“พรุพี” กับองค์กรที่หลากหลายสู่กองทุนสวัสดิการชุมชนแบบบูรณาการ


“พรุพี”  กับองค์กรที่หลากหลายสู่กองทุนสวัสดิการชุมชนแบบบูรณาการ *

 

                “พรุพี” ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2538 ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอบ้านนาสารประมาณ 9 กิโลเมตร คนส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองนับถือศาสนาพุทธ โดยแบ่งการปกครองเป็น 7 หมู่บ้าน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 6,328 คน

                กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพรุพี  จัดตั้งขึ้นเมื่อ  31  ธันวาคม  2548  จากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรที่มีอยู่หลากหลายประเภททั้ง  7  หมู่บ้าน  มีสมาชิกจำนวน  343  คน  เงินทุนจำนวน  41,160  บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้น  420  คน  มีเงินทุนเพิ่มขึ้นจำนวน  44,560  บาท  แม้เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่  แต่ในปี  2549  สามารถจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก  ซึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วย  จำนวน  6  รายจำนวนเงิน  3,000  บาท  และให้เป็นเงินฝากสำหรับเด็กแรกเกิด  จำนวน  1  รายเป็นเงิน  500  บาท

 

                นายสินชัย  วงศ์จินดา  ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพรุพีกล่าวถึงแนวคิดของการรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนว่า  ชาวพรุพีมี  7  หมู่บ้าน  ซึ่งมีกลุ่มองค์กรที่ทำกิจกรรมทางการเงิน  ประมาณ  50  กลุ่ม  ทั้งกองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มออมทรัพย์  กองทุนน้ำยางสด  เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ต่างคนต่างทำ  ต่างคนต่างอยู่  ขาดการบูรณาการ  จึงทำให้ขาดศักยภาพในการขับเคลื่อนงาน  ขาดความเอื้ออาทรต่อกัน  การรวมตัวกันตั้งกองทุนเมื่อปี  2548  ในเบื้องต้นพบว่า สมาชิกที่เจ็บป่วยเมื่อเราไปเยี่ยมไข้จะรู้สึกดีใจมาก  และเกิดความผูกพันกันตลอด  เป็นความผูกพันที่ส่งผลกระทบในทางสังคมอันเป็นวัฒนธรรมแห่งความเอื้ออาทรต่อกัน  ความเป็นพี่เป็นน้อง  นายสินชัย  วงศ์จินดา  ยังได้เล่าต่อไปว่า  ในยุคแรก  ๆ  คนส่วนใหญ่ในตำบลไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกองทุนดังกล่าว  ซึ่งตนพยายามยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟังว่า  การจัดสวัสดิการชุมชน  ที่ทำโดยชุมชน  และมีชุมชนเป็นเจ้าของ  ต่างจากการทำประกันชีวิต  การทำประกันชีวิตซึ่งถ้าหากผู้ประกันไม่เจ็บป่วย  บริษัทประกันชีวิตก็ได้ฟรี  ๆ  แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนนั้น เงินอยู่กับชุมชน  ซึ่งชุมชนเป็นเจ้าของ  และยังสามารถเรียกคืน หรือกู้ยืมได้ในคราวจำเป็น 

                อย่างไรก็ตามรายละเอียดของกระบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านพรุพี สามารถแสดงเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

 

 

 

อย่างไรก็ตาม  จุดเด่นของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพรุพี  นับเป็นต้นแบบสำคัญของการร่วมทุนจากกลุ่มองค์กร  ที่มีอยู่อย่างหลากหลายและจากบรรดาเหล่าสมาชิกที่มองเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือเกื้อกูล  ความเอื้ออาทรต่อกัน  ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งชุมชนที่เข้มแข็งและการพึ่งตนเอง  ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษา  ครอบครัวผู้เสียชีวิตและการรักษาพยาบาลอันเป็นสวัสดิการชุมชน 

                นอกจากนั้นยังพบว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนพรุพี  สามารถเชื่อมประสานหน่วยงานต่าง  ๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ประสานสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุชนมารวมขยายกองทุนให้เติบโตเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  อันเป็นแนวทางสำคัญของการเพิ่มศักยภาพของกองทุนให้สามารถจัดสวัสดิการได้ครอบคลุมกับความต้องการของชุมชนมากยิ่งขึ้น  ดังที่นายสินชัย  วงศ์จินดา  ผู้ประสานงานกองทุนได้ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า  “การทำงานโดยให้ชุมชนเป็นแกนหลัก  จะต้องอาศัยการประสานงานกับทุกภาคส่วน งานชุมชนจึงจะประสบผลสำเร็จได้  ที่สำคัญหากชุมชนหวังความเข้มแข็งของชุมชน ผู้นำต้องไม่มีศัตรู ผู้นำจะต้องสามารถประสานคน ประสานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

                กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพรุพี เป็นอีกมิติหนึ่งของการจัดสวัสดิการภาคประชาชน ที่อาศัยหลักการบูรณาการ คน ทุน และชุมชน เป็นแนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อนกองทุนให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งจะก้าวไปสู่ความเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนแบบบูณาการในที่สุด

 

 

 

 

*  อุดมศักดิ์  เดโชชัย   อาจารย์หลักสูตรการพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

    มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

 

 

หมายเลขบันทึก: 377903เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2010 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาบันทึก

เริ่องไม่นึกก็ได้เห็นเป็นแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษรกลอนคิดเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท