ผลการสร้างแบบฝึกภาษาอังกฤษ


ขอเผยแพร่ผลการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

ชื่อเรื่อง      การพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา

ผู้ศึกษา      นางสาวสุรินทร์ ปัญธิญา  ตำแหน่ง ครู คศ. 2 

โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน  เขต 1

 

 

                               บทคัดย่อ

 

            การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ  โดยวิเคราะห์ค่าประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์ และระดับความพึงพอใจของนักเรียนต่อแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 36 คน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 ของ โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

 

            ผลการศึกษาพบว่า

1. แบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ

80.07/81.67  ซึ่งสูงตามเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้

2. นักเรียนที่เรียนโดยแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ มีคะแนนหลังการเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนการเรียนอย่างมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05 แสดงว่า แบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมีผลต่อการพัฒนาทักษะด้านการเขียนของนักเรียน

3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับมาก

หมายเลขบันทึก: 380054เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2010 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เรื่อง การพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

ผู้ศึกษา นางสาวสุรินทร์ ปัญธิญา

ครูชำนาญการ โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรองรับนักเรียนที่จบจากระดับประถมศึกษาภายในเขตพื้นที่บริการในตำบลบ้านธิ ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ และตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ส่วนใหญ่ของโรงเรียน เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับปานกลางถึงอ่อนมาก เนื่องจากโรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยาตั้งอยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน อำเภอสันกำแพง และ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผู้ปกครองที่ไม่มีปัญหาเศรษฐกิจและบุตรหลานเรียนเก่ง มักนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ประกอบกับจำนวนนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนนักเรียนที่เปิดรับสมัครเรียน ดังนั้นโรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยาจึงต้องให้บริการด้านการศึกษาแก่นักเรียนทุกคนที่มาสมัครเรียนโดยไม่ต้องทำการสอบคัดเลือก นอกจากนี้โรงเรียนประถมศึกษาภายในเขตพื้นที่บริการ ขาดแคลนครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษโดยตรง จากสภาพการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน มีระดับความสามารถและทักษะภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ

จากการสังเกตปัญหาด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน พบว่าผู้เรียนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยการพูดได้ในระดับที่สื่อสารแล้วเข้าใจกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ทั้งนี้เนื่องจากในการพูดนั้นผู้สื่อสารสามารถใช้อวัจนะภาษาประกอบเพื่ออธิบาย ซึ่งส่งผลทำให้ผู้รับสารสามารถทำความเข้าใจกับประโยคที่สื่อสารนั้นง่ายขึ้น แต่หากให้ผู้เรียนทำการสื่อสารด้วยเนื้อความเดียวกันด้วยวิธีการเขียนจะพบว่ามีข้อผิดพลาดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นข้อผิดพลาดในการใช้หลักไวยากรณ์ในการสร้างประโยค ผลจากการสังเกตปัญหาด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา ดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจทางด้านการสอนทั้ง 4 ทักษะจากครูผู้สอนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่านักเรียนไทยมีปัญหาในการฝึกทักษะด้านการเขียนภาษาอังกฤษเป็นอันดับหนึ่ง (อรษา เณรตาก้อง, 2535 อ้างอิงจากรายงานการวิจัยของภาควิชาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน, 2528) เนื่องจากการเขียนเป็นทักษะที่สำคัญและค่อนข้างยาก ซับซ้อนกว่าทักษะอื่นๆ รวมทั้งการเขียนเป็นทักษะชั้นสูงที่จำเป็นต้องอาศัยทักษะอื่นๆ เป็นพื้นฐาน (ศรีวิไล ดอกจันทร์, 2529) ซึ่งการที่จะให้นักเรียนเขียนเป็น และเขียนได้ดีนั้นต้องมีการฝึกฝน เพราะการฝึกเขียนบ่อย ๆ รวมทั้งทำการฝึกซ้ำๆ จะมีส่วนช่วยให้นักเรียนเกิดความก้าวหน้าในการเรียน และมีความแม่นยำในการใช้ภาษา (สุไร พงษ์ทองเจริญ, 2519) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกให้นักเรียนแต่งประโยคง่าย ๆ เพื่อให้มีความแม่นยำในการใช้คำศัพท์ การสะกดคำ การใช้โครงสร้างไวยากรณ์ การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และการใช้อักษรตัวพิมพ์ อักษรตัวเขียน อันจะเป็นการปูพื้นฐานในการเขียนและทำให้เกิดความคงทนในการเรียน

นอกจากนี้ นักการศึกษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารได้ให้ความสำคัญกับการสอนโครงสร้างไวยากรณ์ เพราะไวยากรณ์ช่วยในการสื่อความหมาย กฎเกณฑ์ทางโครงสร้าง เอื้อให้บุคคลพูดในสิ่งที่ต้องการได้ เนื่องจากความหมายของประโยคเป็นการสังเคราะห์ความหมายของคำที่เรียบเรียงขึ้น โดยมีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ตัดสินว่าคำใดที่จะรวมไปสู่หน่วยทางไวยากรณ์ที่ใหญ่ขึ้น อีกทั้งไวยากรณ์มีความสำคัญในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ บัคบี (ศุภวรรณ ทะกันจร, 2542 อ้างอิงมาจาก Buckby, 1987) ที่กล่าวไว้ว่า ความรู้ทางไวยากรณ์และโครงสร้างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ดังนั้นบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์จะสามารถเข้าใจประโยคที่มีความคลุมเครือ หรือประโยคที่มีหลายความหมายได้ รวมทั้งสามารถเข้าใจประโยคใหม่ที่มีความหมายแตกต่างจากประโยคเดิม และประการสุดท้ายการรู้กฎเกณฑ์ทางโครงสร้างประโยคจะช่วยให้บุคคลนั้นตัดสินความสัมพันธ์ทางไวยากรณ์ของนามวลีที่ใช้ในประโยคได้ ดังนั้นจะเห็นว่าไวยากรณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการเป็นผู้รู้ภาษา

ด้วยเหตุผลและแนวคิดทฤษฎีดังที่กล่าวมา ในภาคเรียนที่ 1 ผู้ศึกษาจึงเลือกประเด็นหรือเรื่องพื้นฐานที่มีปัญหาจำนวน 5 เรื่อง คือ Articles, Verb to Be, Pronouns, Present Continuous Tense และ Present Simple Tense มาสร้างเป็นแบบฝึกเสริมทักษะเพื่อพัฒนาพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษของนักเรียน

เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

นัดดา ขจรนที (2530) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบความสามารถทางการอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษ แรงจูงใจและความคงทนในการจำ ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบางมดวิทยา กรุงเทพมหานคร จำนวน 60 คน ผลการทดลองพบว่า นักเรียนที่ได้รับการสอนด้วยวิธีมุ่งประสบการณ์ภาษา มีความสามารถในการอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ แรงจูงใจ และความคงทนในการจำแตกต่างกับนักเรียนที่ได้รับการสอนตามคู่มือครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

นงคราญ ทองประสิทธิ์ (2540) ได้ทำการพัฒนาชุดกิจกรรมฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยได้สร้างชุดกิจกรรมฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 ชุด 15 กิจกรรม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กิจกรรมฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ ที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 92.67/86.67 รวมทั้งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเขียนภาษาอังกฤษที่สูงขึ้น

อรทัย นุตรดุษฐ์ (2540) ได้ศึกษาผลการใช้แบบฝึกการเขียนสะกดคำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนวัดปากท่อ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จากผลการวิจัยพบว่าผลการใช้แบบฝึกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 แสดงว่า ภายหลังนักเรียนได้รับการฝึกแล้วทำให้นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์หลังการสอนสูงกว่าก่อนสอนและมีผลต่อการพัฒนาความสามารถในการเขียนให้สูงขึ้น

จากผลการวิจัยที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่าแบบฝึกทักษะทางภาษามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ศึกษาสนใจที่จะสร้างแบบฝึกเสริมทักษะไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยนำแนวคิดของงานวิจัยและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องมาทำการประยุกต์ อันมีเป้าหมายในการพัฒนาการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งคาดว่าผลจากการศึกษาจะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียน และมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

การพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาดังนี้

1.เพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75

2.เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังจากการพัฒนาด้วยแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

3.เพื่อหาค่าระดับความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ต่อแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

ขอบเขตของการศึกษา

การพัฒนานวัตกรรมชุดแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีขอบเขตการศึกษา ดังนี้

1. ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรที่ใช้สำหรับการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1

ผู้ศึกษาได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการนำเอาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ผลิตขึ้นไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้

1.1 เก็บข้อมูลจากกลุ่มเล็กขนาดหนึ่งต่อหนึ่ง จำนวน 3 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มนักเรียนในกลุ่มเก่ง 1 คน ปานกลาง 1 คน และอ่อน 1 คน

1.2 เก็บข้อมูลจากกลุ่มกลางขนาดหนึ่งต่อสาม จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มนักเรียนในกลุ่มเก่ง 3 คน ปานกลาง 3 คน และอ่อน 3 คน

1.3 เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา จำนวน 36 คน

โดยที่การเก็บข้อมูลจากกลุ่มเล็กขนาดหนึ่งต่อหนึ่ง จำนวน 3 คนและกลุ่มกลางขนาดหนึ่งต่อสาม จำนวน 9 คน ได้มาจากการเลือกกลุ่มตัวอย่างมาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน จำนวน 36 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

ในการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นี้ ทางผู้ศึกษาได้เลือกใช้เครื่องมือในการดำเนินการศึกษาดังนี้

1. แผนการจัดการเรียนรู้ สำหรับแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

2. แบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

แบบฝึกเรื่องที่ 1 Articles

แบบฝึกเรื่องที่ 2 Verb to Be

แบบฝึกเรื่องที่ 3 Pronouns

แบบฝึกเรื่องที่ 4 Present Continuous Tense

แบบฝึกเรื่องที่ 5 Present Simple Tense

3. แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

4. แบบประเมินระดับความพึงพอใจของนักเรียนต่อแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

สรุปผลการศึกษา

จากการนำแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษไปทดลองใช้ สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

1. แบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 75/75 ที่ตั้งไว้คือ มีค่าประสิทธิภาพเฉลี่ยเท่ากับ 80.07/81.67 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อ 1 ที่ตั้งไว้

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังจากการพัฒนาด้วยแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ พบว่า คะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อน และหลังจากเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมีค่าเท่ากับ 15.81 คิดเป็น 52.69% และ 24.56 คิดเป็น 81.85 % ตามลำดับ จากการทดสอบทางสถิติด้วย t-test สามารถสรุปได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน หลังจากการพัฒนาด้วยแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อ 2 ที่ตั้งไว้

3. ระดับความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ต่อแบบฝึกเสริมทักษะพื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ มีค่าอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.28 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อ 3 ที่ตั้งไว้

ยาวหน่อยนะคะ

ฝากผู้รู้ช่วยคอมเมนท์ด้วย

และขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากเลยครับที่สอนเรื่องนี้ ก่อนที่จะจบ ผมได้ใช้ประโยชน์อย่างมากเลย ตอนนี้อยู่ปีสองยังได้ใช้เลยครับ

ผมเอาชีทที่อาจารย์แจก มาที่นี่ด้วย อ่านแล้วเข้าใจง่าย รู้เรื่อง บวกกับการที่อาจารย์อธิบายมันทำให้ผมเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง

ขอบคุณอาจารย์มากๆเลยครับ ^^

ขอบคุณอมรเดชที่แวะเยี่ยมบล็อกนี้

เชื่อว่ากำลังสนุกกับการเรียนอยู่

อย่าให้เสียชื่อว่าเป็นเด็กเก่งอังกฤษนะคะ

ครูเป็นกำลังใจให้ค่ะ "__"

ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

สวัสดีเจ๊า ครูรินน์

แวะมาเยี่ยม

เป็นครูภาษาอังกฤษ เช่นกันแต่สอนป.2

ขอคำแนะนำด้วยนะคะ

แวะมาทักทายค่ะ สอบภาษาอังกฤษ ม.2 เหมือนกัน วันหลังจะเข้ามาอ่านบ่อย ๆ น่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท