โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม 26-2


เขาอาจกลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาได้ หรือเหนือกว่านั้นอาจคิดว่า เราจะช่วยเขาให้กลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาได้อย่างไร ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “คนล้มอย่าข้าม”

หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม 26-2

โสภณ เปียสนิท

 

........................................

 

             “สตรีที่ต้องคำดูถูกเป็นหยักปังคีเซ็ง (นางรำห้องแพทย์) จากบรรดาแพทย์หลวง ครานี้ถึงกับได้ดูแลผู้เป็นท้องฟ้าขององค์ฮ่องเต้แผ่นดินนี้” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า222)


 

                คนที่ต่ำต้อยเป็นที่ดูถูกของคนทั่วไปกลับกลายเป็นคนสำคัญของบ้านเมือง เช่นนี้ ให้แง่คิดแก่ผู้อ่านในเชิงปัญญาได้ไม่น้อย เห็นคนต่ำต้อยก็ต้องคิดว่า เขาอาจกลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาได้ หรือเหนือกว่านั้นอาจคิดว่า เราจะช่วยเขาให้กลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาได้อย่างไร ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “คนล้มอย่าข้าม”

 

            “หากเป็นเด็กผู้นี้ คงมิต้องเอ่ยถึงน้ำค้างรุ่งอรุณหนึ่งร้อยปลายหญ้าสมุนไพร” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า223)


 

                ฮองเฮาตรัสคำเหล่านี้แสดงความไว้วางใจจังกึมอย่างสนิทใจ ความไว้วางใจอย่างสนิทใจอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ คือ “ความดีของจังกึม” แต่ความดีที่ว่านี้จึงกึมได้เอาชีวิตเข้าแลกทำงานรับใช้ด้วยความอดทนตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เห็นได้ว่า ความดีนั้นต้องสร้างด้วยความเพียร ความอดทน ยาวนาน

 

              “เพียงเพื่อให้เราดื่มโอสถ กระทั่งชีวิตตน ยังมอบให้ได้ มิใช่หรือ?” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า223)


 

                ทรงตรัสคำต่อมาที่แสดงความไว้วางใจชัดเจนยิ่งขึ้น ยากยิ่งนักที่คนหนึ่งคนจักไว้วางใจผู้อื่นว่าคนผู้นั้นจักยินดีมอบชีวิตให้แก่ตนเพื่อสนองงานรับใช้ เมื่อไว้วางเช่นนี้แสดงว่า “ความดี” ที่จังกึมได้สร้างสมมาเต็มบริบูรณ์แล้ว คำว่า “เต็ม” ในที่นี้คือ บารมีในทางพระศาสนานั้นเอง

 

             “เจ้าได้แก้ไขความกลัดกลุ้มใจแก่เรา เท่าที่ทราบว่า นอกจากฝีมือการแพทย์แล้ว ยังมีจิตใจดีงาม ทั้งยังกล้าหาญ เพียงเท่านี้ก็นับว่าเพียงพอ” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า223)


 

                ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทุกชั้นวรรณะนั้นคือการพึ่งพากัน การช่วยเหลือคนอื่นที่เราพานพบให้หายจากความทุกข์ได้นับว่าเป็นคุณค่าอันสูงสุดของคน ผลงานของจังกึมที่มาจากชนชั้นล่างของสังคม ค่อยๆ สั่งสมทีละน้อย สุดท้ายกลับกลายเป็นกองใหญ่จนนับได้ไม่ครบถ้วน ขยันเรียนรู้ ชำนาญด้านการทำอาหาร หมอยา ตำราแพทย์ จิตใจดีงาม กล้าหาญ สรุปคือ ชาติกำเหนิดอันต่ำต้อยมิได้ขวางกั้นการก้าวสู่ความสำเร็จของชีวิต

 

“อึนบียินดีจนออกนอกหน้า แม้หลายคนมีอาการอิจฉาแต่นางกลับยินดีภาคภูมิใจราวกับเรื่องของตนเอง” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า224)


 

                อึนบี เป็นกัลยาณมิตรแท้ของจังกึม มีนิสัยดีงามไม่แพ้กัน เมื่อจังกึมได้รับตำแหน่ง แพทย์ใหญ่ประจำองค์จักรพรรดิ เธอแสดงมุทิตาจิต คือยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี กล่าวได้ว่าชี้ให้เห็นถึงคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของอึนบีเอง ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ฟังเหมือนง่าย แต่ต้องถามจริงๆ ว่ามีใครทำได้โดยบริสุทธิ์ใจ ความดีงามของคนอาจใช้ “มุทิตาจิต” นี้เป็นเครื่องชี้วัดได้เช่นกัน

 

“เวลานี้ ซังกุงชเวมิเห็นผู้ใดในสายตาอีกแล้ว มีเพียงความจงเกลียดจงชังจังกึมเท่านั้น” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า228)


 

                ระหว่างที่จังกึมนำพาชีวิตล้มลุกคลุกคลานก้าวสู่ความสำเร็จด้วยเกียรติยศอันสูงสุด อีกด้านหนึ่งซังกุงชเว ผู้ที่ไขว่คว้าอำนาจและเงินตราโดยไม่เลือกวิธี กำลังได้รับผลของการกระทำของตนเองคือความทุกข์เศร้าเหงาหงอยอย่างที่สุด เพราะต้องพรากจากสิ่งที่ตนปรารถนา ยศตำแหน่งหมดไป อำนาจหมดไป เงินตราสูญหายไป มิตรสหายตีตัวออกห่าง สุดท้ายแม้ชีวิตยังรักษาไว้ได้ด้วยความลำบาก

 

“หากไม่เป็นที่หนึ่ง ก็ไม่อาจขึ้นถึงได้ เช่นนั้น เพื่อให้เป็นที่หนึ่ง ผู้ที่เก่งกว่าเรา ผู้ขวางทางเดินเรา กระทั่งตัวตนของเราเอง ทุกคนต้องตายให้หมด เจ้ารับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของเราหรือไม่?” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า237)


 

                สัมมาทิฐิ เป็นข้อแรกของการเดินทางสู่ปลายทางของความดีตามหลักของพุทธศาสนา ส่วนชังกุงชเวมีความเป็นผู้เห็นผิด มิจฉาทิฐิ ซึ่งอยู่คนละมุม เดินคนละทางกับข้อแรก ความต้องการเป็นที่หนึ่งอันจอมปลอมมีมากจนไม่สามารถยอมให้ใครมาขวาง ละทิ้งความดีงามทำได้แม้สังหารชีวิตเพื่อนร่วมโลก สุดท้ายต้องรับผลแห่งกรรมอันเผ็ดร้อนนั้น เหมือนที่ทำกับผู้อื่นเช่นกัน

 

“ในวังหลวง สายสมพัดผ่านดูหนาวเย็นยะเยือก ทุกคราก่อนเปลี่ยนผ่านฤดูกาล มักมีลมพายุพัดแรง มีฝนตกห่าใหญ่เสมอ สายลมที่พัดผ่านจนประตูสั่นไหว ราวสัตว์ป่าผู้หิวโหยส่งเสียงร้องจากที่ห่างไกล” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า238)


 

                คำพรรณนาดินฟ้าอากาศฤดูกาลข้างบนนี้ให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ เพราะมีความไพเราะน่าประทับใจ แสดงถึงธรรมชาติอันหฤโหด แน่นอนว่าเนื้อเรื่องต่อจากนี้จักกล่าวถึงเรื่องราวอันทุกข์ยากของสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ให้ผู้อ่านรับซึมซับ

หมายเลขบันทึก: 379383เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ภาพนางเอกนี่ ขนาดเวลาร้องไห้ยังดูสวยเลย

  • ก้าวย่างอย่างเชื่องช้าก็มาถึงบันทึกที่ 27 แล้ว
  • อีกหนึ่งบันทึกขอไปต่อค่ะ 

ไม่เชื่องช้าแล้วครับ คุณอุ้มบุญ ถือว่ามาได้ไกลกว่าใครเพื่อนเลย ไม่รู้ว่ายังมีผู้อื่นร่วมเดินทางอ่านอยู่เงียบๆ หรือไม่?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท