ถอดบทเรียนการจัดการความรู้ในชุมชน ศูนย์ฝึก ฯชายแดน จังหวัดเชียงราย


การจัดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้มีเศรษฐกิจพอเพียงพ้นความยากจน
ถอดบทเรียนการจัดการความรู้ในชุมชน ศูนย์ฝึก ฯชายแดน จังหวัดเชียงราย วันที่ 29 มิถุนายน 2549 ดิฉันได้มีโอกาสได้เดินทางไปศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การถอดบทเรียนการจัดการความรู้ในชุมชน ซึ่งท่านผู้อำนวยการธนิต แท่งทองคำ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯชายแดนจังหวัดเชียงราย ได้เชิญไปร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนการจัดการความรู้ในชุมชนในฐานะที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเกาะคา ได้ดำเนินการจัดการความรู้ในชุมชนที่บ้านทุ่งขาม ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ก่อนอื่นต้องของชมเชยท่านผู้อำนวยการธนิต แท่งทองคำที่ได้ริเริ่มได้จัดเวทีครั้งนี้ขึ้นมา อย่างน้อยก็เป็นการจุดประกายครูกศน.ชายแดน ให้มีแนวคิดในการดำเนินการจัดการความรู้ในชุมชน ผู้เข้าร่วมการเวทีครั้งนี้ ประกอบไปด้วยผู้บริหาร และครูกศน.ชายแดน ศูนย์ฝึกฯชายแดนจ.เชียงราย รวมทั้งสิ้น 40 คน การดำเนินการจัดเวทีครั้งนี้ครูชายแดนก็จะมาเล่าสิ่งที่ตนเองได้ไปเสาะแสวงหาความรู้ในชุมชน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง เรื่องที่มาเล่าทั้งหมด 9 เรื่องด้วยกันคือ 1.การทำเครื่องปั้นดินเผา บ้านวังลาว อ.เขียงแสน จ.เชียงราย 2.การทำธุรกิจบ้านตากอากาศ บ้านร่มฟ้าทอง (ภูชี้ฟ้า) 3.การปลูกท้อ บ้านห้วยแม่เกี๋ยง 4.หลู้กระด้าง อาหารพื้นเมืองชนเผ่าขะมุ 5. กบภูเขา 6.การจ้อย ค่าว ซอ และดนตรีพื้นเมือง บ้านแซว 7.โสมเกาหลี ต้นตำรับโสมเกาหลีตังกุ๋ยจับ 8. การดึงเส้น ชาวเขาบ้านบาหลา 9.การเรียนรู้วิถีชวิตการทำเกษตร รายบุคคล บรรยากาศที่ทั้ง 9 กลุ่มได้มาเล่าสิ่งที่ตนเองไปค้นหามา และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้แต่ละคนก็ได้รูปแบบ และแนวทางไปปรับใช้ในชุมชนของตนเอง และท้ายที่สุดท่านผู้อำนวยการธนิต แท่งทองคำ ได้มอบให้ดิฉันได้เล่าประสบการณ์การจัดการความรู้ในชุมชนทุ่งขาม แผนชุมชนบ้านทุ่งขาม และการนำเอาวิถีชีวิตของคนในชุมชน มาจัดเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการหน่วยการเรียนสะสมหน่วยกิต เพื่อยกระดับการศึกษาในชุมชนให้จบระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนตัน และมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะมองให้เห็นว่าการจัดการความรู้ในชุมชน โดยครูกศน. เข้าไปจัดการความรู้ โดยให้ชุมชนมีส่วมร่วมในการคิดพัฒนาชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน เราในฐานะนักจัดการความรู้ ก็สามารถนำเอาสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตจริงของผู้ที่อยู่ในชุมชน มาจัดเป็นหน่วยการเรียนรู้เพื่อสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้ เมื่อครบตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็สามารถยกระดับการศึกษาให้กับผู้ที่อยู่ในชุมชน เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดจากเรื่องที่ต้องการจะเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพของตนเอง ให้มีรายได้มีเศรษฐกิจพอเพียง ท้ายที่สุดสังคมก็จะมีแต่ความสุข สังคมก็จะเป็นสังคมแห่งเรียนรู้ มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ท้ายสุด ท่านผู้อำนวยการธนิด แท่งทองคำ ได้สรุปว่าการจัดการความรู้ในชุมชนของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนเกาะคา ที่ได้มาเล่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน ก็ทำให้มองเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องจัดทำแผนชุมชนร่วมกับชุมชน เพื่อนำไปสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ต่อไป ส่วนการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหน่วยการเรียนรู้สะสมหน่วยกิต นั้นบทบาทของศูนย์ฝึกฯ ชายแดน ไม่สามารถที่จะจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานได้ แต่จะประสานงานกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดต่อไป และในเดือนสิงหาคม 2549 จะนำคณะครู ไปศึกษาดูงานบ้านทุ่งขาม และเรียนรู้วิธีการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหน่วยการเรียนรู้สะสมหน่วยกิต จากศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเกาะคาต่อไป ณราวัลย์ นันต๊ะภูมิ 29 มิถุนายน 2549
หมายเลขบันทึก: 37849เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2006 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท