ธรรมะอารมณ์ดี : แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ท่านอาจารย์เบดูอิน ศาสนสัมพันธ์ (พุทธ&อิสลาม)


“สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับชาวพุทธ...ที่เบดูอิน(ซึ่งเป็นมุสลิม)เห็น”

ธรรมะอารมณ์ดี : แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ท่านอาจารย์เบดูอิน ศาสนสัมพันธ์ (พุทธ&อิสลาม)

 

         ธรรมะสวัสดีท่านอาจารย์ เบดูอิน  ช่วงนี้มีศาสนกิจมากจึงไม่ค่อยได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ได้อ่านบันทึกของอาจารย์ เรื่อง “สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับชาวพุทธ...ที่เบดูอิน(ซึ่งเป็นมุสลิม)เห็น” ก็มีความเห็นแลกเปลี่ยนอยู่ ๒ – ๓ ประเด็น  แต่คงจะแลกเปลี่ยนในเฉพาะเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นหลัก

         ในประเด็นที่ ๑  ต้องขออนุโมนาในกุศลจิต ที่ท่านอาจารย์ได้แสดงความเป็นห่วงต่อพี่น้องชาวพุทธ ยิ่งได้อ่านบันทึกนี้ก็ยิ่งเห็นความเป็น “ศาสนสัมพันธ์” ของท่านอาจารย์ที่เด่นชัดมากขึ้น และหวังว่าความเป็นห่วงของอาจารย์ครั้งนี้  จะเป็นบทสะท้อนของเพื่อนต่างศาสนา ที่จุดประกายความคิดให้พระสงฆ์นักการศาสนา พ่อแม่ ครู  สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ทบทวนบทบาทและหน้าที่ของตนเพื่อการแก้ปัญหาอย่างร่วมมือร่วมใจ ซึ่งต้องยอมรับว่า สิ่งที่อาจารย์เป็นห่วงและเขียนในบันทึกนั้น เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมของเรามานานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็คิดว่ามีหลายส่วนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหามาบ้างแล้ว แต่ปัญหาที่ว่านี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่มีภาพกว้าง ซับซ้อน ถึงขั้นปฏิรูปกันทีเดียว (ในความเห็นส่วนตัวของอาตมา) 

  ประเด็นที่ ๒   ศาสนาเป็นเพียงพิธีกรรม หรือ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต 

       อาตมาก็เห็นด้วยกับพระคุณเจ้ารูปนั้น ว่าความเป็นศาสนาของ “พุทธศาสนา” เป็นวิถีการดำเนินชีวิต (way of life) เพียงแต่พุทธศาสนิกชนบางส่วน (แต่จะส่วนมากหรือส่วนน้อย ก็ลองพิจารณากันดู) ได้เน้นไปให้ความสำคัญกับพิธีกรรมทางศาสนา จนบางทีละเลยที่จะสนใจในเรื่องหลักธรรมที่เป็นหลักพื้นฐานทางศาสนาซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้  ซึ่งเราจะเห็นว่า  หลักการปฏิบัติพิ้นฐานของชาวพุทธ ก็สวนทางกับวิถีชีวิตของชาวพุทธในปัจจุบัน  ซึ่งในประเด็นนี้อาตมาคิดว่า  เรื่องการปฏิบัติตนของศาสนิกชนที่สวนทาง หรือ ขัด กับคำสอนทางศาสนานั้น คงจะเกิดขึ้นในทุกศาสนา ไม่ว่า พุทธ  คริสต์  อิสลาม ฮินดู  เพียงแต่จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลหลายประการ  เช่น การเผยแผ่และการทำงานเชิงรุกของนักบวชในศาสนานั้นๆ ความเคร่งครัดในการนับถือศาสนา   หรือแม้การไหลบ่าเข้ามาของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนและการสำนึกรู้ต่อหน้าที่ในฐานะศาสนิกชนในแต่ละคนเป็นสำคัญ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ขององค์กรศาสนาแต่ละศาสนาที่จะต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทในการทำหน้าที่ของตนให้มากชึ้น

ประเด็นที่ ๓  เรื่องการทำข้อสอบวิชาพระพุทธศาสนาของนักเรียน 

       ที่ท่านอาจารย์ตกใจมากที่นักเรียนพุทธทำวิชาพระพุทธศาสนาไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นพื้นฐานง่ายๆ เป็นวิถีชีวิต ที่คนพุทธไม่ว่าพ่อแม่ ตัวเด็กเองต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งอาจารย์สรุปว่า เด็กรู้จักบอลโลก ดารานักร้อง มากกว่าศาสนาพุทธของตัวเองนั้น  ทำให้อาตมานึกถึงวันหนึ่ง ขณะที่สอนวิชาพระพุทธศาสนา แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษานตอนปลาย วันนั้น อาตมาสอนเรื่องวันวิสาขบูชา กำลังจะเขียนเนื้อหาบนกระดานดำ เด็กนักเรียนคนหนึ่งยืนขึ้นแล้วกล่าวว่า  “พระอาจารย์ครับ ผมเรียนเรื่องวันวิสาขบูชามาตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา ผมเรียนซ้ำอย่างนี้ทุกปี”   อาตมาคิดในใจว่า ก็ใช่ของเด็ก ในแต่ละครั้งในการสอนธรรมะแก่เด็กนักเรียน เราจะยกตัวอย่างการอธิบายวันวิสาขบูชา ให้เด็กนักเรียนจะรู้ว่า 1. วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน 2. ตอนเย็นไปเวียนเทียน  ฯลฯ แต่เราไม่เคยวิเคราะห์ หรือ ถอดรหัสวันวิสาขบูชาให้เด็กนักเรียนหรือแม้แต่ชาวพุทธทั้งหลาย ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในสาระสำคัญของวันวิสาขบูชาในอีกมุมมองหนึ่งว่า “วันวิสาขบูชา เป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตอย่างมีคุณค่า”  อาตมาจึงเกิดแรงบันดาลใจในการถอดรหัสวันวิสาขบูชา เพื่อชวนให้นักเรียนได้เรียนรู้การพัฒนาชีวิตอย่างมีคุณค่า ผ่านการประสูติ  ตรัสรู้ และปรินิพพาน

          ซึ่งเรื่องที่เล่ามานั้นก็สะท้อนให้เห็นหลายอย่าง  เช่น  ความล้มเหลวของการจัดการศึกษาในสังคมไทยซึ่งจะเห็นได้ว่าค่านิยมการส่งเสริมให้เด็กเก่งในเรื่องวิชาการ  เด็กจะมีความรู้สึกว่า ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง ๘ กลุ่มสาระ กลุ่มสาระสังคมศึกษา  ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นกลุ่มสาระที่เด็กนักเรียนให้ความสำคัยน้อยที่สุด (ในความเห็นของอาตมา ผิดถูกประการต้องขออภัย) ในด้านของนักการศาสนา หลายครั้งที่เรานึกชื่นชมในเคร่งครัดของเพื่อนต่างศาสนาว่ามีความมั่นคงต่อศาสนาของตน ซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งในการปลูกฝังคุณธรรมแก่ศาสนิกชน  แต่ในส่วนพุทธศาสนาแล้วเราอาศัยการเกิดขึ้นของศรัทธาของผู้ปฏิบัติเป็นที่ตั้ง คือ ถ้าเห็นว่าดี ก็เข้ามาศึกษา จึงอาจทำให้รู้สึกว่าความเคร่งครัดของชาวพุทธหย่อนยานไปบ้าง 

          ในส่วนของผู้ปกครองนั้น  ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ว่าโลกเจริญขึ้นทางวัตถุ ทำให้เวลาและการดูแลเอาใจใส่ต่อลูกของครอบครัวลดลงเป็นอย่างมาก  ซึ่งจริงๆแล้วอาตมาเห็นว่า ครอบครัว เป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการปลูกฝังคุณงามความดี หลักการปฏิบัติทางศาสนาได้ดีที่สุด  แล้วถ้าจำไม่ผิดสมัยอาตมาเป็นเด็กก็เป็นเช่นนั้น  คือ  พ่อแม่พาไปวัด  สอนให้ไหว้พระ  กราบพระ  สวดมนต์  ทำบุญตักบาตร สอนว่าอันนั้นควร  ไม่ควร ก่อนที่พระสงฆ์ท่านจะสอนเสียอีก  ในสมัยนี้ไม่ทราบว่าบทบาทตรงนี้ของครอบครัวยังมีการปฏิบัติกันบ้างหรือไม่ในครอบครัว

           ว่ากันมาซะเนิ่นนาน  ก็หวังว่าบันทึกจะช่วยบันทึกของอาจารย์ในการสะท้อน และจุดประกายให้พระสงฆ์นักการศาสนา  พ่อแม่ ครู สถาบันการศึกษา  หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ตอบโจทย์ที่ว่านี้ กันอีกแรง ในขณะที่เขียนบันทึกนี้ อาตมาก็หาวิธีตอบโจทย์นี้ เหมือนกัน  ครับท่านอาจารย์

หมายเลขบันทึก: 378248เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 02:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • พระคุณเจ้าครับ ผมจะนำการแสดงความเห็นของท่านเป็นบันทึกใหม่ครับ
  • ชื่นชมครับ กับสานสัมพันธ์อันที่จะเกิดในศาสนา

    ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท