หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

GTK Camp IV (ตอน ๔)


        วันที่สองของค่ายฯ เราตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่จากศูนย์การเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนไปเป็นที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เพราะที่เดิมเป็นอาคารโล่งเมื่อฝนตกแรงมักจะสาดเข้ามาภายใน ที่สำคัญที่นี่อากาศหนาวเย็นตลอดเวลา

        สถานที่ ณ บ้านผู้ใหญ่บ้านที่เรามาใช้เมื่อคืน หลายคนติดอกติดใจ มีเตาไฟตั้งอยู่กลางบ้าน มีผนังรอบทำให้อบอุ่น ที่สำคัญมีไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สำรองพลังงานไว้อย่างเหลือเฟือให้บรรดาคนเมืองอย่างพวกเราได้ใช้สอย บ้างก็ชาร์จแบตเตอรี่กล้องดิจิตอล บ้างก็ใช้เปิดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อถ่ายโอนไฟล์ภาพ ฯลฯ

        กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นในช่วงสาย

        วันนี้มีเยาวชนมาร่วมกิจกรรมค่อนข้างบางตา ด้วยหลายคนมีภารกิจต้องช่วงการงานของครอบครัว เนื่องจากช่วงวันหยุดยาวเช่นนี้จะเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะนำผลิตผลทางการเกษตรออกไปจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาบริเวณตลาดชาวเขา เป็นช่วงเวลาที่มีไม่บ่อยนัก

        ผมและทีมงานต่างเข้าใจสภาพเช่นนี้ดี จึงไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนและเสียความตั้งใจเมื่อเห็นเยาวชนหายไปจำนวนมาก

        กิจกรรมช่วงแรกเป็นการทบทวนความรู้เดิมจากวันก่อน โดยเริ่มจากให้ตัวแทนเยาวชนคนหนึ่งสรุปเนื้อหาความรู้จากเมื่อวาน แล้วผมอธิบายซ้ำอีกรอบ

        ถัดมาเป็นการวิเคราะห์คุณลักษณะ (Attribute Analysis) หมู่บ้านห้วยปลาหลด ด้วยการทำ mind map ลงในกระดาษปรู๊ฟ โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๕ กลุ่ม จากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ ผมทำหน้าที่จับและสรุปประเด็นและเขียน mind map ภาพรวมสิ่งที่เยาวชนแต่ละกลุ่มนำเสนอ มีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

        จากนั้นก็ให้เยาวชนแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๕ กลุ่ม เช่นเดิมครับ ผมให้ชัย – ประธานกลุ่มเยาวชนเป็นคนจัดให้ โดยเฉลี่ยคนเก่งไปอยู่ในทุกกลุ่ม แล้วก็ให้แต่ละกลุ่มเลือกประเด็นจากกระดาษปรู๊ฟที่ผมขมวดประเด็นไว้ ประเด็นที่ถูกเลือก ได้แก่ ประวัติชุมชน บุคคลสำคัญ เทศกาลขึ้นปีใหม่ เทศกาลกินข้าวใหม่ และประเพณีรักษาอาการเจ็บป่วย ฯลฯ

        เมื่อแต่ละกลุ่มเลือกประเด็นได้แล้วก็ให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันตั้งคำถาม จากความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปเมื่อวาน กำหนดขั้นต่ำ ๓๐ คำถาม และให้ครอบคลุมคำถามทุกประเภท จากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ

        จากการนำเสนอของเด็กทำให้ผมค่อนข้างประหลาดใจเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงการเรียนรู้เรื่องราวหลักการเกี่ยวกับคำถาม เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดี ซึ่งเห็นได้จากการตอบคำถามและการแสดงออก แต่เมื่อต้องปรับหลักการนั้นมาใช้ในสถานการณ์จริงพบว่าเด็ก ๆ ยังทำได้ไม่ดีนัก อย่างน้อยก็ต่ำกว่าที่ผมคาดหวังไว้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับที่ต่าง ๆ ที่ผมเคยใช้วิธีการและเนื้อหาแบบเดียวกันนี้ เยาวชนที่นี่ก็ไม่ขี้เหร่นัก ค่อนข้างจะดีด้วยซ้ำไป

        หลังจากกินอาหารเที่ยงแล้ว แต่ละกลุ่มก็แยกย้ายกันไปเก็บข้อมูลตามคำถามของตนเอง จากชาวบ้านในหมู่บ้าน ทั้งคนเฒ่าคนแก่ และผู้นำชุมชน ฯลฯ โดยให้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง

        ราวบ่ายสามเด็ก ๆ จึงกลับมารวมกันที่บ้านผู้ใหญ่อีกครั้ง ผมได้มอบงานให้แต่ละกลุ่มเรียบเรียงข้อมูลที่ได้เป็นเรียงความ

        ข้อมูลที่แต่ละกลุ่มได้มามีไม่มากนัก แม้จะมีคำถามมาก แต่เด็ก ๆ ก็ไม่ได้คำตอบทุกคำถาม ประเด็นนี้ผมพอจะเข้าใจ เพราะมีประสบการณ์กับการซักถามคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน การได้คำตอบสำหรับคำถามมิใช่เรื่องง่าย ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ผมขอยกยอดไปเฉลยตอนถอดบทเรียนค่ายฯ แล้วกัน

        การเขียนเรียงความของเด็ก ๆ ก็กระท่อนกระแท่นครับ เยาวชนวันนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน ป.๕ ป.๖ ม.๑ และ ม.๒ ความสามารถทางการเขียนก็มีระดับหนึ่ง จะว่าไปปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเกือบทั่วประเทศครับ

        หลังจากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอ ซึ่งผมเห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอนั้นตื้นเขินมาก จึงปรึกษาชัยว่าน่าจะชวนคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านสักจำนวนหนึ่งมาร่วมในเวที เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลจากที่เด็ก ๆ ค้นคว้ารวบรวมมา ชัยจึงอาสาไปชักชวนคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านอยู่ใกล้ ๆ มาราวสี่ห้าคน

        ผมปรับประบวนการเรียนรู้ใหม่ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับผลควบคู่กัน ๒ ประการ คือ (๑) การเรียนรู้วิธีการตั้งคำถาม และ (๒) เรียนรู้ข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่

        ประเด็นแรกที่จะพูดคุยเรียนรู้ร่วมกันคือ ประวัติชุมชน

        ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้จากข้อมูลที่เด็ก ๆ นำเสนอไว้ก่อนหน้า  โดยถามเป็นภาษาไทย ส่วนชัยและผู้ใหญ่บ้านช่วยแปลความ รวมทั้งแปลความคำตอบคืนมาเป็นภาษาไทย

        กิจกรรมนี้สนุกมากครับ ผมได้รับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ มากมาย หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดมาตลอดและหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน

        เด็ก ๆ ก็สนุกสนานไปพร้อมกัน ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนตนเองที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน ชาวบ้านบางคนที่มานั่งฟังก็ฟังกันจนเลิกโดยไม่ลุกไปไหน

        นอกจากนั้นเวทีนี้ยังได้ทำหน้าที่ชำระประวัติของชุมชนด้วย เพราะชาวบ้านบางคนเข้าใจไม่ตรงกัน บางคนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ถือโอกาสพูดคุยชำระเรื่องราวให้ตรงกัน

        เราใช้เวลาไปกระทั่งเกือบห้าโมงเย็นจึงเลิก และได้นัดให้เด็ก ๆ มาพร้อมกันอีกครั้งตอนสองทุ่ม

 

        ขอจบบันทึกนี้ไว้ตรงนี้ก่อน บันทึกหน้าผมจะเล่าต่อครับ

 

หมายเลขบันทึก: 382284เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2010 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อืม.. ชวนคุยเรื่องประวัติชุมชนนี่ น่าสนใจดีมากเลยครับ น่าจะนำไปดัดแปลงคุยกับนักศึกษาแพทย์ คุยกับคนไข้ คุยกับ อสม. สอ.ต่างๆได้อีกเยอะ

บางทีพอเราเห็น "ที่มา" เราก็พลอยเข้าใจ (บางทีก็เข้าใจว่าที่แล้วมาไม่เข้าใจ) ถึงพฤติกรรมต่างๆ และบ่อยครั้งที่มันต่างจากที่เราคิด (เดา) แต่แรก

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

สุดยอดแล้ว  แบบนี้  แต่พี่คิมไม่มีข้อมูลความสำคัญของนักดนตรีเลยค่ะ 

นักเรียน ป.๕ ป.๖ ม.๑ และ ม.๒ ความสามารถทางการเขียนก็มีระดับหนึ่ง จะว่าไปปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเกือบทั่วประเทศ.....ครูก็ยังหาคำตอบไม่เป็นเลยค่ะ มิใช่ไม่ได้นะคะ

ตามมาดู MM ของเด็กๆ สุด ยอด ครับ

ขอบคุณค่ะ..วันนี้ไปร่วมสัมมนาร่างแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ..ให้ความสำคัญของคนเป็นศูนย์กลางของพัฒนา..การมีส่วนร่วมของชุมชนคือรากฐานสำคัญ..

 

สวัสดีค่ะ

โหลดได้ อ่านได้สบายมาก  ขอตั้งสตินั่งสมาธิ  พิจารณา  ออกแบบก่อนนะคะว่าจะ...อย่างไรก่อน

จะแนบไฟล์กลับมาให้น้องหนานดูก่อนนะคะ  ยากอยู่นะคะ  ไม่ทำก็ยิ่งยากอยู่อย่างนั้นใช่ไหมคะ

กลับจาก กบ. นัดกับจะสือและจำปาได้นะคะ  ไม่เอาแบบฝนตกค่ะเข็ดแล้ว

สวัสดีครับ อาจารย์Phoenix

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ จัดเวทีพูดคุยกันแบบนี้สนุกมาก ๆ เลยครับ คนนอกอย่างพวกผมก็ได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมา เด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของตัวเอง
ที่ ร.พ.ด่านซ้าย ได้ทำวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กับทีมวิจัยของ อ.ศรีศักดิ์ ทราบมาว่าผลจากการเรียนรู้คราวนั้ปรับเปลี่ยนระบบบริการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านได้มากเลยครับ

 

สวัสดีครับ พี่ครูคิม

ขอบคุณครับพี่...
อยากเอางานทั้งหมดไปให้ชาวบ้านอ่านจังเลยครับ
ข้อมูลเกี่ยวกับนักดนตรีผมมีนิดหน่อยเองครับ ค่อยไปเพิ่มเติมตอนลงไปคราวหน้าครับ

 

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ JJ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ
แหะ แหะ อย่าลืมจองที่นั่ง forum ให้ผมสักที่นั่งนึงนะครับ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ - นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบคุณพี่ใหญ่มาก ๆ ครับ ที่แวะมาเยี่ยม และให้กำลังใจเสมอมา
มีโอกาสไปเยือนห้วยปลาหลดสักคราวนะครับ

 

 

สวัสดีค่ะ

วันนี้ตอนบ่ายจะนำพระเอก นางเอกออกโรงค่ะ หลังจากปล่อยให้นางโท นางตรีออกไปนานแล้ว

จะเอาบุญมาฝากนะคะ  เข้าพรรษาจะนิยมไปเลี้ยงเพลพระทุกวันหยุดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท