การศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีฐานรากทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษา


การศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีฐานรากทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษา

รายงานการวิจัย เรื่อง

 : การศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีฐานรากทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษา

A Transformational Leadership Team in a Primary School :

A Grounded Theory Study

กัญญา โพธิวัฒน์ (Gunya Pothivat) *

ดร .วิโรจน์ สารรัตนะ (Dr.Wirot Sanrattana) **

ดร. ไพศาล สุวรรณน้อย (Dr. Paisan Suwannoi) ***

Dr. Forrest W. Parkay ****

พิมพ์ในวารสารบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม- ธันวาคม 2548)

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงลักษณะ เงื่อนไขและกระบวนการเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และผลที่ติดตามมาจากปรากฏการณ์ของทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เพื่อหาข้อสรุปเชิงทฤษฎีที่จะนำไปสู่การสร้างทฤษฎีจากฐานราก (grounded theory ) การเลือกพื้นที่ที่ศึกษาใช้วิธีการเลือกเชิงทฤษฎี (theoretical sampling) เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางแห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย ผู้วิจัยเข้าไปศึกษาและจัดเก็บข้อมูลด้วยตนเองโดยการสัมภาษณ์ระดับลึก การวิเคราะห์เอกสาร การสังเกตและจดบันทึก และการจัดกลุ่มสนทนา ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา คณะครู ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน ศึกษานิเทศก์ และผู้มาศึกษาดูงานที่โรงเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีแปลความและตีความหมายข้อมูล แล้วสร้างมโนทัศน์ขึ้นโดยอาศัยความไวทางทฤษฎี และใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรม Atlas/ti รุ่น 4.2 ช่วยในการจัดระบบการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการวิจัย

1. ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนมีลักษณะสำคัญคือ เป็นการร่วมกันทำงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นงานบุกเบิกที่พยายามให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่บุคคลอื่น การก่อตัวขึ้นของทีมมีพื้นฐานมาจากการรักษาเกียรติประวัติของโรงเรียน และการตอบสนองนโยบายตามสายงานบังคับบัญชา ทีมในโรงเรียนแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ทีมระดับโรงเรียน ทีมระดับหัวหน้างาน และทีมระดับปฏิบัติการ ทั้งนี้สมาชิกคนหนึ่งอาจเข้าไปเป็นสมาชิกของทีมได้หลายทีม เป้าหมายของทีมคือการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคคลอื่น สำหรับพฤติกรรมของทีมที่สำคัญคือการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม การร่วมคิดร่วมทำ การปฏิบัติงานได้เกินระดับปกติ การพึ่งพาและช่วยเหลือกัน การแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้ง การตัดสินใจร่วม และความไวต่อการเปลี่ยนแปลงิต

* ดุษฎีบัณฑ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

** รองศาสตราจารย์ ประจำโครงการปริญญาเอก สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

*** ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการปริญญาเอก สาขาวิชาวิจัยและประเมินผลทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

**** ศาสตราจารย์ ประจำโครงการปริญญาเอกสาขาวิชาภาวะผู้นำทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท

2. เงื่อนไขการเกิดกลายเป็นทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนแยกเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนคือ สมาชิกมีความชัดเจนในนโยบาย ผู้บริหารมีคุณลักษณะเฉพาะตัว มีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างผู้นำร่วม รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรณีเงื่อนไขภายนอก ได้แก่ ความรู้สึกผูกพันกับชุมชน และการทำงานร่วมกับเครือข่าย ส่วนกระบวนการเกิดกลายเป็นทีมเกี่ยวข้องกับการนำ (leading) ของผู้บริหารในด้านการจูงใจผู้ร่วมงาน การบุกเบิกแสวงหา/ทำหา และการอุทิศตนให้กับงาน นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ถึงขั้นนำไปใช้ได้ ในด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิกทีม การมีส่วนร่วมกับชุมชน การมุ่งมั่นไปสู่ความสำเร็จ และการเผชิญปัญหาในโรงเรียน

3. ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่ได้ด้วยความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ และความเป็นผู้นำทางวิชาการ การเกาะเกี่ยวกันเป็นทีมแห่งการเรียนรู้ ความใส่ใจในงานและจุดมุ่งหมาย และการตรวจสอบและแก้ไข มีการปรับวัฒนธรรมการทำงานที่ยึดมั่นในปรัชญาของโรงเรียน ความรับผิดชอบตามหน้าที่ การสื่อสารอย่างทั่วถึง มีบรรยากาศที่สร้างสรรค์ และความโปร่งใสในการบริหาร

4. ผลที่ติดตามมาจากการเป็นทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่อสมาชิกและโรงเรียน กรณีที่เป็นผลในทางบวกคือ พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน การเป็นตัวแบบนวัตกรรม ความพึงพอใจในงาน การยอมรับจากภายนอก และการมีชื่อเสียง ส่วนผลในทางลบคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำในระยะแรก ครูทำงานหนัก ไม่มีเวลาพัฒนาผลงานวิชาการของตนเอง และครูบางคนยังไม่สามารถปรับตัวร่วมเป็นทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้

หมายเลขบันทึก: 376040เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท