AAR เวทีเรียนรู้ของคุณกิจจากครัวเรือนที่เข้าร่วมกระบวนการแก้จนเมืองนครศรีฯ


  •  AAR เวทีชุมชนแก้จนระดับหมู่บ้าน

  • วันที่ 5 ก.ค.49 ผมไปร่วมเรียนรู้ในเวทีคุณกิจจากครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมจัดการความรู้แก้จนซึ่งเป็นเวทีระดับหมู่บ้าน 2 เวที  นับเป็นเวทีเรียนรู้ระดับหมู่บ้านที่จัดขึ้นเป็นหนแรกในอำเภอเมืองนครศรีฯ คือช่วงเช้าที่เวที หมู่ที่ 1 บ้านมะขามเรียง  ตำบลบางจาก และตอนบ่ายที่หมู่ที่ 9 ตำบลกำแพงเซา ห่างกันราว 30 ก.ม. คนละฟากอำเภอกันเลย ครับ
  •  ทั้งสองจุดมีทั้งความเหมือนและความต่าง
  •  เหมือนกันในกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เริ่มจากคุณอำนวยเล่าที่มาที่ไปของกิจกรรมแก้จนแบบพึ่งตนเอง บทบาทหน้าที่ของแกนนำหมู่บ้าน และสมาชิกจากครัวเรือนต่างๆในการร่วมเรียนรู้แก้จน จากนั้นก็ให้แบ่งกลุ่มกันกลุ่มละ 8 คน ในกลุ่ม 8 คนนี้จะมีแกนนำหมู่บ้านแทรกอยู่ด้วย 1 คน  ทำกิจกรรม 4 ใบงาน คือ ร่วมรับรู้กันว่าแกนนำหมู่บ้านคนใดจะดูแลลูกทีมอีก 8 คนจากครัวเรือนไหนบ้าง นัดหมายเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 6 ครั้ง หยาบๆหรือเคร่าๆจะเป็นวันไหนได้บ้าง (ในความเป็นจริงมันต้องยืดหยุ่นตามความจำเป็นของชาวบ้านอยู่แล้ว) และที่สำคัญคือทำกิจกรรมตั้งเป้าหมายแก้จนกันทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่ม องค์กร ในชุมชน (เหมือนกันทั้งสองที่เพราะออกแบบเอาไว้เหมือนกัน)
  • ต่างกันชัดๆ คือ ทีมคุณอำนวยตำบล ที่ ม.1ตำบลบางจาก แท็กทีมกันได้ดี มากันทั้งครูอาสาฯ(ครูแต้ว) จนท.พอช.(น้องพัชณี) นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ของ อบต.บางจาก ส่วนอีก 2 คน คือเกษตรตำบล และพัฒนากร ติดงานสำคัญ ทำทีม ผลัดเปลี่ยนหน้าที่กันำกระบวนการ และลิขิตกันดี ระหว่าง น้องพัชณี กับครูแต้ว ส่วนนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรคอยเสริม กระบวนการเรียนรู้เป็นไปได้ดี ไม่ติดขัด การแบ่งกลุ่มย่อยพิจารณาประเด็นหรือใบงาน พี่เลี้ยงกลุ่มย่อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูอาสาฯ (วันนี้เป็นวันแรกไปช่วยกันเป็นพิเศษ) แกนนำเป็นผู้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในกลุ่มย่อย(ประมาณว่าหน้าม้าได้ดี) นำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยของตัวแทนแต่ละกลุ่มและการเสริมประเด็นจากพี่เลี้ยงกลุ่มย่อยก็ OK เลย ส่วนที่หมู่ที่ 9 ตำบลกำแพงเซา ทีมคุณอำนวยตำบลกำแพงเซา มีแต่ครูอาสาฯกับเกษตรตำบลเท่านั้น สมาชิกครัวเรือนที่มาร่วมทั้งสองจุดผมว่าแห่งละ 50 คน ผมว่าประมาณนี้ (ไม่ได้เช็คยอด) ทำให้การผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ของคุณอำนวยไม่ค่อยสมบูรณ์สักเท่าใด ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ที่ทำได้ส่วนใหญ่ก็เป็นการช่วยเหลือจากทีมงานภายนอก ทีมงานภายนอกที่ไปก็ไม่ค่อยสนใจลงเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มย่อยเท่าใดเมื่อได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย จะอำนวยความสะดวกในเรื่องอาหารว่างว่าง จัดโต๊ะเก้าอี้ บริการผู้ประชุมเสวนาเสียมากกว่า การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ดูว่าทำน้อยไป สัดส่วนการพูดของวิทยากรกระบวนการก็ดูว่ามีมากกว่าสมาชิกที่เข้าร่วมเสวนาจะได้พูด
  • ต่างกันชัดๆอีกประเด็นหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ ความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และทักษะการทำหน้าที่ของแกนนำหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ผู้ใหญ่อาคมทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการทำกิจกรรมการเรียนรู้ได้ดีมาก เดินดูกลุ่มย่อยทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง กระตุ้นให้มีการพูดคุยกันในกลุ่มได้ดี รวมทั้งเชียร์อัพตัวแทนแต่ละกลุ่มที่ออกมานำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ผมคิดว่าผู้ใหญ่อาคมเป็นคุณอำนวยหมู่บ้านแล้วขณะนี้ ตรึงผู้เข้าร่วมวงเรียนรู้ให้อยู่จนจบกระบวนการ ฝึกไม่กี่ครั้งผมว่าผู้ใหญ่อาคมจะช่วยทีมคุณอำนวยตำบลได้มากทีเดียว ในขณะที่ผู้ใหญ่หมู่ที่ 9 ตำบลกำแพงเซา ดูเหมือนนจะไม่ค่อยเข้าใจบทบาท และมีทักษะในการทำหน้าที่แกนนำหมู่บ้านเท่าที่ควร เช่นเดียวกับแกนนำหมู่บ้านคนอื่นๆที่สังเกตเห็นว่าไม่ค่อยมีบทบาทในกลุ่มย่อยเท่าที่ควร
  • ผมว่าน่าจะประกวด หรือสรรหายอดคุณอำนวยตำบล ทีมคุณอำนวยตำบล แกนนำหมู่บ้าน และทีมแกนนำหมู่บ้าน ยอดคุณลิขิต คุณกระบวนการ คุณประสาน และที่สำคัญคือยอดคุณกิจที่เก่งเรื่องต่างๆ เช่น ยอดคุณกิจที่ยอดเยี่ยมเรื่องการเล่าเรื่อง การบันทึกความรู้ ฯลฯ เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ในเวทีต่อๆไป ครับ เห็นด้วยกันมากๆก็จะได้พิจารณากันในวงเรียนรู้ของคุณอำนวยกลาง อำนวยอำเภอ และคุณเอื้อจังหวัดต่อไป


ความเห็น (2)
ชาญวิทย์ - นครศรี ฯ

    เข้ามาเยี่ยม ครับ  ได้เรียนรู้จากบันทึกนี้  เพื่อนำไปปรับใช้ครับ

                     ขอบคุณมากครับ

เห็นด้วยกับการให้รางวัลยอดคุณกิจด้านต่างๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท