รูปแบบการทำงานและผลงาน ของ: หัวหมู่บ้านจอมทอง


หัวหมู่เบาหวาน ประสบการณ์ที่จะทำให้เราได้เข้าใจ...เรื่องราวของเบาหวาน...ที่ไม่มีในตำรา ใดใด...

ทุกวันจันทร์ อ้อจะไม่ไปไหนนอกจากลงพื้นที่กินน้ำพริกปลาร้า กับหัวหมู่เบาหวานวันนี้ก็เช่นกัน ลงพื้นที่บ้านจอมทอง  24 มิ.ย. 53 ก่อนลงสนามก็ต้องรู้สถานการณ์เบาหวานในพื้นที่ก่อน   เพราะฉะนั้น เราต้องทำการบ้านก่อน...ทุกครั้ง......

         ข้อมูลย่อๆของตำบลจอมทอง : รับผิดชอบดูแล 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ 5 ,6 ,7 ,8 และ 9   ดูแลทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ในตำบลมีผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 60 คน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 78 คน มีหัวหมู่เบาหวาน 4 คน ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน  สรุปจากการพูดคุยหัวหมู่ของ ดูแลผู้ป่วยเบาหวานทุกคนในหมู่ของตนเอง   ลักษณะชุมชนยังคงมีกลิ่นไอของความเป็นชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีวิตแบบพื้นบ้าน

ประวัติที่น่าสนใจคือตำบลจอมทองเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของชื่อ “เมืองสองแคว”  เพราะเป็นที่ที่แม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว  ซึ่งคงเหมือนใจของหัวหมู่เบาหวานที่รวมใจทำงานแบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน

ที่เที่ยว ที่ขอแนะนำ

แนะนำสมาชิกหัวหมู่....

ม.5  “พี่สมชาย” ดูแลเบาหวาน 7 คน

ม.6 “พี่เปี๊ยก” ดูแลเบาหวาน 24 คน

ม.7 และ 9   “พี่สุรินทร์” ดูแลเบาหวาน 10 คน

ม.8  “พี่บุญนาค” ดูแลเบาหวาน 17 คน

ผลการพูดคุยทำให้เกิดการจัดการในตำบลจอมทอง โดย

  • ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนในชุมชนนี้ ได้รับการดูแลทั้งหมด 100 %

  • สัดส่วนของผู้ดูแลต่อผู้ป่วย มากน้อยแตกต่างกันไป แต่เจ้าตัวบอกไม่มีปัญหาสามารถดูแลได้ (โดยคุณภาพไม่ตก)

 จากการมีส่วนร่วมคิดและวิเคราะห์ระหว่างทีมPCU และทีมชุมชนได้ข้อสรุปการทำงานดังนี้

1) รูปแบบการดูแลในชุมชน  :  จากสภาพพื้นที่ที่เป็นกระจุก และที่ตั้งของ PCU อยู่ตรงกลางอีกทั้งสมาชิกเบาหวาน ในแต่ละหมู่ต่างคุ้นเคยและรู้จักกันดีจึง เสนอให้มีการจัดพบกันเพื่อพูดคุยกันที่อนามัยทุกเดือน

2) บทบาทหน้าที่หัวหมู่          :    ได้ข้อตกลงว่าจะคงพฤติกรรมที่ดีและเป็นต้นแบบการดำรงชีวิตให้เพื่อนๆสมาชิกเบาหวานโดยเน้นเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย การใช้ชีวิตพอเพียง คงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้ และจะกระตุ้นให้เกิดชีวิตพอเพียง

แกนนำคือ

พี่สมชาย : มีทักษะการดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี โดดเด่นในเรื่องอาหาร และทำเกษตรอินทรีย์โดยปลูกผักปลอดสาร ทำ EM ไว้ใช้  และจะขยายไปครัวเรือนอื่นๆในหมู่ของตนเอง

 พี่เปี๊ยก  :  สวมวิญญาณนักวิทยุประจำหมู่บ้านสร้างการมีส่วนร่วม และกระตุ้นให้  ชุมชนหมู่ของตนเองเกิดการตื่นตัวโดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทางวิทยุของชุมชน เน้นให้พื้นที่รู้สถานการณ์ และรู้ในเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับโรค เพื่อให้ชุมชนคนป่วย หันมาจัดการกับปัญหาเรื่องโรคของตนเองได้ 

พี่บุญนาคและพี่สุรินทร์     :       สองสาวแสนสวยชอบลงตามบ้าน เน้นสร้างให้เกิดการส่วนร่วม ชาวบ้านร่วมมือ จับมือกันมาขอเจาะเลือด แปลผล พูดคุย ถามไถ่ การรฏิบัติตัวของแต่ละคน

จากการเอาข้อมูลสถานการณ์เบาหวานของพื้นที่มาเปรียบเทียบเพื่อใช้เทียบเคียงดูว่าเราและหัวหมู่เบาหวานทำงานได้ผลอย่างไร ได้ผลการดำเนินงานในรอบแรก 6 เดือน ดังนี้

1) ผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่ได้รับการดูแล (เจาะเลือด – วัดความดันโลหิต – ได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเรื่องที่เป็นปัญหา อาหาร – ยา + อื่นๆ ) 48 คน คิดเป็นร้อยละ 80

2) ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการดูแลมีระดับน้ำตาลลดลง (เปรียบเทียบก่อน – หลัง ) 38 คน คิดเป็น ร้อยละ 62.6

 

3)ระดับ HbA1C  < 7 % จำนวน 23 คน คิดเป็น 41.3 % (มากกว่าค่าเฉลี่ยของอำเภอเมือง)

4)อัตราการเกิดโรคเบาหวานรายใหม่ (พบ 1 คน) ลดลงจากปี 2552 ที่พบ10 คน

5)ภาวะแทรกซ้อนทางตารายใหม่ ไม่พบ (รายเก่าก็ไม่มี)

6)ภาวะแทรกซ้อนระบบปลายประสาทรายใหม่ ไม่พบ (รายเก่าก็ไม่มี เช่นกัน)

7) อัตราการเกิดภาวะ stroke รายใหม่ ไม่พบ

จากข้อมูลที่เป็นตัวเลขบอกว่า เราทำงานได้มาถูกทาง และน่าจะเป็นที่พอใจของผู้ใหญ่ที่ติดตามตัวเลขแบบใกล้ชิด แต่จากการพูดคุยกับสมาชิกภายในกลุ่มที่มีสีหน้ายิ้มแย้ม แจ่มใส มีระดับการควบคุมโรคได้ดี กับคำถามที่ว่า

 : “การที่พวกเรา คุณลุง คุณน้า เป็นโรคเบาหวานแล้วเป็นอย่างไรบ้าง”… เงียบไปสัก 1 นาที

ลุง...พูดนำด้วยเสียงอันดังว่า : “กำลังมันไม่เหมือนเดิม ทำอะไรเหนื่อยกว่าเมื่อก่อน เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก จริงๆนะหมอ แรงมันไม่มี เคยผ่าฝืนได้เป็นกอง เดี๋ยวนี้ผ่าได้ 1 - 2 ท่อน ก็ต้องหยุด”

: “ผมก็เป็นนะหมอ มันเหนื่อยจริงๆ เคยเดินได้ไกลๆ เดี๋ยวนี้จะไปไหนต้องยืนนึกก่อนว่า ไกลไหม ไหวหรือเปล่า”

วันนี้มาคุยกัน 40 กว่าคน พอถามว่าใครว่าแรงมันไม่เท่าเดิม พวกผู้ชาย 5 คน ยกมือหมด ผู้หญิงเกือบๆ 30 คน ยกมืออีกว่า มันเหนื่อย จริงนะหมอ อีก 9 คนไม่ยกมือแต่สังเกตดูเป็นผู้หญิงสูงวัยทั้งบ้าน หัวเราะแฮะๆแล้วบอกว่าอยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ทำอะไร เลยไม่เหนื่อย

ทุกข์อะไรบ้าง อาหาร การกิน

“ทุกข์กันทุกคน คนเป็นเบาหวาน เหมือนคนที่ตัดความสุขไปครึ่งหนึ่งเลย เห็นเค้ากินกัน ก็กินไม่ได้...ฝอยทอง เม็ดขนุน ไอติม...ไม่ต้องหยิบ...ไม่ต้องคิด”

“....ไปงานบวช งานเลี้ยง...อยากจะกินขนมของหวานให้หมดถ้วย ก็นึกว่า..เฮ้ยเป็นโรคกินไม่ได้ นึกแล้วก็โมโหตัวเอง...”

“นึกอยากก็กินไม่ได้...อาหารเนี่ยนะ...ตัดไปเลย ครึ่งหนึ่งกินไม่ได้ มันก็นึกโมโหตัวเองนะ...”

ข้อมูลผลการทำงาน บอกว่า OK แต่ พอลงมาพูดคุยกันลึกๆ...ในการควบคุมโรคได้ของแต่ละคน  มันยังไม่ตกผลึก   มันแฝงความทุกข์ ความกังวลใจ  ความคับข้องใจ ..

.....ภาวะแทรกซ้อนไม่เกิด...อัตราการเกิดโรคลดลง แต่...ความสุขของคนเป็นโรคก็ลดลงเช่นกัน...และนี่แหละที่เรา คงจะตอบได้ว่า...พื้นที่นี้ไม่มีปัญหา...แล้วจะลงมาทำหัวหมู่ทำไม...กระบวนการทำงานเป็นกระบวนการต่อเนื่อง...ในวันนี้งานยังไม่จบ...การลงมาพูดคุยกันทุกเดือน จะทำให้เราได้เรื่องราวอะไรมากมาย ที่หลายคนก็หลากหลาย...เรื่องราว...

ต้องขออนุญาตหัวหน้าหมู่ต้องลงพื้นที่มากกว่าที่ควรจะเป็น...เหมือนเสพติดชุมชน..เพราะเราเองอยากรู้ อยากฟัง สัมผัสด้วยใจ...เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำให้เราเข้าใจ...เรื่องราวของเบาหวาน...ที่ไม่มีในตำรา ใดใด...

                                                           ผู้เล่า

                                                            รัชดา   พิพัฒน์ศาสตร์

 

คำสำคัญ (Tags): #หัวหมู่เบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 375031เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2010 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเป็นกำลังใจให้นะคะ

พี่เองกำลังทำอยู่เหมือนกันค่ะ

ค่อยๆคลานไปช้าๆแต่มั่นคง

สู้นะคะ

ดีใจมากที่ได้เจอบันทึกนี้

อ่านแล้วเหมือนได้บัดดี้เลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เข้ามาเป็นกำลังใจพี่อ้อ และทีมงานเบาหวานศูนย์เมืองฯค่ะ

และคอยติดตามผลงานพี่ๆอยู่นะคะ น้องๆทางนี้จะค่อยๆเดินตามไปค่ะ(พี่อย่าลืมจูงมือน้องด้วยนะคะ อิอิ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท