เชิญชวนทุกท่านร่วม "X-Rays ทุกชุมชน ให้ทุกฅนมีเลข 13 หลัก"


มีชื่อในทะเบียนและบัตร อย่างถูกกฎหมาย ง่ายนิดเดียว

      "X-Rays ทุกชุมชน ให้ทุกฅนมีเลข 13 หลัก"

      วลี หรือถ้อยคำนี้ เป็นการเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันดูและฅนใกล้ตัว ฅนในชุมชน ในหมู่บ้านที่ยังไม่มีชื่อในทะเบียน(บ้าน)และไม่มีบัตร(ประเภทต่างๆ)ไว้แสดงตน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลจะต้องให้บริการ โดยไม่จำกัดว่า จะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเป็รฅนต่างด้าว อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทย(เข้าร่วมประชุม ให้การรับรองและ)รับเอามติของสหประชาชาติปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2491 ที่เริ่มด้วยว่า "ให้มีการบันทึกรายการของฅนที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ไว้ทุกฅน โดยให้มีชื่อและมีสัญชาติ" เพื่อจะได้รู้ว่า ใครเป็นใคร เท่ากับเป็นการนับฅนพร้อมทั้งจำแนกประเภทเป็นหลักสำคัญ

    ในลำดับต่อมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกและประเทศไทยเข้าเป็นภาคี(กฎหมายระหว่างประเทศ)ด้วยวิธีการต่างๆ และมีผลที่ต้องปฏิบัติตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องสถานะบุคคล อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ

   1. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ CRC ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 มีผลใช้บังคับในวันที่ 26 เมษายน 2535 โดยมีการตั้งข้อสงวนไว้ 2 ข้อ คือ ข้อ 7 และข้อ 22 ซึ่งข้อ 7 ถูกยกเลิกโดยปริยาย เพราะมีการเข้าเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

  2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 มีผลใช้บังคับในวันที่ 30 มกราคม 2540

     กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดเป็นแนวให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ โดยการออกกฎหมายให้สอดคล้อง ที่ภาษากฎหมายเรียกว่า "อนุวรรตการ" ถ้าหากประเทศใดยังไม่ดำเนินการก็จะมีการรายงานกลับไปยังสหประชาชาติ ให้นำเสนอต่อที่ประชุมรับทราบกัน เท่ากับว่า จะใช้แรงกดดันต่อประเทศที่นิ่งๆ นั่นเอง สำหรับเรื่องนี้ประเทศไทยได้ปฏิบัติการแล้ว ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ จนถึงฉบับล่าสุด(พ.ศ.2550)ก็มีบัญญัติไว้ในมาตรา 82

    สำหรับกฎหมายลำดับรอง ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติสัญชาติ และพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งมีผลให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ คำสั่งและหนังสือสั่งการ หรือแนวปฏิบัติที่เรียกว่า นโยบายของรัฐบาลที่เคยมีใช้บังคับมาก่อนหน้านี้แล้ว หากขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็จะใช้บังคับอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

   สิ่งที่ยาก...มาแต่เดิม เมื่อถึงวันนี้ ผมคิดว่า ไม่ยากเหมือนเดิมแล้ว จึงใช้คำที่เป็นผลของการปฏิบัติว่า "มีชื่อในทะเบียนและบัตรอย่างถูกกฎหมาย ง่ายนิดเดียว" เนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ที่ยังไม่มีชื่อในทะเบียน(แบบต่างๆ ถึง 5 แบบ)บ้านและไม่มีบัตรไว้แสดงตัวตน แต่สิ่งที่พบว่าเป็นข้อขัดข้อง คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลประสบเหตุว่า เจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าจะอ้างข้อกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว หรือไม่รับการดำเนินการให้ได้ โดยอ้างว่า มีหนังสือสั่งการไว้แบบนี้

    เมื่อพบข้อขัดข้องเช่นนี้ จะทำอย่างไร จะต้องอาศัยกฎหมายและนโยบายใดบ้าง  เรื่องนี้จะนำเสนอเป็นลำดับถัดไป แต่ในการนำเสนอวันนี้ จะขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกัน "X-Rays ทุกชุมชน ให้ทุกฅนมีเลข 13 หลัก" ซึ่งภารกิจในกรุงเทพฯ มีหน่วยงานชื่อ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส หรือ สทอ. สำนักงาน(ชื่อเต็มยาวมากๆ ขอใช้ชื่อย่อให้จำง่ายๆ ว่า)ส.ท. ในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ที่มีการจัดตั้งประธานชุมชนทั่วกรุงเทพฯ ร่วมกันเป็นสภาพัฒนาภาคประชาชนเป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ(ทั่วประเทศ) ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(สป.พม.)มอบภารกิจนี้ให้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.จ.)เป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานเช่นกัน

    วันนี้ประธานชุมชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายพัฒนาสังคมของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ และ พม.จ.หลายจังหวัดทราบภารกิจนี้ เป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากได้มีการประชุมชี้แจงและแนะนำวิธีดำเนินการ มอบหมายหลักการไปกันแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครที่พบเห็นและใส่ใจที่จะให้ความอนุเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือ เพื่อ"X-Rays ทุกชุมชน ให้ทุกฅนมีเลข 13 หลัก" หากติดต่อกับประธานรชุมชน หรือผู้นำแล้ว ยังไม่เข้าใจ กรุณาติดต่อกระพ๊ม เพื่อขอคำแนะนำได้ที่โทรศัพท์ 08-1931-6123 หรือe-mail : [email protected] ที่ควรจะมีข้อมูลเพื่อตอบคำถามหลัก 5 คำถาม คือ

   1. บุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลที่ขอให้ช่วยวิเคราะห์ ใช้ชื่ออะไรในแต่ละการอยู่อาศัยในแต่ละชุมชน จะมีนามสกุลหรือไม่ ไม่จำเป็น บุคคลฅนนี้มีเลข 13 หลักหรือไม่ ถ้ามีมีเลขอะไรบ้าง มีเอกสารใดยืนยันบ้าง

   2. บุคคลฅนนี้ทราบวัน เดือน ปีเกิด หรือไม่ มีเอกสารใดยืนยันบ้าง แต่ถ้าไม่ทราบ ก็ไม่เป็นอะไร วันเกิดนี้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สถานะบุคคลโดยใช้กฎหมายสัญชาติ ณ วันที่เกิด หรือกฎหมายที่แก้ไขภายหลังแล้วให้ผลในทางเป็นคุณย้อนหลัง

  3. บุคคลฅนนี้ทราบ หรือมีใครบอกได้สถานที่เกิด เกิดในบ้าน โรงพยาบาล หรือนอกบ้าน เกิดในประเทศไทยที่จังหวัดใด อำเภอไหน หมู่บ้านตำบลอะไร หรือว่าเกิดนอกประเทศและ มีเอกสารใดยืนยันบ้าง แต่ถ้าไม่ทราบ ก็ไม่เป็นอะไร สถานที่เกิดนี้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สถานะบุคคลโดยใช้กฎหมายสัญชาติ ณ วันที่เกิด หรือกฎหมายที่แก้ไขภายหลังแล้วให้ผลในทางเป็นคุณย้อนหลัง

  4. บุคคลฅนนี้ทราบผู้ให้กำเนิด(พ่อ แม่ ที่แท้จริง)หรือไม่ มีญาติคนอื่นๆ อีกหรือไม่ ถ้ามีทราบชื่อญาติและที่อยู่หรือไม่ มีเอกสารใดยืนยันบ้าง แต่ถ้าไม่ทราบ ก็ไม่เป็นอะไร พ่อ แม่และสถานะการอยู่ในประเทศของพ่อแม่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สถานะบุคคลโดยใช้กฎหมายสัญชาติ ณ วันที่เกิด หรือกฎหมายที่แก้ไขภายหลังแล้วให้ผลในทางเป็นคุณย้อนหลัง

  5. ปูมประวัติชีวิตของบุคคลฅนนี้ ตั้งแต่ปัจจุบันย้อนอดีตไปเท่าที่จำความได้ เคยอยู่ที่ใดมาบ้าง ศึกษาหรือทำงานที่ใด เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานที่ พยานบุคคลและพยานเอกสาร อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์ว่า เป็นบุคคลที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมายาวนานเพียงใด มีใครหรือพยานหลักฐานใดยืนยัน โดยเฉพาะบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันในแต่ละชุมชน

  เราพบว่า หลายฅนพยายามที่จะนำเสนอสิ่งที่มีข้อมูลทั้ง 5 ข้อ แต่เมื่อไปยื่นคำร้องตามระบบปกติ กลับได้รับการปฏิเสธ จึงควรที่จะมีการเตรียมความพร้อมของเอกสารและความพร้อมจากชุมชนและพยานหลักฐานต่างๆ ให้สมบูรณ์ ก่อนที่จะไปพบกับเจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียน ...นี่คือสิ่งที่ขอความกรุณา"ค้นฅนให้พบก่อน" ด้วยการร่วมมือกัน X-Rays ทุกชุมชน แล้ววิธีการที่ต้องปฏิบัติจะแนะนำเป็นลำดับถัดไป...ฝากความหวังไว้กับทุกท่านนะคร๊าบบ

หมายเลขบันทึก: 381580เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะคุณมานะ

หนูชื่อ นส.ธิดาพร อิสลามค่ะ เกิดวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2537 ปัจจุบันหนูอายุ 17 ปีแล้วค่ะ แต่หนูยังไม่ได้สัญชาติไทยค่ะ พ่อแม่หนูถือบัตรสีชมพู(พม่า)ค่ะ พ่อแม่หนูอยู่เมืองไทย มา 20กว่าปีแล้ว ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ จ.อุทัยธานี พ่อแม่ของหนูอยู่เมืองไทยมานานมากๆแล้วค่ะ แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆเลย จะมีก็เพียงบัตรสีชมพูค่ะ หนูจึงอยากให้พ่อแม่ของหนูได้รับโอกาสในการถือบัตรที่ดีกว่านี้ หนูสงสารพ่อแม่มากๆค่ะ พ่อแม่หนูมีอาชีพขายโรตีส่งเสียลูกๆเรียนค่ะ หนูมีพี่น้อง 3 คน หนูเป็นคนโต เป็นผู้หญิงทั้งหมด เกิดที่ประเทศไทยทั้ง 3 คนค่ะ มีหลักฐานในการเกิดสูติบัตร สำเนาทะเบียนบ้านครบค่ะ ปัจจุบันกำลังศึกษากันอยู่ทั้ง 3 คนค่ะ พวกหนูเกิดในประเทศไทยพ่อแม่ก็อยู่เมืองไทยมา 20 กว่าปีแล้ว แต่พวกหนูยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆเลย ตอนนี้หนูอายุ 17 ปี หนูก็ยังไม่มีบัตรประจำตัวอะไรเลย ทั้งๆที่หลักฐานของหนูมีพร้อม เมื่อตอนอายุ 15 หนูได้ไปที่กองทะเบียนราษฎร์เพื่อไปขอติดต่อทำบัตรประชาชน แต่เค้าบอกว่าหนูไม่มีสิทธิ์เค้าบอกว่าให้หนูทำบัตรต่างด้าวสิ่ หนูเลยบอกว่าทำไมหนูต้องทำบัตรต่างด้าวละค่ะ หนูเกิดในประเทศไทย หนูไม่ได้หลบหนีเข้ามา เค้าก้บอกว่าถ้างั้นก็ทำไม่ได้ เพราะหนูไม่มีสิทธิ์ หนูรู้สึกน้อยใจมากๆค่ะ ณ ตอนนั้นหนูคิดว่าใครไม่เป็นหนูก็คงไม่เข้าใจความรู้สึกของหนู น้ำเสียง คำพูดที่เค้าพูดกับหนูทำให้หนูรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าอะไรเลย ดูไม่มีศักดิ์ศรี โดนคนอื่นดูถูกเหยียดหยาม เพียงแค่หนูเกิดเป็นลูกคนต่างด้าวแค่นั้น ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหนูไม่มีค่าในสายตาใครๆเลย

พ่อหนูพยายามวิ่งเต้นดิ้นรนหาทางมาหลายทางเรื่องขอสัญชาติให้ลูกๆ แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ไม่ประสพความสำเร็จสักทีค่ะ พอคุยกับทางเจ้าหน้าที่ก็มักจะบอกว่า ไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นมีหนังสือแบบนี้มาเลย ทำไม่ได้หรอก พยายามปัดตลอดทั้งๆที่พ่อก็นำเอกสารหนังสือไปให้เจ้าหน้าที่ดู แต่ก็ไม่มีใครสนใจคนอย่างพวกเราเลยค่ะ

ต่อมาพ่อหนูได้ทราบข่าวมาว่ามีโครงการ x-ray ชุมชุนให้ทุกคนมีเลข 13 หลัก พ่อหนูจึงวิ่งหาหนังสือเรื่องนี้ แต่พอได้มาก็หมดอายุแล้ว จึงรอโครงการหน้า พ่อหนูให้กำลังใจพวกหนูตลอดค่ะ และหนูก็ให้กำลังใจพ่อว่าอย่าพึ่งหมดหวังนะพ่อ เราจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้แน่

และต่อมาก็มีโครงการเฉลิมพระเกียรติที่จะให้สถานะทางกฏหมายแก่ผู้ที่ตกหล่นทางทะเบียน พ่อหนูได้เอกสารฉบับนี้มาจึงไปปรึกษากับผู้ใหญ่ชุมชนผู้ใหญ่ชุมชนคนนี้เป็นคนดีค่ะ ท่านก็ให้คำแนะนำต่างๆแก่เราและบอกกับเราว่าจะช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่

และพ่อยังได้ไปปรึกษากับอาจารย์ที่เคยสอนหนูค่ะซึ่งท่านเกษียณอายุราชการแล้ว แต่มีความรู้ด้านนี้อยู่บ้างท่านเคยบอกกับหนูไว้ว่าให้ไปปรึกษาท่านได้ท่านจะช่วยหนู ท่านก็ช่วยหนูจริงๆค่ะ ท่านนำเอกสารโครงการเฉลิมพระเกียรติไปใ้หทางเทศบาลดู แต่ทางเทศบาลก็พูดเหมือนเดิมแค่ว่าไม่มีหนังสือมาเลยทั้งๆที่ในเอกสารนี้ระบุว่าได้้จัดส่งไปยังสำนักทะเบียนท้องถิ่นทุกจังหวัด

แต่เราก็ไม่สามารถพูดอะไรกับเค้าได้เลยค่ะ หนูเลยเขียนยื่นคำร้องไปให้คุณมานะและหนูก็ส่งทางไปรษณีย์ไปแล้ววันนี้ค่ะเพราะคิดว่านี่คงเป็นโอกาสทองโอกาสสุดท้ายของครอบครัวหนูจริงๆ หนูก็อยากจะมีบัตรประชาชนแบบเด็กคนอื่นๆบ้าง หนูอยากมีสิทธิ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมคนอื่น หนูอยากมีการศึกษาสูงๆไว้เลี้ยงพ่อแม่ของหนูและเจริญเติบโตเป็นอนาคตที่ดีของชาติก็แค่นั้น

ต่อให้มีเงินทองมากมายแต่ถ้าไม่มีสถานะไม่มีบัตรประชาชนแล้วคนอย่างพวกหนูจะมีค่าอะไร หนูรู้สึกเครียดมากๆค่ะ รู้สึกน้อยใจในโชคชะตาของตนเอง แต่หนูก็ไม่ท้อค่ะ เพราะหนูยังมีกำลังใจจากพ่อแม่ น้องๆ คุณครู และท่านผู้มีอุปการะคุณอื่นๆ

หนูอยากขอความช่วยเหลือให้ท่านเมตตาและเห็นใจครอบครัวหนูและโปรดรับไว้พิจารณา ด้วยนะค่ะ หนูจะอดทนและสู้ต่อไปค่ะ สวัสดีค่ะ

ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท