การดูแลเด็กออทิสติก


ที่มา http://www.dmh.moph.go.th/autis3.asp
แนวทางการดูแลเด็กออทิสติก
การดูแลเด็กออทิสติค เป็นการเตรียมเด็กให้พร้อมเพื่อดึงเด็กออกจากโลกตนเองมาสู่สังคมในบ้าน ก่อนจะออกไปสู่สังคมนอกบ้าน เข้าสู่โรงเรียนและชุมชนต่อไป แนวทางการดูแลที่สำคัญมีดังนี้
1. นำเด็กออกจากโลกของตัวเองสู่สังคมในบ้าน
     กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อให้มีการพัฒนาสมองของเด็กให้ตื่นตัวและทำหน้าที่ได้อย่างมีศักยภาพ เนื่องจากเด็กออทิสติคจะแสดงพฤติกรรมไม่รับรู้ ไม่ตอบสนองหรือตอบสนองน้อยหรือมากไป ต่อสิ่งเร้าประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ
     1.1 การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางผิวกาย เพื่อให้รับรู้ถึงความใกล้ชิดระหว่างบุคคล การเล่นปูไต่ การเล่นจั๊กจี้ด้วยมือ การใช้จมูกหรือคางซุกไซ้ตามตัวเด็ก การนวดตัว การอุ้ม การกอด ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความรัก ความอบอุ่น ความมีเยื่อใยซึ่งกันและกัน ซึ่งในเด็กออทิสติคนั้น จะแยกตัวจากบุคคล จึงควรดึงเขาเข้ามาหาเรา สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่และเด็กออทิสติคก่อน ควรกระตุ้นซ้ำๆทุกวัน
     1.2 การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางตา เด็กออทิสติคทุกคนมีปัญหาในการสบตาอย่างมากเนื่องจากมีการสูญเสียทางด้านสังคม และการสื่อความหมาย การกระตุ้นในระยะเริ่มแรกจะเน้นเฉพาะการมองสบตากับบุคคลก่อน
     1.3 การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางหู จะใช้เสียงบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก โดยกระซิบเรียกชื่อเด็กที่ข้างหู ต่อไปอาจใช้เสียงดนตรีช่วย เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และการสื่อความหมาย
     1.4 การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางจมูก เพื่อให้เด็กได้รับรู้และเรียนรู้ถึงความแตกต่างของกลิ่น เช่น กลิ่นอาหาร ผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น
     1.5 การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางลิ้น เพื่อให้เด็กได้รับรู้และเรียนรู้ความแตกต่างของรสอาหาร เช่นเปรี้ยว หวาน เค็ม ขม เป็นต้น
2. สอนให้เด็กรู้จักตนเองและบุคคลในครอบครัว
     ฝึกเด็กให้รับรู้ว่าตัวเองชื่ออะไร คนไหนคือพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นการสอนให้เด็กได้รับรู้และเข้าใจว่าบุคคลในครอบครัวมีความแตกต่างกันการสอนให้เด็กรับรู้และเรียนรู้ความแตกต่างของบุคคล เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อความหมายและสังคมในระยะแรก
3. การหันตามเสียงเรียก
     เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักชื่อของตนเอง ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อตนเอง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการงด้านการสื่อความหมายและมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นมากขึ้น
4. การจับมือเด็กให้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง
     เด็กออทิสติคส่วนมากไม่สามารถชี้บอกความต้องการได้ จึงใช้วิธีจับมือบุคคลที่อยู่ใกล้ไปทำสิ่งนั้นแทน ผู้ฝึกจำเป็นต้องจับมือเด็กให้ทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและช่วยลดปัญหาทางอารมณ์ของเด็กด้วย
5. การฝึกกิจวัตรประจำวัน
     เริ่มฝึกให้เด็กรู้จักสิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องใช้ในการฝึกกิจกรรมนั้นก่อน จนสามารถหยิบจับหรือชี้สิ่งของได้ถูกจึงฝึกต่อไป กิจกรรมที่ฝึกเช่น การทำความสะอาดร่างกาย การฝึกแต่งกาย ฝึกการขับถ่าย การใช้ช้อนรับประทานอาหาร
6. การเล่น
     ฝึกเด็กให้รู้จักเล่นของเล่นจะเป็นการเชื่อมโยงการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล สื่อความหมายและปรับอารมณ์ให้ดีได้ด้วย
7. ฝึกการสื่อสารด้วยการใช้ท่าทาง
     ควรฝึกให้เด็กสามารถสื่อสารด้วยภาษาท่าทางก่อนเพื่อบอกถึงความต้องการของตนเอง จากนั้นฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้สำหรับพูด เช่น เป่ากบ เป่าสำลี ดูดหลอด ฯลฯ และฝึกพูดต่อไป(อ่านเพิ่มเติมในคู่มือฝึกพูดเด็กออทิสติคสำหรับผู้ปกครอง)
8. การรับรู้การแสดงออกทางสีหน้า
     ฝึกให้เด็กสามารถรับรู้อารมณ์และความต้องการ เพื่อให้เด็กอยู่ในสังคมนอกบ้านได้อย่างเหมาะสม(อ่านเพิ่มเติมในคู่มือดูแลเด็กออทิสติคสำหรับผู้ปกครอง)
9. การใช้ยา
     ไม่มียาที่ใช้รักษาโรคออทิซึมโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ก็จะเป็นการใช้ยาตามอาการ เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อาการอยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ อารมณ์หุนหันพลันแล่น พฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 380581เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท