจัดตั้งสํานักงานใหญที่มัสยิดบังเลอวาลีและโรงเรียนที่เมาลานาอิสมาอีลเคยสอน(ซึ่งอยูในละแวกสถานที่อันสําคัญและมีชื่อเสียงของนักซูฟที่มีชื่อวา นิซามุดดีน เอาลียะฮฺ ณ เดลลี) จนเริ่มมีญามาอะฮฺเพิ่มมากขึ้น และได้จัดญามาอะฮฺส่งไปทั่วประเทศในอินเดีย และขยายออกไปนอกประเทศ แล้วก็เข้ามาในบ้านเราไทยแลนด์อย่างที่เราเห็นๆกันจนถึงในปัจจุบัน

 สุสานของ เมาลานา นิซามุดดีน เอาลียะฮฺ

 ใครเป็นผู้วางหลักหกประการของญามาอะฮฺตับลีฆ

อุดมการณ์ญามาอะฮตับลีฆ(หลักหกประการ) คือ

 1  มั่นใจในคําปฏิญาณตน

2  ละหมาดที่มีสมาธิและนอบนอม

3  ความรูและการรําลึกถึงอัลลอฮฺ

4 ใหเกียรติและชวยเหลือพี่นองมุสลิม

5 บริสุทธิใจ

6  การจัดขบวน (เสียสละในหนทางของอัลลอฮฺ)

    ญามาอะฮฺตับลีฆเข้าใจว่า เมาลานาอิลยาสนั้นเป็นผู้วางหลักหกประการให้กับขบวนการญามาอะฮฺตับลีฆ แต่ความจริงแล้วเมาลานาอิลยาสได้ความคิดนี้มาจาก เชค มุฮัมหมัดสะอีด อันนูริสี ชาวเคิร์ด เกิดเมื่อปี ฮ .ศ. 1293 เสียชีวิตปี ฮ.ศ. 1379 เมื่อครั้งที่เมาลานาอิลยาสไปที่มะดีนะฮฺ แล้วก็นำความคิดนี้เข้ามาเผยแพร่ในอินเดีย จะสังเกตได้จากญามาอะฮฺตับลีฆ ตั้งชื่อมัสยิดจะมีคำว่า “อัลนูร” ซึ่งก็มาจากชื่อของ เชคอัลนูริสี นั่นเอง

 ความคิดที่จัดตั้งญามาอะฮตับลีฆมาจากไหน

 ความคิดที่จัดตั้งญามาอะฮตับลีฆนี้จุติขึ้นมาจากไหน  ชาวญามาอะฮตับลีฆนั้นอ้างในอัลกุรอานที่ว่า “ถูกนำออกมาเพื่อมวลมนุษยชาติ”(สำนวนของสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับใช้คำว่า“ อุบัติขึ้น ”)นั้นหมายถึง การออกตับลีฆ  ตรงนี้มาจากไหน   มาจากเมาลานาอิลยาสที่กล่าวว่าฉันได้ค้นพบแนวทางนี้เพื่อการตับลีฆและได้รับการดลใจในฝันถึงการอธิบายอายะฮ์นี้ (มัคฎูฎอต อิลยาส มุฮัมหมัด มันซูร อัลอะมานี หน้า 415 อัรเราะซีดีด สาฮับวาง ปากีสถาน) การดลใจนี้ ครั้งแรกเมาลานาอิลยาสรู้สึกได้จากขณะที่กำลังซิเกร เมาลานาอิลยาสรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างมาทับที่หัวใจของท่าน เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้เมาลานากังโกฮีทราบ ท่านขนลุกและกล่าวว่า เมาลานากอเซ็มได้กล่าวถึงความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้กับฮัจยีอิมดาดุลลอฮฺ และท่านฮัจยีอิมดาดุลลอฮฺ ได้ให้ข้อสังเกตว่าพระเจ้าได้มอบหมายงานพิเศษบางอย่างให้ทำ (หนังสือเมาลานาอิลยาสฯ หน้าที่ 14)เมาลานาอิลยาส ได้ให้ความหมายอายะห์ที่ 110 ซูเราะห์ อาละอิมรอน “สูเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด ที่ถูกนำออกมาเพื่อมวลมนุษยชาติ สูเจ้าใช้ให้ทำความดีและห้ามไม่ให้ทำความชั่ว และสูเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ถ้าหากว่าชาวอะฮลุลกิตาบยอมรับการศรัทธา แน่นอนมันจะเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับพวกเขา”   เมาลานาอิลยาส ได้อธิบายว่า คำว่า “ถูกนำออกมา” นั้น หมายถึง การประกอบอะมัลนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงในสถานที่ใดเพียงแห่งเดียว แต่ต้องการให้เดินทางจาริกไปยังที่ต่างๆ หรือพูดให้ชัดๆเข้าใจง่ายๆก็คือ “การออกตับลีฆ” นั่นแหละ และคำว่า “แน่นอนมันจะเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับพวกเขา” พวกเขาในที่นี้ก็หมายถึง “ผู้ที่ออกตับลีฆ”

          สรุปโดยรวมความในอายะฮฺนี้ ถ้าอธิบายในแนวตับลีฆก็ประมาณว่า “นำออกมาเพื่อมวลมนุษยชาติก็ด้วยกับการออกตับลีฆ ผู้ที่ออกตับลีฆนั้นเมื่อไปแล้วจะถูกตอบรับหรือไม่ถูกตอบรับ ยังไงผู้ออกตับลีฆก็ได้ประโยชน์ หากไม่ถูกตอบรับ ผู้ที่ออกตับลีฆก็ได้ประโยชน์กับตนเอง หากถูกตอบรับผู้ที่ออกตับลีฆก็ได้ประโยชน์กับตนเองอีกเช่นกัน และก็จะมุ่งมั่นออกตับลีฆต่อไป” สุดท้ายแล้วก็จะหมายความว่า ประโยชน์ผลดีที่ได้รับกับตนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่า ใครจะตอบรับหรือไม่ตอบรับ แต่มันอยู่ที่ว่า คุณได้ออกตับลีฆหรือไม่ต่างหาก?

        ซึ่งตรงนี้ก็นำไปสู่การอบรมสั่งสอนความเข้าใจของชาวญามาอะฮตับลีฆ ซึ่งเห็นได้จากหนังสือ คู่มือการตับลีฆ   จัดทำโดย ชมรมตับลีฆแห่งประเทศไทย

         จากความเข้าใจในลักษณะนี้     ทำให้ญามาอะฮฺตับลีฆนำพาตัวเองไปสู่การ ตะอัซซุบ หากผู้ใดที่ขัดขืน ไม่เห็นด้วย หรือเห็นต่างโต้แย้งกับญามาอะฮฺตับลีฆ พวกเขาก็จะคิดกับคนผู้นั้นว่ายังไม่ได้รับฮิดายะฮฺ เหมือนดังเช่นพวกเขา แม้ว่าคนผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน ยืนหยัดในสิ่งที่เป็นฟัรฎูและซุนนะฮ์ต่าง ๆ เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางที่เที่ยงตรงก็ตาม ใครจะได้รับฮิดายะฮฺหรือไม่ จะเป็นพวกเดียวกับเขาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตอบรับงานตับลีฆ การออกไปตับลีฆกับพวกเขา

          ดังที่มีเหตการณ์จากเมาลานาอิลยาส  ครั้งหนึ่งชาวเมวาต คนหนึ่งกำลังนวดศีรษะท่าน ท่านจำได้ เมาลานาพูดด้วยความโกรธว่า แกไม่เคยออกญามาอัตเลยมิใช่หรือ? ฉันไม่ต้องการให้แก่ทำอะไรให้กับฉันอีกแล้ว ออกไปให้พ้น (หนังสือเมาลานาอิลยาสฯ หน้าที่ 93)

          พฤติกรรมข้างต้นที่กล่าวมา การเข้าร่วมเป็นญามาอะฮฺตับลีฆ เสมือนเป็นการมุบายิอะฮฺ การให้สัตยาบัน หรือการรับแนวทางตอรีเกาะฮฺไปแบบกลายๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเชื่อความเข้าใจต่างๆนั้น  ญามาอะฮฺตับลีฆได้รับอิทธิพลจากเมาลานาอิลยาสซึ่งเป็นนักซูฟีย์แบบเต็มๆอย่างไร้ข้อสงสัย

           ทั้งนี้ยังมีเรื่องราวความเชื่อเหลวไหล ที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือของญามาอะฮฺตับลีฆ หรือเรื่องราวของบรรดาปรมาจารย์ซูฟีย์ ที่รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องเร้นลับ หรือเรื่องที่เล่าขานกันเองแบบปากต่อปากในหมู่ญามาอะฮฺตับลีฆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องสัจธรรมของญามาอะฮฺตับลีฆ อย่างที่ญามาอะฮฺตับลีฆไม่ได้รู้สึกรู้สาสะกิดใจแม้แต่นิดเดียว อินชาอัลลอฮฺผู้เขียนจะขยายความในลำดับต่อไป

         ความเป็นซูฟีย์ของ เมาลานา อิลยาส และครอบครัว

 เมาลานา มูหัมมัด อิลยาส เกิดในค.ศ. 1885   ในครอบครัวซูฟย์ที่หมูบานคันดะฮฺลา (Kandhla)

-พ่อของท่านชื่อ เมาลานา อิสมาอีล

-แม่ของท่านชื่อ บีซาเฟีย

-ยายของท่าน ชื่อ อัลตัสสลาม หรือ อัมมีบี

-พี่ชายร่วมมารดา 1 คน ชื่อ เมาลานา ยะหฺยา 

-พี่ชายต่างมารดา 1 คน ชื่อ เมาลานา มูหัมมัด 

 เมาลานา อิสมาอีล ผู้เป็นบิดา

         หลังจากเมาลานา อิสมาอีล เสียชีวิตปรากฏว่ามีผู้คนมากมายเข้ารวมพิธีฝังศพเป็นจำนวนมากและก็มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นดังนี้   การละหมาดต้องทำหลายครั้งและการฝังศพก็ช้าไปอีก ในช่วงเวลานั้นได้มีบุคคลที่ได้รับการนับถือและเป็นผู้มีความรู้เรื่องจิตวิญญาณเห็นว่าเมาลานา อิสมาอีลกำลังพูดว่า “ส่งฉันไปเร็วๆ ฉันอายเหลือเกินแล้ว  ท่านร่อซูล(ซ.ล.) กำลังรอฉันอยู่” (หนังสือเมาลานาอิลยาสฯ หน้าที่ 10)

          คำว่า “บุคคลที่ได้รับการนับถือและเป็นผู้มีความรู้เรื่องจิตวิญญาณ” ถ้าจะเรียกให้ชัดๆก็คือคนที่มี “กัชฟฺ” นั่นเอง กล่าวคือ คนที่มีหูทิพย์ตาทิพย์ รู้แจ้งเห็นจริงล่วงรู้สิ่งพ้นญาณวิสัย  สามารถมองทะลุมิติ เห็นในสิ่งที่คนธรรมดาไม่สามารถเห็นได้ ได้ยินในสิ่งที่คนธรรมดาไม่ได้ยิน ทั้งๆที่มนุษย์เรานั้นเมื่อเสียชีวิตแล้ว วิญญาณจะไปสู่อาลั่มบัรซัคไปอยู่อีกมิตินึง แต่สำหรับผู้ที่มี “กัชฟฺ” นั้น สามารถที่จะมองเห็นรับรู้สภาพความเป็นอยู่ได้  เรื่องราวในทำนองนี้จะพบอยู่บ่อยๆในแนวทางซูฟีย์ทุกกลุ่ม

 

 

 

 


 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เผยแพร่
หมายเลขบันทึก: 382925เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นางสาว ฟารีดา สตอหลง

อัสลามมุอาลัยกุม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท