เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 4 ฝึกร้องลงเพลงและลูกคู่ร้องรับ


นักเพลงรุ่นครู โดยเฉพาะพ่อเพลง ท่านจะร้องลงเพลงด้วยคำว่า “เอย...” แล้วลูกคู่ก็จะสวมเสียงร้องรับต่อด้วย 3 คำสุดท้าย

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึงขั้น

การแสดงอาชีพ

ตอนที่ 4  ฝึกร้องลงเพลงอย่างไร

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

          เพลงพื้นบ้านทุกชนิด จะมีรูปแบบของเพลงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่าง สำหรับเพลงอีแซว รูปแบบในการร้องประกอบด้วยส่วนย่อย ๆ ต่อไปนี้

          1. ร้องเกริ่นขึ้นต้นเพลง “เอ่อ เฮ้อ เออ... เอ่อ เอิง เง้อ... เอ่อ เอิ้ง เงย... ฮือ”   หรือ "เอ๊ย.."

          2. ร้องบทเพลงอีแซว ตามทำนองด้วยการบังคับเสียงร้องสูง ต่ำ สั้น ยาว ฯลฯ

          3. ร้องลงเพลง โดยการทอดเสียงลง ให้ลูกคู่ร้องรับ 3 คำสุดท้าย

          ความไม่เข้าใจที่แท้จริงอยู่ที่ การทอดเสียงลงเพลงเมื่อจบบทร้อง หรือเมื่อถึงตอนที่จะเปลี่ยนผู้ร้องเป็นคนต่อไป คนที่ร้องอยู่เดิมจะทอดเสียง หรือเอื้อนเสียงลงเพลง การเอื้อนเสียงลงเพลงมีหลายรูปแบบ ได้แก่

          บรรจงจีบสิบนิ้ว               ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ย)  คิ้วทั้งคู่

          เชิญรับฟังกระทู้               เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย)  แล้วเพลงไทย

         แต่เดิมนักเพลงรุ่นครู โดยเฉพาะพ่อเพลง ท่านจะร้องลงเพลงด้วยคำว่า “เอย...” แล้วลูกคู่ก็จะสวมเสียงร้องรับต่อด้วย 3 คำสุดท้าย ส่วนแม่เพลงหรือนักร้องนำหญิง แต่เดิมท่านร้องลงเพลงว่า  “เอ่อ เอ๊ย..” แล้วลูกคู่ก็ร้องรับด้วยบทร้อง 3 คำสุดท้าย ต่อมามีนักเพลงรุ่นที่ยังยึดการแสดงเพลงอีแซวเป็นอาชีพในระดับหัวหน้าวง มีการปรับปรุงการร้องลงเพลงให้ไพเราะน่าฟังมากขึ้น โดยมีคำร้องเอื้อนเอ่ยลงเพลงยาวกว่าเดิม  ดังนี้

         บรรจงจีบสิบนิ้ว               ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ย) คิ้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้               เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย)  แล้วเพลงไทย

         คำร้องเอื้อนที่ว่า “เอิง เงอ เอย” เป็นการร้องลงเพลงในบทหรือตอนนั้น ๆ ส่วนการลงเพลงจะมี 2 แบบ คือ

         1. ลงเพลงแบบเปิด คือลงวรรคหน้าเพียงวรรคเดียว แล้วร้องต่อไปได้เลย

         2. ลงเพลงแบบปิด เป็นการลงเพลง 2 ครั้ง ร้องลงทั้งวรรคหน้าและวรรคหลัง

        

        

        

         ส่วนการเอื้อนเสียงจะใช้เหมือนกันกับวรรคหน้าก็ได้ หรือจะร้องลงในวรรคหลังให้แตกต่างกันบ้างก็ได้ ดังตัวอย่างใน 2 บรรทัดข้างบน ผมขอนำเอาบทร้องของพี่เกลียว เสร็จกิจ ซึ่งเป็นบทร้องฉบับครูที่ใช้ฝึกหัดนักเพลงรุ่นใหม่ มาเป็นแบบอย่างให้เห็นวิธีการร้องลงเพลงซึ่งมีวิธีร้องหลายแบบ ดังนี้

         1. บรรจงจีบสิบนิ้ว          ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอย...) แล้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้             เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ๊ย...) แล้วเพลงไทย

         2. บรรจงจีบสิบนิ้ว          ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอ.....) คิ้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้             เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ๊ย...) แล้วเพลงไทย

         3. บรรจงจีบสิบนิ้ว          ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอ่อ เอ๊ย…) คิ้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้              เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเพลงไทย

         4. บรรจงจีบสิบนิ้ว          ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ย) คิ้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้              เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอิ้ง เหง่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเพลงไทย

         5. บรรจงจีบสิบนิ้ว           ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ย) คิ้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้              เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เออ เอิ้ง เงย) แล้วเพลงไทย

         ที่ได้กล่าวมาเป็นรูปแบบที่นักเพลงใช้ร้องลงเพลงกันมาในวงเพลงอีแซวโดยนักแสดงอาชีพจริง ๆ คำที่ใช้เอื้อนเอ่ย มาจากลูกเอื้อนในการร้องเพลงไทยเดิม จะใช้เสียง “เออ.. ออ...ฮือ..เงย.. เป็นหลัก แต่กลับมีผู้สอนในยุคต่อมานำคำเอื้อน “ว่าเอิ้ง เงอ เออ เอ๊ย..) ใช้ 5 คำ โดยมีคำเอื้อน “ว่า” มานำหน้าคำเอื้อนเอ่ย ทำให้คำร้องกระด้างไม่สามารถที่จะเคล้าคลอเสียงร่วมไปกับคำร้องลงได้ มีบางท่านยืนดูเพลงที่เด็ก ๆ ยุคนี้แสดงอยู่แล้วถามผมว่า “เขาร้องเพลงอะไร” ผมตอบไปว่า “เขาพยายามที่จะร้องเพลงอีแซว” แต่คำร้องลงไม่หวานดังที่เจ้าของเพลงอีแซวคิดประดิษฐ์เอาไว้มานานนับ 100 ปี

         ยังมีอีกที่นักเพลงรุ่นใหม่ควรที่จะวิเคราะห์และพิจารณา เพราะมีเด็ก ๆ หลายรุ่นที่มาอยู่วงเพลงอีแซว ของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 แล้วเพิ่งที่จะมีความเข้าใจที่นี่ ด้วยการที่แกได้รับความรู้มาไม่สมบูรณ์แบบ สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นลูกคู่ ร้องรับตอนลงเพลง หลักการในการร้องรับจะต้องสวมเสียงร้องตามผู้ร้องนำร้องลงเพลง เช่น พอได้ยินเสียงเอื้อนว่า “เอิง เงอ” ลูกคู่ขึ้นเสียง (เอ๊ย) ซ้อนมาได้เลยต่อจากคำว่า เงอ (เอ๊ย) ดังนั้นคำเอื้อนสุดท้ายจึงมีคนร้องรับร้องด้วย แล้วตามด้วยคำร้อง 3 คำสุดท้าย

 เช่น   ถ้าขาดผู้ส่งเสริม              เพลงไทยเดิมคงสูญ (เอิง เงอ เอ๊ย) แล้งคงสูญ

         ถ้าพ่อแม่เกื้อกูล               ลูกก็อุ่นหัวใจ  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย)  อุ่นหัวใจ 

         คำที่ลูกคู่จะต้องนำเอามาร้องคือ 3 คำสุดท้ายในลงแรกที่ว่า เดิมคงสูญ แต่ไม่เพราะหรือมาครบความหมาย ให้นำเอาคำว่า “แล้ว” หรือ “ว่า” มาเติมข้างหน้าได้ และในวรรคหลังคำร้องรับคือ 3 คำหลัง อุ่นหัวใจ ลูกคู่ก็ร้องรับว่า อุ่นหัวใจ จะไม่ร้องว่า “แล้วหัวใจ” แต่ที่เห็นเด็ก ๆ เขาแสดงเพลงอีแซว คำร้องรับทุกลงจะมีคำว่า “แล้ว” เข้ามาเติมหน้าเป็นคำที่ 1 อยู่ตลอด ทำให้ฟังแล้วจำเจมาก ใช้คำเพิ่มโดยไม่รู้ที่มาว่ามีความเป็นมาอย่างไร อันนี้ไม่มีทางแก้ได้ถ้าผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดไม่ใช่นักแสดงจริง ๆ เมื่อปล่อยไปนาน ๆ แก้ไขยากมากขึ้นทุกที สักวันหนึ่งเมื่อหมดของจริง เจ้าของตัวจริงจากเราไปจนหมด เราคงไม่ได้เห็นรูปแบบของเดิมที่มีความไพเราะสวยงามแน่

         

        

        

         ตัวอย่างบทร้องที่นำเอามาให้เห็นคำร้องลงเพลงและคำร้องรับข้างล่างนี้ เป็นบทร้องชื่อ “ประวัติเพลงอีแซว” บทประพันธ์ของ นางเกลียว เสร็จกิจ ศิลปินแห่งชาติ ผมได้วงเล็บคำเอื้อนลงเอาไว้ให้เป็นที่สังเกต และตามด้วยคำร้องรับ 3 คำสุดท้าย บางคำร้องรับจะมีคำว่า “แล้ว” มาเติมข้างหน้า เช่นคำว่า “แล้วเพลงไทย” เติมคำว่าแล้วลงไปจะต้องมีความเหมาะสมในคำร้องนั้น ๆ หรือจะเติมคำว่า “ว่า” ลงไปในคำร้องรับก็ได แต่จะไม่เติมคำว่า “ว่า” ที่คำเอื้อนลง เพราะนั่นคือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากต้นแบบของเดิม

          ผมจำเป็นที่จะต้องนำเอาสิ่งที่ถูกต้องมาบอกกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ๆ ให้ได้มีแหล่งข้อมูลที่ตรงกับแบบแผนของเดิมบ้าง เผื่อมีผู้สงสัยจะได้ให้ข้อมูลได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องทำการวิจัยให้เสียเวลาเพราะมีคำตอบให้รับฟังได้จากคนเล่นเพลงบนเวทีมานานกว่า 40 ปี

          แต่ก็นั่นแหละครับ ยังมีท่านผู้รู้ให้คำแนะนำผมว่า “เพลงอีแซวของอาจารย์ชำเลือง มณีวงษ์จะต้องสอนด้วยโน้ตสากลเท่านั้น เครื่องทำจังหวะดนตรีทุกชิ้น ตะโพน ฉิ่ง กรับ จะต้องตีตามโน้ตเท่านั้น ใช้ตะโพนไทย และตีหน้าทับลาว” (เขาไปเอาความรู้จากที่ไหนมา เอกสารเล่มไหนเขียนเอาไว้ให้เขาได้อ่านและจดจำมาแนะนำผมซึ่งผมเล่นเพลงอีแซวมา 40 ปี ผมไม่เคยได้ยินครูเพลงคนไหนบอก” ภูมิปัญญาท้องถิ่นใครมีอะไรก็เอามาเล่น ใครตีจังหวะอะไรก็ได้ให้สนุก ๆ ผสมผสานกันไป ถ้าถามคนเพลงเก่า ๆ เขาเรียกจังหวะตะโพนที่ตีว่า จังหวะสนุก ๆ บางท่านเรียกว่า “ตีจังหวะ 1,2 (1 2 1 1.. 1 2 1 2) เขาไม่รู้จักหน้าทับ

                      

                      

          ผมเป็นคนหนึ่งที่เคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น หากนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นวิชาการทั้งหมดอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมากขึ้นทุกที ควรที่จะแยกกันให้ออกว่าภูมิปัญญาเป็นมันสมองของชาวบ้าน มิได้คิดมาเพื่อให้คนรุ่นใหม่แก้ไข หรือมองว่าผิด แต่คนรุ่นใหม่สมควรที่จะคิดอะไรที่เป็นของตนเองขึ้นมาบ้าง เพื่อแสดงจุดยืนที่น่าหลงใหล ฝังใจผู้ฟังให้ได้ข้อคิด เตือนสติไปนาน ๆ

ประวัติเพลงอีแซว  โดย ขวัญจิต ศรีประจันต์

-----------------------------------------------------

             บรรจงจีบสิบนิ้ว             ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ย) คิ้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้                 เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเพลงไทย

         เชิญสดับรับรส                  กลอนสดเพลงอีแซว    

         ฝากลำนำตามแนว             เพลงอีแซวยุคใหม่

         เพลงอีแซวยุคใหม่             ผิดกับสมัยโบราณ  

         ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน               นับวันจะสูญหาย

         ถ้าขาดผู้ส่งเสริม                เพลงไทยเดิมคงสูญ (เอิง เงอ เอ๊ย) แล้วคงสูญ

         ถ้าพ่อแม่เกื้อกูล                 ลูกก็อุ่นหัวใจ  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย)  อุ่นหัวใจ

         อันว่าเพลงพื้นเมือง             เคยรุ่งเรืองมานาน 

         สมัยครูบัวผัน                    และอาจารย์ไสว

         ประมาณร้อยกว่าปี              ตามที่มีหลักฐาน    

         ที่ครูบาอาจารย์                  หลายๆ ท่านกล่าวไว้

         ทั้งปู่ย่าตายาย                   ท่านก็ได้บอกเล่า (เอิง เงอ เอ๊ย)  ได้บอกเล่า

         การละเล่นสมัยเก่า              ที่เกรียวกราวเกรียงไกร(เอ่อ เอ้อ เอ๊ย)แล้วเกรียงไกร

            ในฤดูเทศกาล                 เมื่อมีงานวัดวา        

         ทอดกฐินผ้าป่า                   ก็เฮฮากันไป

         หรือยามตรุษสงกรานต์         ก็มีงานเอิกเกริก         

         งานนักขัตฤกษ์                   ก็เอิกเกริกกันใหญ่

         ประชาชนชุมนุม                 ทั้งคนหนุ่มคนสาว      

         ทั้งผู้แก่ผู้เฒ่า                     ต่างก็เอาใจใส่

         ชวนลูกชวนหลาน               ไปร่วมงานพิธี   (เอิง เงอ เอ๊ย)  งานพิธี

         ถือเป็นประเพณี                  และศักดิ์ศรีคนไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วคนไทย

            ที่จังหวัดสุพรรณ              ก็มีงานวัดป่า   

         คนทุกทิศมุ่งมา                   ที่วัดป่าเลไลยก์

         ปิดทองหลวงพ่อโต              แล้วก็โมทนา           

         ให้บุญกุศลรักษา                 มีชีวาสดใส

         ได้ทำบุญทำทาน                ก็เบิกบานอุรา           

         สุขสันต์หรรษา                   ทั่วหน้ากันไป

         ได้ดูลิเกละคร                    เวลาก็ค่อนคืนแล้ว (เอิง เงอ เอ๊ย) ค่อนคืนแล้ว

         เพลงฉ่อยเพลงอีแซว           ก็เจื่อยแจ้วปลุกใจ(เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วปลุกใจ

            หนุ่มสาวชาวเพลง            ก็ครื้นเครงล้อมวง      

         เอ่ยทำนองร้องส่ง               ตั้งวงรำร่าย

         ร้องเกี้ยวพาราสี                  บทกวีพื้นบ้าน           

         เป็นที่สนุกสนาน                 สำราญหัวใจ

         เพลงพวงมาลัย                  บ้างก็ใส่เพลงฉ่อย  (เอิง เงอ เอ้ย) แล้วเพลงฉ่อย

         ทั้งลูกคู่ลูกข้อย                  ต่างก็พลอยกันไป  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) พลอยกันไป

         ผมเสียดายรูปแบบดั้งเดิมที่มีความไพเราะสละสลวยสวยงาม จนเป็นที่นิยมกันมานานถึงแม้ว่าจะมีบางช่วงบางเวลาที่เพลงอีแซวซบเซาลงไปบ้าง แต่ก็กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะบุคคลต่อไปนี้ พ่อไสว วงษ์งาม, แม่บัวผัน จันทร์ศรี, พี่ขวัญจิต ศรีประจันต์, พี่สุจินต์ ศรีประจันต์ และสำหรับวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ พวกเรายืนอยู่บนเวทีการแสดงมาเกือบจะครบ 20 ปีแล้ว มากว่า 700 งานและมากกว่า 1000 รอบการแสดง คงมีประสบการณ์พอ ที่จะสามารถรับใช้สังคมได้วงหนึ่ง

ติดตาม ตอนที่ 5  ฝึกร้องและสร้างอารมณ์เพลงได้อย่างไร

หมายเลขบันทึก: 380995เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2010 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท