การศึกษา


ระบบการศึกษาไทย 1. ความหมายและแนวคิด ระบบการศึกษา หมายถึง การกำหนดหลักสูตร จุดมุ่งหมาย แนวนโยบาย ระบบการจัด และแนวทางในการจัดการศึกษา เพื่อให้การศึกษาช่วยพัฒนาชีวิตของคนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ การศึกษาเป็นกระบวนการสร้างและพัฒนาประชากรของประเทศให้มีพลัง มีความสามารถที่จะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างมีสันติสุข การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือพัฒนาพัฒนาประชากรและประเทศชาติ และการที่จะดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพจะต้องอาศัยกระบวนการ ศึกษาที่ได้รับการพัฒนามีดีแล้ว การศึกษามีส่วนสำคัญและจำเป็นในการพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรม และสร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคม ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพต้องมีเนื้อหาสาระ และกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีหลักการที่ดี และจำเป็นต้องอาศัยการบริหารที่กระจายอำนาจให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและ ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ระบบการศึกษาได้รับการพัฒนามาตลอด แต่ยังไม่สามารถบรรลุผลตามที่กำหนดไว้เท่าใดนัก เพราะยังมีปัญหาด้านคุณภาพของผลผลิต ด้านการกระจายโอกาสทางการศึกษา ด้านการบริหารการศึกษา และด้านการระดมสรรพกำลังเพื่อจัดการศึกษา ความจำเป็นในการปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับเงื่อนไข และการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างเป็นระยะๆ เป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตระหนัก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสมกับสภาพ และความต้องการของประเทศในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาพลเมืองของประเทศให้เป็นผู้มีปัญญา มีคุณธรรม มีความสามารถพื้นฐานหรือศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองและสังคมต่อไป กอปรทั้งให้ความสามารถประกอบอาชีพหรือเป็นแรงงานสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจของ ประเทศจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการศึกษาที่ดี ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องมีความยืดหยุ่น ให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสนใจ ความพร้อม ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและตลอดชีวิต มีเครือข่ายการเรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ประเภทต่างๆ จากแหล่งต่างๆ ไปยังผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยทั้งระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และถึงระบบโรงเรียน 2. ระบบการศึกษาที่ดี ระบบการศึกษามีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาของประเทศ ถ้าระบบการศึกษาที่กำหนดไว้ดี สอดคล้องกับสภาพ ปัญหา และความต้องการของทั้งส่วนตนและประเทศก็จะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของ พลเมือง เพราะการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนา ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ และคณะ(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2524) ได้เสนอแนวคิดและหลักการปรับปรุงระบบการศึกษาไว้พอสรุปได้ดังนี้ เนื่องจากระบบการศึกษามีผลเกี่ยวโยงถึงด้านกำลังคนหรือกำลังแรงงานของประเทศ ในระดับต่างๆ เพราะระบบการศึกษาเป็นกระบวนการผลิตกำลังคนที่สำคัญยิ่ง ดังนั้นจึงควรอยู่ในกรอบแนวคิดต่อไปนี้ 1) กำหนดความมุ่งหมายในการจัดการศึกษา โดยเน้นความมุ่งหมายหลัก 3 ประการ คือ (1) ต้องจัดการศึกษาเพื่อให้เป็นคนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล มีระเบียบวินัยและขยันขันแข็งในอาชีพการงาน (2) ต้องจัดการศึกษาให้มีทักษะในวิชาชีพ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (3) ต้องจัดการศึกษาโดยระดมสรรพกำลังจากภาคเอกชน สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรม 2) จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการเกษตรแผนใหม่ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการ จัดการที่เหมาะสม เพราะเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ ดังนั้นระบบการศึกษาจะต้องพัฒนาบุคคลให้มีทักษะในวิชาชีพอย่างแท้จริงและนำ เอาการศึกษานอกระบบโรงเรียน และการฝึกปฏิบัติการมาใช้ 3) จัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ โดยการนำเทคนิควิทยามาใช้ กอปรทั้งให้รู้ถึงการจัดการ การตลาด และการวิจัยค้นคว้า 4) จัดแก้ไขปัญหาการผลิตกำลังคน โดยการขยายสวัสดิการสังคม การส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ และการสร้างงานใหม่ๆ 5) จัดระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการจัดวิชาชีพทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การส่งเสริมอาชีพ ตลอดทั้งการวิจัย และส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาชนบท ในการพิจารณาปรับปรุงระบบการศึกษานั้น ควรยึดหลักการต่อไปนี้ 1) การศึกษาต้องสร้างเสริมให้บุคคลคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นและสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างตามอัตภาพ 2) การศึกษาจะต้องสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น และการประกอบอาชีพในท้องถิ่น 3) การศึกษาจะต้องสร้างบุคคลให้มีพื้นฐานความรู้ทางด้าน วิชาชีพที่เหมาะสมกับวัย และระดับการศึกษา 4) การจัดการศึกษาจะต้องปลูกฝังและสร้างบุคคลให้มีความสำนึก รับผิดชอบและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาท้องถิ่นอันเป็นแหล่งภูมิลำเนาของตน 5) ในการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนจะต้องให้เอกชน สถานประกอบการ และท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษาทางด้านวิชาชีพการเลี้ยงดูอบรม เด็ก และการรักษาดุลยภาพของสังคมในด้านกำลังคน ดังนั้น แนวการจัดระบบการศึกษาควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1) ควรจัดเป็นระบบคู่ขนานระหว่างในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนเพื่อให้ โอกาสแก่ทุกคนในทุกสถานการณ์ และสอดคล้องกับความจำเป็น 2) ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานและสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมฝึกอบรมบุคลากรตาม ความต้องการของตน และสังคม 3) จะต้องสอดคล้องกับอาชีพของแต่ละท้องถิ่น และความเป็นจริงในสังคม 4) จะต้องเบ็ดเสร็จในตัวเองทุกระดับ เพื่อให้คนออกสู่ตลาดแรงงานมากกว่าการเรียนต่อในระดับสูง 5) จะต้องชักจูงให้คนสามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้ 6) จะต้องเป็นการศึกษาที่มุ่งปรับปรุงตน เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพพื้นบ้านด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการที่เหมาะสม และเป็นการศึกษาที่ควรให้ผู้เข้ารับการศึกษาอยู่ในท้องถิ่นมากกว่าตัวเมือง 7) จะต้องเป็นการศึกษาที่สามารถปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ด้วยการพิจารณา และเริ่มต้นจากสิ่งที่เขาเป็นอยู่ และมีอยู่ 8) จะต้องเน้นการปฏิบัติควบคู่ไปกับการเรียนทางวิชาการ 9) การฝึกอาชีพและการฝึกบุคคลให้เป็นพลเมืองดีจะต้องจัดทำควบคู่กับไป ไม่ควรแยกห่างจากกัน 10) ระบบการศึกษาและระบบอื่นๆ ของสังคม จะต้องประสานสัมพันธ์เกื้อหนุนกัน และไม่ควรแยกชนบทและเมืองออกจากกัน 11) ระบบโรงเรียนทุกประเภทและระดับจะต้องประสานสัมพันธ์กัน และเกื้อหนุนกัน พนม พงษ์ไพบูลย์ (2533) ได้เสนอรูปแบบ และระบบการศึกษาที่พึงประสงค์เพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดี โดยกำหนดเป็นเชิงแนวทาง หลักการในการกำหนดจุดหมาย หลักการจัดการศึกษา และวิธีจัดการศึกษา สำหรับหลักการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และคุณภาพควรยึดหลักการต่อไปนี้ 1. หลักความกว้างขวางและเป็นธรรม เพื่อให้แต่ละคนไม่ว่าจะแตกต่างกันด้านเพศ วัย และฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ได้มีโอกาสได้รักการบริหารการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ และความสามารถ ณ ถิ่นที่อยู่ของตนได้อย่างตลอดเวลาและต่อเนื่องกันตลอดชีวิต 2. หลักความสมดุล ควรจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสมดุลระหว่างปัญญา คุณธรรมและสมรรถภาพพื้นฐานกับความรู้และทักษะสำหรับการประกอบอาชีพ 3. หลักความสอดคล้อง นั่นคือ สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และของสังคมในระดับต่างๆ ทั้งในเขตเมืองและชนบท 4. หลักความหลากหลาย การจัดการศึกษาควรจัดให้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบ เนื้อหาและวิธีการ 3. พัฒนาการของระบบการศึกษาไทย ระบบการศึกษาของไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาอันยาวนาน ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 4 สมัย คือ - สมัยสุโขทัยจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ - สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 - สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2534 - สมัยปัจจุบันตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ลักษณะของระบบการศึกษาทั้ง 4 สมัย ดังกล่าว พอประมวลสรุปได้ดังนี้ 1. สมัยสุโขทัยจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ลักษณะของระบบการศึกษาในช่วงนี้ยังไม่เป็นแบบแผนชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาสำหรับเด็กชาย ซึ่งเป็นการศึกษาหาความรู้ด้านวิชาการและศิลปะ สถานที่การศึกษามักเป็นที่วัด ราชสำนัก และบ้านเจ้านายชั้นสูง การศึกษาด้านวิชาชีพจะมีสอนและถ่ายทอดภายในวงศ์ตระกูล และในหมู่เครือญาติ ส่วนเด็กหญิงจะมีการฝึกงานบ้านในครอบครัว ราชสำนัก และบ้านเจ้านายชั้นสูง ประชาชนนิยมนำบุตรหลานไปไว้กับเจ้านายและผู้มีศักดินาสูงเพื่อให้ใช้สอย และฝึกงานเพื่อคาดหมายว่าจะได้มีโอกาสเข้ารับราชการ ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ต่อไป อย่างไรก็ดี ประเทศตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในการศึกษาไทยในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะประเทศโปรตุเกสเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและต่อจากนั้นก็ มีประเทศอื่นๆ ติดตามมา 2. สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ลักษณะการศึกษาในช่วงนี้เริ่มเป็นระบบแบบแผน แต่ยังไม่เป็นมาตรฐานนัก นับเป็นช่วงที่การศึกษาเจริญรุ่งเรืองมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาในฐานะที่เป็นรากฐานของความสำเร็จในทุกด้าน ผู้ได้รับการศึกษาในวิชาการสมัยใหม่จะสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาบ้าน เมือง ดังนั้น จึงทรงส่งเสริมให้จัดการศึกษาแบบตะวันตก คณะสอนศาสนาชาวอเมริกันมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทยเป็นอย่าง มาก เริ่มมีการตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกคนเข้ารับราชการ มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรทั่วไป สถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรกขึ้น คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงนี้มีโครงการศึกษาและแผนการศึกษาขึ้นหลายฉบับ อย่างไรก็ดี ในแต่ละฉบับมิได้ระบุจุดมุ่งหมายไว้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2464 เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการศึกษาโดยถ้วนหน้า 3. สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2534 ในช่วงนี้การศึกษาของไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด มีแผนการศึกษาชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้นหลายฉบับจนถึงแผนการศึกษา แห่งชาติ พ.ศ. 2520 ในแต่ละแผนมีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาในแต่ละยุคแต่ละสมัยโดยทุกแผนระบุ จุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ชัดเจน และเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ลักษณะของการศึกษาค่อนข้างเอนเอียงไปตามแนวคิดด้านการศึกษาของอเมริกา โดยปรากฏชัดเจนในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดด้านการศึกษามาก โดยมุ่งเน้นการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคนในการออกไปรับใช้สังคม และประเทศชาติ ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2517 ซึ่งเน้นการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ข้อสังเกตของระบบการศึกษาในช่วงนี้ก็คือ ส่วนใหญ่เน้นการศึกษาในระบบโรงเรียน เมื่อมีประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2520 การศึกษาจะเน้นหนักให้เป็นการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม เป็นกระบวนการต่อเนื่องกันตลอดชีวิต มุ่งพัฒนาคุณภาพพลเมืองให้สามารถดำรงชีวิต ทำประโยชน์แก่สังคม แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้แบ่งระบบการศึกษาเป็น 2 ระบบชัดเจน คือ - การศึกษาในระบบโรงเรียน และ - การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาในระบบโรงเรียนมี 4 ระดับ คือ ก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา โดยการจัดการมีลักษณะและประเภทต่างๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา 4. สมัยปัจจุบันตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แผนการศึกษา พ.ศ. 2535 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน มีลักษณะที่ปรากฏหลายประการได้แก่ 1) กำหนดหลักการ ที่สำคัญ 4 หลักการ - หลักการสร้างความเจริญงอกงามและหลักความสมดุลระหว่างความเจริญทางจิตใจกับ ทางวัตถุและเศรษฐกิจ - หลักการกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม - หลักการความก้าวทันกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งควบคู่ไปกับคุณค่าทางภูมิปัญญา ภาษา และวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นและสังคมไทย - หลักความสมดุลระหว่างการพึงพาอาศัยกันกับการพึ่งพาตนเอง 2) กำหนดจุดมุ่งหมาย ที่ครอบคลุมทั้งด้านปัญญา ด้านจิตใจ ด้านร่างกายและด้านสังคม 3) วางระบบการศึกษา ซึ่งให้บุคคลได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อเนื่องไปตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองทั้ง 4 ด้านอย่างสมดุล และสามารถสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวคือ - เปิดโอกาสให้บุคคลเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้เหมาะสมกับวัย - แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา (มี 2 ตอน คือ ตอนต้นและตอนปลาย) และระดับอุดมศึกษา - จัดการศึกษาประเภทต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม และตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ชุมชน และประเทศ ได้แก่ การฝึกหัดครู การศึกษาวิชาชีพ การศึกษาวิชาชีพพิเศษ การศึกษาวิชาชีพเฉพาะกิจหรือเฉพาะบุคคลบางกลุ่ม การศึกษาพิเศษ และการศึกษาของภิกษุ สามเณร นักบวช และบุคลากรทางศาสนา 4) กำหนดแนวนโยบายการศึกษา ไว้ 19 ประการเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน เช่น - ให้การศึกษาระดับมัธยมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของปวงชน - ปฏิรูปการฝึกหัดครู และการพัฒนาครูประจำการ - ส่งเสริมให้มีการศึกษาภาษาต่างประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างกว้างขวาง *จากบทความของ อำพร เรืองศรี

หมายเลขบันทึก: 378981เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2010 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท