เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ตอนที่ 2 วันที่นำผลงานเข้าโรงแรมในเมืองหลวง


“ความมีไมตรีจิตมิตรภาพเป็นมิตรซึ่งกันและกันจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว งานสำเร็จ เจ้าของงานประทับใจ นักแสดงได้ทำหน้าที่อย่างมีความสุขเพียงพอแล้วที่จะต่อลมหายใจเยาวชนให้ยืนอยู่บนถนนเพลงพื้นบ้านต่อไปอีกยาวนาน”

เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ

ต่างงาน ต่างสถานที่ มีข้อให้คิด

ตอนที่ 2 วันที่นำผลงานเข้าโรงแรมในเมืองหลวง

แถวอุโมงค์ลอดทาง ถนนรัชดาภิเษก

วันที่ 13 กรกฎาคม 2553

          ผมได้รับการติดต่อจากผู้ประสานงาน เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง (นิสัยดี) บริษัทจัดการแสดงบริษัทหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ให้ผมนำผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้าน (ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว) ไปแสดงบนเวทีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของบริษัทที่จำหน่ายสินค้าในรูปแบบของห้างขนาดใหญ่ที่เปิดสาขาในทุกภาค เกือบทั่วประเทศไทย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 เวลา 14.00 น. แต่การแสดงมีข้อที่น่าสังเกตชวนให้ต้องคิดอย่างหนึ่ง คือ ทีมงานของเราจะต้องร้องในฐานะของสื่อกลางเพื่อที่จะขยายผลในรายละเอียดของการจัดงานในครั้งนี่เท่านั้น

          ความจริงเพลงพื้นบ้านสามารถที่จะแสดงออกมาในรูปของสื่อกลางบอกกล่าวเล่าเรื่องที่เป็นประโยชน์ได้ช่องทางหนึ่งอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะต้องคิดมากยิ่งไปกว่านั้น คือ เรื่องของข้อมูล “เนื้อหาที่จะต้องจัดเตรียมเอาไปนำเสนอ” (ถูกใจผู้จ้าง/วานด้วย) ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่ตามแก้ไขได้ยาก 1 งานก็เจอหนึ่งความคิด เราเป็นผู้เขียนบทอยู่ต้นทาง ไม่อาจที่จะเข้าไปนั่งในหัวใจของปลายทางได้ว่า ท่านต้องการอย่างไร คำใด ข้อความใดบ้าง ตรงไหนร้องได้ ตรงไหนร้องไม่ได้ (ทั้งที่เพลงพื้นบ้านเป็นการแสดงของชาวบ้าน)

          น้องผู้ประสานงานมีความนุ่มนวลในการสื่อสาร มีบุคลิกในการประนีประนอมที่ดี  ผมเป็นผู้เขียนบทร้อง เด็ก ๆ 15 คน ทำหน้าที่ถ่ายทอดบทเพลงพื้นบ้าน ลำตัด เพลงอีแซว บนเวทีการแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนในห้องประชุม โรงแรมระดับ 5 ดาวของเมืองไทย แถวถนนรัชดา ตรงอุโมงค์ลอดถนน ใกล้ ๆ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ผมสอบถามพนักงานของโรงแรมแล้วทราบว่า ค่าบริการ 5,500-12,500 บาท ต่อห้อง ต่อ 1 คืน งานนี้จึงต้องแนะนำคณะนักแสดงว่า จะต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้สถานที่มาก ๆ ด้วย (เรามาจากต่างจังหวัด)

          ผมใช้เวลาเขียนบทไม่นานก็เสร็จเรียบร้อย แต่ก่อนที่จะนำเอาไปให้เด็ก ๆ ฝึกซ้อมจะต้องส่งบทแสดงไปให้ผู้ติดต่อ (เจ้าของงาน) ตรวจความถูกต้องเหมาะสมเสียก่อน งานนี้เจ้าของงานให้มาแค่หัวเรื่อง น้องผู้ที่ติดต่อเขาจึงขยายความโดยใช้ประสบการณ์ของเขา ปรากฏว่า บทไม่ผ่าน ต้องปรับปรุงเกือบทั้งหมด (ผมไม่คิดอะไรมาก เคยเจอมาก่อนแล้ว) น้องคนที่ติดต่อส่งเมล บทแสดงมาให้ผมปรับปรุงตามที่เจ้าของงานอยากให้ต้ดออก เพิ่มเข้าให้เหมาะสม ผมจัดการปรับแก้ไขตามที่น้องเขาให้หัวข้อย่อยมาใหม่ ส่งบทกลับไปเสนออีกครั้ง บทถูกตีกลับมาให้ปรับปรุงอีกครั้ง (ผมรู้สึกท้อใจเล็กน้อย เพราะงานใหญ่ ๆ กว่านี้ยังร้องสด ๆ ได้เลย) แต่ก็ปรับแก้ไปตามที่ผู้เป็นเจ้าของงานต้องการ ความจริงเราเขียนบทตามหัวข้อเรื่องและปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ประสานงานทุกอย่างอยู่แล้ว

          ก่อนที่ผมจะลงมือทำงานนี้ ผมได้ขอให้เจ้าของงาน เป็นผู้ให้รายละเอียดของงานมาด้วยตนเอง แต่การประสานงานเกิดความล่าช้าด้วยเหตุผลใดผมไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ จึงให้งานออกมาขลุกขลัก ทำให้เด็ก ๆ มีเวลาเตรียมการแสดงจริง ๆ เพียง 1 วัน (ท่องจำบทกันไม่ทัน ทำให้การแสดงไม่ลื่นไหล พะวักพะวงมาก)

         

         

         

         

         

         

         

          ปัญหาอย่างนี้เราพบหลายครั้ง ในบางงาน เจ้าของงานให้หัวร้องที่จะทำการแสดงก่อนที่จะออกไปร้องเพียง 20 นาที แล้ววันหนึ่งเด็ก ๆ จะต้องออกไปทำหน้าที่บนเวที 7-9 รอบ รอบละ 5-7 นาที (เป็นการแสดงโดยร้องเพลงพื้นบ้านขยายความ หัวเรื่องบรรยายตลอดการอบรม สัมมนาในห้องประชุม) บางงานเขียนหัวข้อใส่กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ส่งมาให้ผมร้องโดยทันที (ผมทำได้โดยไม่มีปัญหาด้านข้อมูล เรามีประสบการณ์) แต่สำหรับเด็ก ๆ อายุ 12-17 ปี แกยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ในทันทีทันใดยังคงต้องมีครูเป็นผู้ออกแบบ สร้างสรรค์ให้บ้าง (ต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังช่วยจัดการให้)

          ยิ่งเป็นการแสดงต่อหน้าสื่อสารมวลชนแล้วจะต้องมีระเบียบ ภาพที่แสดงออกมาจะต้องราบรื่น แสดงถึงความพร้อม มีความสมบูรณ์เต็มร้อย หาช่องโหว่ไม่พบ หรือพบก็ไม่ทันที่จะเก็บเอามาคิดตำหนิติชมได้ นอกจากข้อเสนอแนะในทางสร้างสรรค์เท่านั้น  งานนี้ก็เช่นกัน ผมนำคณะนักแสดงไปทำการซ้อมคิวบนเวทีการแสดงจริงซึ่งทางผู้จัดเตรียมสถานที่จัดเอาไว้ดีมาก เวทีกว้างใหญ่สมกับมาตรฐานของโรงแรมขนาดใหญ่ เราฝึกซ้อมและปรับท่วงท่า การร้อง การแสดงออก ตลอดจนลีลาท่าทางกันจนเป็นที่พอใจของผู้กำกับเวที ซึ่งน้องเขาก็ให้ความเมตตาเด็ก ๆ เป็นอย่างดี ขนาดว่าเด็ก ๆ นักแสดงของเราผ่านจอทีวีมามากกว่า 100 ครั้ง ผ่านเวทีการประกวดในระดับประเทศมาหลายครั้งจนได้รับโล่รางวัลชนะเลิศเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ระดับประเทศ ปี 2552 ก็ยังมีจุดที่จะต้องปรับปรุงแต่งเติมให้น่าดูยิ่งขึ้นสำหรับในแต่ละงาน  

          ปัญหาต่าง ๆ ที่มีผู้ผูกปมมาให้เราเป็นฝ่ายแก้ไข หากมีการประสานงานที่ดี มีปฏิสัมพันธ์ที่ปรองดอง ปัญหาที่จะตามมาก็ลดน้อยลงหรือไม่มี “ความมีไมตรีจิตมิตรภาพเป็นมิตรซึ่งกันและกัน จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว งานสำเร็จ เจ้าของงานประทับใจ นักแสดงได้ทำหน้าที่อย่างมีความสุข เพียงพอแล้วที่จะต่อลมหายใจเยาวชนให้ยืนอยู่บนถนนเพลงพื้นบ้านต่อไปอีกยาวนาน”

 

ติดตามตอนที่ 3 เพลงอีแซวด้นกลอนสดทักษิณานุปทาน ที่วัดโพธิญาณ จ.พิษณุโลก

ชำเลือง มณีวงษ์  ประธานกลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว ต้นแบบประเทศไทย

                       รุ่นที่ 1 กิจกรรมนันทนาการดีเด่น (ด้านดนตรี)

                       กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2553

หมายเลขบันทึก: 378342เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ครูอ้อย มาเป็นแรงเชียร์ ชื่นชมด้วยใจจริงค่ะ

เด็กเก่ง ครูดี เป็นศรีสุพรรณ และชาติไทย

สวัสดี ครับครูอ้อย

  • ขอบคุณมาก ที่เข้ามาให้กำลังใจคนรุ่นเก่า
  • คุณครูสบายดีนะครับ ไม่ได้พบกันนานพอสมควร (คิดถึงทุก ๆ คน)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท