โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม 25


“แม้ร่างยังมีไข้อยู่เล็กน้อย แต่หัวใจกลับมิมียามใดสมบูรณ์กว่านี้อีกแล้ว”

หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม 25

โสภณ เปียสนิท

........................................

“แม้ร่างยังมีไข้อยู่เล็กน้อย แต่หัวใจกลับมิมียามใดสมบูรณ์กว่านี้อีกแล้ว” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า165)

 

ภาษิตไทยว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ตรงกับเนื้อความนี้เช่นกัน ผู้ที่ผ่านการฝึกจิตอย่างดีสามารถแยกกายกับจิตจากกันได้ ตามหลักวิชาทางพุทธศาสนา แม้ปัจจุบันหลักการนี้ยังเชื้อเชิญให้ผู้สนใจมาพิสูจน์ แต่ไม่ค่อยมีการพิสูจน์ หรือมีก็น้อยมาก น่าจะเสนอให้มีการนำหลักการนี้มาพิสูจน์และใช้ประโยชน์ให้จริงจังมากขึ้น

“ห้ามอย่างไรก็ไม่ยอมเชื่อฟัง กลับยอมลดตำแหน่งเป็นปราชญ์แพทย์ยูอึย แต่ครานี้กลับได้ปลาใหญ่กลับมา คนของกองเนกึมวี ไปที่ใดก็ย่อมฉายแสงเสมอ” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า172)

 

                จองโฮมีความรักแท้ต่อจังกึมจนยอมเสียสละตำแหน่งใหญ่โตขึ้น ขอรับตำแหน่งต่ำลงเพื่อให้มีโอกาสได้ดูแลจังกึม แต่ระหว่างนั้นกลับทำหน้าที่สืบสวนหาข้อมูลการทุจริตจนได้ จึงกลับเป็นความดีความชอบอีกด้านหนึ่ง ตำแหน่งนั้นสำคัญ แต่แม้ไม่มีตำแหน่งผู้มีความสามารถและตั้งใจก็ทำงานสำคัญได้เช่นกัน

“แม้นางเป็นผู้ก่อการไล่มารดาเจ้าและซังกุงฮันออกจากวัง แต่จงอย่านำอารมณ์ส่วนตัว ปะปนกับงานในหน้าที่ของเจ้า” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า175)

 

                คำสอนนี้เกี่ยวข้องกับวุฒิภาวะทางอารมณ์ได้อย่างน่าเอาเป็นแบบอย่าง เมื่อทำงานให้รับผิดชอบหน้าที่ก่อน ส่วนเรื่องส่วนตัวนั้นให้ระบบยุติธรรมทำงานไปเอง การรู้จักแยกแยะเช่นนี้ทำให้งานในหน้าที่ดำเนินไปโดยไม่ติดขัด แม้ผู้สอนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตน แต่จังกึมยังเรียนรู้การควบคุมอารมณ์อย่างดี

“แม้เป็นเรื่องจริงที่ไม่ต้องสงสัย แต่ที่สงสัยคือเจตนาที่ใช้ตน แล้วเหตุใดจึงกล่าวเรื่องนี้ในเวลาเช่นนี้ ต่อไปจึงกึมผู้รับหน้าที่ดูแลอาการของซังกุงชเว” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า175)

 

                การดูแลรักษาอาการไข้ให้กับบุคคลที่เป็นศัตรูท้าทายคุณธรรมแห่งความเป็นแพทย์มืออาชีพอย่างยิ่ง แต่จังกึมผ่านบททดสอบนี้อย่างไม่ยากเย็นนัก การรักษาคนไข้เป็นหน้าที่ของแพทย์ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ในฐานะใด ไม่ว่ามิตรหรือศัตรู

“อย่างไรตนก็มิต้องการทำร้ายซังกุงชเว สิ่งที่จังกึมต้องการมิใช่ความตายของนาง หากแต่เป็นการล้างมลทินแก่มารดา และซังกุงฮัน ต้องการให้คนทั่วแผ่นดินได้รับรู้ถึงความคับแค้นใจของสตรีทั้งสอง” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า176)

 

                นรกและสวรรค์มีเส้นแบ่งบางเบาแค่เส้นขน เหมือนเหรียญสองด้านหัวและก้อย ถูกและผิดก็เช่นกัน การทำร้ายซังกุงชเวเป็นความผิด การล้างมลทินให้แม่และอาจารย์เป็นความกตัญญู แม้ผลลัพธ์เหมือนกันคือซังกุงชเวต้องถูกลงโทษ แต่ความตั้งใจกับต่างกันเหมือนนรกและสวรรค์ หรือเหมือนฟ้ากับเหว

“จังกึมครุ่นคิดก่อนส่ายศรีษะโดยแรง ซังกุงฮันมิใช่คนที่ปล่อยให้ความแค้นกัดกร่อนหัวใจ คงเป็นเพราะต้องการใช้ฝีมือของตนขึ้นเป็นซังกุงสูงสุด เพื่อสานความฝันของตน และสหายเป็นแน่” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า191)

 

                ความคิดในแง่บวกมีคุณแก่ชีวิตของคนทุกคน ซังกุงใช้ฐานความเป็นคนดีของตนทำความเข้าใจความคิดของอาจารย์ครั้งอดีต เพราะการอยู่ร่วมกันกับอาจารย์เป็นเวลายาวนานย่อมเข้าใจความรู้สึกของอาจารย์ได้ดี ความโกรธแค้นเหมือนไฟ (โทสัคคิ) ใกล้สิ่งใดทำลายสิ่งนั้น จังกึมคิดได้ว่า อาจารย์ของตนเองฉลาดพอที่จะไม่ปล่อยให้ไฟความแค้นเผาลนตัวเองแน่

“นับเป็นช่วงเวลาที่จังกึมรู้สึกสงบและเป็นสุขที่สุด ยอนเซ็งและอึนบี มีสหายรู้ใจทั้งสองคน ที่หอเนอึยวอนมีจองโฮ ที่กองเนกึมวีมีอิลโด ที่สภาซอนอึยกัม มีอุนแพก มิมีวันใดที่แข็งแรงมั่นคงกว่านี้อีกแล้ว” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า195)

 

                เวลาแห่งความสุขแสนสั้น จังกึมผ่านความทุกข์ยากมานานที่สุดยังมีโอกาสรู้สึกสุขเหมือนคนอื่นเช่นกัน การมีเพื่อนมีญาติมีคนคุ้นเคยก่อให้เกิดความสุขในใจ ชีวิตช่วงนี้จังกึมวนเวียนอยู่สองสามแห่ง ในวังมียอนเซ็งเป็นคนใกล้ชิดองค์ราชา ทางการแพทย์มีอึนบีเป็นเพื่อนร่วมคิด หอสมุดมีจองโฮคอยอำนวยความสะดวก กองทหารรักษามหาดเล็กรักษาพระองค์มีน้องต่างมารดาบิดา สภาแพทย์มีอุนแพก น่าอบอุ่นยิ่งนัก

“เป็นเช่นนั้น ในฤดูใบไม้ผลิยามนี้ มิมีผักใดไม่ใช่อาหาร และไม่มีหญ้าใดมิใช่สมุนไพร” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า195)

 

                ความเป็นจริงเรื่องของอาหารและยาเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป คำสอนของหลวงพ่อพุทธทาสเป็นจริงเสมอ “ในโลกนี้มิมีสิ่งใดเลว มีแต่อะไรเป็นประโยชน์กับอะไร” ผักทุกชนิดเป็นอาหารได้ หญ้าทุกชนิดเป็นยาได้ ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องและพอดีจึงดี

“บรรดาราษฏรจึงล้วนยินดีต่อการมาของฤดูใบไม้ผลิ กระทั่งก่อนอาทิตย์ฉายแสง ทุกคนพากันขึ้นเขาหาผักทานเพื่อปลุกปลอบท้องไส้หิวโหย ทั้งยังขุดหญ้าเพื่อตากแห้งใช้รักษายามเจ็บป่วย” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า196)

 

                ฤดูกาลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาวบ้านธรรมดา เหมือนธรรมชาติมีความเอื้ออาทรต่อคน ผ่านฤดูแล้งอันยากไร้ ผ่านฤดูหนาวอันเยือกเย็น สู่ฤดูใบไม้ผลิอันสดใส บนภูเขามีผักใช้แก้ความหิว ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง และยังมีสมุนไพรใช้ทำยารักษาโรค พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แต่คนธรรมดาที่ไหนจะไร้โรค

“มีหลายโรคที่มองเพียงใบหน้าก็ทราบดี ดังนั้น จึงกล่าวกันว่า แพทย์มือหนึ่งนั้น ทราบโรคจากเสียงพูด แพทย์มือสองนั้นทราบโรคจากสีหน้า ส่วนเรานั้นกระทั่งแมะหลายครายังงุนงง คงเป็นได้เพียงแพทย์มือสามเท่านั้น” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า197)

 

                การถ่อมตนเป็นคุณธรรมของผู้มีจิตใจสูง คำพระสอนว่า การถ่อมตนเป็นมงคล (นิวาโต) อุนแพกพัฒนาจิตของตนสูงขึ้นจนเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน ตามหลักการสูงสุดคืนสู่สามัญ พระสารีบุตรถ่อมตนโดยเปรียบองค์ท่านเองเหมือน แผ่นดิน เสาเขื่อน ผ้าขี้ริ้ว ภาษิตไทยสอนให้ดูรวงข้าวที่มีข้าวเต็มโน้มรวงลงสู่ดิน

“การอ่านจิตใจผู้ป่วย สุดท้ายย่อมเป็นการอ่านความคิดอ่านผู้คน เช่นนั้น การอ่านหรือรักษาโรคนั้น มิมีเคล็ดลับใด เป็นการเฉพาะ สุดท้าย ย่อมมิอาจใช้เพียงความรู้ที่มนุษย์ร่ำเรียนมาได้เสมอไปเจ้าจึงต้องสามารถรับฟังเสียงจากด้านในของตนเอง” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า197)

 

                การอ่านความคิดคือความเข้าใจความต้องการของคน สุดท้ายแล้วการรักษาผู้ป่วยในวงการแพทย์กลับกลายเป็นการพัฒนาจิตของแพทย์เองให้สามารถอ่านจิตใจผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง

“ท่านให้เป็นแพทย์หญิง ข้าน้อยก็เป็นแพทย์หญิง ต่อมาให้เป็นเซียนเทพ ให้เป็นหญ้าคือเรียง วันนี้ใต้เท้าให้เป็นมากกว่าเซียนเทพ มิใช่หรือไร?”  (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า199)

 

                การสั่งสอนของครูอาจารย์มีกลวิธีอันแยบยลหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าครูอาจารย์จะเห็นว่าแต่ละวิธีนั้นเหมาะสมกับใครในช่วงเวลาใด อุนแพกสอนจังกึมจากง่ายไปหายาก แรกเริ่มสอนให้จังกึมเป็นแพทย์หญิงธรรมดา ต่อมาขยับให้ยากขึ้นให้เป็นเซียนเทพ สุดท้ายสอนยกระดับให้จังกึมสามารถรักษาคนด้วยการอ่านโรคจากการอ่านความคิดของคนไข้

“เช่นนั้นให้เจ้าเป็นทุกสรรพสิ่ง เจ้าจักเป็นผู้ใดก็ได้ต่อให้เป็นผู้ใดก็มิเสียหายอันใด เนื่องเพราะต่อให้ทำสิ่งใดเจ้าก็ยังคงทำประโยชน์ให้แก่ผู้คน”  (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า199)

 

                การทำประโยชน์แก่ผู้อื่นคือหัวใจสำคัญของคำสั่งสอนนี้ ปฏิบัติตามแนวทางนี้เป็นความประพฤติของโพธิสัตว์ อุนแพกผู้เป็นอาจารย์ศึกษาจังกึมจนมองเห็นก้นบึ้งของจิตใจส่วนลึกแล้ว มั่นใจวางใจว่าไม่ว่าอย่างไรศิษย์คนนี้จะมีชีวิตอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่แปรเปลี่ยน

หมายเลขบันทึก: 378286เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ยิ่งอ่านยิ่งได้พลัง ได้กำลังใจจากการอ่านบันทึกนี้
  • มีคุณค่าทุกบันทึกที่อ่านมา
  • จะเก็บเกร็ดดีดี  ตรงที่คำอธิบาย สกัดข้อคิดออกมาอย่าง แยบยล
  • ชื่นชอบ ✿อุ้มบุญ✿

เรียนคุณอุ้มบุญครับ

แยบยลตามหลักธรรมของพระ เพียงแต่ว่า ผมไม่อาจบรรยายให้ซาบซึ้งไปกว่านี้ได้อีด ต้องศึกษาต่ออีกมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท