บางใบไม้.. “จากกองทุนฌาปนกิจสู่สวัสดิการเกิด แก่ เจ็บ ตาย”


กองทุนฌาปนกิจสู่สวัสดิการ

บางใบไม้.. “จากกองทุนฌาปนกิจสู่สวัสดิการเกิด แก่ เจ็บ ตาย” *

 

                ตำบลบางใบไม้  ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ  2  กิโลเมตร  สถานที่ตั้งตำบลมีคลองจำนวนมาก สองข้างคลองมีป่าไม้เบญจพรรณ  จึงมีใบไม้ลอยทับถมกันในคลองมาก ทำให้น้ำขึ้นลงไม่สะดวก จึงตั้งชื่อตำบลว่า “บางใบไม้”  เนื่องจากมีใบไม้ลอยทับถมอยู่ในลำคลองเป็นจำนวนมากนั้นเอง  ตำบลบางใบไม้ประกอบไปด้วย  5  หมู่บ้าน  526  ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น  2,397  คน 

                แนวคิดเรื่องสวัสดิการชุมชนเกิดจากกองทุนฌาปนกิจ ซึ่งภาคชาวบ้านมีการช่วยเหลือกันในยามที่คนใดคนหนึ่งเสียชีวิตลง  ซึ่งพบว่า บางคนมีฐานะยากจน อีกทั้งไม่ได้เตรียมการเรื่องการตายไว้ล่วงหน้า  จึงทำให้ญาติพี่น้อง ลูกหลาน มีความเดือดร้อน ต้องกู้เงินมาเพื่อจัดงานศพ  ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการจัดงานศพ ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา  เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระดังกล่าวชาวบ้านจึงได้จัดตั้งกองทุนฌาปนกิจขึ้น  ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือกันในด้านการเงินแล้ว ยังสามารถช่วยในด้านแรงงานด้วย  ในภาคใต้โดยส่วนใหญ่การช่วยเหลือกันอย่างนี้ว่า “การช่วยงาน”

                นายปกรณ์  โปนุ้ย  ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชนบางใบไม้ กล่าวว่า ตำบลบางใบไม้มีกองทุนในลักษณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการออมของชาวบ้าน  แต่คนส่วนใหญ่ยังขาดระบบคิด คือ ออมก็รู้จักแต่การออมเท่านั้น  ขาดระบบคิดในเรื่องของการบริหารจัดการ จึงทำให้ไม่สามารถขยายทุนต่างๆที่ชุมชนมีอยู่ เชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมเรื่องอื่น  ๆ  ได้  ภายหลังจึงเกิดการชักชวนกลุ่มต่าง  ๆ  ที่มีอยู่ในตำบลให้คิดถึงหลักประกันของตัวเอง  จึงนำมาสู่แนวคิดเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน  เกิด แก่ เจ็บ ตาย  โดยใช้กองทุนฌาปนกิจเดิมที่มีอยู่เป็นบานสำคัญ เพื่อขยับขยายไปสู่การจัดสวัสดิการด้านอื่น  ๆ ให้กับชุมชน   

                นายปกรณ์  กล่าวต่อไปว่า  แม้สวัสดิการชุมชนตำบลบางใบไม้จะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ  20  กันยายน  2549  แต่ปัจจุบันสามารถขยายฐานสมาชิกได้ถึง  369  คน  มีเงินกองทุน  81,043  บาท  ซึ่งในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมสมาชิกทั้ง  100  %  รูปธรรมของการจัดสวัสดิการสามารถเห็นได้ชัดเจนว่า  ในปี  2549  สามารถให้การช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตจำนวน  5  ราย  เป็นเงิน  8,500  บาท  นอกจากนั้น ยังจัด สวัสดิการให้เด็กแรกเกิดอีก  3  ราย  เป็นเงินจำนวน  3,000  บาท  อีกด้วย

                อย่างไรก็ตามรายละเอียดของกระบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางใบไม้  สามารถอธิบายโดยแสดงเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

 

 

หากพิจารณารูปธรรมของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางใบไม้ พบว่า จุดเด่นของกองทุน คือ การประสานองค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนซึ่งทำให้สมาชิกผู้ร่วมรับผลประโยชน์คลอบคลุมกว้างขวางเต็มพื้นที่มากขึ้น  นอกจากนั้นชุมชนบางใบไม้ยังสามารถสร้างความร่วมมือกับแหล่งทุนต่าง  ๆ  ได้เป็นอย่างดี  จะเห็นได้จากที่มาของแหล่งทุน ซึ่งนอกจากสมาชิกและองค์กรในชุมชนสมทบแล้ว  ยังสามารถประสานเครือข่าย ภาคีระดับจังหวัด  องค์กรท้องถิ่นอย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานต่าง  ๆ  ที่มีแนวทางในการสนับสนุนได้อีกด้วย

                อย่างไรก็ตามกองทุนสวัสดิการชุมชน  ตำบลบางใบไม้ซึ่งเกิดจากหลักคิดและแนวทางการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนเป็นหลัก  อาศัยชุมชนเป็นศูนย์กลาง  ยังสามารถดำเนินกิจกรรมให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีพัฒนาจากส่วนต่าง  ๆ ทั้งในส่วนของการยกระดับวิธีคิดให้รู้เท่าทันกับกระบวนการเปลี่ยแปลงทางสังคม และการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่ชุมชนสามารถขับเคลื่อนกองทุนไปสู่แนวทางของการพึ่งตนเอง โดยไม่ยึดเอาเงินเป็นตัวนำในการพัฒนา  ซึ่งหากกองทุนเติบโตขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการดูแลช่วยเหลือกันเองของภาคชุมชน เป็นส่วนสำคัญยิ่งของความภาคภูมิใจ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ และทำให้เกิดโครงข่ายสำคัญที่จะช่วยปกป้องกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนให้เกิดความเติบโตและยั่งยืน

                กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางใบไม้จะเป็นต้นแบบสำคัญให้กับชุมชนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความร่วมมือกับพหุภาคี และจะเป็นกองทุนที่ประสบความสำเร็จในการจัดสวัสดิการชุมชนให้กับภาคชุมชน ที่มีรูปแบบสวัสดิการหลากหลาย ขยายได้จนครอบคลุมวงจรชีวิต  ของชุมชนตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  ตามกรอบแนวคิดที่ว่า “ชุมชนต้องมีหลักประกัน  อันเป็นหลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลบางใบไม้ ” นั้นเอง

  

*  อุดมศักดิ์  เดโชชัย   อาจารย์หลักสูตรการพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

 

หมายเลขบันทึก: 379355เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท