บทความภาวะผู้นำ


บทความภาวะผู้นำกับการนำไปใช้

บทความที่ 1

การพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Development)

โดย ณรงค์วิทย์ แสนทอง

ผู้ที่ประสบความสำเร็จมักจะมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากคนทั่วๆไป นั่นก็คือ ภาวะผู้นำ (Leadership) เพราะสิ่งนี้จะเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนให้ชีวิตของคนมุ่งไปข้างหน้า พลังดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดจากพลังภายในตัวคนๆนั้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพลังร่วม(Synergy)ระหว่างพลังภายในของคนๆนั้นกับพลังของคนอื่นๆรอบข้างที่เป็นผู้ตามซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้พลังงานที่ขับเคลื่อนมีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

เราจะเห็นคนบางคนไม่ได้เป็นคนเก่งงานหรือมีความสามารถเลอเสิศอะไรไปกว่าคนอื่นๆ พูดง่ายๆว่าฝีมือในการทำงานก็ไม่ได้หวือหวาเท่าไหร่ แต่ทำไมเขาจึงสามารถชักจูง โน้มน้าว นำเสนอให้ผู้บริหารเห็นด้วย คล้อยตามและอนุมัติโครงการที่เขาเสนออยู่เสมอ รวมทั้งคนที่ทำงานรอบๆตัวเขาก็ยินยอมพร้อมใจและรู้สึกยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับเขา ทั้งๆที่คนบางคนที่ทำงานให้เขามีความสามารถในการทำงานเก่งกว่าเขาตั้งหลายเท่า
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผมจะเฉลยคำตอบให้สั้นๆ ง่ายๆ แต่สร้างได้ยาก นั่นก็คือ เขาที่ถูกกล่าวถึงนั้นมีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำนั่นเอง คุณสมบัติการเป็นผู้นำไม่ได้หมายถึงเพียงกล้าแสดงความคิดเห็นเวลาอยู่ในที่ประชุม พูดมากกว่าคนอื่นเสมอ ชอบเสนอหน้า หรือแสดงตนเป็นผู้นำอยู่เสมอ แต่หมายถึง ความเหนือกว่าบุคคลอื่นในด้านจิตวิทยา ระบบการคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ บุคลิกภาพ รวมถึงปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาต่างๆ

ถ้าภาวะผู้นำเปรียบเสมือนคุณภาพของผลไม้ กระบวนการในการพัฒนาภาวะผู้นำก็น่าจะหมายถึง การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี การคัดเลือกดินที่สมบูรณ์ การรดน้ำพรวนดินอย่างถูกต้อง รวมถึงการกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืช

 การนำไปใช้     

 การเป็นผู้นำที่ดีจะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เปรียบการเป็นผู้นำที่ดี เหมือนผลไม้ชั้นดีจะต้องเริ่มจากดินที่ดี เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีการดูแลเอาใจใส่รดน้ำ พรวนดิน กำจัดศัครูพืชทำให้เราได้ข้อคิดว่า ถ้าผู้นำที่ไม่เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความรู้ ก็เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉนั้น  ผู้นำที่ดีจะต้อง  คิดงานได้ใช้คนเป็น  เน้นคุณธรรม  นำสังคม  ชมคนดี  ชี้ถูกผิด  พิชิตปัญหา 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 บทความที่ 2

ภาวะผู้นำ (Leadership)

คอลัมน์ คลื่นความคิด  โดย อ.สิทธิชัย ฝรั่งทอง วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก   มติชนรายวัน  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9841

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง "ภาวะผู้นำ" โดย ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ผู้เขียนเห็นว่าข้อคิดจากการบรรยายน่าจะมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งปัจจุบันพบว่ากำลังประสบปัญหาการขาดแคลนผู้นำในอุดมคติ

การเป็นผู้นำนั้นเป็นได้ไม่ยาก แต่การที่จะเป็นผู้นำที่ดีให้ได้นั้นต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ของการบังคับบัญชา

ภาวะผู้นำ(Leadership) ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาครัฐต้องมีความรู้บางอย่างในทุกอย่าง หรือรู้ทุกอย่างในบางอย่าง "Know Something in Everything" หรือ "Know Everything in Something" สามารถนำไปใช้ได้ในทุกวิชาชีพ ซึ่งมีการกล่าวกันว่าในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทำอะไรได้สำเร็จ 80% เกิดจากภาวะผู้นำ อีก 20% เกิดจากวิชาการ หรือเรียกว่ากฎ 80 : 20 ของ Pareto"s Law

กว่า 2 ทศวรรษที่ธุรกิจให้ความสนใจกับภาวะผู้นำและการพัฒนาภาวะผู้นำ ซึ่งใครที่มีภาวะผู้นำไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะพูดอะไร คิดอะไร ทำอะไรแล้ว มีคนเชื่อฟัง ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการสอนบริหารธุรกิจก็ไม่ได้กางตำราสอน เพราะว่าตำราใครๆ ก็อ่านได้ แต่จะสอนจากประสบการณ์ เช่น ถ้าบริษัทไหนล้มเหลว ก็จะนำความล้มเหลวนั้นมาพูดคุยกันว่าทำไมถึงล้มเหลว แล้วถ้าคุณเป็นผู้บริหารจะทำอย่างไร และถ้าเกิดความสำเร็จก็จะประเมินกันว่าสำเร็จเพราะอะไร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ความเป็นผู้นำแหลมคมขึ้น

บางตำราบอกว่าไม่มีใครสอนใครได้ในเรื่องภาวะผู้นำ แต่สามารถช่วยเขาให้เรียนรู้ได้(No one can teach anybody in Leadership but we can help them to learn) ซึ่งภาวะผู้นำในด้านใดด้านหนึ่งอาจจะทำได้ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำได้ดีหมดทุกเรื่อง

ภาวะผู้นำมีอยู่หลากหลายแบบ อาทิ ภาวะผู้นำในยามวิกฤต ภาวะผู้นำในภาวะปกติ ภาวะผู้นำทางการเมือง ภาวะผู้นำในเศรษฐกิจ ภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ดังนั้น ภาวะผู้นำจึงไม่อยากจะกล่าวว่าสอนกันได้ ต้องมีการหล่อหลอมสะสม ต้องผ่านกระบวนการของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มิใช่อ่านหนังสือจบแล้วจะเป็นคนที่มีภาวะผู้นำ

หากจะถามว่าผู้นำคืออะไร ถ้าจะให้ง่ายต่อการจดจำ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความหมายของผู้นำไว้ว่า "ผู้นำคือ คนที่คิด คนที่พูด คนที่ทำอะไรแล้วคนอื่นเชื่อถือ อยากทำตาม อยากช่วยเหลือ อยากสนับสนุน"

ในตำราเมื่อก่อนนี้ ภาวะผู้นำมักจะเน้นเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์กับเลือดเนื้อเชื้อไข แต่ "อับราฮัม ลินคอร์น" ได้ทำให้แนวคิดนี้เปลี่ยนไป เพราะ "อับราฮัม" ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวไว้ คือไม่ได้เป็นลูกผู้ดีมีเงิน ไม่ได้เป็นลูกของผู้ปกครองบ้านเมือง แต่เป็นคนจนธรรมดาๆ สมัครเป็นผู้แทนหลายครั้งก็ไม่ได้ แต่พอสมัครเป็นประธานาธิบดีครั้งเดียวได้ ดังสนั่นโลกเลย ทำให้ตำราภาวะผู้นำต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่มาจากสายเลือด แต่มาจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ภาวะผู้นำที่สำคัญต้องมีคุณลักษณะของผู้นำมี 2 ประการคือ

1.To Lead is to Serve การจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ขึ้นอยู่กับการบริการ การให้ การช่วยคนอื่น เพราะถ้าใครคิดช่วยเหลือคนอื่นก่อน โดยเฉพาะเกิดมาต่ำต้อยด้อยโอกาส ยิ่งต้องช่วยเหลือเขา และใครที่เกิดมามีน้อยในชีวิต ควรจะได้มากๆ โดยกฎหมาย ซึ่งศิลปะของการเป็นผู้นำต้องเป็นผู้ให้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินหรือสิ่งของเสมอไป

2.To Lead is to Follow การที่จะนำต้องรู้จักตาม คำว่า Follow ก็คือในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต จิตใจ ความรู้สึก อารมณ์ และเหตุผลของเขา สุภาษิตจีนได้สอนคนจีนมาหลายร้อยปีแล้ว ได้บอกว่า "ผู้นำที่ดีเยี่ยมนั้น คือคนที่ทำงานสำเร็จแล้วจะหายตัวไป หากเกิดปัญหาขึ้นอีกเมื่อใด เขาจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง" แต่คนไทยถ้ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นจะซัดทอดคนอื่นไปเรื่อยๆ เวลาทำสำเร็จแล้วจะอยู่รอเพื่อรับการชื่นชมสรรเสริญเยินยอ แสดงว่าไม่ได้ถูกฝึกภาวะผู้นำ แต่ถ้าถูกฝึกให้มีจิตวิญญาณของภาวะผู้นำแบบจีน ก็จะเป็นคนที่ยิ่งใหญ่

การนำไปใช้

      การเป็นผู้นำต้องมีศิลปะในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ร่วมงานมีขวัญและกำลังใจทำงานอย่างทุ่มเท ต้องได้ใจผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องถูกใจผู้บังคับบัญชา   อยู่ในองค์กรหน่วยงานราชการ องค์กรจึงจะก้าวไปสู่ความสำเร็จและ มีธรรมาภิบาล

----------------------------------------------------------------------

บทความที่ 3

ภาวะผู้นำ และการเปลี่ยนแปลง

 

 ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด

ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม

 

             การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราทุกคนคงยอมรับว่าไม่มียุคสมัยใดที่การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วและมีผลกระทบรุนแรงเท่าในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงได้สร้างหายนะให้กับองค์กรหลายแห่งไม่เว้นแม้กระทั้งองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีต ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับหลายองค์กรเช่นกัน ประเด็นเรื่องการอยู่รอดและการเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรง ดังคำกล่าวของ ชาร์ล ดาร์วิน ที่ว่า "ผู้ที่อยู่รอด มิใช่เป็นสายพันธ์ (Species) ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด หากแต่ว่าเป็นผู้ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก"

              การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ หากจะมองในระดับบุคคลแล้ว คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดจะสำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่าการปรับเปลี่ยนมุมมอง (ทิฏฐิ) และทัศนคติ (Attitude) การรู้จักเปิดใจกว้าง ไม่ยึดติดอยู่กับความคิด หรือความรู้เดิมๆ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเริ่มต้นสู่การเปิดรับสิ่งใหม่ด้วยใจที่ไม่อคติ (Bias) ประเด็นคำถามที่ตามมาก็คือ

ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นหรือเกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นการเห็นหรือเข้าใจตามที่เราต้องการจะเห็นหรือให้มันเป็น 

ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถใช้ทั้งความรู้และความรู้สึกควบคู่กันไปอย่างได้สมดุล

ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบจนอาจลืมสาระและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆไป

ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นความจำเป็นของระบบ ของมาตรฐานโดยที่ไม่มองข้ามความงดงามอันเนื่องมาจากความหลากหลาย (Diversity)

             เราจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงสร้างองค์กรที่แบนราบ (Flat) ไม่สลับซับซ้อนไม่มีลำดับชั้นมากมาย เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น (Flexible) เป็นการบริหารงานโดยผ่านกระบวนการ (Process) อาศัยการทำงานแบบร่วมกันเป็นทีม แทนการบริหารงานแบบดั้งเดิมที่เน้นการดำเนินงานตามสายงาน (Function) เป็นหลัก ทำอย่างไรผู้บริหารถึงจะเข้าใจว่าระบบขององค์กรโดยแท้จริงแล้วเป็นระบบที่มีชีวิต เป็นระบบที่เปิด (Open System) ที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เป็นระบบที่จริงๆแล้วไม่อาจเขียนแทนได้ด้วยผังการไหลของงาน (Flowchart) หรือถ่ายทอดทุกอย่างผ่านคู่มือการดำเนินงาน (Procedure) หากแต่ว่าเป็นระบบที่ประกอบด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่มิอาจถ่ายทอดออกเป็นตัวหนังสือ หรือเขียนออกมาอยู่ในรูปแบบของเอกสารได้ทั้งหมด

การนำไปใช้

     ภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่เรามีความยืดหยุ่นมากสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทุกรูปแบบจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม มีความเสียสละ มีความสุขในการเป็นผู้ให้ เราควรมีอุดมคติในการทำงานเพื่อให้งานก้าวไปสู่ความสำเร็จ

 

 

หมายเลขบันทึก: 379626เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2010 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท