002 Genomic Selection เคยได้ยินไหมครับ คำนี้


ความรู้ที่มีจะเอาไปใช้อะไรได้บ้างไหมหนอ....กับการเกษตรของประเทศไทย

Genomic selection การคัดเลือกโดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของพืชหรือสัตว์ เคยได้ยินกันบ้างไหมครับ หลาย ๆ ท่านที่ทำงานอยู่ในแวดวงวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์คงคุ้นเคยกันพอสมควร แต่สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินหรือเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง

วันนี้ผมลองสรุปข้อมูลที่มีในหัวออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ของตัวผมเอง และมองอนาคตให้กับสิ่งที่ตัวเองร่ำเรียนอยู่ ว่าความรู้ที่มีจะเอาไปใช้อะไรได้บ้างไหมหนอ....กับการเกษตรของประเทศไทย

การอธิบายที่อาจจะทำให้เข้าใจง่ายที่สุดเลยก็คงต้องยกตัวอย่างซักเล็กน้อยนะครับ เอาเป็นว่าสมมุติว่าผมต้องการเลือกหมูมาทำพันธุ์ซักตัวหนึ่ง สมัยก่อน ๆ ก็ต้องเลือกดูเอาว่าหมูตัวไหนกินอาหารน้อย แต่โตเร็ว  ไม่ค่อยเป็นโรค และมาจากครอบครัวที่ดีมีพี่น้องเยอะและรวมถึงปัจจัยอื่น ๆหลาย ๆ อย่างมาร่วมพิจารณา เราก็ต้องจดบันทึกข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ เพื่อใช้ในการคัดเลือก

แต่ปัจจุบันเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็เหมือนกับในคนครับ อยากรู้ว่าใครเป็นลูกใครเขาก็ดูได้จากการตรวจ ดีเอ็นเอ หมูก็เหมือนกันครับ เพราะ...ไอ้ดีเอ็นเอ หรือข้อมูลทางพันธุกรรมเนี่ย นักวิทยาศาสตร์เขาเชื่อว่ามันเป็นตัวกำหนดลักษณะการแสดงออก (ร่วมกับสิ่งแวดล้อม) พูดง่าย ๆ ก็คือ หมูจะตัวเล็กตัวใหญ่ จะโตเร็วโตช้า ส่วนหนึ่งนั้นมันขึ้นอยู่กับพันธุกรรมที่ดูได้จากดีเอ็นเอ นั่นเองครับ

ซึ่งมันก็แปลว่าเราสามารถเลือกเอาซุปเปอร์หมู หรือมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทุกประการตามที่เราต้องการ ได้โดยอาศัยข้อมูลดีเอ็นเอหรือใช้ดีเอ็นเอเป็นมาร์คเกอร์นั่นเองครับ ทีนี้จะเอาข้อมูลนั้นมายังไง..ผมคงไม่ลงรายละเอียด

ย้อนกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันดีกว่าครับ..การใช้วิทยาการด้านนี้ในสัตว์มีการศึกษากันมานานพอสมควร และเริ่มใช้กันจริง ๆ จัง ๆ แล้วในแบบอุตสาหกรรม และก็ต้องยกนิ้วให้กับบริษัท Hypor ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ครับ เป็นบริษัทแรกที่เริ่มใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ไก่ครับ...หลังจากนั้นมาก็เริ่มมีการใช้ดีเอ็นเอมาร์คเกอร์ในหมู วัว ม้า และสัตว์เศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมาติด ๆ ครับ

ดังนั้น การศึกษาและงานวิจัยด้านนี้เลยมีอย่างแพร่หลาย ทั้งยุโรป อเมริกา และแม้กระทั่งในเอเชียโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่นครับ....บ้านเราเองประเทศไทย เราก็ไม่น้อยหน้าครับ มีคนไทยเราเรียนจบปริญญาเอกทางด้านนี้เยอะมากพอสมควรครับ ซึ่งตอนนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั่นเอง

ทีนี้กลับไปที่คำถามที่ผมถามตัวเองไว้ครับว่า แล้วความรู้ที่มีอยู่จะเอาไปใช้อะไรได้บ้างไหมหนอ.... เท่าที่ได้เห็นรุ่นพี่มาแล้วก็เสียวสันหลังอยู่เหมือนกันครับว่า ความรู้ของเราด้านนี้อาจต้องเก็บเอาไว้...ลึก ๆ หรือถ้าได้ใช้ก็เอาไว้สอนเป็นรายวิชาหนึ่ง ในภาควิชาไปซะ มันอาจจะเหมือนความคิดเด็ก ๆ ตอนสมัยเรียนม.ปลายที่ว่าเรียนฟิสิกส์และเคมีแล้วคิดว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้.....คณิตยังช่วยนับเงินบวกลบคูณหาร แต่แล้วก็มารู้ภายหลังว่าฟิสิกส์และเคมีนั้นสำคัญมากแค่ไหนอะไรประมาณนั้น ถ้าจะเอาความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์กันจริง ๆ จัง ๆ ที่บ้านเรา......อาจต้องทบทวนความรู้ ทบทวนตัวเอง กันอีกเยอะเลยทีเดียวครับ เพราะผมมักจะมีคำถามกับตัวเองเสมอครับว่าถ้ามีคนมาเรียนเพื่อที่จะออกไปทำงานบริษัท ความรู้เรื่องนี้มีความจำเป็นมากขนาดไหนตามมาเสมอ ๆ ครับ แล้วผมจะทำยังไงกับอนาคตนักวิทยาศาสตร์เกษตรของไทยของผมดี ฮ่า ๆ ....ตอนนี้เหมือนตัวเองขาดแคลนความรู้อีกเยอะเลย อาจต้องได้เรียนเพิ่มเติมอีกมากโข เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอไปนั่งคิดอนาคตให้ตัวผมเองก่อนนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #หมู
หมายเลขบันทึก: 378247เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ

เมืองไทยยังต้องการคนรุ่นใหม่ พร้อมวิทยาการและความสามารถอีกมากครับ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ

ขอบคุณครับ นำสิ่งดีๆ แบ่งปันความรู้

ขอบคุณที่ให้กำลังใจครับพี่ท่านทั้งสอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท