อาบุซซากีฟ
นาย เดชา หวังมี ญาลาลุดดีน หวังมี

เดือนรอมฏอน


มุมหนึ่งของเดือนรอมฏอน
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
      อัสลามมุอาลัยกุม ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอ ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัดผู้เจริญรอย ตามท่านและผู้ประพฤติดีทุกท่าน  ในช่วงวันที่ 1 กันยายน – 30 กันยายน พ.ศ.2551 หรือ ปีฮ.ศ.1429เป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิมและ มุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอด การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือน รอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตาม จันทรคติ)

      ก่อนที่เราจะเข้าสู่รายละเอียดการถือศีลอดนั้น เรามาทำความรู้จัก ถึงความเป็นมาของการถือศีลอดก่อนว่า มีความเป็นมาอย่างไร

       การถือศีลอดหมายถึง
      การถือศีลอด มาจากภาษาอาหรับว่า "อัศ-เศาม" หรือ "อัศ-ศิยาม" ในทางภาษาหมายถึง การละ การงด การระงับยับยั้ง การควบคุม ครองตน เช่นการละความชั่ว ยับยั้ง สิ่งต่างๆที่เกิดจากอารมณ์ฝ่ายต่ำ ส่วนความหมายในทางศาสนา หมายถึง การละเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาสระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า งดเว้นการพูดจาโกหกเหลวไหล ไร้สาระ เว้นจากการประพฤติชั่วทั้งโดยลับและเปิดเผย ถือปฏิบัติตามแบบอย่างที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ได้ทรง กำหนดไว้ โดยให้ควบคุมพร้อมทั้ง มือ เท้า หู ตา ใจ ลิ้น และอวัยวะทุกส่วน มิให้ใช้ไปในทางไร้สาระ โองการในอัลกุรอาน มีปรากฏว่า 2:183 " โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า ดั่งที่ได้ถูกกำหนดแก่เขาเหล่านั้น ก่อนหน้าสูเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าสูเจ้าจะได้สำรวมตนจากความชั่ว"

      จากโองการนี้แสดง ว่า การถือศีลอดนั้นได้เคยมีมาแล้วในประชาชาติก่อนๆ เราได้ทราบจากประวัติศาสตร์ว่า ชาวอียิปต์โบราณนิยมถือศีลอดกันมาเป็นประจำ ต่อมาแพร่หลายไปยังชาวกรีกและโรมัน โดยเฉพาะชาวกรีกยังได้นำ การถือศีลอดนี้ไปใช้เป็นบทบังคับสตรี และชาวอินเดียยังคงนิยมการถือศีลอดตาตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านนบีมูซา ศาสดา ของชาวยิว ได้ถือศีลอดเป็นเวลา 40 วัน ชาวยิงถือศีลอดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อระลึกถึงวันที่กรุงยะรุสลิม (เยรูซาเล็ม) ได้ถูกทำลายโดยกษัตริย์บาบิโลน ก่อน ค.ศ. 587 และถูกทำลายซ้ำโดยชาวโรมันใน ค.ศ. 70 การถือศีลอดได้ปฏิบัติกัน มาในรูปแบบต่างๆกัน บางพวกอดอาหารตลอดวัน บางพวกงดเพียงครึ่งวัน บางพวกบริโภคอาหารหนัก แต่ไม่ดื่มน้ำหรือ เครื่องดื่มอื่นๆ และบางพวกงดบริโภคเนื้อสัตว์ แต่สำหรับอิสลาม การถือศีลอดหมายถึง การอดอาหารเครื่องดื่ม การเสพเมถุน อดกลั้นทำความชั่วทุกชนิด แม้เพียงนึกคิด ตั้งแต่รุ่งสางจนตะวันลับชอบฟ้าในเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติขิงอิสลาม) ของทุกปี เป็นเวลาประมาณ 29 ถึง 30 วัน บทบัญญัตินี้ถูกกำหนดบังคับใช้สำหรับ มุสลิมทุกคน ซึ่งถูกบัญญัติในเดือนซะอบาน (เดือนที่ 8) หลังจากท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) อพยพจากมักกะฮสู่มาดีนะฮ ได้ 2 ปี (ปีฮิจเราฮที่ 2) และได้ปฏิบัติกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

      การถือศีลอดเป็นการทดลอง และฝึกหัดร่างกาย ให้รู้จักอดกลั้น ให้รู้จักสภาพอันแท้จริงของผู้ที่อัตคัดขัดสน ทำให้เกิด ความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วพ้นจากอำนาจใฝ่ต่ำ และมีคุณธรรม

      กฎเกณฑ์ในการถือศีลอดและหลักการปฏิบัติ
1. ผู้ถือศีลอด มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะ คือมีอายุ 15 ปี และหญิงที่เริ่มมีประจำเดือน ทุกคนต้องถือศีลอด ถ้าแบ่งประเภท ของผู้ถือศีลอด ถ้าจะแบ่งประเภทของผู้ถือศีลอดโดยทั่วไป พอจะแบ่งได้ดังนี้
      - ผู้ต้องถือ ได้แก่ผู้มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ไม่อยู่ในระหว่างการเดินทาง
      - ผู้ได้รับการผ่อนผัน เมื่อมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าอันได้แก่ ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย จะไม่สามารถถือศีลอดได้ หรืออยู่ใน ระหว่างเดินทาง แต่เมื่อเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นหมดไป คือ หายป่วยหรือกลับจากเดินทางแล้ว ก็ต้องถือใช้ให้ครบตาม จำนวนวันที่ขาดไป โดยจะถือชดใช้ในวันใด เดือนไหน ในรอบปีนั้นก็ได้
     - ผู้ได้รับการยกเว้น คือ

1. คนชรา
2. คนป่วยเรื้อรังที่แพทย์วินิจฉัยว่ารักษาไม่หาย
3. หญิงมีครรภ์แก่และแม่ลูกอ่อนที่ให้นมทารก ซึ่งเกรงว่าการถือศีลอด อาจเป็นอันตรายแก่ทารก
4. บุคคลที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งเมื่อเขาถือศีลอดจะเป็นภัยต่อ สุขภาพเสมอ
5. บุคคล ที่ทำงานหนัก เช่น ในเหมือง หรืองานอื่นๆ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ กับดุลยพินิจและศรัทธาของเขา เองว่าจะสามารถถือได้หรือไม่ โดย ไม่ต้องลวงตัวเอง

       บุคคลทั้ง 5 ประเภทนี้ ได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องถือเลย แต่ต้องชดใช้ด้วยการจ่ายอาหารเป็นทานแก่คนยากจน ด้วย อาหารที่มีคุณภาพตามที่ตนใช้บริโภคตลอดทั้งเดือน หรือจะจ่ายเป็นค่าอาหารแทนวันต่อวัน โดยการบริจาคทานให้ต่าง บุคคลก็ได้ "อัลลอฮฺ ทรงยกเว้นการถือศีลอด และนมาซส่านหนึ่งให้แก่ผู้เดินทาง และยกเว้นการถือศีลอดสำหรับหญิง มีครรภ์แก่ และที่ให้นมทารก" (อัส-สุนัน ของ อิมามอะหมัด) และรายงานจากอิบนิอับบาสว่า "หญิงมีครรภ์หรือให้นมทารก นั้น ถ้าเกรงจะเป็นภัยแก่บุตรของนาง ทั้งสองก็ให้ละศีลอดได้ แต่ต้องชดใช้ด้วยอาหาร" (อบู-ดาวูดม อัล-บัซซาร)
      - หญิงมีประจำเดือน ห้ามถือศีลอด แต่ต้องถือชดใช้ตามจำนวนวันที่ขาดไปในภายหลัง
      - เด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ไม่จำเป็นต้องถือศีลอดก็ได้ แต่ก็ควรฝึกหัดให้เคยชินต่อศีลอดบ้าง
ท่านเคาะลีฟะฮ อุมัรกล่าวว่า "แม้แต่เด็กของพวกเราก็ยังถือศีลอด" (อัล-บุคอรี 30:47)

2. กำหนดเวลาการถือศีลอด ข้อนี้มีปรากฏอย่างชัดเจนในอัลกุรอาน 2:187 "จงกินและจงดื่มจนกระทั่งความขาวของ กลางวันกระจ่างจากความดำของกลางคืนในรุ่งสาง แล้วจงถือศีลอดจนกระทั่งพลบค่ำ"
กล่าว คือให้เริ่มถือศีลอดตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนตะวันลับฟ้า ในช่วงดังกล่าวนี้ห้ามการกินการดื่มทุกประเภท ห้ามร่วม สังฆวาส แต่นอกเหนือเวลาดัวกล่าวนี้ก็ไม่เป็นที่ห้าม

3. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
     1. กิน ดื่ม สูบ เสพ หรือนัดถ์ โดยเจตนา
     2. การร่วมประเวณี ในระยะเวลาที่ถือศีลอด
     3. มีประจำเดือน
     4. คลอดบุตร
     5. เจตนาทำให้อสุจิเคลื่อนด้วยวิธีใดๆ

4. ประเภทของศีลอด

     1.ศีลอดภาคบังคับ คือ ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม) เป็นเวลา ประมาณ 29 หรือ 30 วัน โดยกำหนดวันแรกและวันสุดท้ายด้วยการปรากฏของดวงจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น (Newmoon) เป็นหลัก การถือศีลอดประเภทนี้เป็นบทบังคับแก่มุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว ทั้งนี้นอกเหนือจากบุคคล ที่ได้รับหารยกเว้นผ่อนผันดังกล่าวข้างต้น ซึงบุคคลประเภทนี้จะต้องถือศีลอดชดใช้ในภายหลังเมื่อพ้นภาระจำเป็นนั้นแล้ว เท่าจำนวนวันที่ขาดไป โดยจะถือใช้ให้ครบจนกระทั่งผ่านรอบปี จะต้องเสียทั้งค่าปรับและถือใช้ด้วย เสียค่าปรับด้วยการ ให้อาหารแก่คนยากจนหนึ่งวันต่อหนึ่งคน เช่นถ้าขาด 10 วัน ต้องเลี้ยง 10 คน ในกรณีที่ผู้ใดเจตนาฝ่าฝืนทำให้เสีย ศีลอดด้วยการร่วมประเวณี ในเวลาที่กำลังถือศีลอด จะต้องชดใช้ปรับโทษดังนี้
     - ปล่อยทาสเป็นเชลย 1 คน
     - ถ้าไม่มีให้ถือศีลอด 2 เดือนติดต่อกัน ถ้าขาดแม้เพียงวันเดียวต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่
     - ถ้าทำไม่ได้ให้บริจาคอาหารแก่คนยากจน 60 คน อาหารที่จะให้ต้องมีคุณภาพไม่เลว หรือดีกว่าที่ตนใช้บริโภค ประจำวัน
     2. การถือศีลอดชดเชย นอกเหนือจากการถือศีลอดใช้ตามที่ได้กล่าวแล้วนั้น ยังมีการถือศีลอดชดเชยอีกประเภท หนึ่ง ต่อกิจหนึ่งกิจใดซึ่งผู้นั้นไม่สามารถกระทำได้ในเวลานั้นๆ เช่น ในกรณีที่ผู้หนึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามวินัยต่างๆ ของเอียะห์ราม ให้ครบถ้วนเมื่อเวลาประกอบพิธีฮัจย์ได้ ก็ให้ผู้นั้นถือศีลอดชดเชย 3 วัน ทั้งนี้ ในเงื่อนไขที่ผู้นั้นไม่ สามารถบริจาคทานหรือพลีกรรมสัตว์ได้ตามกำหนด
     3. การถือศีลอดเพื่อลบล้างความผิด ตามที่ปรากฏในอัลกุรอาน มีดังนี้
      - เมื่อ มุสลิมได้ฆ่ามุสลิมอีกคนหนึ่งโดยเข้าใจผิด ให้ปล่อยทาสเป็นอิสระ 1 คน แต่ถ้าไม่สามารถจะไถ่ความผิด โดยการปล่อยทาสได้ ก็ให้ถือศีลอดแทนเป็นเวลา 2 เดือนติดๆกัน "… และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยพลั้งผิด ดังนั้น(ผู้ฆ่าต้องให้มี)การปล่อยทาส(หรือทาสี)ผู้ศรัทธาคนหนึ่งเป็นไท และ(ต้องจ่าย) ค่าทำขวัญแก่ครอบครัว ของเขา (ผู้ตาย) เว้นแต่ที่พวกเขายกเป็นทาน (ไม่เอาความ) … แล้วถ้าผู้ตายหาไมพบ (คือไม่มีทาสหรือไม่มีเงินซื้อ เช่น ในสมัยนี้หรือไม่มีเงินจ่ายค่าทำขวัญ) เขาต้องถือศีลอด 2 เดือนติดต่อกัน (ตามวินัยในเดือนรอมฎอน)…" (อัลกุรอาน 2:92)
     - ถือศีลอดลบล้างการหย่าแบบซิฮาร เป็นเวลา 2 เดือน การซิฮารนี้เป็นประเพณีเดิมของชาวอาหรับในสมัยก่อน และเมื่อเริ่มต้นเผยแพร่ศาสนาอิสลาม โดยเรียกภรรยาของตนว่าเป็นเสมือนมารดาของตน เป็นการหย่าไปใน เชิง แล้วก็ไม่ร่วมสังฆวาสกับนาง ในขณะเดียวกันนางไม่มีสิทธิ์หลุดพ้นจากการเป็นภรรยาโดยแท้จริงไปได้ นางต้งเป็นภรรยาในนาม ถูกทรมานและจำบ้านอยู่เช่นนี้ อิสลามได้เลิกระบอบนี้โดยสิ้นเชิง การถือศีลอด ประเภทนี้จึงมีในสมัยโน้นเท่านั้น (ดูการหย่า)
     - ถือ ศีลอดลบล้างความผิดเป็นเวลา 3 วันติดๆ กัน เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดสาบานที่จะไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถูกต้อง และชอบธรรม ในกรณีที่ผู้นั้นไม่สามารถปล่อยทาสให้เป็นอิสระหรือเลี้ยงคนยากจนถึง 10 คนได้

     "อัลลอฮฺไม่ทรงยึดเอาตามคำไร้สาระ (ไม่เจตนา) ในการสาบานของสูเจ้าแต่อัลลอฮฺทรงยึดเอาจากสูเจ้า ที่สูเจ้าได้ผูกพันธะ สาบานไว้ (โดยเจตนา) ถึงการไถ่โทษของเขา คือการให้อาหารคนขัดสนสิบคน ตามปริมาณเฉลี่ยที่สูเจ้าให้อาหาร แกครอบครัวของสูเจ้า หรือให้เครื่องนุ่งห่มแก่พวกเขา (สิบคน) หรือการปล่อยทาส (หรือทาสี) หนึ่งคน ถ้าผู้ใดหาไม่พบ (ไม่มีความสามารถที่จะปฏิบัติตามนั้นได้) เขาต้องถือศีลอดสามวัน นี้คือการไถ่โทษคำสาบานของสูเจ้า เมื่อสูเจ้าได้สาบาน…" (อัลกุรอาน 5:89)

     ถือศีลอดลบล้างความผิดตามคำพิพากษาของผู้เที่ยงธรรม 2 คน เมื่อผู้นั้นล่าสัตว์ ขณะที่กำลังอยู่ในระหว่างการประกอบ พิธีฮัจย์ ในเงื่อนไขที่ว่าผู้นั้นไม่สามารถให้อาหารแก่คนยากคนจนได้

     " บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงอย่าฆ่า(ด้วย)การล่าสัตว์(ป่า) ขณะที่สูเจ้ายังครองเอียะห์ราม และผู้ใดในหมู่สูเจ้าฆ่ามันโดยเจตนา การชดเชยของมันคือเยี่ยงที่เขาฆ่า จากปศุสัตว์ตามที่ผู้เที่ยงธรรมสองคนจากหมู่สูเจ้าตัดสิน เป็นสิ่งพลีให้นำยังอัลกะอบะฮ (เพื่อเชือดและแจกจ่ายคนจน) หรือการไถ่โทษนั้นเขาต้องให้อาหารแก่คนขัดสนหรือเยี่ยงนั้นด้วยการถือศีลอด …" (อัลกุรอาน 5:89)

4. การถือศีลอดโดยอาสา ในหลักการทั้ง 4 ของอิสลามคือ การดำรงนมาซ ซะกาต การถือศีลอดและหารไปประกอบพิธี ฮัจย์นั้น มีทั้งที่เป็นการบังคับ (ฟัรฎู) และทั้งที่อนุญาติให้กระทำโดยอาสา (นัฟล) แต่ในการถือศีลอดโดยอาสานั้น มีข้อห้ามอยู่บ้างบางประการ ดังรายงานต่อไปนี้

     "ท่านอิบนุอุมัร กล่าวว่า ท่านรสูลอูลลอฮฺ ทราบว่าฉันจะตกลงใจถือศีลอดในเวลากลางวันและตื่นในเวลากลางคืน ตราบเท่าที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ (เมื่อถูกสอบถาม) ฉันรับว่าฉันได้กล่าวเช่นนั้นจริงท่านรสูลอูลลอฮฺกล่าวว่าท่านจะทนเช่นนี้ ไม่ได้ ดังนั้นจงถือศีลอดและจงแก้การถือศีลอด และจงตื่นและจงนอนและจงถือศีลอด (อาสา) เดือนหนึ่งเพียง 3 วัน เพราะกุศลกรรมนี้ได้รับการตอบแทน 10 เท่าและนี่ก็เสมือนการถือศีลอดทุกๆวัน ฉันกล่าวว่าฉันทนได้มากกว่านี้ ท่านกล่าว ถ้าเช่นนั้น จงถือศีลอดวันหนึ่งและจงอย่าถือศีลอดในอีกวันหนึ่ง (วันเว้นวัน) นี่เป็นการถือศีลอดของนบีดาวูด (อ.ล.) และนี่เป็นการถือศีลอดโดยอาสาที่ดียิ่ง ฉันกล่าวว่า ฉันสามารถทนได้มากกว่านั้น ท่านกล่าวว่าไม่มีอะไรจะดีกว่า นี้อีกแล้ว" (อัลบุคอรี 30:56)

      จากรายงานนี้ แสดว่าท่านศาสดาสนับสนุนให้ถือศีลอดโดยอาสาเพียงเดือนละ 3 วันเท่านั้น มิให้ถือศีลอดทุกๆ วัน ตลอดไป และมีรายงานอื่นว่าท่านแนะนำให้ถือศีลอด ดังนี้

     1. ถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเซาวาลต่อจากการถือศีลอดภาคบังคับในเดือนรอมฎอน
     2. วันขึ้น 9-10 ค่ำเดือนมุหัรรอม
     3. ถือได้หลายๆวันในเดือนซะอบาน
     4. วันจันทร์ วันพฤหัสบดี ทุกสัปดาห์
     5. วันขึ้น 13-14-15 ค่ำของทุกเดือน
     6. วันเว้นวัน

วันห้ามถือศีลอด

     7. วันอีดทั้ง 2 คือ วันอีดิ้ลฟิตรและอีดิ้ลอัฎฮา
     8. วันตัซรีก คือวันที่ 11-12-13 เดือนฮัจย์
     9. การเจาะจงถือเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น
     10. ถือตลอดปี
     11. วัน ครบรอบการถือศีลอดภาคบังคับ (อีดิ้ลฟิตร) เมื่อวันแห่งการถือศีลอดได้สิ้นสุดแล้ว รุ่งขึ้นคือวันที่ 1 เดือนเซาวาล เป็นวัน "อีด" ห้ามถือศีลอดในวันนี้ เพราะเป็นวันแห่งการรื้นเริง ให้ทุกคนทั้งหญิงและเด็กๆ อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ แล้วไปชุมนุมกัน ณ ที่ที่กำหนดไว้ โดยพร้อมเพรียงกัน

     มุสลิมที่อยู่ในฐานะเหลือกินเหลือใช้ ให้บริจาคทานฟิฏเราะฮ์ด้วยอาหารพื้นเมืองที่ผู้บริจาคอาศัยอยู่ เช่น ข้าวสาร เป็น จำนวน 1 ศออ์ แก่คนยากจน

5. ผลจากการถือศีลอด
     1. ทำให้เกิดการสำรวมทั้งกายวาจาและใจ และเป็นการปกป้องตัวจากความชั่วทั้งมวล เพราะการถือศีลอดมิใช่ เพียงแต่เป็นการอดอาหารเท่านั้น แต่เป็นการอดกลั้นอวัยวะทุกส่วนมิให้เพลี่ยงพล้ำไปในทางชั่วร้าย
     2. ทำ ให้รู้จักความหิวโหย เป็นการฝึกความอดทน และยังทำให้รู้ซึ้งถึงสภาพของผู้ยากไร้เป็นอย่างดี เกิดความ เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มที่
     3. เมื่อ ถึงฤดูกาลแห่งการถือศีลอด มุสลิมทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน จะอยู่ในสภาพเดียวกันหมด เป็นการยืนยัน การศรัทธาโดยทางปฏิบัติอีกวิธีหนึ่ง มิใช่สักแต่ปากพูดว่าฉันศรัทธาๆ บรรดาเหล่านี้มิได้แข่งขันในการอดอาหารเท่านั้น แต่พวกเขาแข่งกันในการอดหรือละเว้นจากการชั่วนานาชนิด ทำให้เกิดความสำนึกในการเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า เหมือนๆ กัน เป็นการยืนยันหลักเสมอภาคและภราดรภาพในอิสลามอีกด้วย

เป้าหมายการถือศีลอด
     พระเจ้าได้ตรัสว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า ดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติ แก่ชนยุคก่อนจากท่าน เพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง” (อัลกุรอ่าน บทที่ 2 โองการที่ 183) คำว่าผู้ยำเกรงตามทรรศนะ อิสลาม หมายถึงการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว อิหม่ามชะฮาบุดดีน ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลาม ได้อธิบายคำว่า ความดีในหนังสือ (al-Furuk) หน้า 15 ไว้ว่า “การกระทำความดีหมายถึงการช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ การบริจาคทานแก่คน ยากจน การให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย การให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขัดสน การพูดจาไพเราะอ่อนโยนกับทุกคน การให้ความ เมตตาต่อผู้คน การปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน เพื่อขจัดความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาท และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เกี่ยวกับความดีทุกชนิด”

     ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า “การถือศีลอดเป็นโล่ ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้วเขาไม่ทำชั่ว และพูดจาหยาบ คาย เมื่อมีผู้หนึ่งด่าทอต่อเขาหรือระบายความไม่ดีแก่เขา(ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่า แท้จริงฉันถือศีลอด”
การถือศีลอดคือการขัดเกลาและฝึกฝนวิญญาณของมนุษย์เกี่ยวกับการอดทนและมี ความพร้อมที่จะเผชิญกับทุก สถานการณ์ในแนวทางของอัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา

     การถือศีลอดเป็นการรักษาร่างกายทั้งภายนอกและภายใน อีกทั้งยังได้มาซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ นั้นคือ การตักวา (การมีความสำนึกถึงอัลลอฮ หรือ ความเกรงกลัวอัลลอฮ) มุสลิมถือศีลอดในเดือนรอมฎอนกันจริงหรือ? สังเกตุได้จาก ในช่วงกลางวันของรอมฎอน มุสลิมจะถือศีลอด และประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สุจริตตามบท บัญญัติ) ส่วนในตอนกลางคืนมุสลิมจะละหมาดตะรอเวียห์ ขอดุอาอ์(ขอพร) ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ และขอความเมตตา จากพระองค์ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่มุสลิมบางคนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนด โดยเขาใช้เวลาเกือบ ตลอดทั้งวันไปกับการนอน และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควร โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด การถือศีลอดของเขาจึงถือความเกียจคร้านและความฉุนเฉียวในเวลากลางวัน และการอดนอนไปกับสรวลเสเฮฮาและ สิ่งไร้สาระในตอนกลางคืน เป็นการสมควรแล้วหรือ ที่เราจะปล่อยให้เดือนอันประเสริฐ และเต็มไปด้วยความดีงาม นี้ผ่านไป ในลักษณะเช่นนี้ปีแล้วปีเล่า เราควรจะได้ฉกฉวยโอกาสแห่งเดือนอันประเสริฐนี้สะสมความดีงามให้มากที่สุด ด้วยการภักดี และขอความเมตตา และขออภัยโทษต่อพระองค์ เพราะไม่แน่ว่าเราจะมีโอกาสได้พบกับรอมฎอน ในปีหน้าหรือเปล่า?
 
  ข้อมูลเพิ่มเติม
- การถือศีลอดในทัศนะทางการแพทย์
- เริ่มต้นรอมฎอน ไทยเตรียมความพร้อม
  อ้างอิง
- http://prachatai.wordpress.com/2006/10/09/oct0906muslim/
- (อ้างถึง :สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม. อะไรในอิสลาม กรุงเทพฯ (1) 2521.)
หมายเลขบันทึก: 382881เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รูปไม่ขึ้นครับท่านครับ แก้ไขหน่อย

ขอบคุณมากครับ ได้รับรู้เพิ่มมากขึ้น เดิมเข้าใจเพียงว่าเป็นการอดเพื่อเข้าใจคนอดอยากทั้งหลาย แต่นี่มีความหมายกว้างถึงการละวางหลายสิ่งหลายอย่างด้วย ขอบคุณครับสำหรับสาระดีดีที่เข้าใจได้ง่าย

ขอบคุณอาจารย์ครับที่ สนใจบทความ รู้จักอาจารย์มานานชื่นชมกับความทุ่มเทของอาจารย์ในการทำงานเพื่อสังคมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท