“เครื่องสาวไหมยูบี3" สาว ควบตีเกลียวและกรอไจเส้นไหม ในเครื่องเดียว


เครื่องสาวไหมยูบี3

  

 วรรนภา  วีระภักดี     ส่งรักษ์ เต็งรัตนประเสริฐ      วิโรจน์  แก้วเรือง  

  สุทธิสันต์  พิมพะสาลี          ธเนศ  จันทร์เทศ          

         นายประทีป มีศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (สมมช.)สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สมมช.(ปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นกรมหม่อนไหม) ได้ประดิษฐ์เครื่องสาวไหม ควบตีเกลียวเส้นไหม และกรอไจเส้นไหมในเครื่องเดียวกันได้สำเร็จ เรียกว่า “เครื่องสาวไหมยูบี3” เหมาะสมต่อกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไหมครั้งละจำนวนมากๆ ที่ไม่สามารถสาวไหม ได้ทันก่อนผีเสื้อจะเจาะออกจากรัง เครื่องสาวไหมยูบี 3 นี้ สามารถสาวเส้นไหมได้รวดเร็วและมากกว่าการสาวด้วยมือแบบพื้นบ้านถึง 9 เท่า โดยน้ำหนักเส้นไหมเมื่อใช้เวลาสาวเท่ากัน เส้นไหมที่สาวได้จะถูกควบตีเกลียวและกรอเส้นไหมเป็นไจได้ในเครื่องเดียวกันอีกด้วย ทำให้ได้เส้นไหมที่ดีมีคุณภาพและประหยัดเวลา

            นายส่งรักษ์ เต็งรัตนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง(นครราชสีมา) และคณะผู้ร่วมวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สมมช.ได้ประดิษฐ์เครื่องสาวไหมยูบี 3โดยความเห็นชอบจากนายพีระพงศ์ เชาวน์เสฏฐกุล อดีตผู้อำนวยการ สมมช.และได้รับความร่วมมือจาก นายสุเมธ นวเศรษฐวิสูตร นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ ได้ให้คำแนะนำและร่วมพัฒนาจากเครื่องสาวไหมอุบลราชธานี 50 (ยูบี2) ที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นเครื่องสาวไหมขนาดเล็กที่สามารถสาวเส้นไหมและกรอไจเส้นไหมได้ในเครื่องเดียวกัน แต่ไม่สามารถควบตีเกลียวได้ โดยเครื่องสาวไหมยูบี 2 นี้ มีหนึ่งอักกรอด้าย ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาด 1 /4 แรงม้า (0.25 แรงม้า) สาวเส้นไหมได้ประมาณชั่วโมงละ 165 กรัม (ขนาดเส้นไหมประมาณ 184 ดีเนียร์) เส้นไหมที่สาวได้มีลักษณะกลม มีการรวมตัวของเส้นไหมดี มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องสาวไหมแบบพื้นบ้าน 6 เท่า แต่มีข้อจำกัดที่เส้นไหมที่สาวได้เหมาะสำหรับการใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอเท่านั้น  อีกทั้งยังไม่เหมาะสมในการใช้สาวเส้นไหมจากรังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน เนื่องจากรังมีความยาวเส้นใยเพียง 250 เมตร/รัง แต่จะเหมาะต่อการใช้สาวเส้นไหมจากรังไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง โดยเส้นไหมที่ได้เกษตรกรต้องนำไปทำเกลียวโดยการเข็นเกลียวด้วยมือ ซึ่งทำให้เส้นไหมมีจำนวนเกลียวไม่สม่ำเสมอ และสิ้นเปลืองเวลามากในขั้นนี้สำหรับการทอผ้าไหม ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตผ้าไหมสูง และคุณภาพของผ้าไหมที่ทอได้ก็ไม่สม่ำเสมอ

            ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2550 จึงหวังที่จะประดิษฐ์เครื่องสาวไหมที่สามารถผลิตเส้นไหมให้ได้คุณภาพดี  มีความสม่ำเสมอและเหมาะสมทั้งขนาดและจำนวนเกลียวได้มาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตผ้าไหม  ได้ประดิษฐ์เครื่องต้นแบบสำเร็จ และได้รับการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่  20 มิถุนายน พ.ศ.2550 เลขที่คำขอ 0701003035 นับเป็นเครื่องสาวไหมอเนกประสงค์ เนื่องด้วยสามารถใช้เป็นเครื่องสาวเส้นไหม ควบตีเกลียวเส้นไหม และกรอไจเส้นไหม ได้ในเครื่องเดียวกัน อีกทั้งสามารถใช้สาวเส้นไหมจากรังไหมทั้งพันธุ์ไทยพื้นบ้านและพันธุ์ไทยปรับปรุง เรียกว่า เครื่องสาวไหมยูบี3 โดยมีส่วนประกอบได้แก่ อ่างสาวไหม ขอเกี่ยวรวมเส้นไหม รอกสาวไหม 3 ตัว ตัวกระจายเส้นไหม อักสาว   ชุดควบตีเกลียว และอักกรอไจไหม ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาดครึ่งแรงม้า (0.5แรงม้า) ความเร็วของ     อักสาว 140-430 รอบต่อนาที โดยสามารถปรับให้เหมาะสมกับความชำนาญของพนักงานสาวไหม เมื่อใช้มู่เล่เพลาอักสาวขนาด 3 นิ้วและใช้มูเล่เพลาขับขนาด 2.0 , 2.5 และ 3.0 นิ้ว ให้ความเร็วรอบ 140 , 170 และ 220 รอบต่อนาที เหมาะสำหรับการสาวไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน  หรือใช้มู่เล่เพลาอักสาวขนาด 3 นิ้วและมูเล่เพลาขับขนาด 2.5 ,  3.0 และ 3.5 นิ้ว ให้ความเร็วรอบ 170 , 220 และ 270 รอบต่อนาที หรือเมื่อเปลี่ยนมาใช้มู่เล่เพลาอักสาวขนาด 2.5 , 2 นิ้ว และมู่เล่เพลาขับขนาด 3.5 นิ้ว ให้ความเร็ว  340 และ 430 รอบต่อนาที ซึ่งเหมาะสำหรับการสาวไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง เครื่องสามารถควบตีเกลียวได้ครั้งละ 1 แกนปั่น    มีกระบวนการทำงานที่สะดวก การใส่กรงแกนยึดปั่นด้วยน็อตมั่นคง การทำงานของส่วนควบตีเกลียว    แยกจากส่วนสาวไหม โดยสามารถทำงานได้ 2 ลักษณะในเวลาเดียวกัน กล่าวคือทั้งสาวและควบตีเกลียวหรือทั้งสาวและกรอไจเส้นไหม

สรุปลักษณะเด่นของเครื่องสาวไหมยูบี3 คือ

 เป็นเครื่องสาวไหม ควบตีเกลียว กรอไจเส้นไหมในเครื่องเดียวกัน

  1. เส้นไหมมีความสม่ำเสมอทั้งขนาดของเส้น และจำนวนเกลียวต่อเมตร
  2. สามารถสาวเส้นไหมจากรังไหมของไหมพันธุ์พื้นบ้านและพันธุ์ไทยปรับปรุง
  3. สามารถสาวเส้นไหมได้มากกว่าการสาวด้วยมือแบบพื้นบ้าน ประมาณ 9 เท่า โดยน้ำหนักเมื่อเปรียบเทียบเวลาการสาวเท่ากัน
  4. ลักษณะเส้นไหมทีสาวได้กลม มีการรวมตัวของเส้นไหมดีมาก
  5. ขนาดของเส้นไหมที่สาวได้สม่ำเสมอจากการควบคุมจำนวนรังไหมซึ่งทำได้ไม่ยาก
  6. สามารถตีเกลียวเส้นไหมหรือกรอไจเส้นไหมไปพร้อมๆกันได้ในขณะที่สาวไหม
  7. ได้จำนวนเกลียวประมาณ 238±5 เกลียวต่อเมตร จากการตีเกลียว 1 ครั้ง สม่ำเสมอตลอดความยาวของเส้นไหม
  8. ได้ไจไหมที่มีความยาวของเส้นรอบวงไจไหมเท่ากันคือ 1.50 เมตร จากการกรอไจเส้นไหมในแต่ละครั้ง
  9. เดินเครื่องทำงานได้คุ้มค่า แม้ปริมาณรังไหมมีจำนวนน้อย
  10. บำรุงรักษาง่าย ถอดประกอบเครื่องได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก
  11. วัสดุที่ใช้ประกอบเครื่องมีในท้องถิ่น หาได้ง่าย

 

           

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

กรมหม่อนไหม (สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เดิม)           

เกษตรกลางบางเขน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทร.02-5793118, 02-5795595  โทรสาร.02-9406564

สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง(นครราชสีมา)

1887 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000

โทร.044-214101  โทรสาร.044-214101 

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯอุบลราชธานี  ตู้ปณ. 18 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี   โทร.045-245425 โทรสาร. 045-426033

 

หมายเลขบันทึก: 377224เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมอยากทราบข้อมูล ขบวนการทำงานของเครื่องสาวไหมครับ

ผมอยากทราบข้อมูล ขบวนการทำงานของเครื่องสาวไหมครับ

อยากทราบรายละเอียดและการได้มาซึ่งเครื่องสาวไหม

ราคาเท่าไหร่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท