ปัญหาที่พบในเด็กสถานสงเคราะห์


เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์มีปัญหาซับซ้อนทั้งทางร่างกาย สุขภาพจิตและปัญหาพัฒนาการ

ปัญหาที่พบในเด็กสถานสงเคราะห์

เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์พบว่ามี

- โรคทางกายเรื้อรังร้อยละ 30-80  และร้อยละ 25 พบว่ามีโรคตั้งแต่ 3 โรคขึ้นไป โรคที่พบ ได้แก่ การติดเชื้อ โรคพยาธิ โรคหืด ปัญหาการมองเห็น การได้ยินบกพร่อง ทุพโภชนาการ เตี้ย โรคผิวหนัง โลหิตจาง เลี้ยงไม่โต ฟันผุ และมีร่องรอยของการถูกทำร้าย ในวัยรุ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีกิจกรรมทางเพศและใช้สารเสพติด

- ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ ร้อยละ 35-50  ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ การปรับตัว ปัญหาการเรียน เกเร สมาธิสั้น ก้าวร้าวและพบอาการซึมเศร้าได้บ่อยที่สุด

- ปัญหาพัฒนาการ อาจเป็นผลแทรกซ้อนหรือพบร่วมกับโรคทางกาย ร้อยละ 20-60 ของเด็กสถานสงเคราะห์มีพัฒนาการผิดปกติหรือล่าช้า ซึ่งสูงกว่าเด็กทั่วไปที่พบประมาณร้อยละ 10 เด็กอาจเกิดก่อนกำหนด  สมองพิการ พัฒนาการล่าช้า พูดช้า มีปัญหาการมองเห็นหรือการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้

นอกจากนี้เด็กยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันได้บ่อย เด็กอาจขาดหรือได้รับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนมากเกินไป เนื่องจากขาดข้อมูลจากสมุดบันทึกสุขภาพ เด็กโตและวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะมีกิจกรรมทางเพศเร็ว เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้

เด็กที่ถูกทอดทิ้งจะพบสติปัญญาบกพร่อง การเรียนรู้และพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ความสัมพันธ์กับเพื่อนไม่ดี อาจมีปัญหาพฤติกรรมแบบเก็บกด  ได้แก่ วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือพฤติกรรมแบบแสดงออก ได้แก่ ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น

เด็กที่ถูกทารุณกรรม มีปัญหาสุขภาพร่างกาย สติปัญญาบกพร่อง พฤติกรรมก้าวร้าว มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน เกิดความเครียดที่ผิดปกติหรือโรคจิตเวชที่เกิดตามหลังเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder) อาจมีปัญหาพฤติกรรมแบบเก็บกดหรือพฤติกรรมแบบแสดงออก

เด็กสถานสงเคราะห์ยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่

- ตำหนิตนเอง และรู้สึกผิดที่ต้องแยกจากพ่อแม่

- ปรารถนาที่จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ แม้ว่าจะถูกทำร้าย

- รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการ หากต้องรอผู้อุปถัมภ์เป็นเวลานาน

- รู้สึกช่วยเหลือตนเองไม่ได้ในการที่ต้องเปลี่ยนผู้ดูแลหลายคนในเวลาที่ผ่านมา

- มีอารมณ์ปะปนกันในความผูกพันกับพ่อแม่อุปถัมภ์

- รู้สึกไม่มั่นคงและไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต

- ลังเลที่จะแสดงความขอบคุณ ความรู้สึกที่ดีๆที่มีต่อพ่อแม่อุปถัมภ์

ปัญหาที่พบในเด็กสถานสงเคราะห์แต่ละช่วงวัย

เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์มีปัญหาซับซ้อนทั้งทางร่างกาย สุขภาพจิตและปัญหาพัฒนาการ

วัยทารก อาจเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งเนื่องจากแม่วัยรุ่น ถูกข่มขืน ถูกหลอก หรือถูกสามีทอดทิ้ง หรือทั้งพ่อและแม่ขาดความรับผิดชอบ ทำให้เด็ก

- ไม่เป็นที่ต้องการ ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงมักเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย มีความพิการแต่กำเนิด ไม่ได้กินนมแม่ ไม่มีความผูกพันระหว่างแม่ลูก

- อาจมีปัญหาสุขภาพ เช่น สมองพิการ วัณโรค ขาดสารอาหาร เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบีหรือได้รับเชื้อเอชไอวี

- กรณีที่เด็กอยู่รวมกันเป็นกลุ่มทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่น หวัด ปอดบวม อุจจาระร่วงหรือหูน้ำหนวก เป็นต้น

การดูแลเด็กสถานสงเคราะห์ในวัยทารกนี้จึงควรดูแลด้านอาหาร สุขภาพและส่งเสริมพัฒนาการ

วัยเตาะแตะและวัยก่อนเรียน เด็กเล็กโดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีแรก เป็นช่วงวัยที่สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก โครงสร้างของสมองจะพัฒนาให้แข็งแรงและมั่นคงเพื่อกำหนดบุคลิกภาพ อารมณ์ความรู้สึก กระบวนการเรียนรู้และการปรับตัวต่อความเครียด ถ้าไม่ได้ใช้ โครงสร้างในสมองเหล่านี้ก็จะฝ่อไป และถ้าหากการสร้างเครือข่ายใยประสาทและสารสื่อประสาทในช่วงเวลาวิกฤตนี้ได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อมในทางลบ ได้แก่ การขาดการกระตุ้น ถูกทารุณกรรม หรือความรุนแรงในครอบครัว อารมณ์และกระบวนการเรียนรู้ที่ผิดปกติก็จะทำให้พัฒนาการของสมองบกพร่องไป

สิ่งที่จะช่วยให้เด็กเล็กในสถานสงเคราะห์พัฒนาได้ดีคือ ที่อยู่ที่ถาวร เด็กรู้สึกปลอดภัย ได้รับการเยียวยา และการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ภาษาและทักษะทางสังคม

การที่เด็กจะพัฒนาเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจแข็งแกร่งนั้น เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดู การปกป้อง สร้างความไว้วางใจและความมั่นคงจนเกิดความผูกพันที่มั่นคง (attachment) เด็กที่ถูกทารุณกรรมหรือถูกทอดทิ้งมีความเสี่ยงที่จะไม่มีความผูกพันกับใครเลย หากมีผู้ใหญ่อย่างน้อยคนหนึ่งที่จะให้ความรักเด็กอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมที่จะยอมรับและให้คุณค่าแก่เด็กเป็นระยะเวลายาวนานก็จะช่วยให้เด็กสามารถเอาชนะความเครียดและความเจ็บปวดจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกทอดทิ้ง

เด็กที่มีความผิดปกติของความผูกพันทางอารมณ์ ไม่สามารถไว้วางใจใครและรักใครได้นั้นบ่อยครั้งที่พบว่าเด็กเติบโตมาเพื่อระบายความเจ็บปวดและความโกรธกับสังคม

วัยเรียน พบปัญหาการเรียนได้ถึงร้อยละ 75 ขาดเรียนบ่อย เรียนไม่ทันเพื่อน บกพร่องทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้และเกือบร้อยละ 40 อยู่ในระบบการศึกษาพิเศษ เด็กอาจมีปัญหาพฤติกรรม เกเร ใช้สารเสพติด หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีปัญหาในเรื่องระเบียบวินัยหรือสมาธิสั้นได้

ในวัยนี้ควรเน้นความสำคัญของการศึกษาที่ต่อเนื่อง จึงควรมีระบบการติดตามเด็กในเรื่องการเรียนและสุขภาพจิต เนื่องจากตราบาปว่าเป็นเด็กสถานสงเคราะห์และประสบการณ์จากการถูกทารุณกรรมหรือถูกทอดทิ้งที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ทำให้เด็กต้องขาดเรียน มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน การจัดการและควบคุมตนเอง ปัญหาอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น

วัยรุ่น ที่ต้องอยู่ในสถานสงเคราะห์อาจเกิดความรู้สึกโกรธ เจ็บปวดและผิดหวัง ไม่ไว้วางใจผู้อื่น บางรายรู้สึกเสียใจและสร้างกำแพงในหัวใจเพื่อระวังความรู้สึกกังวล กลัว และเจ็บปวดเมื่อนึกถึงภาพเหตุการณ์เดิมที่เก็บกดไว้ และมีอารมณ์ซึมเศร้าได้ บางรายอาจหมกมุ่นอยู่กับตนเองจากร่างกายที่เปลี่ยนแปลง หรือการที่ต้องเปลี่ยนสถานที่อยู่มาเป็นระยะๆ

ในวัยนี้จึงควรสอนการแสดงออกที่เหมาะสม ความรับผิดชอบและการที่เด็กจะไว้วางใจผู้อื่นได้อย่างไร ผู้ที่ดูแลเด็กควรถามถึงสิ่งที่เขาชอบ ให้ของรางวัลที่แสดงว่าถึงอย่างไรก็รักและใส่ใจเขา ให้เวลาและโอกาสที่จะพูดคุยเรื่องของเขา สิ่งที่เขาไม่ชอบและมอบหมายงานให้รับผิดชอบ วัยรุ่นที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หากมีผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษาก็จะทำให้มีการปรับตัวที่ดี มีโอกาสประสบความสำเร็จในการศึกษา  ได้งานทำมากกว่า มีปัญหาสุขภาพกายและจิตน้อยกว่า

แนวทางการดูแลสุขภาพเด็กสถานสงเคราะห์

สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำการดูแลสุขภาพเด็กสถานสงเคราะห์ว่าควรมีการคัดกรองสุขภาพเด็กตั้งแต่แรกรับ และประเมินอย่างครอบคลุมภายในเวลา 30 วันหลังจากที่รับเด็กไว้ในสถานสงเคราะห์

- เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ประเมินเมื่ออายุ 2 สัปดาห์ และที่อายุ 4, 6, 9, 12, 15, 18, 21 และ 24 เดือน

- เด็กอายุ 2-5 ปี ประเมินอย่างน้อยทุก 6 เดือน

- เด็กโต ประเมินทุก 6 เดือนในปีแรก และอย่างน้อยปีละครั้ง

- คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตและประเมินพัฒนาการทุกปีโดยใช้เครื่องมือมาตรฐานและทุก 6 เดือนในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี

- ให้วัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เหมือนกับเด็กยังไม่ได้รับวัคซีนในกรณีที่ไม่มีข้อมูลเรื่องภูมิคุ้มกันโรค

- งดให้วัคซีนป้องกันโรคสุกใส ถ้ายังไม่มีข้อมูลเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีที่แน่นอน

การดูแลสุขภาพเด็กสถานสงเคราะห์จึงควรมีการคัดกรองในด้านสุขภาพ โภชนาการ และพัฒนาการซึ่งต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย การคัดกรองปัญหาการมองเห็นและการได้ยินบกพร่อง  การประเมินสุขภาพช่องปากและฟัน รวมทั้งการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตด้วย ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการและการประสานความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการดูแลเด็กสถานสงเคราะห์ เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีความผูกพันและ พัฒนาการที่ดี สามารถปรับตัวเอาชนะ อุปสรรคและประสบความสำเร็จในชีวิตได้

 

บรรณานุกรม

1. American Academy of Child and Adolescent Psychiatry. Facts for families : Foster care .  [cited 2008 Feb 19] Available from : http://www.aacap.org/cs/root/facts_for_families/foster_care.

2. Ahrens KR, DuBois DL, Richardson LP, Fan MY, Lozano P. Youth in Foster Care With Adult Mentors During Adolescence Have Improved Adult Outcomes. Pediatrics 2008; 121 : pp. e246-e252 [cited 2008 Feb 19] Available from : http://pediatrics.aappublications.org/cgi/content/abstract/121/2/e246.

3. Harden BJ. Safety and stability for foster children : A developmental perspective. [cited 2008 Feb 19] Available from : http://www.futureofchildren.org.

4. Halfon N, Kauf N, Perez V, Inkelas M, Flint R. A guide to developing health care systems for children in foster care. The UCLA center for healthier children, families and communities. [cited 2008 Feb 19] Available from : http://www.aap.org/advocacy/hfca/Foster%20Care%20Manual%20final.pdf.

5. Leslie LK, Hurlburt MS, Landsverk J, Rolls JA, Wood PA and Kelleher KJ. Comprehensive assessments for children entering foster care : A national perspective. Pediatrics 2003; 112 :  134-142.

6. Committee on Early Childhood, Adoption and Dependent Care. American Academy of Pediatrics : Developmental issues for young children in foster care. Pediatrics 2000; 106 : 1145-1150 .

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 380114เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2010 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ  ได้ความรู้ดีมากครับ  และมีอ้างอิงที่สมบูรณ์ด้วยครับ

สวัสดีค่ะ

สบายดีนะคะ  ดีใจที่ได้อ่านบันทึกอีกครั้ง  ขอขอบคุณค่ะ

เรื่องการขอบคุณของเด็ก  พบเหมือนกันค่ะ มีอยู่ ๑ ราย  "เด็กที่เคยอุปการะไว้ ไม่รู้จักขอบคุณ แข็งกระด้าง สอนแล้วสอนอีก กล่าวถึงความดีของคนอื่นไม่เป็น เวลากอดก็ไม่รู้สึกว่าเขาจะกอดตอบ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท