จะทำอย่างไรเมื่อประสบเหตุสารเคมีรั่วไหล


สารเคมีรั่วไหล

จะทำอย่างไรเมื่อประสบเหตุสารเคมีรั่วไหล

ข่าวคราวที่ดังพอจะกลบข่าวความขัดแย้งในประเทศของเราได้ในขณะนี้คือข่าวสารเคมีรั่วไหล โดยเฉพาะข่าวสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่ซึ่งสื่อมวลชนให้ความสนใจ เช่นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือโรงงานอุตสาหกรรมประเภทที่มีสารเคมีอันตรายมีทั่วประเทศ ดังเช่นข่าวสารเคมีรั่วล่าสุดที่จังหวัดอยุธยา สิ่งที่กลัวกันคือการรั่วไหลของสารเคมีที่เป็นอันตรายมากเช่นสารฟอสจีน ฟอสฟีน ไอปรอท เป็นต้น สารเหล่านี้ถ้ามีการรั่วไหลจำนวนมาก  และไม่สามารถระงับเหตุได้ทันจำเป็นต้องมีการอพยพคนหนี เพื่อจะได้ไม่เกิดอันตราย ความตื่นตกใจในเรื่องสารเคมีนี้เกิดจาก การที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก การที่โรงงานเหล่านี้อยู่ใกล้ชุมชน การกลัวสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งสำคัญซึ่งเป็นต้นเหตุของความกังวลเหล่านี้คือความกลัว เนื่องจากเราไม่รู้ว่าผลของสารเคมีต่อร่างกายจะเป็นอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันสารเคมีแบ่งได้เป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และสารเคมีที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง สารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งนั้นเราได้ข้อมูลจากการค้นคว้าวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลรายงานที่น่าเชื่อถือ ผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง โดยแบ่งแบบง่ายๆ เป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งในคนแน่นอน สารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่แน่นอนว่าเกิดในคนหรือไม่ สารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง และสารเคมีที่ไม่ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตามสารเคมีที่เคยจัดว่าเป็นแค่ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองก็สามารถเลื่อนระดับมาเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งในคนได้ ทั้งนี้การทำการทดลองว่าสารเคมีใดจะมีผลต่อคนอย่างไรไม่สามารถทำได้ สำหรับสารเคมีทุกชนิดนั้นก่อให้เกิดพิษหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น ทำให้ผิวหนังอักเสบ ระคายเคืองทางเดินหายใจ เป็นตับอักเสบ ขึ้นกับความเข้มข้นและระยะเวลาการสัมผัสกับสารเคมีตัวนั้นๆ ในสถานที่ทำงานระดับการเป็นพิษสามารถตรวจวัดได้โดยเครื่องตรวจวัดพิเศษ ทำให้สามารถควบคุมปริมาณสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในการทำงานนั้นให้พอเหมาะ การสัมผัสสารเคมีขนาดมากเพียงครั้งเดียวนั้นจะมีผลต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน ถ้าคนที่สัมผัสสามารถวิ่งออกมาได้ทัน และสัมผัสปริมาณไม่มาก อาการก็เป็นแค่เพียงการระคายเคือง แต่ถ้าหมดสติ และสูดดมปริมาณมากขณะหมดสติก็จะมีอาการมาก เมื่อร่างกายสัมผัสครั้งเดียวก็สามารถซ่อมแซมเซลล์หรืออวัยวะให้กลับมามีหน้าที่เหมือนเดิมได้  แต่ในคนทำงานหรือประชาชนที่สูดดมสารพิษเป็นเวลานาน แม้จะเป็นปริมาณน้อยก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน

ในการรั่วไหลของสารเคมีนั้นเมื่อคนทำงานสูดดมเข้าไป ในขั้นแรกจะรู้สึกถึงกลิ่นสารเคมีนั้นได้ ยกเว้นก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ที่ไม่มีกลิ่น เมื่อได้กลิ่นก็จะรู้สึกผิดปกติ และวิ่งหนีได้ โดยเฉพาะในโรงงานที่มีการให้คำแนะนำแก่คนทำงานในเรื่องการทำงาน และสารเคมีที่เกี่ยวข้อง คนทำงานจะรู้จักหลบหลีก และมีการซ้อมสถานที่หลบภัย หรือเหนือลมไว้แล้ว อย่างไรก็ตามจะหาโรงงานแบบนี้ได้ยากในประเทศไทย ดังนั้นคนทำงานส่วนใหญ่จะได้กลิ่นแต่ไม่หนีเนื่องจากไม่มีคำสั่งหรือกลัวเสียงาน และถ้าไม่มีการซ้อมอพยบ คนทำงานก็จะหนีกันคนละทิศละทางทำให้ไปอุดทางออก ไม่สามารถออกได้ หรือเบียดกันหมดสติ ส่วนเมื่อสูดดมสารเคมีเข้าไปแล้ว จะมีการระคายเคืองทางเดินหายใจ ตา มีน้ำมูก น้ำตาไหล แสบตา แสบคอ แน่นหน้าอก ไอ บางรายสูดดมมากหน่อย ก็จะมีคลื่นไส้อาเจียน เดินเซ แต่อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะดีขึ้นเมื่อไม่มีการหายใจสารเคมีนั้นเข้าไปอีก สารเคมีที่ละลายน้ำได้ เช่นกรด ด่าง แอมโมเนีย จะละลายในจมูก คอ หรือทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีการหลั่งน้ำออกมาหล่อลื่นตามปกติอยู่แล้ว และกลายคุณสมบัติตามธาตุเดิมคือเป็นกรด ด่าง และมีการระคายเคืองอย่างมาก ทำให้มีอาการแสบ ไอ แน่นหน้าอก ถ้าหายใจปริมาณมากเป็นเวลานาน ก็จะมีการบวมของหลอดเสียง หรือหลอดลมส่วนต้น ทำให้มีการปิดทางเดินหายใจ  ลมหายใจเข้าไปในปอดไม่ได้ ซึ่งจะมีอันตรายจนถึงแก่กรรมได้ อาการเหล่านี้จะแสดงภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังการหายใจสารเคมีเข้าไป นอกจากนี้การถอดเสื้อผ้า หรือการล้างตัวเมื่อถูกสารเคมีจะช่วยลดการหายใจสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากการที่สารเคมีนั้นติดตามเสื้อผ้า ซึ่งจะทำให้มีการหายใจสารเคมีเข้าสู่ร่างกายด้วย

แต่ที่น่ากลัวคือสารเคมีที่ไม่มีคุณสมบัติละลายน้ำ การสูดดม สารเคมีเหล่านี้ จะเข้าไปถึงถุงลมส่วนล่างของปอด ก็จะทำปฏิกริยาภายในถุงลม และมีการหลั่งน้ำออกมามาก ทำให้เกิดปอดบวมน้ำ โดยมีอาการคล้ายคนเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หายใจไม่ได้ และถึงแก่กรรมในที่สุด โดยอาการนี้จะเกิดภายใน 8 ชั่วโมงหลังสูดดมสารเคมีเหล่านี้เข้าไป ดังนั้นการที่จะรู้ว่าการหายใจเข้าไปแล้วจะเกิดผลอย่างไรนั้นจะต้องรู้ชนิดของสารเคมี แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือและผู้รักษาพยาบาลนั้นไม่ทราบชนิดของสารเคมีทำให้ไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลให้ถูกต้อง ปัจจุบันเมื่อมีเหตุการสารเคมีรั่วไหลเกิดขึ้น ไม่มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสารเคมี ทำให้ไม่ทราบชนิดของสารเคมี โรงงานก็ไม่ยอมบอกชนิดของสารเคมีให้ทราบ ทำให้การรักษาพยาบาลค่อนข้างยาก อย่างไรก็ดีหลักการคือ คนที่สัมผัสจำนวนมาก อยู่ใกล้แหล่งสารเคมีรั่ว หรือสัมผัสเป็นเวลานาน จะต้องมีการดูแลอย่างไกล้ชิด นอกจากนี้คนที่หายใจสารเคมีเข้าไปบางคนจะมีการแพ้สารเคมี ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบการหดเกร็งของหลอดลม หายใจมีเสียงหืด หรือเป็นหอบหืด ซึ่งอาจมีอาการชั่วคราวหรือเป็นตลอดไปได้

เมื่อเกิดสารเคมีรั่วจะมีคนจำนวนมากตกใจกลัว การตกใจจะทำให้หายใจเร็ว  เมื่อหายใจเร็วคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกชะออกไป ทำให้เลือดในร่างกายกลายเป็นกรด และมีอาการมือเท้าชา หรือหน้ามืดเหมือนจะเป็นลม บางคนมีอาการคล้ายชัก มีอาการเกร็งแต่ไม่กระตุก หมดสติ ทำให้คิดว่าเกิดจากสารเคมี การตกใจกลัวอย่างมากทำให้ใจสั่น ตัวสั่น ตื่นตระหนก หอบ รูม่านตาขยาย อาการเหล่านี้เกิดได้ง่ายโดยเฉพาะในสตรีอายุน้อย อย่างไรก็ดีสามารถเกิดได้ในผู้ชายด้วย

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังตนเองหลังหายใจสารเคมีจำนวนมาก คือจะต้องแจ้งอาการให้กับแพทย์ เป็นระยะถ้ามีอาการแสบคอ หรือจมูกเกินกว่า 2 วัน มีอาการเดินเซ เวียนศีรษะไม่หาย หรือมีอาการหอบเหนื่อยเมื่ออ่อนแรง แต่ที่ดีที่สุดสำหรับคนทำงานคือจะต้องทราบเสมอว่าตนเองทำงานกับสารเคมีอะไร และเมื่อเกิดเหตุการณ์จะต้องรีบหนีให้ทันท่วงที

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สารเคมีรั่วไหล
หมายเลขบันทึก: 377145เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท