daros
มัสยิดดารอสอาดะฮ์ daros ปากลัด

ประวัติมัสยิดปากลัด


          ชาวมลายูเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยเป็นชุมชนใหญ่อยู่ที่คลองตะเคียน ยังมีมลายูอีกกลุ่มหนึ่งที่มาจากแหลมอินโดจีนคือพวกจามที่มาเป็นทหารกองอาสาจามในกองทัพไทยทั้งสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนต้นรัตนโกสินทร์ ลูกหลานในปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านครัว กรุงเทพมหานครในครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 มุสลิมส่วนหนึ่งได้อพยพทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางใต้ เป็นพวกแขกแพ อยู่ริมแม่น้ำแถวบางกอกน้อยเรื่อยลงมา

          ปี พ.ศ. 2329 นครรัฐปาตานีแพ้สงครามประเพณีกับกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนคนมลายู เป็นเชลยศึกผู้แพ้สงครามมายังนครหลวงบางกอกเป็นระลอกๆ โดยเชลยศึกเหล่านั้นได้กระจายให้ไปอยู่อาศัยตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากแม่น้ำเช่นที่ปากลัด สมุทรปราการ บางกอกน้อย ธนบุรี ตลาดขวัญ ท่าอิฐ บางบัวทอง นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี และคลองซอยที่มีอยู่เดิมตลอดจนคลองที่ขุดใหม่โดยเหล่าเชลยเช่นคลองแสนแสบ ตั้งแต่คลองมหานาค บ้านครัว(ส่วนใหญ่เป็นเชลยมลายูจามจากเขมร) ทุ่งพญาไท พระโขนง บางกะปิ คลองตัน มีนบุรี หนองจอก จรดไปถึงฉะเชิงเทรา นครนายก

          นอกจากมุสลิมมลายูแล้ว ที่ปากลัดยังมีมุสลิมที่มาจากอินเดีย กลุ่มนี้เป็นพ่อค้า คหบดี ตั้งบ้านเรือนอยู่เขตติดต่อระหว่างตลาดพระประแดงกับบ้านปากลัด บริเวณนี้เรียกว่า “กำปงบะห์รู หรือกำปงปาฆู” ซึ่งแปลว่า “หมู่บ้านใหม่” อยู่ปะปนกับพวกชาวมอญ มุสลิมกับมอญอยู่กันอย่างสมานฉันท์ ไปมาหาสู่กัน บ่อยครั้ง มุสลิมได้แต่งงานกับชาวมอญ และยังนับเนื่องเป็นญาติพี่น้องกันอยู่
   
          ในช่วงเวลาหนึ่งบ้านปากลัดเป็นอู่แห่งวิชาการศาสนาอิสลาม ถนนทุกสายมุ่งสู่ปากลัด มีอุละมาอ์สำคัญหลายคน เช่น แชบะห์ , ครูฟา , ครูฮามิด บูยา , ครูอับดุลลอฮ การีมี หรือ โต๊ะกีดำ ครูฉ่ำ , ครูเจ๊ะนะห์ เป็นต้น

          นอกจากนั้นลูกหลานคนหนึ่งได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนแรกในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ ชัมซุดดีน มุสตอฟา หรือ แช่ม พรมยงค์

          มัสยิดดารอสอาดะห์ มัสยิดเก่าแก่ของชุมชนบ้านปากลัด มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน โดยตัวอาคารหลังเก่าเป็นอาคารไม้สักทาอง ชั้นเดียวอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ริมคลองแขก ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ได้รื้ออาคารเดิมเพื่อปลูกสร้างใหม่เป็นตึก 2 ชั้น ผนังก่ออิฐถือปูนทรงยุโรป โดมบนยอดหอคอยอะชานเป็นทรงระฆังคว่ำ มีอายุยาวนานกว่า 80 ปี ต่อมาช่วงปลายปี พ.ศ.2543 (ค.ศง1421) จึงรื้ออาคารเพื่อสร้างใหม่ อาคารหลังปัจจุบันเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น และมีชั้นใต้ดินรองรับผู้ทำการละหมาดได้มากถึง1,200 คน

          ในการสร้างใหม่แต่ละครั้งสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คู่มาโดยตลอด นั่นคือไม้สักทองอายุกว่า 200 ปี ที่ยังคงสภาพตีถูกนำมาประกอบเป็นห้องรับแจก VIP ชั้นล่าง โดยนำมาทำเป็นบานเฟี้ยมปั้นเกร็ดตลอดแนว ผนังทั้ง 3 มุม ส่วนที่เหลือ นำมาทำเป็น วงกบประตูหน้าต่าง พื้นที่ใช้สอยโดยรวมทั้ง 3 ชั้นเน้นเป็นพื้นที่โล่งใช้หินอ่อนเพื่อให้ห้องเย็นโดยคัดหินอ่อนคุณภาพจาก อิตาลี บริเวณชั้น 2 สำหรับประกอบพิธีละหมาด เพดานสูงทรงโดม ฐานโดม เป็นกระจกล้อมแบ่งเป็นช่อง โดยมีลายกัดกระจกเป็นภาษาอาหรับที่ส่อถึงพระนามของอัลลอฮฺทั้ง 99 ช่อง

          มัสยิดแห่งนี้ยังถือได้ว่า เป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้และวิชาการต่าง ๆ แก่ชาวมุสลิมและผู้ที่สนใจใฝ่ศึกษาโดยทั่วไป และเป็นที่ให้ความสงบร่มเย็นอันจะนำมาซึ่งคุณความสุขดังความหมายของชื่อ มัสยิดดารอสอาดะห์


หมายเลขบันทึก: 380932เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีการสืบทอดมาแต่ยาวนานจริงๆ :) ได้สาระความรู้มากๆ

อยากทราบประวัติของบรรดานักวิชาการปากลัด เช่น แชบะห์ , ครูฟา , ครูฮามิด บูยา , ครูอับดุลลอฮ การีมี หรือ โต๊ะกีดำ ครูฉ่ำ , ครูเจ๊ะนะห์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท