เรืือน3น้ำ4


การประพฤติปฏิบัติ

 

               การประพฤติปฏิบัติด้วยเรือน 3 น้ำ 4 นี้ แท้ที่จริงก็คือ การอบรมให้หญิงสาว ที่จะแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา รู้จักหน้าที่ของความเป็นแม่บ้านแม่เรือน เพื่อผูกใจสามีให้รักใคร่เอ็นดู ผู้เป็นภริยานั่นเอง

          สำหรับเรือนแรก อันได้แก่ เรือนผม ก็คือ การรู้จักดูแลรักษาผมเผ้าให้สะอาดหมดจด ปราศจากกลิ่น โดยคอยหวีให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยเป็นกระเซิง มิใช่พอตื่นขึ้นมา หันมาอีกที อ้าว! สามีคิดว่าสิงโตที่ไหนมานอนด้วย การจัดทำทรงผมให้ดี จะช่วยให้บรรดาเมียๆ น่ามองยิ่งขึ้น อีกทั้งตอนหวีผม คนเราก็ต้องดูกระจก จะได้ใช้เวลานั้นผัดหน้าทาแป้ง ให้สดชื่นสวยงาม ซึ่งสาวๆ พอได้แต่งหน้าทาปาก ก็จะรู้สึกว่าตัวสวยขึ้น เกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันเมื่อสามีเห็น ก็พลอยสบายตาไปด้วย 
 
          เรือนที่สอง คือ เรือนกาย หมายถึง การรักษาทรวดทรงองค์เอว ให้น่ามองอยู่เสมอ มิใช่พอได้แต่งงาน มีสามี คิดว่าไม่ต้องอยู่คานทองนิเวศน์แล้ว ก็เลยสบายใจ กินตามใจปาก ยิ่งพอมีลูก ยิ่งเลี้ยงยิ่งเหนื่อย ยิ่งกิน  เผลอแผล่บเดียวหุ่นเพรียวลมที่เขาเคยโอบได้รอบ กลายเป็นตุ่มสามโคกโอบไม่มิด หรือเป็นโอ่งลายมังกร ให้สามีมองด้วยความสะท้อนใจ จริงอยู่ การครองรักครองเรือน มิใช่จะอยู่ที่รูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียว แต่หากภริยาจะรู้จักดูแลรูปทรงตัวเองให้ดี ไม่ปล่อยปละละเลย จนเป็นยายเพิ้งหรือนางผีเสื้อสมุทร ตอนยังไม่แปลงกาย ก็น่าจะเป็นเสน่ห์ผูกใจสามีได้อีกทางหนึ่ง เพราะเวลาพาเมียไปไหนๆ คนชมว่าเมียว่าหุ่นดี ภริยาก็หน้าบาน สามีก็ภูมิใจ 
 
           เรือนที่สาม เรือนที่อยู่ ก็คือ การรู้จักดูแลบ้านช่อง จัดข้าวของในเรือนให้ดูสะอาดเรียบร้อย ไม่สกปรกรกรุงรัง เพราะบ้านที่สกปรก และไม่เป็นระเบียบ แสดงว่าเมียบ้านนั้นมีนิสัยขี้เกียจ ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน หากมีแขกใครไปมา ก็จะขายหน้าถึงสามี อีกทั้งสุขอนามัยของบ้านนั้นๆ ก็จะไม่ดีไปด้วย ทำให้คนในบ้านเจ็บป่วยได้ง่าย ข้อสำคัญ สามีบางบ้านอาจเกิดอาการ "ภูมิแพ้เมีย" ต้องออกไปหาอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก ก็จะมีปัญหาตามมา ทางที่ดี เมียทั้งหลาย จึงควรปัดกวาดบ้านช่องให้น่าอยู่น่าอาศัย
   
          ส่วนบางแห่งที่เขียนว่า เรือนไฟ  ก็คือ ครัวที่หญิงสาวจะต้องใช้ประกอบอาหารให้ครอบครัว คนโบราณเขาก็สอนให้รู้จักใช้ รู้จักเก็บกวาดอุปกรณ์ในครัวให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยให้รก หรือสกปรก จนมีสัตว์ไม่ได้รับเชิญอย่างหนู หรือแมลงสาบมาเยี่ยมเยียน

          ส่วนเรือนนอน ก็คือ ห้องนอน ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องรู้จักปัดกวาดเช็ดถูให้สะอาดอยู่เสมอ อย่างสมัยนี้ ถึงแม้ไม่ได้ทำเอง มีคนรับใช้ เมียหรือแม่บ้านก็ต้องรู้จักกำกับ และควบคุมดูแลเป็นระยะๆ มิใช่ปล่อยให้ทำตามยถากรรม ไม่งั้นวันดีคืนร้าย เกิดสามีเห็นความดีของผู้ช่วยแม่บ้านมากกว่า อาจเลื่อนขั้นเราขึ้นเป็น "เมียหวง" ถึงตอนนั้น จะเสียใจก็ยังไม่ทัน
 
          ในส่วนของน้ำสี่ ี่ นั้น น้ำแรก ได้แก่ น้ำมือ หมายถึง ต้องรู้จักหัดทำข้าวปลาอาหารอร่อยๆ ให้สามีรับประทาน ซึ่งสมัยโบราณ หญิงสาวไม่ว่าจะชาวบ้าน หรือชาววังต่างก็ทำอาหารเป็นทั้งนั้น เพราะสมัยก่อน ไม่มีร้านอาหารสำเร็จรูปให้ซื้อ มีแต่วัตถุดิบที่ต้องนำไปปรุงเอง ดังนั้น หญิงสาวส่วนใหญ่ จึงถูกฝึกให้ทำกับข้าวกับปลา มาแต่เด็กๆ เสมือนหนึ่งหัดวิชาชีพติดตัว ที่สำคัญ คนรุ่นก่อนมีคติว่า "เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย"

          หญิงสาวทั้งหลายจึงต้องมี "น้ำมือ" ในการทำอาหารด้วยประการฉะนี้  แต่สำหรับสาวๆ ยุคเตาไมโครเวฟ หรือแม่บ้านถุงพสาสติก แม้จะทำอาหารไม่เป็น แต่ก็ควรจะรู้จักเลือกซื้ออาหาร จากร้านเจ้าอร่อยและสะอาด และหากมีเวลาว่าง ก็ลองหัดทำอาหารง่ายๆ ให้สามีกินบ้าง เพราะจะทำให้เขารู้สึกซึ้งใจ ที่เราอุตส่าห์ทำในสิ่งที่ยาก สำหรับเราเพื่อเขา

          น้ำต่อไปคือ น้ำใจ คือ การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ และโอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว หรือทำใจดำ รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลสามี ทั้งในหน้าที่การงาน และจิตใจ  ซึ่งการมีน้ำใจนี้ มิใช่มีต่อสามีคนเดียว แต่ควรเผื่อแผ่ถึงญาติพี่น้องของสามีด้วย เพราะนอกจากจะทำให้สามีสบายใจแล้ว ยังช่วยให้ภริยาเป็นที่รักใคร่ และเป็นเกรงใจอีกด้วย และหากมีปัญหากับสามี ญาติพี่น้องของเขา ก็จะเห็นใจและช่วยเรา นอกจากนี้ เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ก็ต้องมีน้ำใจต่อเขาด้วย เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

          น้ำที่สาม คือ น้ำคำ ได้แก่ การใช้คำพูดที่สุภาพ ไพเราะหู ไม่กระโชกโฮกฮากหรือด่าทอ รู้จักเจรจาปราศรัย รู้ว่าเมื่อไรควรพูด เมื่อไรควรเงียบ เมื่อไรควรให้กำลังใจ หรือปลอบประโลม อันที่จริงแล้ว การพูดจาดีต่อกัน โดยไม่ด่าทอ บ่นว่าหรือจู้จี้จุกจิก จะทำให้รู้สึกว่าบ้านร่มเย็น น่าอยู่ ไม่ร้อนหูร้อนใจ ซึ่งการพูดจาไม่ระคายหูนั้น จริงๆ แล้วควรจะใช้พูดกับทุกคนทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ไม่เฉพาะแต่กับสามีเท่านั้น เพราะนอกจากผู้ฟังจะรู้สึกสบายหูแล้ว ยังจะรู้สึกดีๆ กับผู้พูดด้วย
 
          และน้ำสุดท้าย คือ น้ำเต้าปูน หมายถึง การดูแลคอยเติมน้ำในเต้าปูนมิให้แห้ง ในสมัยก่อนคนกินหมาก จึงต้องมีเต้าปูน เป็นภาชนะใส่ปูนแดงไว้ป้ายใบพลู เพื่อกินกับหมาก ซึ่งถือว่าเป็นของรับแขก ดังนั้น หากแม่บ้านบ้านไหน ปล่อยให้น้ำในเต้าปูนแห้ง จนไม่สามารถควักออกมาป้ายได้ แสดงว่าทำหน้าที่บกพร่อง แม่บ้านที่ดีจึงต้องคอยดูแลเติมน้ำในเตาปูนอยู่เสมอ 

          เช่นเดียวกับคำว่า น้ำกิน น้ำใช ้ ที่หมายถึง หญิงสาวที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนจะต้องดูแล ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ในบ้านพร้อมเสมอสำหรับสามี ลูก และญาติๆ อันแสดงถึงการเอาใจใส่ต่อหน้าที่ภริยาที่ดี เรือน 3 น้ำ 4 แม้จะเป็นเรื่องที่คนโบราณสอน แต่ถือได้ว่าเป็น "เคล็ดลับการครองเรือน" ที่สาวๆ สมัยนี้สามารถนำไปใช้ได้ และยังเป็นวิธี "ผูกใจ" สามีที่ไม่ล้าสมัย หากจะรู้จักประยุกต์ใช้

หมายเลขบันทึก: 379968เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2010 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท