ถวายควายแก้บน


แต่ไปที่แห่งหนึ่งทางอีสาน ได้ยินคำพูดของแกแล้วนึกไปไกลหลายอย่าง “ทำนาแล้วต้องไปซื้อข้าวกิน เสียศักดิ์ศรีชาวนาหมด” แกจะคำนวณข้าวที่มีอยู่ในยุ้ง ว่าพอจะมีกินไปได้แค่ไหน ลูกที่ไปทำงานอยู่กรุงเทพ จะกลับมายามบ้าน กี่ครั้งหรือจะฝากใครไปได้บ้าง เป็นข้าวเท่าไหร่ จะกินกันเองเท่าไหร เหลือจากนั้นก็จะขาย

ถวายควายแก้บน

      การรอนแรมเดินทางไปตามป่า ตามห้วยต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมานั้น ไม่มีรถยนต์ ไม่มีมอเตอร์ไซด์ อย่างเก่งก็จักรยานคันโปรด ที่ใช้ได้สารพัดงานนั้นแหละ แต่มันก็ต้องใช้กำลังปั่นไปหมดกำลังเมื่อเมื่อไหร่เป็นได้จอดแน่นิ่ง แน่นอน

      การใช้เกวียน ซึ่งจริงๆ แล้วที่บ้านผมไม่ได้เรียกว่าเกวียน คำว่าเกวียนเป็นภาษากลางที่เด็กนักเรียนรู้ได้จากในหนังสือเรียน ซึ่งก็ยังงงงงอยู่ว่าทำไมเรียกเกวียน ทั้งๆ ที่ ที่บ้านไม่ได้เรียกอย่างนั้น

      แม่เคยพูดให้ฟังว่าเกวียนนั้นมันต้องมีคอก ที่สามารถจะขนข้าวของไปไหนมาไหนได้ แต่ถ้ามีแต่คันธูปเฉยๆ ไม่เรียกว่าเกวียนเขาเรียกกันว่า “กระแทะ” ลูกเอ้ย!

            ทำให้นึกถึงลักษณะของการขนข้าวใส่ยุ้งฉาง ว่า “ปีนี้ได้ข้าวกี่เล่ม กี่เกวียนล่ะ” เป็นคำที่ได้ยินมานานมาก จนเดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินคำนี้แล้ว เพราะเขาไม่ได้เก็บข้าวเปลือกไว้นานนานเหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้เลยไม่มียุ้ง ไม่มีฉางให้เห็นเท่าไหร่แล้ว       แต่ไปที่แห่งหนึ่งทางอีสาน ได้ยินคำพูดของแกแล้วนึกไปไกลหลายอย่าง “ทำนาแล้วต้องไปซื้อข้าวกิน เสียศักดิ์ศรีชาวนาหมด” แกจะคำนวณข้าวที่มีอยู่ในยุ้ง ว่าพอจะมีกินไปได้แค่ไหน ลูกที่ไปทำงานอยู่กรุงเทพ จะกลับมายามบ้าน กี่ครั้งหรือจะฝากใครไปได้บ้าง เป็นข้าวเท่าไหร่ จะกินกันเองเท่าไหร เหลือจากนั้นก็จะขาย เอาเงินมาใช้ แล้วข้าวที่เก็บก็จะมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ขนาดเกี่ยวข้าวแล้วข้าวเก่าที่อยู่ในยุ้งยังขายไม่ได้เลย เพราะหวังไม่ได้ว่าจะดีหรือไม่ดี นวดแล้ว ฝัดแล้ว จะเหลือหรือจะได้สักเท่าไหร่ เพราะถ้าเมล็ดข้าวมันลีบก็จะไม่ได้ข้าวไว้กิน หรือได้น้อย ซึ่งผิดไปจากแถวบ้านผม เกี่ยวเสร็จขายเลย แล้วซื้อข้าวสารกิน จึงทำให้บางโอกาส ไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ เป็นซะงั้น

แชไปซะไกลเลยแค่การเดินทาง

สรุปกันว่าตอนนั้น ต้องใช้เกวียนก็แล้วกัน ในการเดินทางไกล ไม่ว่าจะไปตัดไม้ ตัดฟืน ไปหาญาติพี่น้องไกลๆ แล้วถ้า ไม่ใช้เกวียนล่ะ จะใช้อะไรได้อีกบ้าง ก็คงจะเป็นม้ากันละคราวนี้

ที่เป็นตัวเลือกสุดท้าย

แต่ใช้เกวียนนี้ละก็ สบายสุดยอดไปเลย เพราะ ขนของได้มากกว่าประเภทอื่นๆ และสามารถงีบได้โดยไม่ต้องหยุดพักเพราะเปลี่ยนกันเป็นสารถีดูทางได้ ถ้าเดินทางกันหลายคน

คราวนี้ก็เช่นกัน เป็นการเดินทางเข้าป่าเพื่อที่จะไปตัดไม้กันอีกครั้ง มีผู้ร่วมเดินทางกัน แปดเล่มเกวียน

คราวนั้นมี ไอ้โรจน์ ไอ้เหลิม ไอ้อัง ทิดมี ไอ้เหลียวน้าเพ็ง ทิดอาบ แล้วก็พ่อมึง

แม่เป็นคนบอก

ออกเดินทางกันตั้งแต่ตีสี่  เสียงกระดิ่งควาย กรุ่งกริ่ง ไปตลอดทาง น้าเพ็งออกหน้าไอ้อังปิดท้าย นอนดูดาวกันไปเรื่อย ดูดยากันควันขโมงไปหมด

เรื่องมันก็มีอยู่ตรงที่ว่าคราวนี้ ควายไอ้เหลิมมันมีลูกแหง่ ไปด้วย

ก็คือเป็นควายแม่ลูกอ่อนนั่นแหละ ก็เลยต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะควายแม่ลูกอ่อนจะหวงลูก แล้วไอ้ลูกแหง่ ก็จะชอบ ออกนอกลู่นอกทางอยู่เรื่อย แม่มันก็จะออกไปตาม ทำให้เสียขบวนอยู่ เรื่อยเหมือนกัน จนต้องผูกคอ ให้เดินตามแม่มัน เดี๋ยวก็ จะกินนม เดี๋ยวก็จะวิ่งเล่น วุ่นวายดีจัง

      พ่อเล่าให้ฟังว่าอย่างนั้น

แล้วเรื่องคนไทยในชนบท กับการบนบานสานกล่าว เป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเป็นต้องบนกันไว้ก่อนเพื่อความสะบายใจ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จนบางครั้งอาจเคยได้ยินคำว่า

“ เอานะ ไม่เป็นไรหรอก บนหลวงพ่อท่านไว้แล้ว” เป็นต้น

การเดินทางเข้าป่าที่เป็นป่า แถวตีนเขารัง จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องข้ามน้ำข้ามห้วย แล้วมันก็ไม่มีสะพานซะด้วย ต้องหาจุดที่เป็นทางลาด แล้วก็ไม่เป็นดินโคลน พอที่จะให้ควายลากเกวียนข้ามไปได้ เพราะบนเกวียนมีซุงท่อนใหญ่บรรทุกมาด้วย

ไอ้ขาไปมันไม่เท่าไร แต่ขากลับมันลำบาก ต้องช่วยกันดูให้ดีตอนจะข้ามน้ำ

คลองบางที่มันมีไอ้เข้อยู่ แล้วถ้าเวลานั้นมันอยู่แถวนั้น มันก็จะกินควายเรา อันตรายมาก เพราะคลองมันยาวไม่รู้ว่ามันจะมาตอนไหน ชาวบ้านที่เขาอยู่กันในป่าเขารู้ว่าคลองไหน หว้ยไหน มีจระเข้

เที่ยวไปก็ราบรื่นดี จนกระทั้งได้ไม้กันคนละท่อน ขบวนเกีวยนก็เดินทางกลับภูมิลำเนา

พอมาถึงคลองที่เคยข้ามได้ ควายของเกวียนเล่มแรก เบรคตัวโก่ง ไม่ยอมลงน้ำ เป็นที่รู้กันว่าตอนนี้มีไอ้เข้อยู่แถวนั้นแน่นอน เพราะควายไม่ยอมลงน้ำที่จะข้ามไปอีกฝั่ง ไม่รู้จะทำกันอย่างไร

ไอ้เหลิมก็เลยไปบนศาลเจ้าที่อยู่ใกล้ๆ แถวนั้น ว่าขอให้ขบวนเกวียน ของลูกช้างข้ามลำน้ำไปได้ด้วยความปลอดภัย มีโชคมีลาภ อย่าได้มีใครเป็นอะไรเลย แล้วลูกช้างจะถวายควายหนึ่งตัว

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

พอน้าเพ็งจูงควายที่เทียมเกวียนเล่มแรกไปริมน้ำ ควายก็ยอมลงน้ำข้ามไปได้

ไอ้ตอนลงก็ค่อยๆลง แต่พอพ้นน้ำ มันตะกุยรีบขึ้นฝั่งอย่างเร็วเลยทีเดียว

เป็นอันว่า ข้ามกันได้หมด

ปลอดภัย จากจระเข้แล้ว

ไอ้เหลิม (อา) ก็บอกว่า เดี๋ยว รอประเดี๋ยวนะ ข้าไปแก้บนก่อน แล้วแกก็จูงลูกแหง่น้อย ๆไปผูกไว้ที่ศาลเจ้าและประนมมือก้มกราบ พรางบอกว่าขอบคุณเจ้าพ่อมาก ที่ได้กรุณาให้ลูกช้างได้ข้ามน้ำไปได้อย่างปลอดภัยทุกคน ลูกช้างก็เลยเอาควายมาถวายให้ ตามที่ได้บนไว้ เป็นการแก้บนนะเจ้าพ่อ ลูกไปละ

ว่าแล้วก็เอาเจ้าลูกแหง่ผูกไว้กับศาลเจ้าเพื่อเป็นการบอกว่าเป็นสิทธิ์ของเจ้าพ่อแล้วนะ

แล้วขบวนเกวียนก็ออกเดินทาง แม่ของไอ้ลูกแหง่ก็ร้อง เรียกลูกเพราะไม่รู้ว่าลูกไปไหน

มันคงไม่รู้นะ ว่าลูกของมันถูกไอ้เหลิมเอาไปแก้บนให้เจ้าพ่อชะแล้ว

เดินทางไปได้ซักครึ่งกิโล เสียงแม่ควายก็ร้องไปเรื่อย น่าสงสารมันจริงๆ

ไม่คาดคิด

 ไอ้ลูกแหง่วิ่งเข้ามาหาแม่มัน ที่ปลายเชือกยังมีเศษไม้ที่เป็นศาลเจ้าติดมาด้วย

เอ้า เจ้าพ่อไม่เอาหรือไง ถึงได้ปล่อยมา ถ้างั้นลูกเอากลับไปเลี้ยงนะ ขอบคุณเจ้าพ่อ

สาธุ!

ก็ศาลเจ้าเล็กๆ จนทนทานอะไรกับแรงควายน้อยที่มัน จะมาหาแม่มันเล่า ไอ้ลูกแหง่ก็กระตุกเอาซะ ศาลพังไปเลย

เดีอดร้อนชาวบ้านชาวป่าต้องมาทำศาลให้ใหม่เพราะเจ้าพ่อไปเข้าฝันว่า มีคนเอาความมาแก้บน ดึงมันไว้ไม่อยู่ สู้แรงมันไม่ไหว มันดึงซะศาลพัง เลยต้องปล่อยมันไป ช่วยไปทำศาลให้ข้าใหม่ทีเถอะนะลูกเอ็ย!

น้าเพ็งบอก “ไอ้เหลิมมันก็เหลือเกิน แทนที่จะปั้นควายไปถวาย ดันทะลึ่งเอาลูกแหง่ไปถวาย ศาลเลยพังหมดเลย”

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 381960เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2010 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท