“คนขับโลก” มุมมองคนปาเกอะญอ ที่มีต่อ “คนในเมือง”


มาอ่านความคิดของ “คนบนดอย” มอง “คนในเมือง” กันบ้างดีกว่าครับ

 

“ผมอยู่บนดอยนี่ ใครจะว่าทำลายป่าก็ช่าง จริงไม่จริงอีกเรื่องหนึ่ง

คนปาเกอะญอเราจะขุดทางน้ำ เปลี่ยนทิศทางเอาน้ำในลำธารไปใช้ยังไม่กล้า กลัวผิดผี แต่เดี๋ยวนี้คนเรียนสูง สร้างเขื่อนใหญ่โตกั้นแม่น้ำ ไม่กลัวผิดผี ยิ่งลัวะยิ่งกลัวผิดผี คนลัวะ คนปาเกอะญอนั้นนับถือเจ้าดิน เจ้าฟ้า เจ้าน้ำ นับถือโลก…

คนในเมืองทุกวันนี้เหมือนคนหูหนวก ตาบอด เหมือนคนบ้า ไม่กลัวอะไรสักอย่าง ความเอ็นดูสงสารคนก็ไม่มี มีแต่ความรู้

คนบนดอยไม่ชอบคนฉลาด เพราะคนฉลาดมักขี้เกียจ มักชอบเอาเปรียบ และดูถูกคนอื่น

คนในเมืองสร้างตึกสูงกี่ชั้นก็ไม่สบายใจ ถ้าสบายใจก็คงไม่เข้ามาในป่าในดอย

คนในเมืองเวลานี้เหมือนกับเก้งกับฟาน หนีไปหนีมา

อยู่ในเมืองไปซื้อผักกาดมากินก็ไม่สบาย เพราะใส่ยาฆ่าแมลง

เวลาตายก็เอาไปเผาควันขึ้นฟ้า คนดอยเราเอาไปฝังยังดีกว่า ต้นไม้ต้นหญ้าได้กิน

คนในเมืองมองว่าคนดอยโง่ แต่ผมว่าคนดอยอายุยืนกว่าคนในเมือง

คนที่เรียนมากโดนความรู้กินสมองหมด รู้มาก โลภมาก อยากได้ ในที่สุดก็เหลือแต่ความรู้ ไม่มีสมอง

แต่ก่อนยังไม่มีโรงเรียน เด็ก ๆ เชื่อฟังพ่อแม่ อย่างนี้ดี แต่เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ไม่เชื่อฟังคนเฒ่าคนแก่แล้ว เชื่อคนในเมือง แต่งกายอย่างคนในเมือง

คนในเมืองเรียนสูง เมากันไปหมด เมาทุกอย่าง เมาเหล้า เมาพูด เมาความรู้

การเรียนสูงเหมือนดาบสองคม บาดทั้งตัวเองและบาดคนอื่น บาดไปหมด ฟันเพื่อนก็ถูกตัวเอง ฟันตัวเองก็ถูกเพื่อน เรียนหนังสือนี่ดี แต่บางคนเรียนสูงเกินไปก็บ้า ขับเครื่องบินยังไม่พอ ยังคิดจะขับโลก

              พ้อเลป่า ชาวปาเกอะญอบ้านแม่แฮคี้ อำเภอแม่แจ่ม ได้กล่าวไว้ในบทความ “คนขับโลก” (จากบทความ “คนขับโลก” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ )

             ถ้อยความที่ พ้อเลป่า นักปรัชญาปาเกอะญอ ที่พูดถึง “คนในเมือง” ทำให้สะกิดใจ สาวกทุนนิยมคนในเมืองเป็นที่สุด จากบันทึก “รักจังกับอคติทางชาติพันธุ์” เป็นมุมมองที่คนในเมือง มองเห็นคนดอยด้วยมายาคติ ตอนนี้มาอ่านความคิดของ “คนบนดอย” มอง “คนในเมือง” กันบ้างดีกว่าครับ

หมายเลขบันทึก: 38054เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2006 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • คนในเมือง...ไม่หลงเหลือวัฒนธรรมเดิมของตนเองแล้วครับถูกกลืนหายไปหมดแล้ว คงหลงเหลือแต่วัฒนธรรมของวัตถุนิยม  การแข่งขันและการเอาเปรียบทุกคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันฯลฯ บรรยายไม่หมด 
  • หากเป็นไปได้...ขออย่าให้วัฒนธรรมของพี่น้องในชนบทหรือชาวเขาทุกชนเผ่า ต้องสูญสิ้นไป ขอให้รักษาไว้อย่างมั่นคง.
  • ..อย่าให้การพัฒนาถูกกำหนดโดยคนนอก หรือใช้ตัวชี้วัดของข้างนอกมาใช้  เพราะบทเรียนก็คือเขาใช้เป็นเหตุผลของสิ่งที่มักสมอ้างว่าเป็นเหตุที่จะต้อง...พัฒนา (แต่มักทำให้ไม่ดีไปกว่าเดิม/เพราะมุมมองไม่ยอมรับความหลากหลายและมองแคบเกินไปหรือมองเพียงด้านเดียว) 
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมา ลปรร.

พี่สิงห์ป่าสัก

ขอบคุณครับ สำหรับข้อแลกเปลี่ยน

บางทีประเด็นมันหนัก  การแลกเปลี่ยนอาจจะจำกัดเฉพาะผู้ที่สนใจจริงๆ เหมือนประเด็น ยาเสพติด ที่ผมเคยบันทึก

ยุคที่กระแสทุนนิยมสุดขั้ว คงไม่มีใครปฏิเสธ เรื่องของการเปลี่ยนแปลง เรานักพัฒนาเองก็ต้องยอมรับ แต่จะให้เปลี่ยนแปลงอย่างไรเล่า ? เป็นประเด็นที่น่าคิด

"รู้เท่าทัน" บางทีก็ยากที่จะพัฒนาตามทัน  เข็มนาฬิกาโลกาภิวัฒน์หมุนเร็วกว่าเวลาปกติตั้งหนึ่งเท่า "กระแสฟ้ามิอาจกั้น"  ทะลุทะลวงไปหมด

วิ่งตามก็เหนื่อย พอหยุดก็ถอยหลัง  ทางเลือกที่ทำ คงเป็นการรู้เท่าทัน และ การทำตนให้พอเพียง ...ทุกอย่างพอเพียง จะได้ไม่ทุกข์มากกับการไปข้างหน้าของโลก

(บ่นๆ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท