ตัวแปร


ตัวแปร&ความจริงที่การวิจัยค้นหา

ตัวแปร & ความจริงที่การวิจัยค้นหา

                                การเรียนในเนื้อหาที่ผ่านมาของการวิจัยในวิชา Advance Research ได้ศึกษาเกี่ยวกับตัวแปร (Variable) ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย  ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยและตัวแปร  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า การวิจัย คือ  การค้นหาความจริงเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ โดยความจริงเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการศึกษานั้นมีปัจจัยสำคัญ  ได้แก่  ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง   

                                ตัวแปร  คือ  ปรากฏการณ์ หรือสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างและสามารถแปรเปลี่ยนหรือมีการเปลี่ยนแปลงได้ ลักษณะของตัวแปรที่นักวิจัยพึงตระหนักถึง 

ประการแรก   คือ  ความสงสัยว่าตัวแปรสามารถแปรเปลี่ยนได้อย่างไร  หรือความ

จริงเกี่ยวกับตัวแปรนั้นมีลักษณะอย่างไร  ความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับลักษณะของตัวแปร และความสงสัยเกี่ยวกับการแปรค่าของตัวแปร  ลักษณะความสงสัยของนักวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรลักษณะนี้การศึกษาตัวแปรมักจะถูกพิสูจน์และนำเสนอในรูปแบบของการวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive research) หรือ งานวิจัยเชิงสำรวจชุมชน (Community survey  research) 

ประการที่สอง  คือ  ความสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวแปร  โดยความสงสัย

เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวแปรนั้นมุ่งพิจารณาว่าถ้าตัวแปรหนึ่งแปรเปลี่ยนจะมีผลต่ออีกตัวแปรหนึ่งอย่างไร  ความสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวแปรนี้แบ่งออกเป็น  2  ลักษณะ  ได้แก่ 

                                1)  ความสัมพันธ์เชิงสหสัมพันธ์ (Correlation  relationship)  คือ  ตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยไม่สามารถระบุได้ว่าตัวใดเป็นสาเหตุ (Cause) ที่ทำให้เกิดผล (Effect)  แต่ระบุไม่ได้ว่าตัวใดเป็นสามารถของตัวใด  เช่น  ความสัมพันธ์ระหว่าง  เพศ  วัย  อายุ  เป็นต้น

                                2)  ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ (Causal  relationship)  คือ  ตัวแปรที่มาเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่ตัวแปรตัวหนึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของตัวแปรหนึ่ง  โดยมีหลักการพิจารณา  คือ  (1)  ตัวแปรที่เป็นสาเหตุนั้นจะต้องเกิดขึ้นก่อนตัวแปรที่เป็นผล (2)  มีความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ ต้องมีความสัมพันธ์สูงพอสมควรซึ่งอาจพิจารณาได้จากค่าสถิติ หรือดัชนีที่บ่งบอกความสัมพันธ์นั้น  (3)  ตัวแปรที่หนึ่งและตัวแปรที่สองที่มีความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ต้องมีความสัมพันธ์กันสูงกว่าตัวแปรที่สาม(ซึ่งอาจค้นพบหลังจากการดำเนินการวิจัย)หมายความว่าตัวแปรที่สามต้องไม่ใช่สาเหตุของตัวแปรตัวที่สอง

                                จากข้อมูลข้างต้นทำให้ตระหนักว่าการหาความจริงเกี่ยวกับตัวแปรต่าง ๆ นั้น ไม่ว่าจะหาการแปรค่าของความสัมพันธ์เชิงสหสัมพันธ์ หรือ ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ  การวิจัยนั้น ๆ จะซับซ้อน  เพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะการหาความจริงเกี่ยวกับตัวแปรนั้น  ยิ่งหาความจริงเกี่ยวกับตัวแปรจำนวนมากเพียงใดงานวิจัยก็จะมีความซับซ้อนตาม

 

ประเภทของตัวแปร 

                                เนื่องจากในการวิจัยนั้นมีตัวแปรที่หลากหลาย  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของการวิจัย  ซึ่งพอจะจำแนกตัวแปรในการวิจัยออกเป็นประเภท  ได้  4  ประเภท  ใหญ่ ๆ ดังภาพที่  1  http://gotoknow.org/file/sairung_thita/001.jpg

 

คำอธิบายเกี่ยวกับตัวแปรแต่ละประเภทโดยสังเขป

1.   แบ่งตามสาเหตุและผลของตัวแปร

1.1  ตัวแปรต้น/ตัวแปรอิสระ  (Independent  variable)

                ตัวแปรต้น  เป็นตัวแปรที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป  ตัวแปรต้น  หมายถึง  ตัวแปรที่ทำให้ตัวแปรอื่น มีค่าเปลี่ยนแปลงไป

1.2  ตัวแปรกระทำ  (Active  variable)

                ตัวแปรกระทำ   เป็นตัวแปรที่มักใช้ในการวิจัยเชิงทดลอง  หมายถึง ตัวแปรใด ๆ ที่นักวิจัยสามารถจะทำการดัดแปลงจัดกระทำได้  เพื่อสร้างเงื่อนไขการทดลอง

1.3  ตัวแปรสาเหตุ  (Cause  variable)

                ตัวแปรสาเหตุ  หมายถึง ตัวแปรที่ผู้วิจัยคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกตัวแปรหนึ่ง

1.4  ตัวแปรทดลอง  (Experimental  variable)

                ตัวแปรทดลอง  หมายถึง  สิ่งที่ผู้วิจัยจงใจสร้างเป็นเงื่อนไขการทดลองให้กับสิ่งที่จะได้รับการทดลอง  เพื่อทดสอบสมมติฐานว่าการให้เงื่อนไขดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดผลอะไร 

1.5  ตัวแปรจัดกระทำ  (Manipulate  variable)

                ตัวแปรจัดกระทำ  หมายถึง  ตัวแปรที่เป็นเงื่อนไขซึ่งผู้วิจัยจงใจสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการทดลอง  และเพื่อสังเกตผลการใช้เงื่อนไข

1.6  ตัวแปรทำนาย  (Predictor  variable)

                ตัวแปรทำนาย  หมายถึง  ตัวแปรต้นในงานวิจัยที่ใช้เทคนิควิธีการทางสถิติวิเคราะห์ข้อมูลแบบการวิเคราะห์การถดถอย  ซึ่งการวิจัยประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอำนาจการทำนาย  และสร้างสมการการทำนายของตัวแปรทำนายที่มีต่อตัวแปรถูกทำนาย

1.7  ตัวแปรตอบสนอง  (Response  variable)

                ตัวแปรตอบสนอง  หมายถึง  การแสดงออกทางพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้ของมนุษย์หรือสัตว์อันเนื่องมาจากได้รับการกระตุ้นโดยสิ่งเร้า  โดยมากนิยมใช้ในการวิจัยทางจิตวิทยา

1.8  ตัวแปรสิ่งเร้า  (Stimulus  variable)

                ตัวแปรสิ่งเร้า  หมายถึง  สิ่งที่เป็นเงื่อนไขใช้เร้าหรือกระตุ้นให้มนุษย์และสัตว์แสดงอาการตอบสนอง  เพื่อให้นักวิจัยทำการสังเกตวัดพฤติกรรมที่ตอบสนอง

 

1.9  ตัวแปรเงื่อนไขกระทำ  (Treatment  variable)

                ตัวแปรเงื่อนไขกระทำ  หมายถึง  ตัวแปรที่เป็นเงื่อนไขของการทดลองที่นักวิจัยสร้างขึ้นมาเอง  หรืออาจเรียกว่า  ตัวแปรทดลอง  ตัวแปรจัดกระทำ 

1.10  ตัวแปรผล  (Effect  variable)

                ตัวแปรผล  หมายถึง  ตัวแปรที่แปรเปลี่ยนค่าไปเนื่องมาจากตัวแปรสาเหตุที่กล่าวมา  โดยปกติเราใช้ชื่อเรียนกว่าตัวแปรผลคู่กับตัวแปรสาเหตุ

1.11  ตัวแปรตาม  (Dependent  variable)

                ตัวแปรตาม  หมายถึง  ตัวแปรที่มีชื่อเป็นกลาง ๆ ที่ใช้เรียกตัวแปรใด ๆ ก็ตามที่มีค่าแปรผันเนื่องมาจากอิทธิพลของตัวแปรอื่น ๆ

 

2.  แบ่งตามระดับการวัดตัวแปร

2.1  ตัวแปรต่อเนื่อง  (Continuous  variable)

                ตัวแปรต่อเนื่อง  หมายถึง  ตัวแปรที่ให้ค่าระดับการวัดอยู่ในระดับอันตรภาคชั้นหรือมาตราช่วงขึ้นไป  ซึ่งค่าดังกล่าวจะมีค่าเรียงต่อเนื่องกันมีความหมาย

2.2  ตัวแปรแบ่งสอง  (Dichotomous  variable)

                ตัวแปรแบ่งสอง   หมายถึง  ตัวแปรที่ทำหน้าที่จัดกลุ่ม  หรือแปรขาดช่วงประเภทหนึ่ง  แต่มีการแปรค่าได้เพียงสองค่า  เช่น  เพศ 

2.3  ตัวแปรขาดช่วง  (Discrete  variable)

                ตัวแปรขาดช่วง  หมายถึง  ตัวแปรใด  ๆ ก็ตามที่ให้ค่าการวัดในระดับนามบัญญัติและเรียงอันดับ  เป็นตัวเลขที่ได้มาจากการวัดตัวแปร  ดังนั้น  ลักษณะของตัวแปรนี้จึงเป็นเช่นเดียวกับตัวแปรจัดกลุ่มนั่นเอง

2.4  ตัวแปรจัดกลุ่ม  (Categorical  variable)

                ตัวแปรจัดกลุ่ม  หมายถึง  ตัวแปรที่มีค่าระดับการวัดอยู่ในระดับนามบัญญัติ  ตัวแปรประเภทนี้จะทำหน้าที่จัดหน่วยวิจัยหรือสิ่งวิจัยออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ โดยอาศัยคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษาเป็นตัวกำหนด

2.5  ตัวแปรหุ่น   (Dummy  variable)

                ตัวแปรหุ่น  หมายถึง  ตัวแปรที่นักวิจัยสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สข้อมูลเชิงปริมาณ  โดยการกำหนดตัวเลขให้กับตัวแปรจัดกลุ่มหรือตัวแปรขาดช่วง

 

3.  แบ่งตามคุณลักษณะของตัวแปร

3.1  ตัวแปรลักษณะ(Attribute  variable)

                ตัวแปรลักษณะ  หมายถึง  ตัวแปรที่แสดงถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของบุคคล  ตัวแปรประเภทนี้ไม่สามารถจัดกระทำดัดแปลงได้หรือจัดกระทำได้ยาก  เช่น  เพศ  สติปัญญา  เจตคติ

3.2  ตัวแปรประกอบ(Component  variable)

                ตัวแปรประกอบ  หมายถึง  ตัวแปรใด  ๆ ที่เป็นตัวแปรใหญ่หรือตัวแปรที่มีชื่อเรียกรวม ๆ แทนกลุ่มตัวแปรย่อยทั้งหลาย  เช่น  รายได้  อาชีพ

3.3  ตัวแปรโครงสร้าง (Construct  variable)

                ตัวแปรโครงสร้าง  หมายถึง  ตัวแปรที่สร้างขึ้นมาจากทฤษฎีหรือสมมติฐานทางจิตวิทยา  มักเป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางสมอง  เช่น  ความคิดสร้างสรรค์   เป็นตัวแปรที่จำเป็นอย่างยิ่งในการวิจัยที่จะต้องให้คำนิยามเป็นเชิงปฏิบัติการ  เพื่อสื่อถึงสิ่งที่สามารถสังเกตหรือวัดได้

3.4  ตัวแปรแฝง (Latent  variable)

                ตัวแปรแฝง  หมายถึง  ตัวแปรที่อยู่ภายในตัวของมนุษย์  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง  แต่เชื่อว่ามีอยู่  โดยอาศัยทฤษฎีเป็นสิ่งอธิบาย  ตัวแปรประเภทนี้ต้องอาศัยการสร้างคำนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายให้ตรงกัน

3.5  ตัวแปรอินทรีย์(Organismic  variable)

                ตัวแปรอินทรีย์  หมายถึง   ตัวแปรที่เป็นสิ่งเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลที่มีติดตัว  และได้มาแต่กำเนิด  เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวบุคคล

 

4.  แบ่งตามลักษณะการเกิดขึ้นของตัว

4.1  ตัวแปรนำ  (Antecedent  variable)

                ตัวแปรนำ  หมายถึง  ตัวแปรใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นก่อนตัวแปรที่ผู้วิจัยทำการศึกษา  และตัวแปรดังกล่าวนี้จะมีผลหรือมีความสัมพันธ์กันกับตัวแปรที่ศึกษา  ในการวิจัยหากไม่มีการพิจารณาหรือควบคุมตัวแปรประเภทนี้ก็จะทำให้การตีความผลการวิจัยผิดพลาดได้ 

4.2  ตัวแปรดัน  (Distorter  variable)

                ตัวแปรดัน  หมายถึง  ตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลร่วมต่อตัวแปรที่ศึกษาให้มีค่าความสัมพันธ์สูงกว่าที่เป็นจริง  ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษานั้นมีต่ำกว่าที่พบ

4.3  ตัวแปรแทรกซ้อน  (Extraneous  variable)

                ตัวแปรแทรกซ้อน  หมายถึง  ตัวแปรที่ส่งผลรวมต่อตัวแปรที่เราศึกษา  โดยที่เราไม่ได้ควบคุมหรือขจัดออก  หรือควบคุมไม่ดีจนทำให้มีผลต่อตัวแปรที่เราศึกษา

 4.4  ตัวแปรสอดแทรก  (Intervening variable)

                ตัวแปรสอดแทรก  หมายถึง  ตัวแปรที่เป็นตัวแปรร่วมกับตัวแปรอิสระส่งผลต่อตัวแปรตามที่ศึกษา  โดยที่ตัวแปรนี้จะเป็นเรื่องของกระบวนการทางจิตวิทยาของบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตและวัดได้  หรือจัดกระทำใด  ๆ ไม่ได้

4.5  ตัวแปรกลาง  (Moderator  variable)

                ตัวแปรกลาง  หมายถึง  ตัวแปรที่เป็นชื่อเรียกตัวแปรแทรกซ้อนหรือเป็นลักษณะหนึ่งของตัวแปรแทรกซ้อน  แต่เป็นตัวแปรแทรกซ้อนที่ผู้วิจัยสามารถควบคุมไม่ได้ส่งผลร่วมกับตัวแปรต้นที่มีต่อตัวแปรตามได้

4.6  ตัวแปรรบกวน  (Nuisance  variable)

                ตัวแปรรบกวน  หมายถึง  ตัวแปรที่เป็นชื่อเรียกหรือใช้ทดแทนกันได้กับตัวแปรสอดแทรกนั่นคือเป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง

4.7   ตัวแปรกด  (Suppressor  variable)

ตัวแปรกด  หมายถึง  ตัวแปรที่เป็นตัวแปรแทรกซ้อนอีกลักษณะหนึ่งที่มีลักษณะ

ตรงกันข้ามกับตัวแปรดัน  คือ  ตัวแปรกดเป็นตัวแปรที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตามที่เราต้องการศึกษานั้นไม่ปรากฏหรือไม่มีความสัมพันธ์ทั้ง ๆ ที่ตัวแปรทั้งสองนั้นมีความสัมพันธ์กัน  เช่น  ลักษณะความสัมพันธ์ของอาชีพกับรายได้  เพศกับอาชีพและรายได้                เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 375816เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาไม่ถ้วน

ไว้ประมวลขัดเกลาเหลาแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษร

ถ้ายกตัวอย่างบ้างจะดีมาก เช่น จำนวนชั่วโมงในการใช้คอมพิวเตอร์ต่อครั้ง สัมพันธ์กับความสั้นของสายตา การสัมพันธ์กันไม่จำเป็นต้องเป็นสาเหตุกัน คือ จำนวนชั่วโมงในการใช้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของความสั้นของสายตา และมีตัวแปรมากมายที่เกี่ยวข้องกับความสั้นของสายตา เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณกระบอกตา พันธุกรรม คุณภาพของจอมอนนิเตอร์ ดังนั้นตัวแปรต่างๆที่ไม่ได้ศึกษาอาจมีสภาพเป็นตัวแปรกด หรือตัวแปรดัน ...

อรุณี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท