โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

เฝ้าไข้ใกล้แม่-2


ดึกดื่นคืนเดียวดายเงียบสงบเช่นนี้ กล่อมเกลาความคิดคำนึงบางอย่างให้ผุดพรายขึ้น อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในช่วงแห่งภารกิจชีวิตอันยุ่งเหยิงพัวพันตามปกติ

เฝ้าไข้ใกล้แม่-2

โสภณ  เปียสนิท

...........................................


            ดึกดื่นคืนเดียวดายเงียบสงบเช่นนี้ กล่อมเกลาความคิดคำนึงบางอย่างให้ผุดพรายขึ้น อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในช่วงแห่งภารกิจชีวิตอันยุ่งเหยิงพัวพันตามปกติ

 

                หญิงคนหนึ่งเกิดที่บ้านลาดหญ้าชนบทห่างไกล แต่งงานกับชายหนุ่มล่องแพขายไม้จากหมู่บ้านท่ามะนาว อยู่ห่างไปด้านเหนือของลำแม่น้ำแควใหญ่ราว 15 กิโลเมตร ประคองชีวิตคู่เลี้ยงดูครอบครัว ก่อกำเนิดบุตร 12 คน โชคร้ายเสียชีวิตในวัยเด็ก 2 คน ดำรงชีพยาวนาน 10 คน เป็นบุตรชาย 8 คนบุตรหญิง 2 คน

 

                ผู้หญิงร่างเล็กคนนี้ทำงานเลี้ยงลูกเคียงข้างพ่อทุกอย่าง เลี้ยงดูลูก ส่งเสริมการศึกษา จัดงานออกเรือนให้ลูกชายหญิง แบ่งทรัพย์สินให้ ตามส่งเสียดูแลแม้ลูกทุกคนจะเติบโตจนทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้แล้ว คงไม่มีแม่คนไหนที่ทำหน้าที่แม่ได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว

 

                ถึงเวลานี้อายุของแม่ก้าวเข้าสู่วัยชราร่วงโรยไปตามวัฏจักรแห่งชีวิต การแก่ การเจ็บ การตาย ตามหลักแห่งอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ปรวนแปรเปลี่ยนแปลง ทุกขัง เป็นทุกข์ทนได้ยาก อนัตตา มิใช่ตัวตนยึดถือไม่ได้ไม่ตั้งอยู่นาน ลูกทุกคนจึงต้องกลับมาทำหน้าที่ของตนคือการตอบแทนคุณบุพการี (ผู้มีอุปการะก่อน)

 

                หลายปีหลัง ก่อนการล้มหมอนนอนเสื่อของแม่ในครั้งนี้ ผมคิดได้ว่า กระทำปฏิการะตอบแทนคุณแม่ของตัวเองนั้นยังน้อยเกินไป เพราะแม่ส่งผมไปบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุสิบสี่ปี เพื่อศึกษาเล่าเรียน เกือบยี่สิบปีแห่งการศึกษาผมออกจากบ้านจึงไม่ได้แทนคุณแม่เท่าที่ควร อีกสิบกว่าปีก็เป็นช่วงแห่งการทำงานที่หัวหิน การแทนคุณแม่จึงอยู่ในระดับเดิม

 

                การแทนพระคุณแม่ด้วยวิธีการทางศาสนา จึงเป็นทางหนึ่งที่ผมเลือก โดยการโทรศัพท์ถึงแม่ ชวนพูดคุยแต่เรื่องของ “บุญ” ส่งเสริมในเรื่องของการทำทาน สมาทานศีล และการเจริญภาวนา จนแม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางแห่งบุญได้มากกว่าเดิม สิ่งที่เน้นให้แม่ทำโดยสม่ำเสมอคือ การสวดมนต์ เพราะเชื่อในหลักว่า การสวดมนต์คือบันไดขั้นแรกของการทำใจให้สงบ

 

                การกระทำดังนี้ ช่วยลดปมด้อยในด้านการตอบแทนพระคุณแม่ได้บ้าง เพราะมีหลักการทางศาสนาว่า การตอบแทนคุณพ่อแม่ด้วยการเลี้ยงดูท่านทั้งสองอย่างดี ด้วยการทำงานแทนท่านทุกอย่างตลอดชีวิต ยังไม่เท่ากับการโน้มนำท่านสู่หลักการทางศาสนา ไม่เคยทำทานให้ทำทาน ไม่รักษาศีลให้รักษาศีล ไม่ภาวนาให้เจริญภาวนา ซึ่งถือว่าเป็นการตอบแทนคุณสูงสุด

 

                หากแม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีก การที่แม่ยึดหลักแห่งทานศีลและภาวนาไว้ได้ หมายถึงว่า แม่มีหลักมีที่พึ่งติดตัวแม่ไปทุกชาติภพ อุ่นใจได้ว่าแม่ของผมจะมีเสบียงติดตัวตลอดการเดินทางข้ามห้วงโอฆะสังสารวัฏแห่งชาติภพอันยาวนานในอนาคต

 

                แม่เล่าในเช้าวันต่อมาว่า หลายคืนที่ผ่านมามักฝันถึงคนที่ตายไปแล้ว บางครั้งฝันว่าพ่อ ซึ่งถึงแก่กรรมไปกว่าสิบปีแล้วกลับมาเยี่ยม บางครั้งฝันเรื่องราวเก่าว่าเห็นพ่อกำลังล่องแพอยู่กลางลำน้ำแควใหญ่ บางครั้งฝันเห็นลูกสาวคนเล็กที่ล่วงลับไปแล้วเพราะโรคมะเร็ง บางครั้งฝันเห็นญาติคนอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้วทั้งนั้น นับเป็นเรื่องแปลกที่แม่ไม่อยากให้เกิด แม่บอกว่า “อยากฝันเห็นพระมากกว่า”

 

                สี่วันแห่งการเฝ้าไข้ ผมมองเห็นความจริงของชีวิตได้มากกว่าวันเวลาปกติ อาจเป็นเพราะแม่ผู้เป็นที่รักกำลังถูกวันเวลากลืนกินไปทีละน้อยต่อหน้าต่อตา อาจเป็นเพราะธุลีในดวงตาเบาบางลงเพราะได้มีเวลาอยู่นิ่งใคร่ครวญพิจารณาถึงว่า แม้ตัวผมเองก็กำลังเดินตามรอยเท้าแม่อยู่ไม่ห่างไกลนัก ความชราที่ค่อย ๆ รานรุกจนแม่ถ่อยร่นสู่มุมอับบนเตียงในโรงพยาบาล ความเจ็บไข้โรคร้ายนานาชนิดทำตัวเหมือนอันธพาลผลัดกันรุมโจมตีสังขารแม่ด้วยยุทธวิธีอันชาญฉลาด ไม่เร่งรัดแต่ค่อย ๆ กดดันจนแม่อาจต้องยอมจำนนอย่างหมดทางหลีกหนี

 

            สังขารของแม่จักทานทนต่อสู้กับอันธพาลสองคน ผู้มีชื่อว่า ความแก่ กับ ความเจ็บไข้ได้นานเท่าใด นั่นเหมือนมีดอันคมกล้าที่ค่อย ๆ เชือดเฉือนดวงใจทุกดวงของลูกให้เจ็บปวดร้าวรานตามวันเวลาที่ผ่านเลย วันลาจากกันในชาตินี้ กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ ไม่ถอยหนี แม้ว่าลูกทุกคนช่วยกันข่มขู่ไล่ตี หรือกราบกรานขอร้อง

 

                ในภาวะอันบีบคั้น ผมเตรียมเสบียงห่อสุดท้ายส่งให้แม่ บอกให้ท่านถือไว้ให้มั่น “แม่ครับ พระพุทธองค์สอนว่า สัตว์โลกเกิดเท่าใดตายเท่านั้น ต้นทางคือการเกิด การแก่และการเจ็บคือท่ามกลาง การตายคือปลายทางของทุกคน การเกิดเป็นความทุกข์ การเจ็บการตายก็เป็นทุกข์ เราจึงไม่ควรมาเกิดอีก ไม่ควรพอใจในการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน ท่องไว้เสมอครับแม่ว่า “นิพพานัง สุขัง”

หมายเลขบันทึก: 381780เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

สวัสดีค่ะ...

เป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ...เพราะผู้เขียนแม่เสียชีวิตไปตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้วค่ะ...ทุกวันนี้ยังคิดถึงท่านอยู่ค่ะ...บางครั้งก็น้ำตาไหล...ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ทำให้คิดถึงแม่อีกครั้งค่ะ...

คิดถึงแม่ทำบุญ ทานศีลภาวนาแล้วอุทิศส่วนกุศลนะครับ

แม่ได้บุญ เราก็ได้บุญ

  • สวัสดีค่ะคุณโสภณ
  • อ่านเรื่องคุณแม่จากบันทึกของอาจารย์ เป็นกำลังใจให้นะคะ
  • แม่ของดิฉันท่านได้จากไปเพียงสองเดือนกว่า คิดถึงท่านค่ะ

   เรียนท่านอาจารย์โสภณ

       ตื้นตันค่ะอาจารย์ ตอนนี้หนูพูดอะไรไม่ออกน้ำตาจะไหล จะแวะมาใหม่นะคะ

เรียนอาจารย์โสภณ

ขอเป็นกำลังใจให้นะครับอาจารย์ อ่านเเล้วตื้นตันใจมาก น้ำตาจะไหล

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ครูอิงเองก็ยังมีปมด้อยเรื่องการตอบแทนพระคุณแม่ค่ะ
  • รู้สึกว่ายังน้อยอยู่มาก  อยากตอบแทนให้มากกว่านี้
  • เป็นกำลังใจให้นะคะ

สวัสดีค่ะ

  • อ่านเรื่องราวคุณแม่ของอาจารย์แล้ว
  • น่ายกย่องเหลือเกินที่เลี้ยงดูลูกทั้งสิบได้ดี
  • อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้นะคะ.

มีเวลา เฝ้าดูแล แม่ป่วยไข้

ดีกว่านั่ง ร้องไห้ เมื่อแม่สูญ

คุยกับแม่ จับมือแม่  อุ่นละมุน

ดีกว่ามา ทำบุญ ท่านล่วงไป

**มีโอกาสประคองท่านเมื่อท่านยังอยู่เป็นโอกาสดีของท่านแล้วค่ะ**

อ่านความคิดเห็นจากทุกท่านข้างบนนี้ เห็นได้ว่า คนดีมีมากในเมืองไทย เพราะอิทธิพลของพระศาสนา ความกตัญญูเป็นนิมิตหมายของคนดี ขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็นของคนดีครับ

เรียนคุณยาย

อย่าลืมบันทึกเรื่องชีวิตนะครับ

เอาไว้ให้ลูกหลานได้อ่าน เหมือนชีวิตโอชินหรือเปล่าครับ

เรียนคุณหลวงเวชการ

ภาพในหลวงที่ลงนั้นงดงามยิ่งนักครับ

เรียนคุณอิงจันทร์

คุณพ่อท่านโชคดีจัง ที่อายุยืนเกือบ100แล้ว

เรียนครูแป๋ม

ตอนนี้ทางโคราชฝนตกเปล่าครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • คนเรามีวิถีทางตอบแทนพระคุณแม่ได้หลายทางครับ แต่ที่สำคัญคือใจหรือเจตนาของลูกที่ตั้งใจจะตอบแทนความมีพระคุณของแม่ ครับ
  • พ่อผมเสียเมื่อสองปีก่อนตอนป่วยผมก็ใช้วิธีพูดคุยเรื่องธรรมะเรื่องโดยเฉพาะจิตใจคนเราตอนป่วย ตอนจะไป ในช่วงที่ดูแลท่าน ตอนจะพูดก็กังวลเหมือนกันว่าพ่อจะคิดว่าเราจะแช่งท่านหรือเปล่า แต่ก็บอกไปครับว่าเป็นการบอกในสิ่งที่คนเราควรรู้ ให้รู้ วันที่พ่อจากไปพ่อนอนอยู่โรงพยาบาล ผมไปไม่ทัน แต่มักโทรศัพท์ไปหาพ่อและบอกให้พ่อว่าไม่ต้องห่วงกังวลสิ่งใด ทุกอย่างจะเป็นไปตามวิถีชีวิตของมัน ทำใจให้สงบท่องพุทโธฝึกสมาธิครับ เวลาคนเราเอาแน่ไม่ได้ วันที่พ่อจากไปไม่มีใครร้องให้ฟูมฟาย พ่อหลับไปแบบสงบ
  • เวลาที่ผมมีโอกาสไปเดินจูงศพไปป่าช้า สิ่งที่ผมมักคิดในใจคือ เราเองก็กำลังก้าวเข้ามาใกล้กองฟอนเหมือนกัน เดินเข้ามาใกล้ทีละน้อยๆ เรามาส่งเขาก่อน แล้ววันหนึ่งก็คงมาถึงเรา

เรียนคุณชำนาญ

พระชี้ว่า แนวทางที่คุณคิดนั่น เป็นประโยชน์มากครับ

ขอบคุณมากครับ ทำให้ผมรักในหลวงมากจนไม่สวามารถบรรยายได้ครับ ...อาจารย์

เรียนท่านอาจารย์

ถูกต้องแล้วครับ ไทยเราโชคดีมาก

เรียนครูป.1

เป็นกวีก็ดีอย่างนี้แหละครับ เขียนเป็นกวีเล่นได้

 เรียนท่านอาจารย์โสภณ

  •  หนูกลับมาอีกครั้งตามสัญญาค่ะอาจารย์ ขอส่งกำลังใจและความริงใจมาให้ทั้งคุณแม่และอาจารย์มีกำลังใจที่ดีนะคะ
  • เรื่องบันทึกหนูเขียนไว้เมื่อปีที่แล้วค่ะ เป็นฉบับย่อ แต่เรื่องราวโดยรวมได้เล่าให้ลูกฟังบ้างแล้วเค๊าพูดติดตลกว่า " เข้าใจแล้วล่ะ ที่แท้เจ๊เก็บกดมานาน มิน่าล่ะตอนนี้ถึงได้ชดเชยซะคุ้มเลย " เวลาไปไหนมาไหนด้วยกันคนชอบแซวว่าเหมือนพี่กับน้องเค๊าเลยเรียกแม่ว่า เจ๊ ซะเลย และที่ว่าชดเชยก็คือหนูชอบการเดินทางท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจค่ะตอนเด็กๆไม่มีโอกาสไปไหนเลย โรงเรียนจัดไปเที่ยวไม่เคยได้ไป ตอนนี้ไปทุกที่ที่อยากไป(ยกเว้นเมืองนอกค่ะ ไปแค่ประเทศลาว) กินทุกอย่างที่อยากกิน ซื้อทุกอย่างที่อยากซื้อ และจุนเจือพี่น้อง ลูกหลานด้วย ไปไหนก็กระเตงกันไปเต็มคันรถ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างเองหมด และนี่ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งค่ะ สุขที่ได้ให้ (เมื่อต้นปีที่แล้วหนูไถ่ที่นาให้พี่ 2 แปลง รวม 27 ไร่ค่ะ )มันเป็นความสุขที่ยากจะบรรยายค่ะ คิดถึงแม่มากๆ ถ้าท่านอยู่ แม่คงมีความสุขที่สุดค่ะ

เรียนคุณยาย

ตามที่เล่ามานี่ฟังดูแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าติดตามเสียแล้ว อย่างไรอย่าลืมบันทึกนะครับ

  • ขออนุญาต  กลับมาค้นตู้ตำราเก่าๆครู   ยังมีเรื่องราวดีดีมากมาย  มีหลักธรรมสอดแทรกอยู่เสมอ
  • ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง
  • การมาบันทึกนี้ได้รับการแบ่งปันเสบียง เพื่อติดตัวไปด้วย  เช่นกัน
  • เพียงห่อเล็กๆ ทำให้ อิ่มเอมใจ  อย่างที่สุด

Ico32เรียนคุณอุ้มบุญครับ

กำลังคิดอยู่ว่าจะเพิ่มสารัตถะัให้มากขึ้นได้อย่างไร

โดยความเชื่อทางศาสนา คนเราใกล้จากลาต้องบอกทาง "พุทโธ" นะ อรหัง นะ เป็นต้น เกิดมาจากหลักที่ว่า "เวลาโคออกจากคอก ตัวไหนใกล้ประตู ตัวนั้นออกก่อน" ชาติหนึ่งคนเราทำกรรมมากมาย กรรมไหนให้ผลก่อน

กรรมที่เราทำก่อนตาย คือโคที่อยู่ปากคอกตัวนั้นครับ

เห็นที่มานะครับ

 

 

พี่สาวคนโต เลี้ยงน้องทุกคนเหมือนเป็นแม่คนที่2 กับอานึ้ง เจ้าของบ้านริมแควใหญ่ และเรือนรับรองหลังงามทำจากไม้ที่ปลูกเองเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

Ico48เรียนคุณกาญจนาครับ

  • ขอบคุณที่มาเยือนกัน
  • ขอบคุณสำหรับวิพากษ์วิจารณ์

Ico48เรียนพี่นงนาทครับ

ขอบคุณภาพสวยพร้อมคำกลอนอันน่าฟัง

Ico48เรียน ผอ. ศุภัชณัฏฐ์ครับ

  • ผมกลั่นกรองเรื่องเล่าถึงแม่
  • แล้วนำมาวางไว้ที่นี่เพื่อ
  • เป็นการเก็บรักษาให้ยืนนาน
  • และเพื่อให้พื่อนพ้องชาวเรา G2K ได้อ่านกัน

Ico256เรียนคุณมะปรางเปรียวครับ

ขอบคุณที่เข้ามาเป็นกำลังใจ เลยขอนำภาพเต็มๆ มาให้เห็นกันเต็มตา อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท