กองทุนหมุนเวียน...จำเป็นหรือไม่?


       เมื่อวานนี้ผู้วิจัยได้เล่าแนวความคิดเกี่ยวกับการนำคูปองไปใช้กับร้านค้าชุมชนไปแล้ว  วันนี้จะขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง  ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมเก่าสำหรับเครือข่ายฯ  แต่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับกลุ่ม (บางกลุ่ม) นั่นคือ  เรื่องกองทุนหมุนเวียน

        ก่อนอื่นจะขออธิบายเกี่ยวกับกองทุนหมุนเวียนก่อนนะคะ  กองทุนหมุนเวียน  คือ  กองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกออมแล้วสามารถมากู้ยืมได้  ซึ่งจะตรงกันข้ามกับกองทุนสวัสดิการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกออมเพื่อสวัสดิการ

        หากศึกษาจากประวัติศาสตร์ของเครือข่ายฯแล้วจะพบว่า  กองทุนหมุนเวียนเกิดขึ้นมาก่อนกองทุนสวัสดิการ  ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า  เริ่มต้นของการออมของที่นี่เป็นการออมเพื่อกู้ยืม  ซึ่งก็เหมือนกับชุมชนหรือกลุ่มอื่นๆทั่วไป  แต่จากการที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540  เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายฯต้องปรับเปลี่ยนจากการ "ออมเพื่อกู้" สู่ "ออมเพื่อให้" (สวัสดิการ) เนื่องจากในช่วงนั้นสมาชิกที่กู้ไปขาดส่งเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก  จึงเกิดแนวคิดว่าต่อไปเครือข่ายฯจะต้องปรับวิธีคิดให้กับสมาชิกใหม่  ดังนั้น  ทุกกลุ่ม  ทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ  เบื้องต้นที่สุดจะต้องจัดตั้งกองทุนสวัสดิการขึ้นมาก่อน  หากกลุ่มใดมีความพร้อมเครือข่ายฯก็อนุญาตให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการกู้ยืมควบคู่กันขึ้นมาได้  โดยใช้ชื่อว่า  "กองทุนหมุนเวียน"  แต่ก็มีเงื่อนไขพิเศษอีกว่า  กลุ่มที่จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนขึ้นมาจะต้องส่งค่าหุ้นให้กับเครือข่ายฯหุ้นละ 10 บาท/เดือน  เพื่อที่ว่าหากกลุ่มใดมีเงินไม่พอให้สมาชิกกู้ยืมก็จะสามารถมากู้ยืมจากกองกลางนี้ได้  นอกจากนี้แล้วกองทุนนี้ยังถือว่าเป็นกองทุนที่สมัครใจ  หมายความว่า  สมาชิกคนใดที่สมัครใจจะเป็นสนมาชิกกองทุนนี้ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้  โดยต้องเปิดบัญชีใหม่อีกบัญชีหนึ่งที่เรียกว่า  "บัญชีกองทุนหมุนเวียน"  สมุดฝากจะเป็นสีแดง  แต่ละเดือนในปีหนึ่งๆจะต้องฝากเงินเป็นจำนวนเท่ากัน  โดยเริ่มต้นจาก 50 บาท , 100 บาท , 150 บาท , 200 บาท  ส่วนสมาชิกคนใดที่ไม่สนใจก็ไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกก็ได้  แต่จะไม่สามารถกู้ยืมเงินได้

       ผู้วิจัยยอมรับว่าตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ  โดยส่วนตัวมีความคิดว่า   จะทำอย่างไรที่จะลดการกู้ยืมในกองทุนหมุนเวียนลงได้  ที่คิดอย่างนี้ก็เพราะว่า  เห็นว่าคนที่มากู้ยืมคือคนที่ไม่มีวินัยทางการเงิน  กู้ยืมจากกองทุนนี้ไปส่งกองทุนนั้น  เป็นการหมุนหนี้  ไม่ใช่การหมุนเงิน  นับวันปัญหาเรื่องหนี้สินก็จะเพิ่มพูนขึ้น  แต่เมื่อลงเก็บข้อมูล  พูดคุย  สัมภาษณ์สมาชิกมาะยะหนึ่ง  ความคิดในตอนแรกก็เริ่มเปลี่ยนไป  เพราะ  คนที่มากู้ยืมเป็นจำนวนมากเป็นการกู้ยืมด้วยเหตุการณ์ฉุกเฉิน  เหตุการณ์เฉพาะหน้า  การกู้ยืมเงินในกองทุนหมุนเวียนเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า  ดังนั้น  กองทุนหมุนเวียนสำหรับผู้วิจัยในตอนนี้จึงไม่ได้เป็นกองทุนที่สร้างปัญหาเสมอไป

       หากมองในแง่มุมต่างๆ  กองทุนหมุนเวียนมีทั้งการสร้างประโยชน์และการสร้างปัญหา  ประโยชน์ที่เห็นได้ชัด  คือ  เป็นกองทุนที่สามารถนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชนได้  หลายครั้งที่เงินในกองทุนสวัสดิการชุมชนใช้ไม่พอ  กลุ่มที่มีกองทุนหมุนเวียนก็จะนำเงินในกองทุนมาให้กองทุนสวัสดิการยืมใช้ไปก่อน  นอกจากนี้แล้วดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการให้กู้ยืมของกองทุนหมุนเวียนยังกลายเป็นเงินปันผลส่งคืนไปให้สมาชิก  เงินอีกส่วนหนึ่งสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆได้  เช่น  ค่าเช่า  ค่านำ  ค่าไฟ  ของสำนักงาน  ค่าคอมพิวเตอร์  เป็นต้น  รวมทั้งกองทุนหมุนเวียนยังเป็นที่พึ่งในยามยากให้กับสมาชิกอีกด้วย

        ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น  เป็นผลมาจากการที่สมาชิกที่กู้ยืมเงินไปแล้ว  ไม่ส่งเงินกู้ตามกำหนด  ทำให้เป็นปัญหากับคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการทวงถาม  บางกรณีอาจเป็นหนี้สูญไปเลยก็ได้  สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่ม (บางกลุ่ม) ยังไม่จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนขึ้นมา

        เมื่อแยกตัวออกมาบริหารจัดการตัวเองของกลุ่มในโซนใต้  ขณะนี้มีแนวความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้น  คือ  จะมีการนำเสนอให้กลุ่มที่ยังไม่มีกองทุนหมุนเวียน  จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนขึ้นมา  เพื่อใช้เป็นกองทุนสำรองในกรณีที่กองทุนสวัสดิการชุมชนมีเงินไม่พอจ่าย  ในเรื่องนี้คณะกรรมการกลุ่มบ้านดอนไชย  ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวในโซนนี้ที่มีกองทุนหมุนเวียนได้บอกกับผู้วิจัยว่า  จะนำเสนอแนวคิดนี้ในการประชุมประจำเดือนของโซนนี้  เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริหารจัดการกองทุน  คณะกรรมการกลุ่มบ้านดอนไชยได้แสดงความเห็นว่า  สิ่งที่ทำให้กลุ่มต่างๆไม่มั่นใจในการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนก็คือ  กลัวจะเกิดปัญหาหนี้เสียหรือหนี้สูญ  ซึ่งต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้  แต่ทางบ้านดอนไชยซึ่งผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้วพร้อมที่จะให้คำแนะนำในการบริหารจัดการกองทุนและบริหารจัดการหนี้

หมายเลขบันทึก: 38024เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2006 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท