คุณอำนวยตำบลและคุณกิจจะเรียนรู้แก้จนในเวทีระดับหมู่บ้านกันอย่างไร


          กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมคุณอำนวยตำบลและคุณกิจจากครัวเรือนที่เข้าร่วมแก้จน 

  • ระยะนี้ผมได้รับคำถามจากเพื่อนฝูงที่อยู่ในทีมคุณอำนวยทั้งคุณอำนวยตำบลและคุณอำนวยอำเภอตลอดจนคุณอำนวยกลาง โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ว่ากิจกรรมการเรียนรู้ในวงเรียนรู้ระดับหมู่บ้าน (คุณกิจจากครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ)ว่าสมาชิกที่มาร่วมเรียนรู้ และคุณอำนวยตำบลจะมีบทบาทอย่างไร จึงจะทำให้บรรยากาศการเรียนรู้คุณกิจได้ทั้งเนื้อหาสาระและสนุกสนานอย่างชนิดที่ว่าได้ความรู้และได้ประสบการณ์ไปโดยไม่รู้ตัว
  • ผมเชื่อว่าคุณอำนวยทุกระดับคงจะได้คิดออกแบบวางแผนการเรียนรู้ในวงเรียนรู้ของหมู่บ้านกันไว้ แต่เพื่อให้ความคิดของผมได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ระดับหมู่บ้าน ผมขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังนี้นะครับ ผมว่าเวทีแรก หรืออาจจะเวทีแรกๆของเวทีเรียนรู้หมู่บ้าน อาจจะต้องเป็นเวทีสำหรับการกำหนดเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายการทำงาน และเป้าหมายการเรียนรู้แก้จน บางหมู่บ้านอาจจะได้ผ่านการเรียนรู้ในเวทีแรกไปแล้ว เมื่อทำเวทีแรกไปแล้ว ปัญหาอาจจะมีว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วนี้นิ่งแล้วหรือไม่ หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายอีก เพราะว่าเป้าหมายที่ครัวเรือน หรือกลุ่มครัวเรือนตั้งไว้ในเวทีครั้งก่อน เมื่อกลับไปปรึกษากับสมาชิกคนอื่นๆในครัวเรือน หรือสมาชิกคนอื่นๆในกลุ่มครัวเรือน อาจจะมีข้อมูลเพิ่มเติม เป้าหมายอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ คุณอำนวยตำบลจะต้องตรวจสอบเป้าหมาย ทบทวนเป้าหมายแก้จนของแต่ละครัวเรือน หรือกลุ่มครัวเรือนให้เป็นที่แน่นนอน ถ้าจะให้ดี ผมคิดว่าทีมคุณอำนวยตำบลจะต้องทำภารกิจต่อเนื่องตั้งแต่ตอนที่ได้ทำเวทีแรกผ่านพ้นไปแล้ว อาจจะเยี่ยมบ้าน หรือเยี่ยมกลุ่มแบบลุยถึงที่เพื่อแนะแนว ให้คำปรึกษา ตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อครัวเรือน หรือกลุ่มครัวเรือนใด คิดว่าเป้าหมายแก้จนของตนแน่นอนแล้ว ก็แนะนำให้บันทึกในสมุดบันทึกความรู้แก้จนฯต่อไปเลย เมื่อถึงเวทีเรียนรู้ครั้งต่อไป ทีมคุณอำนวยตำบลก็อาจจะแบ่งกลุ่มให้คุณกิจได้เล่าเป้าหมายกันในกลุ่มย่อย แลกเปลียน ตรวจสอบกัน หรืออาจจะเล่างาน กิจกรรมแก้จนที่บางครัวเรือน บางกลุ่มครัวเรือนได้เดินหน้าทำไปแล้วก็ได้ จากกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่ม ก็อาจจะให้ตัวแทนสรุปไปเล่าต่อในเวทีใหญ่ก็ได้ แล้วแต่ทีมคุณอำนวยตำบลจะเห็นสมควร
  • บทบาทของทีมคุณอำนวยตำบล ก็จะต้องแท็กทีมกันค้นดูว่าใครเก่งเรื่องอะไร (ได้กำหนดเป้าหมาย ได้เรียนรู้ ได้ทำกิจกรรมแก้จนเรื่องใดมา ) บางครั้งอาจจะจำเป็นต้องให้แกนนำหมู่บ้าน(หมู่บ้านละ 8 คน)มีบทบาทมีส่วนร่วมในการค้นหาคนดี คนเก่ง และทำกิจกรรมกลุ่มให้มากเป็นการกระตุ้นสมาชิกจากครัวเรือนอื่นๆ (ประมาณว่าเป็นหน้าม้าก็ได้)เรื่องการค้นหาคนดีคนเก่งนี้ถ้าหากว่าได้พบล่วงหน้าและแจ้งให้คุณกิจคนนั้นๆทราบล่วงหน้าถึงภารกิจที่จะต้องเล่าให้ผู้เข้าร่วมเวที เวทีต่อไปทราบ เพื่อจะได้เตรียมตัว ก็จะเป็นการดี จะกำหนดจำนวนผู้เล่ากี่คน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เวลาที่จะอำนวย เมื่อคนดีคนเก่งเล่าแล้ว ทีมคุณอำนวยตำบลก็จะต้องกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ โดยให้สมาชิกจากครัวเรือนต่างๆได้แสดงความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กัน กระตุ้นให้อภิปราย เชื่อมโยงความรู้ความคิด ให้กำลังใจ คุณลิขิต ก็บันทึกความรู้ของเวทีเรียนรู้นั้น เพื่อการถอดบทเรียน คุณกิจจากครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการก็บันทึกความรู้ประสบการณ์ลงในสมุดบันทึก
  • เนื่องจากประสบการณ์การเรียนรู้มีมากมาย แตกต่างกันไปตามเป้าหมายการเรียนรู้ของแต่ละครัวเรือน กลุ่มครัวเรือน ถ้าเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ ก็มีหลักสูตรการเรียนรู้มากมายหลายหลักสูตร คุณอำนวยตำบลต้องหมั่นดูร่องรอยการเรียนรู้ของคุณกิจจากสมุดบันทึกความรู้แก้จนตามวิถีคนคอนว่า ได้ปรากฏร่องรอยใดให้เรียนรู้ได้บ้าง หรือถ้าไม่บันทึกก็ให้สอบถามเอาก็ได้ ให้เขาได้มีโอกาสเล่าอย่างทั่วถึง
  • แต่เนื่องจากว่าการเรียนรู้ไม่ใช่จะมีแต่การเรียนรู้เป็นรายครัวเรือนเท่านั้น เป็นกลุ่มครัวเรือน องค์กร ชุมชน ก็มีเหมือนกัน คุณอำนวยตำบลจึงต้องไม่ลืมที่จะต้องจัดสัดส่วนเวลาเพื่อการเรียนรู้ในส่วนนี้ วิธีการเรียนรู้ก็ใกล้เคียงกัน คุณอำนวยตำบลอาจจะต้องประสานผู้รู้จากทั้งในชุมชน นอกชุมชน(ถ้าจำเป็น) ประสานหน่วยงานสนับสนุน คิดรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม เช่น ศึกษาดูงาน เยี่ยมกลุ่มเยี่ยมบ้านผู้ประสบผลสำเร็จ ชมนิทรรศการ ดูวีซีดี สาธิต ทดลอง ฯลฯ ซึ่งในส่วนของการเรียนรู้เป็นกลุ่มครัวเรือนนี้ เนื่องจากเป็นกิจกรรมทีมีขนาดกิจกรรมใหญ่มากขึ้น ต้องเตรียมการมากหน่อย ทีมคุณอำนวยตำบลอาจจะทำกำหนดการเรียนรู้เนื้อหาต่างๆในแต่ละเวทีไว้เป็นการล่วงหน้าก็ได้ ว่าเวทีครั้งใดจะเรียนรู้เรื่องใด ทุกฝ่ายจะได้เตรียมการและเตรียมตัว
  • นี่คือความเห็นผมที่แชร์มาเพื่อการแลกเปลี่ยน ขับเคลื่อนเวทีเรียนรู้คุณกิจจากครัวเรือนระดับหมู่บ้าน ครับ
หมายเลขบันทึก: 38126เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2006 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ครับ   อยากดูร่องรอยการเรียนรู้ของคุณกิจ  ที่เป็นภาพประกอบด้วยจัง    ไม่ทราบอาจารย์ได้เก็บไว้บ้างไหมครับ

 

หลักการสร้างความเป็นประชาสังคมข้อหนึ่งคือการเรียนรู้อย่างพินิจพิเคราะห์ของสมาชิกในชุมชน   หมายถึงการเรียนรู้เพื่อยกระดับความรู้จากประสบการณ์ของบุคคลอย่างใคร่ครวญเชิงเหตุผล

ประสบการณ์ของบุคคลย่อมต่างๆกัน กระบวนการเรียนรู้เพื่อยกระดับความรู้เชิงเหตุผลอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยคุณอำนวยที่เป็นกัลยาณมิตร อาจใช้แนวทางธารปัญญาและแบบจำลองปลาทูเป็นตัวเดินเรื่อง
อีกทางหนึ่งคือ การใช้แบบแผนกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับการสวดมนต์ ไหว้พระ
ที่ผมคิดว่าง่ายที่สุดคือ การทำกลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาททำสวัสดิการภาคประชาชน ใช้กิจกรรม  ตัวนี้เป็นตัวเดินเรื่องก็เข้าท่าดีครับ

ร่องรอยการเรียนรู้ที่เป็นภาพกิจกรรมอย่างที่คุณธวัชอย่างดู ผมจะนำเสนอในบันทึกต่อๆไปครับ(เพิ่งหัดทำเป็นครับ) และสัจจะวันบาทที่คุณภีมฝากมานั้น เขากำหนดเป็นเป้าหมายกิจกรรมแก้จนกันส่วนมากแล้วนะครับ คุณอำนวยที่เป็นกัลยาณมิตรก็ดี แนวทางธารปัญญาก็ดี แบบจำลองปลาทูเป็นตัวเดินเรื่องก็ดี ต้องค่อยๆซึมเข้าไปครับ อาจารย์ต้องคายความรู้ประสบการณ์ KM ให้พวกเราเยอะๆนะครับ ขอบคุณครับ

ถ้าเราสามารถสร้างการเรียนรู้ให้คุณอำนวยหมู่บ้าน    ๆละ8คนตั้งเป้าหมายรายทางเพื่อไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้และเศรษฐกิจพอเพียงเรื่องหนึ่งคือการจัดสวัสดิการให้สมาชิกในชุมชนด้วยการรวมพลังกันลดรายจ่ายวันละ1บาท ครัวเรือนเป้าหมายจำนวน25,600ครัวเรือน คิดครัวเรือนละ2คนเท่ากับ51,200คน และถ้าเราผสานการทำงานแนวราบด้วยการขยายความคิดนี้โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายทั้งตำบล ไม่ใช่2-5       หมู่บ้านรวม400หมู่บ้านอย่างที่ดำเนินการตามกรอบแผนงาน เราจะทะลวงสู่เป้าหมายสร้างชุมชนสวัสดิการเมืองนครศรีธรรมราช โดยกระบวนการของสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาท เป็นการหล่อหลอมคนโดยใช้ตัวเงินสร้างสวัสดิการเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก และหากเราก้าวข้ามแนวคิดสัจจะลดรายจ่ายสร้างสวัสดิการไปสู่การทำบุญตามแนวทางของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต เราจะเปลี่ยนจากการร้องขอมาเป็นการพึ่งตนเองและก้าวไปสู่การให้ซึ่งเป็นจิตสำนึกที่ยิ่งใหญ่ ถ้าสามารถไปถึงระดับนั้น(ที่จริงเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของชุมชนแต่เดิม)         เป้าหมายเรื่องความพอเพียงไม่ต้องพูดถึงเลยครับ

สำหรับเป้าหมายเมืองแห่งการเรียนรู้ อยู่ในกระบวนการที่อาจารย์และทีมงานกำลังดำเนินการกันอยู่ แม้ว่าจะยากแต่มาถูกทางแล้วละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท