006 คนเรามักจะมองเห็นในสิ่งที่ตนอยากเห็น...


คนเรามักจะมองเห็นในสิ่งที่เราเลือกที่จะมอง

เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาส ไปเที่ยวหาเพื่อนที่เมือง Milan ประเทศ Italyก่อนเดินทางเป็นเรื่องปกติที่เราต้องรอ รอ และก็รอที่สนามบิน ผมเลยแวะเข้าไปในร้านหนังสือ เผื่อจะได้อะไรติดไม้ติดมือถูก ๆ เอาไว้อ่านประเทืองปัญญา ปกติเลยทีเดียวครับ เวลาเข้าร้านหนังสือผมมักจะมองไปที่มุมขายดีเป็นอันดับแรก ก่อนจะเคลื่อนย้ายตัวเองออกไปดูมุมลดแล้วลดอีกลดกระหน่ำซั่มเมอร์เซลล์ 

เมื่อคราวที่แล้วผมเขียนอะไรเล็ก ๆ น้อยเกี่ยวกับหนังสือของ Richard Dawkins เรื่องเกี่ยวกับ The selfish gene ชื่อของนายคนนี้เลยติดอยู่ที่ปลายสมอง ตาก็เลยสอดส่องหาหนังสือของเขาดูเผื่อจะมีเล่มใหม่ออกมาเพราะช่วงนี้ไม่ได้ติดตามข่าวเลย ด้วยความที่เราตั้งใจมองหา...เราก็เห็นสิ่งที่เราตั้งใจมองครับ The Greatest show on Earth หนังสือเล่มใหม่ เล่มที่ 10 ของ Dawkins ตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาปีที่แล้ว (ยังดีนะเนี่ยข้ามปีมายังไม่ถึงปีแค่ 11 เดือนยังถือว่าร่วมสมัยอยู่ ฮ่า ๆ) พลิกดููราคาแล้ว 12 ยููโรกว่า ๆ เทียบเป็นบ้านเราก็ประมาณ ไม่เกิน 500 บาท เอาน่าซื้อเก็บไว้เผื่อจะได้อ่านไอเดียใหม่ ๆ ของคุณลุง Dawkins แกบ้าง

ได้หนังสือมาใหม่....เป็นปกติครับ ของเก่าที่ติดตัวมา...วางไว้ข้างๆ ขออ่านบทที่หนึ่งของหนังสือเล่มใหม่ซักหน่อยแล้วกัน หนังสือเล่มนี้อ่านยากมาก ผมอ่านบทแรกเข้าใจประมาณ 40 เปอร์เซนต์เห็นจะได้  และแล้วก็ได้เห็นไอเดียที่หลาย ๆ คนอาจคุ้นเคย หรือว่าเรียนหรือทราบกันมาแล้ว แต่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน หรือเคยเห็นแล้วจำไม่ได้ กับสิ่งที่ได้จากการอ่าน อยากจะเก็บบันทึกไว้ และอยากแบ่งปันวันนี้ครับ The invisible Gorrila หรือลิงกอลิลล่าที่ไม่มีใครมองเห็น

การทดลองเรื่องนี้จริง ๆ มีมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ปี 1999 โดย Simon และChabris เพียงแต่ว่า Dawkins ได้ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการอธิบายของเขาเกี่ยวกับการเลือกมองสิ่งของต่าง ๆ ของคนและการรับรู้โดยประสาททางตาของคนเรานั่นเองครับ

เรื่องของ The invisible Gorrila มีอยู่ว่าผู้ทำการทดลองให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูวีดีโอ และก่อนเปิดวีดีโอได้ตั้งคำถามให้กับผู้ร่วมกับการทดลองว่าในการเล่นบาสเกตบอล ผู้เล่นที่ใส่เสื้อสีขาวมีการรับส่งลูกบาสรวมแล้วกี่ครัง ลองนับตามลิงค์ข้างล่างนะครับ (ถ้าใครอยากทดสอบตัวเองดูก็อย่าพึ่งอ่านต่อนะครับ...ตามไปนับจำนวนลูกบอลก่อน)

http://www.youtube.com/watch?v=vJG698U2Mvo

หลังจากชมวีดีโอแล้ว ผู้ทำการทดลองถามผู้เข้าร่วมการทดลองว่ามีใครเห็น กอลลิล่าบ้าง ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่ แทบมองไม่เห็นลิงตัวนี้เลยทั้งๆ ที่มันเดินเข้ามาถึงตรงกลางจอทีวี ผู้เข้าร่วมทดลองจะมองดูลูกบอลที่ผ่านเข้าไปในมือของผู้เล่นที่ใส่เสื้อสีขาวโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เล่นที่ใส่เสื้อสีดำเลย และเมื่อลิงสีดำเดินผ่านมา ผู้เข้าร่วมทดลองเลยมองไม่เห็นมันนั่นเอง

นัยสำคัญของการทดลองเรื่องนี้ก็คือคนเรามักจะมองเห็นในสิ่งที่เราเลือกที่จะมองซะมากกว่า หากลองทบทวนเอาความรู้เรื่องนี้มาใช้กับงาน กับชีวิตของเราดูแล้ว เราก็จะอ๋อไปเลยทีเดียวว่าจริงๆ แล้วมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวันของเรา  เช่นเดียวกันกับปัญหาชีวิต...หรืออะไรก็ตามแต่ เรามักจะมองเห็นไม่ครบ บางคนหาทางออกให้กับปัญหาไม่เจอก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือเลือกที่จะไม่มองหา หรือมองไม่เจอเพราะมัวแต่นับลูกบอลอยู่

ในทางการเรียนหรือทางวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน Dawkins ใช้หลักการนี้อธิบายวิธีการทดลองหรือการมองของนักวิทยาศาสตร์ที่จะต้องรู้จักเปิดกว้างและหาวิธีการที่หลากหลาย มองหลาย ๆ แง่ หลาย ๆ มุม (จริง ๆ เขาไม่ได้เขียนแบบนี้หรอกนะเขาเขียนละเอียดและให้ความสำคัญมากกว่านี้ แต่ผมสรุปเอาเอง)

วันนี้ผมอ่านหนังสือได้ความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับตัวเองอีกนิดหนึ่งและนำมาแบ่งปันหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ คนครับ

ด้วยความปราถนาดี

เกเร

หมายเลขบันทึก: 380916เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริงอย่างที่ว่า ปัญหา มีไว้ให้เรามองให้ครบ..ไม่ใช่มองแล้วผ่าน..

เพราะทุกๆปัญหานี้แหละ หนูคิดว่ามันคือความสุขที่พร้อมจะให้เราสัมผัส และโอบกอดไว้ ..เตือนความรู้สึก..

อ่านถึงบทอื่นแล้วนำมาเล่าอีกนะคะ

น่าสนใจจังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท