10 บันทึกที่ประทับใจมากที่สุด


อ่าน: 25
ความเห็น: 3

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๔๘. ชีวิตนักฝัน

  
         “ขอฝันใฝ่ในฝัน อันเหลือเชื่อ   ขอสู่ศึกทุกเมื่อ ไม่หวั่นไหว   ...”   คงจะซึมซับเข้ามาในสมองผมโดยไม่รู้ตัว   หรือมันมีมาแต่กำเนิด ก็บอกไม่ถูก   แต่ผมมีความสุขเมื่อได้ฝัน   โดยเฉพาะเมื่อฝันนั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ขององค์กร หรือเพื่อบ้านเมือง

          เป็นฝันของคนเล็กๆ   ที่มุ่งทำแบบฝึกหัดฝันใหญ่   โดยที่ตนเองไม่สันทัด  และใม่มีอำนาจบันดาล   แต่ก็ไม่อายที่จะฝัน ไม่ขลาดที่จะฝัน  ไม่ท้อที่จะฝันสลาย  

          การฝันคือการสร้างโอกาส นี่คือการตีความของผม   หากไม่ฝัน เราจะไม่เห็นโอกาส เมื่อมันโผล่มาทักทายเรา เราก็ไม่เห็นมัน ไม่รู้จักมัน   เราผ่านเลยโอกาสนั้นไปอย่างไม่แยแส   เพราะมันเป็นเพียงอากาศธาตุไม่มีตัวตน  

          ฝันก็ไม่มีตัวตน   โอกาสก็ไม่มีตัวตน   แต่เมื่อมันมาพบกันในจิตใจของนักฝัน   มันอาจร่วมกันก่อเกิดสิ่งที่เป็นตัวตน

          หลังเหตุการณ์เดือนเมษา-พฤษภา ๕๓   ผมฝันที่จะทำให้ระบบอุดมศึกษาเปลี่ยนบุคลิกใหม่   จากห่างเหินสังคม ไปแนบแน่นสังคม   ดังได้บันทึกไว้ที่นี่  

          ผมลงมือเขียนบันทึกชุด “สายงานวิชาการรับใช้สังคมไทย”   และเมื่อมีโอกาสก็ขายฝันตามที่ต่างๆ ทั้งต่อที่ประชุม และต่อบุคคลที่สนใจ

          วันที่ ๑ ก.ค. ๕๓ ผมขายฝันนี้ในที่ประชุม กกอ.   เขารับหลักการ   แล้วท่านเลขาฯสุเมธก็เอาไปสานต่อโดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เช่นที่นี่  

          ธรรมชาติของฝันคือมันไม่ชัด (และไม่ครบ)   ดังนั้น เมื่อคุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร  ผู้จัดการประชุมยามเช้า วันพฤหัสแรกของเดือน ที่ สกอ.  มาปรึกษาเมื่อวันที่ ๑๓ ก.ค. ว่าการประชุมวันที่ ๕ ส.ค. เอาเรื่องอะไรดี   ผมรีบบอกว่าเอาเรื่อง สายงานวิชาการรับใช้สังคมไทย   โดยผมจะเป็นผู้นำเสนอเอง   และแนะนำชื่อบุคคลที่ควรเชิญมาร่วมระดมความคิด 

          อีกครู่เดียว ผมก็มีโอกาสขายฝันให้ อ. หมอประเวศ   ฟังเพียงสั้นๆ ท่านก็สั่งว่า วันที่ ๒ ส.ค. ให้ไปพูดให้นายกฯ ฟัง   ในงานประชุมที่จะเชิญอธิการบดีมาร่วมหารือ   และนายกฯ อภิสิทธิ์ จะไปร่วมตอนบ่าย   ซึ่งผมก็ว่างช่วงบ่ายพอดี 

          วันที่ ๑๕ ก.ค. ๕๓ ทาง สกอ. หารือมาเรื่องการจัดให้กรรมการ กกอ. ไปดูงานต่างประเทศ   ซึ่งผมให้ความเห็นเบื้องต้นไปดังนี้ 

 

          เรียน ท่านเลขาฯ สุเมธ และ ผอ. สุวรรณา ที่นับถือ

          ผมไม่คิดว่าเราควรเริ่มที่การดูงานต่างประเทศ    มันรู้สึกจั๊กกะจี้    คนเป็นผู้ใหญ่ควรเริ่มที่ผลประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ใช่การได้ไปเที่ยวต่างประเทศ    การใช้เงินภาษีของชาวบ้านต้องเกิดผลดีต่อบ้านเมืองคุ้มค่า

          เรื่องใหญ่ที่สุดของระบบอุดมศึกษา ตามหน้าที่ของ กกอ. คือการ oversee ทั้งระบบ ให้มันสนองหรือรับใช้สังคม    และทำอันตรายต่อสังคมน้อยที่สุด    โดยที่เวลานี้เราทำได้ไม่ดี    และผมคิดว่าเพราะเรากดผิดจุด และเครื่องมือกดก็ล้าสมัย

          ผมเสนอว่า ควรไปดูงานเรื่องวิธีการ oversee ระบบอุดมศึกษา     ทำให้ระบบอุดมศึกษาเข้าไปแนบแน่นกับสังคม ไม่ห่างเหินลอยตัวจากสังคม    และควรเตรียมการสัก ๖ เดือน    โดยตั้งคณะทำงานศึกษาหาข้อมูลว่าประเทศใดบ้างที่เก่งด้านนี้    โดยน่าจะตั้งเป้าไว้คร่าวๆ ว่าจะจัดทีมไปดูงานสัก ๓ ทีม ๓ ประเทศ   ใช้เวลาประมาณ ๗ วัน    ผมเล็ง ประเทศ จีน  อินเดีย  และประเทศในอัฟริกาหรืออเมริกาใต้ สัก ๑ ประเทศ    หรืออาจหารือกันว่า ให้มีทั้งประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา     แต่ผมคิดว่าไปประเทศกำลังพัฒนาน่าจะดีกว่า

          ควรมีประเด็นดูงานที่ชัดเจน    ที่ต้องลงลึกและจำเป็นต้องไปสัมผัส อ่านเอาจากหนังสือหรือ internet ไม่ได้ความลึกซึ้ง

          เป็นความเห็นเบื้องต้นสำหรับคุยกันวันที่ ๕ ส.ค. ครับ

          วิจารณ์

          เห็นสภาพที่ความฝันเป็นภาชนะรองรับโอกาสไหมครับ

          ติดตามความฝันชุดนี้ได้ที่นี่ 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ก.ค. ๕๓
                   
        

หมวดหมู่: ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
สัญญาอนุญาต: ซีซี: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน Cc-by-nc-sa
สร้าง: จ. 02 ส.ค. 2553 @ 09:28 แก้ไข: จ. 02 ส.ค. 2553 @ 09:28 [ แจ้งไม่เหมาะสม ]
คำสำคัญ (Tags): #ร้อยเอ็ด8
หมายเลขบันทึก: 380627เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท