ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์กับพลังผลักดันสังคม


มนุษย์เราไม่ใช่ช้างที่มีเท้าหน้า เท้าหลัง แต่มนุษย์มีเท้าซ้ายกับเท้าขวา ที่ต้องผลัดกันก้าวไปข้างหน้าเคียงข้างกัน เป็นจังหวะที่สอดคล้องและสมดุลกัน จึงจะพาชีวิตครอบครัวและสังคมไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพ

สังคมไทยมีความรู้เรื่องผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์น้อยมากครับ และที่รู้กันมาก็เจือด้วยอคติที่เข้าข้างผู้ชายส่วนใหญ่ เช่น มักจะมองผู้หญิงเหล่านี้เป็น “ของแปลก” “น่าลิ้มลอง” “มาเที่ยวแล้ว ต้องไป (เอา)ให้ถึง” หรือไม่ก็มองว่าเป็นสาวพรมจรรย์บริสุทธิ์ อ่อนต่อโลกซะเหลือเกิน และที่แน่ๆ เป็นพวกล้าหลังที่ต้องถูกพัฒนาทั้งทางจิตใจและวัตถุ เหล่านี้เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านสื่อต่างๆ จนกลายเป็นความเข้าใจผิดๆของคนไทย

 

24 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาวิชาการให้กับเครือข่ายสตรีกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน งานนี้โดนใจผมมากเพราะอยากนำสิ่งที่เรียนจากรั๊วเฟมินิสต์มาใช้ก่อนที่จะฝ่อไป มาอยู่แม่ฮ่องสอนหลายปี เพิ่งจะสบโอกาสมาช่วยเสนอมุมมองด้านสตรีศึกษา (Women's Studies) ก็วันนี้ ก็เลยรับปากเข้าร่วมงานโดยไม่รีรอ

 

 

 

ลำพังตัวเองไปคนเดียวไม่ยากครับ แต่งานนี้ทางประธานเครือข่าย คุณหลิว วณิจชญา ฝากให้ชวนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเขตอำเภอปางมะผ้าไปร่วมด้วย เรื่องนี้จึงต้องให้ภรรยาผมมาช่วยอีกแรง เลยได้ผู้หญิงชาวบ้านไทใหญ่และลาหู่ไปร่วมอีกรวม 10 คน ไปสมทบกับผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ ลีซู ปะโอ จีนยูนนาน จากอีกสามอำเภอที่ใส่ชุดประจำเผ่ามา  ทำให้งานดูมีสีสันและปลุกพลังแห่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นขึ้นมาทันที

 

 

 

ผู้หญิงแต่ละกลุ่มนำเสนอปัญหาของตนได้อย่างฉะฉาน น่าประทับใจจริงๆครับ

ผมร่วมเวทีประชุมมาเยอะ ส่วนใหญ่ผู้จัดจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงรากหญ้าเหล่านี้ได้พูด อันนี้เป็นความด้อยโอกาสแบบหนึ่งที่กีดกันพวกเธอออกจากการมีส่วนร่วมในงานพัฒนา และจำกัดพื้นที่พวกเธอให้อยู่แต่ในบ้าน โรงเรียน เทือกสวนไร่นา หรืองานอะไรต่างๆที่สังคมวางกรอบไว้ว่าเป็นงานของ “ผู้หญิง” ทั้งๆที่ผู้หญิงก็มีพลังขับเคลื่อนสังคมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายมาช้านาน โดยเฉพาะผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์

ถึงเธอจะไม่ได้เรียนหนังสือจบอะไรมามากมาย ไม่ได้พูดถ้อยคำสวยหรู แต่เธอพูดด้วยหัวใจได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชายอย่างเราๆพูดได้ยาก

สังคมมักเปรียบผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แต่ที่ประชุมเครือข่ายสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ที่แม่ฮ่องสอนวันนี้มีการเสนอความเห็นว่ามนุษย์เราไม่ใช่ช้างที่มีเท้าหน้า เท้าหลัง แต่มนุษย์มีเท้าซ้ายกับเท้าขวา ที่ต้องผลัดกันก้าวไปข้างหน้าเคียงข้างกัน เป็นจังหวะที่สอดคล้องและสมดุลกัน จึงจะพาชีวิตครอบครัวและสังคมไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพ 

 

จากนี้ไป แม่ฮ่องสอนเราก็จะเริ่มมีเครือข่ายสตรีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นรูปร่างขึ้นมาชัดเจน แต่หนทางนี้มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยังมีขวากหนามอีกมากมายรอให้ฝ่าฟันต่อไป

 

จบการประชุมแล้ว ผมรู้สึกว่าโชคดีเสียนี่กะไร ที่ได้รับฟังเสียงของผู้หญิงที่สะท้อนความจริงของผู้ชายให้เรากลับมาตั้งคำถามเพื่อพัฒนาตัวเองมากขึ้น

 

แม้วันนี้ เส้นทางงานพัฒนาสิทธิสตรียังอีกยาวไกล แต่อย่างน้อย วันนี้ กลับบ้านไป ผู้ชายอย่างเราก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีสำหรับผู้หญิงที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น แม่เรา ภรรยา หรือแม้แต่ลูกสาวของเรา มากขึ้น 

ขอบคุณเครือข่ายสตรีที่ช่วยขัดเกลาผู้ชายคนนี้เช่นกันครับ

หมายเลขบันทึก: 374810เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2010 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้ามาเยี่ยมเยียนและติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวครับ

เห็นด้วยกับประโยคทิ้งท้ายมากๆ ครับ "ผู้ชายอย่างเราก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีสำหรับผู้หญิงที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น แม่เรา ภรรยา หรือแม้แต่ลูกสาวของเรา มากขึ้น"

ผมกำลังเตรียมตัวกลับไปทำงานเมืองไทย ถ้าได้ไปแม่ฮ่องสอนก็หวังว่าจะได้พบคุณวิสุทธิ์ตัวจริงนะครับ

ขอบคุณอาจารย์แว้บมากนะครับ

ผมเองช่วงหลังๆก็ไม่ค่อยมีเวลาเขียนหรือตอบบันทึกในบล็อกเท่าไร แต่ก็ดีใจที่ยังมีขาประจำคอยติดตาม เป็นกัลยาณมิตรอยู่

การได้มาทำงานในประเด็น Gender อีกครั้ง ทำให้ชีวิตผม ครอบครัวผมมีความสุขมากขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท