พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ


เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาศตนของผู้แสดงว่า เป็นผู้รับนับถือ พระพุทธเจ้าเป็นของตน เป็นการแสดงตนให้ปรากฏว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิต ของตนนั้นเอง  ลักษณะความนิยมในการแสดงตนเป็นพุทธมามกะในสังคมไทยมีดังนี้      

         ๑) เมื่อมีบุตรหลานของตนมีอายุพ้นเขตเป็นทารก เจริญวัยอยู่ในระหว่างอายุ ๑๒ ถึง ๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธ ตามตระกูลวงศ์ต่อไป หรือ     

         ๒) เมื่อจะส่งบุตรหลานของตนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว ให้ไปอยู่ในถิ่นที่ไม่ใช่ดินแดน ของพระพุทธศาสนา เพื่อการศึกษาหรือเพื่อประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม เป็นการที่ต้องจากถิ่นไป นานแรมปี ก็นิยมประกอบพิธีให้บุตรหลานของตนที่จะจากไปนั้น แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กได้รำลึกอยู่เสมอว่าตนเป็นพุทธศาสนิกชน หรือ

          ๓) เมื่อจะปลูกฝังนิสัยเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา  ส่วนมากทางโรงเรียนที่สอน วิชาทั้งสามัญและอาชีวศึกษาแก่เด็ก ซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มชาวพุทธ นิยมประกอบพิธีให้นักเรียน ที่เข้าศึกษาใหม่ในรอบปี ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะหมู่  คือ แสดงรวมกันเป็นหมู่ ทำปีละ ครั้งในวันที่สะดวกที่สุด เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญ  ในการที่ตนเป็นชาวพุทธร่วมอยู่กับชาวพุทธทั้งหลายและ

          ๔)  เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต้องการจะประกาศตน เป็นชาวพุทธ ก็ประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อประกาศว่า   นับแต่นี้ไปตนยอมรับนับถือ พระพุทธศาสนาแล้ว

 

สิ่งที่ต้องเตรียมในพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ 

๑)     แจ้งให้ทางวัดหรือพระที่จะรับมอบตัวเป็นพุทธมามกะทราบเพื่อหากำหนดการที่เหมาะสมล่วงหน้า

๒)    นิมนต์พระสงฆ์ร่วมพิธีไม่น้อยกว่า ๔ รูป  โดยมากนิยม ๕ รูป 

๓)  ในวันเตรียมการแต่งกาย  ควรใส่ชุดขาว  แต่ถ้าเป็นนักเรียนหรือข้าราชการที่แสดงตนเป็นกลุ่มเป็นคณะก็อาจจะใช้ชุดเครื่องแบบก็ได้

๔)     พานดอกไม้ธูปเทียน  ๒  ชุด  ได้แก่  สำหรับถวายสักการะพระรัตนตรัย ๑ ชุด และถวายพระรูปที่เป็นผู้นำ  ๑  ชุด

๕)     ของไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์ในพิธีตามแต่ศรัทธา

 

ลำดับขั้นตอนพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ 

         ๑) ผู้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกันที่บริเวณพิธีก่อนกำหนด นั่งรอเวลาในที่ที่ทางวัดจัดไว้

         ๒)  ถึงเวลากำหนด  พระสงฆ์เข้าสู่บริเวณพิธี  กราบพระพุทธรูปประธานแล้ว เข้านั่งประจำอาสนะ

         ๓)  ผู้แสดงตนเข้าไปคุกเข่าหน้าโต๊ะบูชา จุดธูปเทียนและวางดอกไม้บูชาพระ ส่งใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เปล่งวาจาว่า

 

อิมินา สักกาเรนะ,  พุทธัง  ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้  (กราบ)

 

อิมินา สกฺกาเรน, ธัมมัง ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้  (กราบ)

 

อิมินา สักกาเรนะ สงฺฆํ ปูเชมิ. 

ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)

                             (ในพิธีอาจไม่ต้องแปลก็ได้)

 

ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่ ให้หัวหน้าเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาคนเดียว นอกนั้นวางดอกไม้ ธูปเทียนยังที่ที่จัดไว้ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือ หัวหน้านำกล่าวคำบูชา ให้ว่าพร้อมๆ กัน การกราบ ต้องก้มลงกราบกับพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ทุกครั้ง

         ๔)  เข้าถวายพานเครื่องสักการะแด่พระสงฆ์(รูปที่เป็นผู้นำ) แล้วกราบพระสงฆ์ ตรงหน้าพระรูปนั้น ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง   ถ้าแสดง ตนหมู่ ทุกคนคงนั่งคุกเข่าประนมมืออยู่กับที่  หัวหน้าหมู่คนเดียว นำสักการะที่เดียวเข้าถวาย แทนทั้งหมู่ แล้วกราบพร้อมกับหัวหน้า

         ๕) กราบเสร็จแล้วคงคุกเข่าประนมมือ เปล่งคำปฏิญาณตนให้ฉะฉานต่อหน้าสงฆ์ ทั้งคำบาลีและคำแปล เป็นตอน ๆ ไปจนจบเรื่องปฏิญาณ  ดังนี้

 

นะโม   ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ  (๓ จบ)

เอสาหัง  ภันเต ,  สุจิระปะรินิพพุตัมปิ,  ตัง  ภควันตัง  สรณัง คัจฉามิ  , ธัมมัญจะ  สังฆัญจะ,  พุทธมามโกติ  มัง,   สังโฆ  ธาเรตุ  

 

 

(คำแปล) ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพาน ไปนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้า ไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า

 

          ข้อควรจำ  ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคนทั้งชายหญิง คำปฏิญาณให้เปลี่ยนเฉพาะที่ขีดเส้นใต้ไว้ ดังนี้

                             เอสาหํ                    เป็นชายว่า  เอเต มยํ  หญิงว่า เอตา มยํ

                             คจฺฉามิ                    เป็น คจฺฉาม (ทั้งชายและหญิง)

                             พุทฺธมามโกติ            เป็น พุทฺธมามกาติ (ทั้งชายและหญิง)

                             มํ                           เป็น โน (ทั้งชายและหญิง)

 

          คำแปลก็เปลี่ยนเฉพาะคำ “ข้าพเจ้า” เป็นว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เท่านั้น นอกนั้น เหมือนกัน  สำหรับหญิงผู้ปฏิญาณคนเดียวว่า เอสาหํ ฯลฯ ถึง พุทฺธมามโกติ เปลี่ยนเป็นว่า พุทฺธมามกาติ  ต่อไปไม่เปลี่ยนตลอดทั้งคำแปลด้วย ถ้าหญิงกับชายปฏิญาณคู่กัน เฉพาะคู่เดียว ให้ว่าแบบปฏิญาณคนเดียว คือ ขึ้น เอสาหํ ฯลฯ พุทฺธมามโกติ ชายว่า  หญิงเปลี่ยนว่า        พุทฺธมามกาติ  เท่านั้น นอกนั้นเหมือนเดิม รวมทั้งคำแปล

 

          เมื่อผู้ปฏิญาณกล่าวคำปฏิญาณจบแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นประนมมือรับ “สาธุ” พร้อมกัน ต่อนั้น ให้ผู้ปฏิญาณลดลงนั่งราบแบบพับเพียบกับพื้น แล้วประนมมือ ฟัง โอวาทต่อไป

         ๖)     ในลำดับนี้ พระอาจารย์จะให้โอวาทเพื่อให้รู้หัวข้อแห่งพระพุทธศาสนา ตามสมควร

 

กราบลาพระสงฆ์  (หรือ หากจะมีการถวายไทยธรรมด้วยก็สามารถทำได้ โดยเข้าประเคนถวายแต่ละรูปแล้ว กรวดน้ำ รับพรและลาพระเป็นลำดับไป) เป็นอันเสร็จพิธี

 

หมายเลขบันทึก: 379194เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

วริทร์ธิรา ชื่นชูจิตร

ให้นักเรียนเรียงลำดับพิธีการแสดงเป็นพุทธมามกะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท