มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น

สถานการณ์สังคมไทย และปัญหาทางการศึกษา


ความขัดแย้งของสังคมไทย  

ท่าน ศ.น.พ.ประเวศ  วะสี  ได้ให้ความคิดเห็นต่อความขัดแย้งของสังคมไทยไว้อย่างชัดเจน ในหนังสือชื่อ  ประชาธิปไตยชุมชน รากฐานของการเมืองสมานฉันท์และการเมืองคุณธรรม. ซึ่งเป็นพิมพ์โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๐ ว่า

..”สังคมไทยกำลังวิกฤติสุด ๆ และเสี่ยงต่อการหลุดเข้าไปสู่ความรุนแรง นองเลือด เพราะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม นานเกินไป 

ขณะนี้คนไทยขัดแย้งกันเองทางความคิดอย่างรุนแรง อย่างไม่เคยมีมาก่อน และยังมองไม่เห็นอะไรหรือใครที่จะมารทำให้เกิดความปรองดองได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมไทยติดอยู่กับมายาคติหลายอย่างทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ 

กุญแจสำคัญของความร่มเย็นเป็นสุขและความยั่งยืน คือ ทำให้ส่วนล่างของสังคมแข็งแรง และเชื่อมโยงข้างบนกับข้างล่าง  

ขอให้เพื่อนคนไทยทุกภาคส่วน และทุกองค์กรพยายามทำความเข้าใจและส่งเสริมประชาธิปไตยชุมชนกันให้มาก ๆ เพราะอาจเป็นทางสร้างการเมืองสมานฉันท์ และการเมืองคุณธรรม เพื่อป้องกันความรุนแรงนองเลือด และความล่มสลายทางอารยธรรมที่อาจเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ..”

 

ความจริงแล้ว รูปธรรมของความขัดแย้งที่รุนแรงถึงระดับนองเลือดดังกล่าวข้างต้น ได้มีปรากฎชัดเจนมาโดยตลอดในสังคมไทย แต่เป็นความรุนแรงที่เป็นสถานการณ์เฉพาะ ไม่ต่อเนื่อง และไม่มีการจัดตั้งเป็นขบวนการอย่างชัดเจนมากนัก  ประเทศไทยเริ่มมีความรุนแรงที่แสดงถึงความขัดแย้งของคนในชาติ และจัดทำเป็นขบวนการชัดเจนต่อเนื่องในสถานการณ์ของสามจังหวัดชายแดนทางภาคใต้ เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา และเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอีกระลอก ในความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม  และก่อเกิดการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙  เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และสิ้นสุดการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงถึงความรุนแรงในระดับสูงสุดถึงขั้นการจราจลเผาเมืองในใจกลางของประเทศ และส่งผลสะเทือนต่อจิตใจต่อคนไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แม้เหตุการณ์จะดูเหมือนว่ามีความสงบเกิดขึ้นแล้ว ความรุนแรงได้ยุติแล้ว แต่ประชาชนชาวไทย ยังคงหวาดหวั่นกับความรุนแรงดังกล่าว และยังไม่ไว้วางใจต่อการจะเกิดความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง หากว่าไม่สามารถจะสร้างความปรองดองกันได้อย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

อะไรเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดทำให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงของสังคมไทย และจะเริ่มต้นอย่างไร ที่มีพลังมากที่สุดต่อการสร้างความปรองดองของคนในชาติ นับเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุดของผู้บริหารประเทศ นักวิชาการ และผู้ปรารถนาความสงบสุขของประเทศชาติทุกคน  แต่ก็มิได้เป็นการง่ายนัก ที่จะเห็นตรงกัน สอดคล้องกัน และความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหาประเทศร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่ถูกตั้งคำถาม  การจัดการศึกษาของประเทศ อาจจะสร้างกรอบความคิดให้กับคนในสังคมไทย ให้เกิดการแข่งขัน การเอาชนะ สร้างการได้เปรียบ จนกลายเป็นต้นเหตุของการคอรัปชัน การทุจริต การทำร้ายผู้อื่น เพียงเพื่อให้ได้เปรียบและได้โอกาสมากกว่าคนอื่นในสังคม เป็นต้น การปฏิรูปการศึกษา จึงเป็นแนวทางที่สำคัญเรื่องหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทย

ข้อเสนอด้านการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา ของคณะทำงานด้านการปฏิรูปประเทศไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญไว้ว่า “การปฏิรูปการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดที่ยอมรับความแตกต่าง ปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ และหน้าที่ โดยเฉพาะสำนึกในความเป็นพลเมือง  และประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคม การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกัน จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิด วิเคราะห์และศักยภาพในการใช้ความคิดในทางสร้างสรรค์  การจัดโครงสร้างหลักสูตรที่เอื้อต่อการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม และการสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทัน”

 

ปัญหาด้านการศึกษาของชาติ

ผศ.ดร.บุญเลิศ  มาแสง ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาระบบการศึกษาของประเทศไทย ในเอกสาร “โครงการจัดการศึกษาตลอดชีวิต สำหรับประเทศไทย” (มกราคม ๒๕๕๓) ซึ่งสรุปสาระสำคัญ คือ

๑.     การศึกษาที่เน้นการเรียนหนังสือเก่ง เพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทำให้เยาวชนมีทัศนะและวิสัยทัศน์คับแคบในโลกของความเป็นจริง และการหล่อหลอมมอมเมาเยาวชนไทยด้วยเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีมากเกินไป จนดูเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่พร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของลูกหลานของตนได้ นอกจากนั้น เยาวชนไทยเมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียน ยังถูกหล่อหลอมด้วยความรู้ ความคิด และค่านิยมไปตามกระแสของสังคมจนละเลยและไม่ผูกพันกับชุมชขน ถิ่นฐานบ้านเกิดและครอบครัว และไม่คิดหวนกลับไปดำรงชีวิตในชุมชนของตนเอีก เป็นผลให้สถาบันครอบครัวและชุมชนอ่อนแอลงอย่างชัดเจน จนสามารถกล่าวได้ว่าระบบการศึกษาทำลายกระดูกสันหลังของประเทศ

๒.     ระบบการศึกษาละเลยปล่อยให้ระบบอุดมศึกษา มีบทบาทแทรกแซงถึงปรัชญาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนดูเหมือนว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานมิได้มีความหมายใด ๆ ในตัวเอง นอกจากเป็นบันไดสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา ในขณะที่ระบบอุดมศึกษาเกือบไม่มีบทบาทเลยในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับรากฐาน หรือกระดูกสันหลังของประเทศ 

สถาบันอุดมศึกษา ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน หรือทำให้กระดูกสันหลังของชาติให้อ่อนแอลง โดยการดึงเยาวชนออกจากชุมชนชนบทสู่ชุมชนเมืองอย่างถาวร ทั้งยังไม่มีบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นและภูมิปัญญาต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตไทย เน้นไปที่ศาสตร์สากลและสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แข่งกันผลิตบัณฑิตสาขาเหล่านี้จนล้นงาน เกิดปัญหาระดับชาติคือ “คนว่างงาน”

๓.      ระบบการศึกษาสร้างความอ่อนแอให้กับเยาวชน ทำลายสถาบันครอบครัว วัฒนธรรมท้องถิ่นกำลังล่มสลาย ชุมชนชนบทนับวันจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ชุมชนเมือง เมืองใหญ่และกรุงเทพมหานคร ก็ต้องเผชิญกับปัญหาสารพัด ทั้งความแออัดของประชาชขน การจราจร การแก่งแย่งทำมาหากิน โจรผู้ร้ายและอาชญากรรม ยาเสพติด

๔.     ระบบการศึกษาละเลยการศึกษาภาคประชาชน โดยการให้ชุมชนเป็นฐาน หรือชุมชนเสมือนโรงเรียน เรียนรู้ในชุมชน  ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๙ ได้บัญญัติชัดเจนว่า “ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน”  

การศึกษาของประเทศไทย ยังมุ่งที่จะให้ความสนใจที่เยาวชนและคนหนุ่มสาว เพื่อเตรียมคนเข้าสู่กำลังแรงงานทั้งในภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน  แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่อยู่ในภาคเกษตร ภาคแรงงานรับจ้างทั่วไป ภาคครัวเรือน หรือภาคประชาชนและภาคประชาสังคม กลับไม่ได้รับความสนใจที่จะจัดบริการให้การศึกษาอย่างจริงจัง เพราะประชาชนเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในสังกัดหรืออยู่ในเครือข่ายของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมที่เป็นกลุ่มอาสาสมัคร และเป็นแกนนำของชุมชน ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนท้องถิ่น 

 

การศึกษาเพื่อการพัฒนาแกนนำทางสังคม

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะที่เป็นองค์กรพัฒนาภาคเอกชน ที่ดำเนินงานส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นพัฒนาท้องถิ่นให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชุมชน สืบต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย-แคนาดา โดยจดทะเบียนเป็นมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒

ประมาณสองทศวรรษของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของภาคประชาสังคม และกลุ่มอาสาสมัครในชุมชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น และสถาบันก็ได้ตระหนักเช่นกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนางานวิชาการเชิงการพัฒนา หรือการวิจัยเพื่อการพัฒนามากขึ้น รวมไปจนถึงการพัฒนาขบวนการภาคประชาชนและอาสาสมัครเหล่านี้ให้มีศักยภาพด้านวิชาการเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑.     มีกฎหมายจำนวนมากในปัจจุบันที่ตระหนักในความสำคัญของประชาชน การรับรู้ ข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้กำหนดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทั้งในรูปของคณะกรรมการโดยตรง  การรับฟังความคิดเห็น และการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและภาคการเมือง

๒.     หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ  และองค์การมหาชน แทบจะทุกหน่วยงาน ได้คำนึงถึงความสำคัญของภาคประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทางยุทธศาสตร์ขององค์กร ต่างก็พยายามจะจัดโครงการ กิจกรรมที่ให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมดำเนินงาน

๓.     ภาคประชาสังคม และกลุ่มอาสาสมัครชุมชน เป็นแกนนำของชุมชนและสังคม มีความกระตือรือร้น มีความห่วงใยต่อชุมชนและสังคม มีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมของชุมชนและของสังคมในหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นผู้บริหาร หรือเป็นกรรมการของกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่าง ๆ มีส่วนร่วมกับภาครัฐและภาคองค์กรพัฒนาเอกชนในกิจกรรมสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม บุคคลเหล่านี้ ล้วนมีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถในการทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างดียิ่ง  แต่สิ่งที่ผู้คนเหล่านี้ยังขาดก็คือ การรวบรวมประสบการณ์ในการทำงาน การจัดระบบประสบการณ์ของตนเองที่ทำงานทางสังคมมาตลอดชีวิต

 

การศึกษาเพื่อการปฏิรูปประเทศและสังคมไทย

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เห็นว่า การจัดการศึกษาให้กับภาคประชาสังคม และอาสาสมัคร จะเป็นแนวทางสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวคือ

๑.     ภาคประชาสังคมและภาคอาสาสมัครที่มีการศึกษาที่เป็นระบบ ตั้งแต่หลักสูตรระยะสั้น จนถึงระดับอุดมศึกษา จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยในระดับชุมชนท้องถิ่น  โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นองค์ความรู้ของท้องถิ่น ดำเนินการโดยท้องถิ่น และใช้ท้องถิ่นเป็นฐานการเรียนรู้

๒.     การศึกษาเรียนรู้ในชุมชน อาจจะสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นศาลาวัด ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงเรียน สถานีอนามัย ศาลากลางบ้านเป็นต้น กล่าวได้ว่ามีชุมชนเป็นฐาน  ทุกความรู้จะให้ศึกษาข้อเท็จจริงจากชุมชนเป็นหลัก มิใช่เรียนจากองค์ความรู้ในเอกสารวิชาการของภูมิปัญญาตะวันตก ผู้สอนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ไปศึกษาในชุมชน จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนในห้องเรียน อภิปรายเชื่อมโยงจากความรู้ท้องถิ่นไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ผู้สอนจึงไม่ใช่ผู้บรรยายในห้องเรียน

๓.     ผู้เข้าเรียนไม่ได้มีการสอบคัดเลือก ไม่ได้มีการจำกัดจำนวน ไม่ได้มีการเก็บเงินเป็นค่าหน่วยกิต จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีเงินทุนหรือมีฐานะทางการเงินดี แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ารับการศึกษา   กระบวนการศึกษาเรียนรู้ ไม่ได้วัดที่ความจำ ไม่ได้วัดการแข่งขันการเอาชนะด้วยผลการสอบ แต่วัดกันที่การบูรณาการ การรับฟัง การต่อยอดความรู้ การเชื่อมโยง การจัดระบบองค์ความรู้ 

๔.     การมีผู้นำชุมชนหลากหลายเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ที่เอาชุมชนเป็นฐาน โดยใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปีในหลักสูตรระดับปริญญาตรี จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ คุ้นเคย สนิทสนม การช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยน จึงกล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตรแห่งความปรองดอง

๕.     ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ จะเป็นกลุ่มคนอาสาสมัคร ที่ตระหนักถึงความสำคัญของภาคประชาชนและกลุ่มอาสาสมัครทางสังคม เห็นความสำคัญของทิศทางใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาของชาติ  ผู้สอนจึงไม่มีค่าตอบแทน และจะทำให้การเรียนการสอน เต็มไปด้วยความเป็นมิตร และความเอื้ออาทรต่อกัน   

ผู้ที่มาเป็นจิตอาสาจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญา จะได้รับการสนับสนุนให้เรียนในระดับปริญญาโท ผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาโท ก็จะได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก โดยบุคคลที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกแล้วมาร่วมสอนโดยจิตอาสาเช่นเดียวกัน

๔.     ผู้นำทางสังคม แกนนำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ภาคประชาชน และกลุ่มอาสาสมัครในชุมชน มักจะเป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้นำครอบครัว การเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะเป็นตัวอย่างแก่บุตรหลานและเยาวชน ที่เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และเรียนรู้ตลอดชีวิต

๕.     เป็นการเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยไม่ต้องอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่และกรุงเทพมหานคร เยาวชนที่จะมีโอกาสเข้าเรียน จึงสามารถอยู่ในท้องถิ่นของตนเองได้ ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าหอพัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกินแบกภาระรับผิดชอบ และเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม ซึ่งผู้ปกครองอาจต้องกู้เงินเพื่อส่งเสริมให้บุตรที่เข้าเรียน โดยที่บุตรหลานเหล่านี้ มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับไปทำงานเพื่อครอบครัว หรือแม้แต่จะนำรายได้ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วส่งคืนกลับให้กับผู้ปกครอง หรือการชดใช้หนี้แทนผู้ปกครอง

๖.     การจัดการศึกษารูปแบบจิตอาสา เพื่อชุมชนท้องถิ่น จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น และเป็นการสร้างประชาธิปไตยในระดับชุมชน และจะเป็นรากฐานทางการสร้างการเมืองที่ดีงามของประเทศ และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

ดร.ศักดิ์  ประสานดี

ผู้อำนวยการมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 378000เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 07:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาบันทึก

เริ่องไม่นึกก็ได้เห็นเป็นแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษรกลอนคิดเห็น

สวัสดีค่ะ

รองศาสตราจารย์ ดร.ลักขณา สริวัฒน์ ได้ให้ความเห็นในหนังสือชื่อ "การคิด" ของท่านว่า อีกปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยคือ โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพูด การฟัง น้อยกว่าการอ่าน การเขียน คนในสังคมเราจึงให้ความสำคัญกับการดูหนัง ฟังวิทยุ มากกว่าการอ่านหนังสือ

ท่านว่าการอ่านและการเขียน ช่วยฝึกทักษะการคิด อันเป็นเรื่องสำคัญของการพัฒนาสมอง

อ่านบันทึกนี้แล้ว เศร้าใจกับสิ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนะคะ

มีการ์ตูนเด็กจากบันทึกเกี่ยวกับศิลปะเด็กมาฝากค่ะ

ขอบคุณทั้งสองท่านครับ

ผมเขียนไว้ประมาณสักสัปดาห์ เพิ่งคิดได้ว่าควรจะเผยแพร่บ้าง

เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ การเคลื่อนไหวของชาวกลุ่มทางเลือกบ้าง

ดร.ศักดิ์ ประสานดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท